posttoday

สังคมดี (คน) มีศิลป์เสมอกัน

29 มิถุนายน 2559

ไม่ว่าศิลปะข้างถนนหรือข้างฝาแกลเลอรี่ล้วนมีความหมาย มีคุณค่า และมีที่มา ทั้งกราฟฟิตี้ริมกำแพง สตรีทอาร์ตตามตึกร้าง หรืองานอาร์ตในร้านโชห่วย

โดย...ภาดนุ, กาญจนา

ไม่ว่าศิลปะข้างถนนหรือข้างฝาแกลเลอรี่ล้วนมีความหมาย มีคุณค่า และมีที่มา ทั้งกราฟฟิตี้ริมกำแพง สตรีทอาร์ตตามตึกร้าง หรืองานอาร์ตในร้านโชห่วย ทุกอย่างต่างมีเบื้องหลังที่ประกอบขึ้นจากความคิด “ดี” ที่ต้องการให้สังคมมี “ศิลป์” เสมอกัน

คนสร้างอาร์ต ราชบุรี

ทายาทโรงงานเซรามิกเถ้าฮงไถ่ ติ้ว-วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ เริ่มสร้างงานศิลปะในเมืองราชบุรีตั้งแต่ 17 ปีที่แล้ว เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานศิลป์ในบ้านเมืองเยอรมนีแล้วตั้งคำถามว่า ทำไมบ้านเราไม่มีแบบนี้ เมื่อกลับมาอยู่ไทยเขาจึงมีความแน่วแน่ที่จะทำสิ่งที่ชอบให้อยู่ในชุมชน

“ผมไม่คิดว่าจะเปลี่ยนเมือง” เขากล่าว อย่างแรกที่เขาทำคือ หอศิลป์ร่วมสมัยเถ้า ฮง ไถ่ ดีคุ้น (Tao Hong Tai : D Kunst) กลางเมืองราชบุรี เริ่มจัดนิทรรศการกลางแจ้งโดยจัดแสดงผลงานของศิลปินท้องถิ่น และงานใหญ่อย่าง ปกติศิลป์ ที่ได้นำงานศิลปะไปจัดแสดงตามบ้าน ร้านค้า และสถานที่ต่างๆ ทั้งหมด 75 แห่งในราชบุรี

สังคมดี (คน) มีศิลป์เสมอกัน

 

“ผมเพียงทำในสิ่งที่ไม่มีให้มี เราใช้งานศิลปะมากระตุ้นคน ทำให้ความทรงจำของคนในชุมชนกลับมาอีกครั้ง ทำให้เด็กรุ่นใหม่สัมผัสในสิ่งที่เราเคยมี และที่สำคัญคือทำให้เกิดความสัมพันธ์กับชาวบ้านโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลาง” เขาอธิบาย อย่างร้านโชห่วย บ้านเก่า ศาลเจ้า ล้วนเป็นสิ่งที่คนหลงลืมไป แต่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนท้องถิ่นกับผู้มาเยือนสามารถเกิดขึ้นใหม่ผ่านงานศิลปะที่นำไปจัดแสดง

เวลานี้ราชบุรีเป็นที่รู้จักในชื่อเมืองศิลปะจากการประชาสัมพันธ์ของหลายหน่วยงาน แต่สำหรับเขากลับมองว่าชื่อเสียงเป็นเพียงของแถม และไม่ใช่สิ่งยิ่งใหญ่อะไร “ทุกคนมากินมะม่วงสุก แต่ไม่มีใครปลูกมะม่วงเพิ่ม” เขาเปรียบเปรย เพราะการโปรโมทให้ราชบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยวด้านศิลปะไม่ช่วยอะไรถ้าไม่มีคนสร้างงาน

“งานศิลปะจะกลายเป็นศิลปะเพื่อชุมชนได้อย่างไร” เขาทวนคำถาม “ศิลปะคือเทอราปีที่บำบัดคนในชุมชน ทำให้พวกเขาซึมซับ และเข้าใจว่าศิลปะไม่ใช่เรื่องไกลตัว หลายครั้งที่ผมถูกเหยียดหยามจากศิลปะชั้นสูง แต่ไม่เป็นไร เพราะเราอยู่ข้างหลัง อยู่ข้างๆ และเดินไปพร้อมๆ กับชาวบ้าน หลายครั้งที่รู้สึกว่าเหนื่อย แต่ก็ไม่เป็นไร ผมตั้งคำถามเสมอว่า ถ้าเราหยุด เราจะตัดโอกาสชุมชนไหม พอคิดแบบนี้เราก็ทำต่อไปเท่าที่กำลังเรามี”

 

