posttoday

ร่วมสร้างจิตสำนึก ผนึกกำลังเลิกใช้ถุงพลาสติก

14 มิถุนายน 2559

ในปี 2558 ที่ผ่านมา ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

โดย...พริบพันดาว ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ในปี 2558 ที่ผ่านมา ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานข้อมูลว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกและโฟมสะสมมากถึง 2.7 ล้านตัน หรือเกิดขึ้นวันละ 7,000 ตัน ในจำนวนนี้เป็นถุงพลาสติก 80% หรือเกิดขึ้นวันละ 5,300 ตัน ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากพลาสติกผลิตขึ้นจากสารสังเคราะห์ปิโตรเลียม ทำให้ต้องใช้เวลานานนับร้อยปีจึงจะสามารถย่อยสลายไปตามธรรมชาติ ดังนั้นหากไม่มีการรณรงค์ต่อเนื่องสังคมไทยอาจกลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยขยะก็ได้

การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการลดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 15 ของเดือน โดยร่วมกับเครือข่ายธุรกิจภาคเอกชน 15 องค์กร ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2558 เป็นต้นมา ปรากฏว่าสามารถรณรงค์จูงใจให้ลูกค้าลดการใช้ถุงพลาสติก เช่น การเพิ่มคะแนนสะสมเพื่อแลกของกำนัล การมอบคูปองส่วนลดให้ลูกค้า เป็นต้น สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกเพียงเดือนเดียวได้รวมกันถึง 1,785,744 ใบ ซึ่งถือว่าสูงมาก จึงมีการรณรงค์การใช้ถุงพลาสติกเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยให้ทุกวันที่ 30 ของทุกเดือนเป็นวันงดใช้ถุงพลาสติก

สำหรับในปี 2559 องค์กรภาครัฐและเอกชนที่ทำธุรกิจห้างสรรพสินค้าและค้าปลีก 57 แห่ง ได้ร่วมลงนามประกาศปฏิญญา “รักกรุงเทพฯ รักษ์สิ่งแวดล้อม” ในกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ของกรุงเทพมหานคร และองค์กรระหว่างประเทศ 12 ประเทศ 2 องค์กร เพื่อส่งเสริมงานและกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งให้ลูกค้างดรับถุงพลาสติกจากร้านค้าทุกวันพุธถึงสิ้นปี 2559

ทั้งหมดเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องขององค์กรภาครัฐและเอกชนในเขตปริมณฑลและกรุงเทพฯ ในการลดละเลิกการใช้ถุงพลาสติก แต่สิ่งที่ท้าทายมากกว่านั้นก็คือ การสร้างจิตสำนึกของประชาชนผู้บริโภคหรือผู้ใช้ให้เกิดขึ้นเอง โดยตระหนักในมลพิษและมลภาวะที่เกิดจากถุงพลาสติก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยทิ้งขยะถุงพลาสติกเป็นอันดับ 1 ของโลก และทิ้งขยะถุงพลาสติกลงทะเลเป็นอันดับ 5 ของโลก

ร่วมสร้างจิตสำนึก ผนึกกำลังเลิกใช้ถุงพลาสติก

 

ลดใช้ถุงพลาสติกเป็น“ภารกิจของทุกคน”

ถุงพลาสติกคือสินค้าที่ผลิตมาในปี 2503 ซึ่งผลิตมาจากเซลลูลอยด์ที่สังเคราะห์ขึ้นมา ทำให้มีน้ำหนักเบาใช้ได้สะดวกสบายเป็นของใช้ยอดนิยมของคนทั่วโลก ในปัจจุบันมียอดการใช้ 7 แสนล้าน ถึงล้านล้านใบต่อปี หรือเฉลี่ยทุก 1 นาทีมีการใช้ถุงหิ้วอย่างน้อย 2 ล้านใบ ซึ่งต้องใช้พลังงานการผลิตจากน้ำมันจำนวนมหาศาล การเปรียบเทียบ คือ พลังงานที่ใช้ผลิตถุงพลาสติก 8.7 ใบ สามารถเปลี่ยนไปเป็นน้ำมันให้รถวิ่งได้ไกล 1 กิโลเมตร

ถุงพลาสติกเป็นของใช้ที่มีอายุการใช้งานสั้น พร้อมเป็นขยะทันทีหลังการใช้ แต่ใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 450 ปีเป็นอย่างน้อย ถุงพลาสติกหูหิ้ว แม้จะเป็นชนิดที่นำไปรีไซเคิลได้ แต่ปัจจุบันมีการนำกลับไปรีไซเคิลน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนที่ผลิตออกไป จากการสำรวจพบว่าทุกตารางกิโลเมตรทั่วโลกจะมีขยะพลาสติกราว 4.6 หมื่นชิ้น

