posttoday

เส้นทางหัตถศิลป์ จากญี่ปุ่นสู่ไทย

25 มิถุนายน 2559

งานศิลปหัตถกรรมของไทยยิ่งนับวันก็เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา อันเนื่องจากการผลิตสินค้า

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

งานศิลปหัตถกรรมของไทยยิ่งนับวันก็เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา อันเนื่องจากการผลิตสินค้าที่ขาดการต่อยอดและมักผลิตรูปแบบเดิม หรือไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (The SUPPORT Arts and Crafts International Centre of Thailand (Public Organization) เรียกชื่อย่อว่า “SACICT”) จึงเดินหน้าโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นปีนี้เป็นปีที่ 2 โดยนำกลุ่มผู้ประกอบการ 16 ชุมชน เดินทางไปเรียนรู้ประเทศต้นแบบงานหัตถกรรมแห่งหนึ่งของโลก คือ ญี่ปุ่น

ผู้เข้าร่วมเดินทางครั้งนี้ ประกอบด้วย นักออกแบบ นักวิชาการ ที่เป็นครูช่าง ครูศิลป์ และทายาทสืบทอดธุรกิจ เพื่อเรียนรู้และสร้างความเข้าใจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมให้สอดคล้องกับสภาวะความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน

เส้นทางการเยี่ยมชมดูงานหัตถกรรม เริ่มต้นที่เมืองคานาซาวา ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งการผลิตแผ่นทองคำเปลวที่เลื่องชื่อ บริษัท ซะกุดะ โกลด์ แอนด์ ซิลเวอร์ ลีฟ ผู้ดำเนินธุรกิจรายใหญ่ในจังหวัดอิชิกาวะ คีย์ซัคเซสสำหรับผู้ผลิตทองคำเปลวรายนี้ มาจากการต่อยอดการนำแผ่นทองคำเปลว ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ผลิตที่บรรจุอัฐิของคนญี่ปุ่น ขยายสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ สกินแคร์ที่ผสมแผ่นทองคำเปลว สร้างรายได้ให้กับบริษัทถึง 300 ล้านบาท

เส้นทางหัตถศิลป์ จากญี่ปุ่นสู่ไทย

 

ในส่วนของงานหัตถกรรมอื่นๆ ตะเกียบ ถ้วย จาน ชาม สร้างรายได้ถึง 500 ล้านบาท รวมทั้งยังนำแผ่นทองคำเปลวป้อนให้กับอุตสาหกรรมอาหาร เพราะการนำทองคำเปลวไปผลิตแค่เพียงที่บรรจุอัฐิ ไม่นานก็จะเริ่มเลือนหายไปจากตลาด เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน และพยายามให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น

ไอเดียที่สำคัญของซะกุดะ คือ เปิดโอกาสให้ผู้เข้ามาซื้อสินค้าได้ทดลองทำผลิตภัณฑ์ที่ทำจากทองคำเปลวจริงๆ ส่งผลให้ผู้ซื้อสินค้ามองเห็นถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการวางราคาสินค้ายังสามารถจับต้องได้ง่ายไม่สูงเกินไป พร้อมกับการใช้กลยุทธ์ปากต่อปากเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์และการสร้างแบรนด์

เส้นทางระหว่างเมืองทาคายามา และ คานาซาวา มีหมู่บ้านชื่อว่า “ชิราคาวาโกะ” เป็นหมู่บ้านชาวนาเล็กๆ ในหุบเขา ได้รับการเลือกให้เป็นหมู่บ้านมรดกโลก จากความคิดของผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนเพื่อรักษาการสร้างบ้านสไตล์เดิมเอาไว้ เกิดการพัฒนาหมู่บ้านกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม

เส้นทางหัตถศิลป์ จากญี่ปุ่นสู่ไทย

 

หมู่บ้านในเมืองชิราคาวาโกะ เป็นบ้านสไตล์กัสโชสึคุริ (Gassho-zukuri) บ้านแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม ชื่อนี้ได้มาจากคำว่า “กัสโช” ซึ่งแปลว่า “พนมมือ” ความโดดเด่นโครงสร้างของบ้านสร้างขึ้นโดยไม่ได้ใช้ตะปู อีกทั้งวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างต่างๆ ล้วนแต่มาจากวัสดุจากธรรมชาติ อย่างต้นหญ้าที่ปลูกไว้เพื่อนำมาใช้มุงเป็นหลังคาขนาดหนาแต่ยังคงความแข็งแรง จนสามารถรองรับหิมะที่ตกมาอย่างหนักในช่วงฤดูหนาวได้เป็นอย่างดี