ในอนาคตวศินบุรีมีความตั้งใจจะสร้างพิพิธภัณฑ์เซรามิกร่วมสมัยที่รวบรวมงานเซรามิกจากทั่วโลก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ให้เห็นของจริงตั้งแต่อนุบาล แต่ไม่ว่าอย่างไรงานนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเขาทำอยู่คนเดียว

สังคมดี (คน) มีศิลป์เสมอกัน

 

สตรีทอาร์ตดึงดูดนักท่องเที่ยว

ณัฐวุฒิ สุวรรณ นักออกแบบกราฟฟิกอิสระ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม “ลพบุลุย” ซึ่งเป็นกลุ่มสร้างสรรค์ศิลปะแนวสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้บนกำแพงหรือผนังของตึกเก่าย่านใจกลางเมืองลพบุรี เผยว่า กลุ่มลพ
บุลุยตั้งขึ้นเพราะมีจุดประสงค์หลักคือ มีใจรักงานด้านศิลปะและอยากปรับภูมิทัศน์ของเมืองลพบุรีให้สวยงามดึงดูดสายตาให้คนมาท่องเที่ยวและถ่ายรูปมากขึ้น

“จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่ผมนั่งคุยกันเพื่อน (อ.เสรี แก้ววิเชียร) ครูสอนศิลปะ ว่าเราทั้งคู่ต่างชอบงานด้านสตรีทอาร์ตเหมือนกัน เราน่าจะตั้งกลุ่มแบบจริงจังเพื่อสร้างงานศิลปะขึ้นมา จากนั้น อ.เสรี จึงได้ไปขออนุญาตใช้พื้นที่ของตึกมาลัยรามา ซึ่งเป็นโรงหนังเก่าทิ้งร้างจากเจ้าของ เราจึงเริ่มสร้างสรรค์ศิลปะกันขึ้นมาตั้งแต่นั้น โดยออกค่าสีเองและใช้ฝีมือที่เรามีเป็นทุน”

สตรีทอาร์ตที่ทำนั้นได้วางคอนเซ็ปต์ให้เกี่ยวข้องกับเมืองลพบุรีที่มีสัญลักษณ์คือ ลิง ดังนั้นภาพลิงที่วาดออกมาจึงมีลักษณะต่างๆ ซึ่งล้อกันไปกับธีม “พอทำเสร็จก็มีทั้งชาวไทยและต่างชาติแวะเวียนมาเที่ยวมาถ่ายรูปกันมากมาย และมีส่วนช่วยให้การท่องเที่ยวและการค้าขายในย่านนี้กระเตื้องขึ้น” เขากล่าว

สังคมดี (คน) มีศิลป์เสมอกัน ณัฐวุฒิ สุวรรณ

 

หลังจากนั้นก็มีเจ้าของสวนสัตว์ลพบุรีมาติดต่อให้พวกเขาไปช่วยสร้างงานศิลปะบนกำแพงและในสวนสัตว์ เมื่อทำเสร็จแล้วก็มีคนเข้าไปชมเข้าไปถ่ายรูปกันพอสมควร ทำให้สวนสัตว์แห่งนี้ดูมีชีวิตชีวาขึ้น โปรเจกต์ต่อไปกลุ่มลพบุลุยวางแผนจะสร้างงานศิลปะบนกำแพงปูนตามถนนริมแม่น้ำ ระหว่างนี้จะไปช่วยสร้างศิลปะที่อาคารพาณิชย์และร้านรวงต่างๆ ในตัวเมือง

“เรียกว่าใครขอมาก็จะไปทำให้ เราตั้งใจจะทำให้ตึกเก่าๆ ดูดีขึ้นมา เพราะอยากให้ลพบุรีเป็นเมืองแห่งศิลปะที่ผู้คนผ่านไปผ่านมาก็จะต้องแวะมาเที่ยวกัน” ณัฐวุฒิ กล่าว ติดตามผลงานได้ที่เฟซบุ๊ก : Aristotor Geekin

ศิลปะส่งเสริมสันติภาพ

ด้าน พัชรพล แตงรื่น สตรีทอาร์ติสต์อิสระชื่อดัง เจ้าของแฟนเพจเฟซบุ๊ก Alex Face และไอจี alexfacebkk เป็นอีกผู้หนึ่งที่สร้างศิลปะแนวสตรีทอาร์ตออกสู่สายตาผู้คนและมีส่วนช่วยเหลือสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม

เขาเริ่มสร้างสรรค์สตรีทอาร์ตมาตั้งแต่ปี 2545 ส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่ว่างตามถนน เช่น ตึกร้าง อาคารร้าง เริ่มสร้างงานจากแถวลาดกระบังในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสถานที่และโอกาส