ทุกปีผู้คนจับจ่ายซื้อของทั่วโลกใช้ถุงพลาสติก 1 หมื่นล้านใบ/ปี ซึ่งจะต้องใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 1,000 ปี โดยถุงพลาสติก 1.6 ล้านใบ นำไปเรียงเป็นเส้นรอบวงโลกได้ 1 รอบ และทุก 1 ตารางไมล์ จะพบถุงพลาสติก 4.6 หมื่นใบลอยในมหาสมุทร ซึ่งส่งผลให้แต่ละปีมีนกทะเลตาย 1 ล้านตัว และสัตว์ทะเลอื่นๆ จำนวน 1 แสนตัว และปลาอีกนับไม่ถ้วน แต่ละปีมีเต่าทะเล และสัตว์น้ำจำนวนมาก ตายจากการกินพลาสติก เพราะคิดว่าเป็นอาหาร เช่น แมงกะพรุน

จากเวทีสัมมนา “วิกฤตถุงพลาสติกล้นเมือง ผลกระทบโลกร้อน” ปลุกจิตสำนึกการลดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งจัดโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ เทสโก้ โลตัส ซึ่งเป็น 1 ใน 16 ภาคีความร่วมมือภาคธุรกิจเอกชนในโครงการรวมพลังสร้างวินัย ลดใช้ เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนัก รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการร่วมกันลดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายยากและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอข้อมูลและประเด็นปัญหาสู่สาธารณะ อันจะนำไปสู่ความร่วมมืออย่างจริงจังในการลดใช้ถุงพลาสติก

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ลดใช้ถุงพลาสติก ภารกิจของคนไทยทุกคน” ได้เน้นย้ำถึงการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันลดขยะ ลดสิ่งของที่เกินความจำเป็น ลดความสะดวกสบายลงเล็กน้อย เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกล่าวขอบคุณภาคีความร่วมมือภาคธุรกิจเอกชนที่มีความตั้งใจจริงในการลดใช้ถุงพลาสติก

ร่วมสร้างจิตสำนึก ผนึกกำลังเลิกใช้ถุงพลาสติก

 

“ปัจจุบันคนไทยหันมาตระหนักถึงภัยอันตรายของขยะถุงพลาสติกกับภาวะโลกร้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการรวมพลังสร้างวินัย ลดใช้ถุงพลาสติก ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับภาคีความร่วมมือภาคธุรกิจเอกชน ห้างร้านต่างๆ ซึ่งปรากฏว่าสามารถช่วยชาติลดขยะจากถุงพลาสติกได้ถึง 43 ล้านใบในปีที่ผ่านมา

“ในปีนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงเดินหน้าผลักดันให้เกิดการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกอย่างเข้มข้น โดยให้งดรับถุงทุกวันพุธ ซึ่งมี
เป้าหมายอยู่ที่ 88 ล้านใบ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายในวันที่ 5 ธ.ค. 2559 อยากเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดใช้ถุงพลาสติก และจัดการขยะให้ถูกต้อง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเอาจริงเอาจังกับการลดใช้ถุงพลาสติก เรื่องนี้ไม่ใช่ภารกิจของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นภารกิจของคนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกัน”

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ข้อมูลจากหลายแหล่งฟ้องว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ทิ้งถุงพลาสติกมากที่สุดในโลก และติด 1 ใน 5 ประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมาก

“ทิ้งถุงพลาสติกคือการทำบาป บาปอย่างแรกคือ ฆ่าสัตว์ทั้งในน้ำและบนบก ไม่ว่าจะเป็นเต่าหรือโลมาที่กินถุงพลาสติกเข้าไปแล้วตาย บรรดานกต่างๆ บาปที่สองคือ ทำให้อับอายขายหน้าไปทั่วโลก ที่ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ทิ้งถุงพลาสติกมากที่สุด บาปที่สามคือ ทำร้ายแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากทุกการทิ้งถุงพลาสติกตามแหล่งท่องเที่ยวแต่ละครั้งจะมีผลกระทบกับการจัดการขยะ ขยะทางทะเล ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม และยังมีภาวะโลกร้อนที่ตามมา”

เสียงเพรียกจากมูลนิธิโลกสีเขียว

ถุงพลาสติกที่คนไทยใช้ในหนึ่งปีนั้น ถ้าเอามาต่อกันจะได้เป็นระยะทางเท่ากับเดินทางไปกลับดวงจันทร์ 7 รอบ จากประมาณการปริมาณขยะมูลฝอยของ กทม. ที่ศึกษาโดยธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจบิค) พบว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 10 ปี จาก 1 หมื่นตัน/วัน ในปี 2547 เป็น 13,800 ตัน/วัน ในปี 2557 แม้ว่าโดยข้อมูลของกรุงเทพฯ ปริมาณจัดเก็บจริงในรอบ 10 ปีมานี้ ก็ยังไม่พบว่าเกินค่าที่ประมานการเอาไว้ คือเฉลี่ยเก็บขยะได้อยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1 หมื่นตัน/วันก็ตาม แต่ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