บ้านที่มีอยู่เก่าแก่ที่สุดของตระกูลวาดะ ราว 300 ปี มีความลงตัวของภายในหมู่บ้านยังผสมผสานการทำเกษตร ควบคู่กับการจำหน่ายสินค้าเกษตรซึ่งเป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ เป็นสิ่งดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มกลับมาอยู่บ้านเกิดเพื่อเข้ามาทำธุรกิจ อาทิ โรงแรม หมู่บ้านชิราคาวาโกะ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าหลงใหลอีกสถานที่หนึ่งของญี่ปุ่นแล้วจะพบกับมหัศจรรย์การผนึกกำลังของผู้คนในชุมชนอย่างเข้มแข็ง

นอกจากนี้ ยังมีสถาบันวิชาชีพหัตถกรรม เช่น ศูนย์หัตถกรรมเครื่องเขิน Yamanaka Urushi ซึ่งพบว่า ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรผลิตงานศิลปะจากมือ รวมทั้งมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยต้องการเป็นศิลปิน ต้องแข่งขันและสอบถึงได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาศึกษาปีละไม่เกิน 20 คน ต้องศึกษาจนจบครบ 12 ระดับ ถึงจะสามารถได้รับใบประกอบวิชาชีพได้ แตกต่างจากไทยอย่างชัดเจน ที่ขาดศูนย์ฝึกวิชาชีพในลักษณะดังกล่าว รวมทั้งการส่งเสริมให้เยาวชนไทยให้ความสำคัญกับอาชีพหัตถกรรมยังมีน้อยมาก

เส้นทางหัตถศิลป์ จากญี่ปุ่นสู่ไทย

 

หันกลับมาที่ไทย อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ ทางศูนย์ฯ ต้องการลงลึกถึงระดับต้นน้ำ เริ่มตั้งแต่ครูช่าง ครูศิลป์ และทายาทสืบทอดธุรกิจที่มีความพร้อมด้านกำลังการผลิต การเปิดโลกทัศน์ และปรับเปลี่ยนกระบวนการทางคิดใหม่ๆ เพื่อพัฒนาหัตถกรรมไทยให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคคนไทยได้มากขึ้น เพราะอุปสรรคในขณะนี้สินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ผู้ซื้อแค่ต้องการโชว์หรือเก็บเท่านั้น นอกจากนี้สินค้าไทยขาดความเป็นเอกลักษณ์ เช่น เครื่องเบญจรงค์ทุกภาคของประเทศแทบจะเหมือนกันหมด แต่ทางศูนย์ฯ ต้องการให้แต่ละเมืองสร้างความมีเอกลักษณ์ มีเรื่องราวความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น

“ปัญหาของงานหัตถกรรมของไทย คือ ขาดศูนย์ฝึกการทำงานศิลปะด้วยมือ ทำให้งานไทยขาดบุคลากรซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะมาสานต่อ รวมทั้งการเชื่อมต่อของงาน เช่น เซรามิกผลิตอีกแห่งหนึ่งและเรานำมาเขียนลวดลายเอง นอกจากนี้ทายาทของงานศิลปหัตถกรรมบางรายก็ไม่อยากสืบทอดกิจการหรือวิชาความรู้ เพราะเป็นวิชาชีพที่ไม่ได้รับการยกระดับ คนรุ่นใหม่จึงเห็นคุณค่าน้อยและหันไปศึกษาด้านต่างๆ แทน ทั้งๆ ที่งานหัตถกรรมเป็นตลาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีผู้บริโภคจำนวนมากยอมซื้อสินค้าที่ทำด้วยมือ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น จีน และยุโรป หากแต่ว่าเราต้องปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมแต่ละประเทศ” 

ทวี พันธุ์ศรี หนึ่งในครูช่างที่เข้าร่วมโครงการผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า การเดินทางไปศึกษาดูงานหัตถกรรมโดยเฉพาะบริษัทผลิตแผ่นทองคำเปลว โรงงานเซรามิก และเครื่องเขิน ที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ทำให้พบว่าข้อเสียของหัตถกรรมไทย คือ การผลิตสินค้าที่เหมือนกันหมดไม่ว่าจะเป็นลวดลายหรือกระทั่งผลิตภัณฑ์ทำให้หัตถกรรมของไทยไม่มีความแตกต่างหรือมีเอกลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันตนเองทำเครื่องเบญจรงค์บนกระเบื้องเคลือบเป็นหลัก แต่การไปดูงานทำให้กลับมาคิดต่อยอดว่า เครื่องเบญจรงค์สามารถทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิ ชุดอาหารถ้วยชาม เครื่องประดับ

