posttoday

สาธารณรัฐไวมาร์ และ ภาณุ ตรัยเวช

19 มิถุนายน 2559

หากคุณยังพอจำ ภาณุ ตรัยเวช ได้ คุณคงรู้ดีว่า เขาคือเจ้าของนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวนเรื่อง คดีดาบลาวยาวแดง

โดย...ตุลย์ จตุรภัทร ภาพ : ภัทรชัย ปรีชาพานิช

หากคุณยังพอจำ ภาณุ ตรัยเวช ได้ คุณคงรู้ดีว่า เขาคือเจ้าของนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวนเรื่อง คดีดาบลาวยาวแดง (ที่เคยได้เข้ารอบลองลิสต์ของรางวัลซีไรต์ ปี 2555) มาวันนี้ เขามีผลงานเล่มใหม่ ซึ่งไม่ใช่นวนิยาย แต่เป็นหนังสือสารคดีที่นำเสนอประวัติศาสตร์ของประเทศเยอรมนี ในช่วงปี 1919-1933 ซึ่งเขตแดนตรงนี้ เรียกขานกันว่า สาธารณรัฐไวมาร์ และภาณุก็มาพร้อมหนังสือที่มีชื่อว่า ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเล่อร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อมาบอกเล่าให้เราได้รู้จักหนังสือเล่มนี้กัน

“หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้น เนื่องจากตัวผมเองมีความสนใจในประเทศเยอรมนี ตอนใกล้เรียนจบดอกเตอร์ ผมก็ได้ไปทำวิจัยอยู่ที่เยอรมนี โดยอาจารย์ที่ปรึกษาของผมก็เป็นคนเยอรมัน เขาจึงพาผมไปทำงานวิจัยที่นั่น ทำให้ผมเกิดความสนใจในด้านศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม และปรัชญาของเยอรมนีอยู่พอสมควร”

จากจุดเริ่มต้นตรงนี้ ประกอบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยมีความขัดแย้งต่างๆ มากมาย ทำให้ภาณุเกิดความสงสัย และอยากทำความเข้าใจว่าอะไรคือประชาธิปไตย “รวมทั้งอยากเรียนรู้ว่าการเลือกตั้ง เผด็จการ แนวคิดเสรีนิยม แนวคิดอนุรักษนิยมนั้นมีที่มาจากไหน เราจะเข้าใจมันได้อย่างไร ผมจึงอยากทำงานเขียนสักชิ้นหนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ศึกษาเพิ่มเติม และได้สรุปในสิ่งที่ตัวเองได้ศึกษาให้คนอื่นได้อ่านได้เรียนรู้ทำความเข้าใจ”

ภาณุใช้เวลารวบรวมหาข้อมูล รวมทั้งบรรจงเขียนหนังสือเล่มนี้อย่างตั้งใจ โดยใช้เวลากว่า 5 ปี จึงสำเร็จเสร็จสิ้น “สำหรับการหาข้อมูลของประเทศเยอรมนี ส่วนใหญ่ผมหาได้จากหนังสือที่ผมสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ รวมทั้งหาข้อมูลและได้รับการตรวจสอบข้อมูลจากผู้รู้ ทำให้การเขียนหนังสือเล่มนี้ไม่ค่อยยากสักเท่าไร ซึ่งเมื่อหนังสือวางแผงไป ผลตอบรับก็ดีเกินคาดครับ”

สำหรับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ภาณุได้ปูพื้นฐานโดยการบอกเล่าเรื่องราวของประเทศเยอรมนีในศตวรรษที่ 19 ก่อนที่เราจะได้ทำความรู้จักกับสาธารณรัฐไวมาร์ (ซึ่งถือเป็นชื่อเล่นของประเทศเยอรมนี) นับจากหลังสงครามโลก ครั้งที่ 1 ได้สิ้นสุดลง

“ไม่มีช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ใดในเยอรมนีที่จะเป็นประชาธิปไตยได้มากเท่ากับสิบสี่ปีนี้อีกแล้ว (ปี 1919-1933) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความน่าสนใจทั้งในเรื่องของการเมือง ศิลปวัฒนธรรม ปรัชญา และในทุกๆ ด้าน แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่มีความยุ่งเหยิงปั่นป่วนที่สุด วิทยาการต่างๆ ได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับการเข้ามาของเทคโนโลยี ศิลปะถูกมองว่าทั้งงอกเงยและเสื่อมทราม ผู้คนที่บ้าคลั่งหิวโหยเสถียรภาพท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อสุดโต่ง ผู้คนจึงไขว่คว้าหาผู้นำทางอุดมการณ์ที่จะประคองให้ผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้ จนกระทั่งหยิบยกเอาคนกลางอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์ ขึ้นมาเป็นผู้นำปกครองประเทศ ซึ่งหลังจากนั้นประเทศเยอรมนีก็ถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการไปจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2”

ภาณุ ทิ้งท้ายไว้ว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ผลงานทางวิชาการ มันไม่ได้นำเสนอหลักฐานหรือการตีความใหม่ ขณะเดียวกัน จะเรียกมันว่าสารคดี ก็เหมือนจะเรียกได้ไม่เต็มปากเต็มคำนัก “อาจเพราะผมคุ้นเคยกับงานวรรณกรรมมากกว่า ผมจึงขอเรียกหนังสือเล่มนี้ว่านวนิยายขนาดยาว ซึ่งมีทั้งวีรบุรุษ มีทั้งวายร้าย มีทั้งผู้คนที่พร้อมสละชีพเพื่ออุดมการณ์ มีทั้งผู้คนที่หลงมัวเมาไปกับอุดมการณ์ มีสาวงาม มีเสียงดนตรีไพเราะ มีการต่อสู้ระหว่างความดีและความเลว ที่จบลงด้วยความย่อยยับของฝ่ายแรก ซึ่งในความคิดของผม นวนิยายเรื่องนี้มันสมจริงเสียจนเมื่อเรามองไปรอบๆ ตัว เราอาจนึกว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมนีช่วงทศวรรษ 1920 ก็เป็นได้ครับ”