นิตยา วงษ์สวัสดิ์ ผู้จัดการมูลนิธิโลกสีเขียว มองว่า ปัญหาการใช้ถุงพลาสติกมากที่สุดในโลกของคนไทย แนวโน้มโดยรวมแล้วยังไม่ดีขึ้น

“โดยภาพรวมแล้ว การใช้ถุงพลาสติกเยอะขึ้นในทุกมิติ มากขึ้นเพราะเรื่องของความสะดวกสบาย ใช้ง่าย วัฒนธรรมการกินอาหารข้างทางร้านสะดวกซื้อก็มีส่วนต่อพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติก คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงพิษภัยของถุงพลาสติกที่จะย้อนกลับมาสร้างมลภาวะและมลพิษ

ร่วมสร้างจิตสำนึก ผนึกกำลังเลิกใช้ถุงพลาสติก

 

“ทุกสิ่งทุกอย่างถูกผลิตขึ้นมาเพื่อความสะดวกสบายของคนในสังคม ภาครัฐก็อาจจะรณรงค์ไม่มากพอในการที่จะให้ความรู้ว่ามีอันตรายอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องทำกันหลายภาคส่วน คือว่าคนก็เยอะขึ้น มาตรการหรือสิ่งที่จะมาช่วยในการรักษาหรือคงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อม มันไม่ตอบรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แล้วก็มีการคิดค้นของเพื่อที่จะมาอำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น”

นิตยาชี้ว่า ปัญหาถุงพลาสติกล้นเมืองเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ได้ยากมาก ถ้าไม่สร้างให้คนทั่วไปได้ตระหนักรู้ถึงข้อเสียของมัน ก็จะมีการใช้ถุงพลาสติกอย่างละเลย

“อย่างที่บอกว่าเกี่ยวข้องกันหลายส่วน อย่างเรื่องงบประมาณแล้ว ก็ยังมีเรื่องของความรู้ด้วย ซึ่งมีเทคโนโลยีที่จะมาจัดเก็บและกำจัดขยะถุงพลาสติก เราคงปฏิเสธยากในยุคสมัยปัจจุบันว่าไม่มีการใช้ถุงพลาสติกเลย แต่ว่าต้องลดจำนวนการใช้ลง ต้องนำมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนที่จะนำลงสู่ถังขยะ ซึ่งช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ว่าจะให้ดีก็ต้องละเลิกการใช้ถุงพลาสติก ตัวของผู้ใช้ก็ต้องทำด้วย ไม่ใช่รอว่าให้ภาครัฐออกนโยบายแล้วค่อยเลิกใช้ก็คงไม่ทันการณ์ ส่วนภาคเอกชนทางห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตก็ต้องเข้มงวดให้มากขึ้น เมื่อก่อนวันที่ 15 กับ 30 ของทุกเดือนที่ไม่มีการใช้ถุงพลาสติกใส่ของให้ลูกค้า ซึ่งก็เพิ่มมาเป็นทุกวันพุธในแต่ละสัปดาห์ ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องมีความจริงจังในการประชาสัมพันธ์ด้วย มีมาตรการออกมาก็ต้องทำกันจริงๆ ปฏิบัติกันอย่างจริงจัง”

มองถึงการรณรงค์และการจัดการขยะถุงพลาสติก โดยเปลือกนอกผิวเผินรู้สึกว่าดีขึ้น นิตยาขยายภาพให้เห็นว่า ก็ไปเรื่อยๆ แต่ไม่มากพอที่จะทำให้สถิติการใช้ถุงพลาสติกโดยรวมของประเทศดีขึ้นหรือลดลง

“คนทั่วไปอาจจะไม่รู้ว่าการใช้ถุงพลาสติกอย่างฟุ่มเฟือยจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร อย่างที่บอกการใช้ถุงพลาสติกเป็นเรื่องความสะดวกสบายของคนทั่วไป ทุกอย่างต้องทำไปพร้อมกัน ในเรื่องของการให้ความรู้ ในปัจจุบันถ้าเราพูดเรื่องของขยะหรือถุงพลาสติก เรารู้ว่ามันไม่ดี แต่ว่าทำอย่างไรจะให้คนลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองให้มีสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า ตรงนี้ไม่ดี อย่าใช้ เพราะจะส่งผลถึงตัวเองและคนรุ่นต่อไป ทำอย่างไรให้เกิดความรู้สึกว่าขยะที่ทิ้งลงไปนั้นไม่ได้ไปไหน จะเวียนกลับมาสู่ตัวผู้ใช้เอง