สังคมดี (คน) มีศิลป์เสมอกัน พัชรพล แตงรื่น

 

“งานของผมจะมีคอนเซ็ปต์เป็นรูปเด็กหน้าบึ้งใส่ชุดกระต่าย ชุดเต่า ชุดหมี และอื่นๆ ซึ่งผมได้แรงบันดาลใจมาจากลูกสาวของผมเอง การที่ผมพ่นสีเป็นรูปเด็กหน้าบึ้ง เพราะอยากให้คนในสังคมได้คิดตามว่า ทำไมเด็กคนนี้ถึงหน้าบึ้ง มีสาเหตุมาจากอะไรที่ทำให้เด็กเป็นแบบนี้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความคิดและประสบการณ์ในการตีความของแต่ละคน”

พัชรพล เสริมว่า ภาพเด็กหน้าบึ้งสำหรับเขาแล้วสื่อความหมายว่า เด็กกำลังกังวลกับอนาคตของตัวเอง กังวลกับความรุนแรงในสังคม และกังวลกับสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงทุกวัน ที่ผ่านมาเขาได้สร้างสรรค์สตรีทอาร์ตนับไม่ถ้วนทั้งในไทย เมียนมา เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย อังกฤษ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และอื่นๆ

“อย่างถนนบิ๊กเลนในอังกฤษที่ผมเคยไปมา มีการจัดทัวร์ชมสตรีทอาร์ตในย่านนี้แล้วเก็บเงินเป็นรายหัว ซึ่งผมมองว่ามันเป็นการสร้างมูลค่าให้กับสถานที่นั้นๆ หรือ ปีนัง เมืองท่าเก่าแก่ที่เกือบตายไปแล้ว แต่พอมีศิลปินไปสร้างสตรีทอาร์ตตามจุดต่างๆ ก็ทำให้ปีนังกลายเป็นเมืองที่คนอยากจะไปเที่ยวกันมากขึ้น ซึ่งผมว่าศิลปะพวกนี้มันดึงชีวิตชีวาของเมืองนั้นกลับมาได้ และทำให้ร้านค้ามีรายได้มากขึ้นและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้”

ศิลปินหนุ่มยังกล่าวถึงสตรีทอาร์ต Peace for Bangkok ที่ทางลงประตู 1 บีทีเอสสนามกีฬาฯ เขาตั้งใจสื่อถึงสันติภาพของผู้คนในกรุงเทพฯ เพราะชีวิตคนเมืองที่เครียด เร่งรีบ โมโหร้าย งานชิ้นนี้จึงสื่อถึงสันติภาพที่ต้องการให้ผู้คนในสังคมใช้อารมณ์ให้น้อยลงเพื่อลดความรุนแรง

สังคมดี (คน) มีศิลป์เสมอกัน

ศิลปะสำคัญไฉน?

ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ประธานมูลนิธิศิลปะเพื่อสังคม (Art for All) กล่าวถึงงานศิลปะว่า งานศิลป์ที่ดีต้องประกอบด้วยความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย ถ้างามแต่ไม่มีประโยชน์ก็ถือว่าไม่สมบูรณ์ เพราะศิลปะต้องบำบัดผู้คน มีพลังมากถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง หรือสร้างบรรทัดฐานใหม่อย่างที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่า ศิลปะสร้างเมือง ศิลปะสร้างอารยธรรม นั่นล้วนเป็นความจริง

มูลนิธิก่อตั้งมา 20 ปี มีไปพร้อมๆ กับโครงการค่ายศิลปะ ซึ่งปีนี้จะจัดขึ้นวันที่ 15-19 ก.ค.นี้ เปิดค่ายให้เยาวชนผู้พิการที่มีความบกพร่องทางสายตา การได้ยิน การเคลื่อนไหว และสติปัญญา มาเรียนรู้ทักษะชีวิตผ่านงานศิลปะ โดยมีจิตอาสาที่ไม่พิการคอยเป็นบัดดี้ และมีศิลปินไทยและอาเซียนมาเป็นผู้สอน ซึ่งถือว่าเป็นค่ายศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวนกว่า 500 ชีวิต ที่เข้าร่วมโครงการ

“ศิลปะมันช่วยอะไร” ศ.ดร.ชาญณรงค์ ตั้งคำถาม “มนุษย์ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการคือ กาย ปัญญา และจิตใจ หากกีฬาเป็นเครื่องมือพัฒนาร่างกาย การศึกษาช่วยพัฒนาสติปัญญา ศิลปะจึงเป็นสิ่งจรรโลงใจให้เปี่ยมด้วยความสุขและศานติ” เขาทิ้งท้าย

สังคมดี (คน) มีศิลป์เสมอกัน