เส้นทางหัตถศิลป์ จากญี่ปุ่นสู่ไทย

 

“โจทย์ของผมคือต้องพัฒนาเครื่องเบญจรงค์ให้ผู้บริโภคทั่วไปสามารถใช้ได้และมีความเป็นสากล หรือกระทั่งการพัฒนาเป็นเครื่องประดับ ต่างหู สร้อยคอ ซึ่งจะเห็นสินค้าดังกล่าวได้ภายในปลายปีนี้ แต่ปัญหาที่คาดว่าต้องเผชิญอย่างแน่นอน คงหนีไม่พ้นการผลิตสินค้าที่ต้องโดนลอกเลียนแบบ เป็นปัญหาใหญ่เพราะเมื่อทำแล้วขายดีทุกคนก็อยากทำขายบ้าง จึงมีแนวคิดว่าจะจดลิขสิทธิ์สินค้า แต่พร้อมจะถ่ายทอดความรู้กลับคืนสู่ชุมชน ซึ่งอาจมีอุปสรรคพอสมควร เพราะระบบความคิดของช่างในชุมชนไม่ได้ร่วมมือกันเป็นองค์กร จึงอยากให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงคนในชุมชน” ทวี กล่าว     

ด้าน ธนพล รักษาวงศ์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการผลิตภัณฑ์ศิลปหัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ปัจจุบันทำธุรกิจผ้าบาติกสืบทอดจากคุณยายและ
พี่สาว ที่ จ.กระบี่ มีรายได้ราว 1.5 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งการเดินทางไปศึกษาดูงานหัตถกรรมญี่ปุ่นทำให้เรียนรู้ว่า ต้องพัฒนาสินค้าให้เป็นมากกว่าแค่เครื่องนุ่งห่มที่ใครๆ ก็ทำกัน เราอาจนำผ้าบาติกมาประยุกต์ทำสินค้าตกแต่งบ้าน อาทิ หมอนอิง ผ้าปูที่นอน ผ้าม่าน หรือกระทั่งโคมไฟ การนำผ้ามาใส่กรอบรูปโดยเน้นลวดลายที่สื่อถึงวัฒนธรรมของไทยน่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี ในช่วงปลายปีนี้จะเริ่มเห็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าววางจำหน่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ เขายังมีไอเดียปรับเทคนิคการใช้สีให้เป็นพาสเทลหรือกระทั่งการเขียนลายให้มีความทันสมัยเพื่อขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ

เส้นทางหัตถศิลป์ จากญี่ปุ่นสู่ไทย

 

“เดิมทีผู้ที่ซื้อผ้าบาติกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ สิ่งที่ได้เรียนรู้อีกด้านของงานหัตถกรรมญี่ปุ่น คือ การสร้างเรื่องราวของสินค้าผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่นในชุมชน ทำให้ผู้ที่ซื้อสินค้ารู้สึกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่า การจัดดิสเพลย์ของทางร้านที่เป็นสัดส่วน แบ่งแยกประเภทอย่างชัดเจน บรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่คนไทยต้องให้ความสำคัญยิ่งขึ้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ช่องทางจำหน่ายสินค้าให้ความสำคัญกับทางออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งยังมีจำหน่ายทางหน้าร้าน จ.กระบี่ ผู้รับสินค้าไปจำหน่ายและที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร” ธนพล กล่าว

หากต้องการระดับงานหัตถกรรมของไทยให้คนไทยได้ใช้อย่างแพร่หลาย รวมทั้งการนำสินค้าไทยไปปักธงในต่างแดนได้นั้น ชุมชนต้องต่อยอดหรือสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าได้ เหมือนเช่นในขณะนี้ “ใบกะพ้อ” ที่นอกจากชุมชนทำแต่พัดเท่านั้น ยังสามารถประยุกต์สานใบกะพ้อให้สามารถเป็นภาชนะใส่สิ่งของได้แล้ว เพราะเชื่อว่าฝีมือประณีตและความมีศิลปะของคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกอยู่แล้ว

เส้นทางหัตถศิลป์ จากญี่ปุ่นสู่ไทย