“เราบอกว่าให้คนเลิกใช้ถุงพลาสติกมันคงเป็นไปไม่ได้ ทีนี้จะให้ทุกคนตระหนักรู้ได้อย่างไรว่าทำอย่างไรเมื่อใช้ถุงพลาสติกแล้วก็ทิ้งทันที มันควรมีอายุที่ยืนยาวกว่านั้น ใช้ซ้ำจนกว่ามันจะหมดสภาพ หรือนำไปใส่ขยะเปียกที่เราจะทิ้งจริงๆ ยืดอายุการใช้ถุงพลาสติกให้มากขึ้น ใช้อย่างตระหนักรู้ว่าจะเกิดปัญหามลภาวะและมลพิษอย่างไร เป็นไปได้ก็ควรลดการใช้ให้มากที่สุด ต้องฝึกให้เป็นนิสัยประจำ ให้เริ่มที่ตัวเรา ไม่ต้องรอนโยบายของรัฐหรือภาคเอกชนมารณรงค์”

ถุงพลาสติกชีวภาพหรือจะเป็น “ทางออก”

การใช้ถุงพลาสติกชีวภาพน่าจะเป็นทางออกหนึ่งในการใช้ถุงพลาสติกแล้วไม่ก่อให้เกิดมลพิษและมลภาวะต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่ง รศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะผู้วิจัยได้พัฒนาศักยภาพ “ถุงพลาสติกชีวภาพ” บรรจุภัณฑ์ที่น่าจะช่วยหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารเคมี สามารถเก็บรักษาผักผลไม้ได้และคงสภาพยืดอายุผักผลไม้ไว้ได้นาน และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ผลงานวิจัยเรื่องบรรจุภัณฑ์ถุงพลาสติกชีวภาพเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาพืชผลไม้สดและผลไม้แห้ง จนได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2558 ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดยการพัฒนาฟิล์มพอลิแลคไทด์/ดินเหนียว นาโนคอมโพสิตเพื่อประยุกต์ใช้ในงานด้านบรรจุภัณฑ์อย่างอ่อน เป็นผลงานวิจัยที่ต่อยอดมาผลิตพลาสติกชีวภาพ กลายเป็นถุงพลาสติกชีวภาพดินเหนียวที่ทำขึ้น แข็งแรง ทนทานและเหนียวขึ้น ทนแรงกระแทก ถือว่ามีคุณสมบัติเชิงกลดีขึ้นเป็น 3 เท่าของถุงพลาสติกธรรมดาที่เราใช้กัน ที่สำคัญ หากทิ้งในอุณหภูมิที่เหมาะสม จะสามารถย่อยสลายได้เองภายใน 2-3 เดือน

ทางด้านภาคเอกชนที่สามารถผลิตถุงไบโอพลาสติก ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติในอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อการพาณิชย์ได้แล้วคือ เอสซีจี เคมิคอลส์ โดยไบโอพลาสติกนี้ผลิตจากวัตถุดิบที่สามารถผลิตทดแทนขึ้นใหม่ได้ในธรรมชาติ (Renewable Source) เช่น อ้อย มันสำปะหลัง โปรตีนจากถั่วและข้าวโพด นำมาผ่านกระบวนการคอมพาวนด์ให้มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับเคลือบกระดาษ โดยคงความสามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ 100% (Compostable Plastics Coated Paper) มีคุณสมบัติทนความร้อนได้ถึง 100 องศาเซลเซียส ป้องกันการรั่วซึมของเครื่องดื่ม และปลอดภัยสำหรับการบรรจุอาหารด้วยมาตรฐานจากยุโรป (EU10/2011) ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์เคลือบพลาสติกที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม เช่น แก้วเคลือบไบโอพลาสติกคอมพาวนด์ย่อยสลายได้สำหรับเครื่องดื่มร้อนและเย็น เพื่อรองรับเรื่องการใช้งานและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ทั้งถุงพลาสติกชีวภาพของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และถุงไบโอพลาสติก เอสซีจี เคมิคอลส์ นิตยา วงษ์สวัสดิ์ แห่งมูลนิธิโลกสีเขียว มองว่า ก็เป็นเรื่องของราคา ถ้ารัฐบาลไม่สนับสนุนถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีราคาที่สูงก็ทำให้ใช้กันแพร่หลายได้ยาก

“ถ้าหากภาครัฐส่งเสริมช่วยเหลือด้านภาษีให้กับผู้ผลิตเพื่อจะได้ไปจำหน่ายให้ผู้ใช้ได้ในราคาที่ถูกลง คือต้องช่วยกันในระดับนโยบายจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งทุกคนต้องมีจิตสำนึกตระหนักที่จะรับรู้ว่าถุงพลาสติกก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อมอย่างไร? ก็ต้องช่วยกัน”