posttoday

งานประกาศเกียรติภูมิ งานประณีตศิลป์ไทย

13 มิถุนายน 2559

ผลงานศิลปกรรมชิ้นเอกทรงคุณค่า “เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์” ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

โดย...ชุติมา สุวรรณเพิ่ม

ผลงานศิลปกรรมชิ้นเอกทรงคุณค่า “เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์” ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เป็นเรือนโถงมียอดทรงปราสาท 9 ยอด ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นด้วยถาวรวัตถุอันประกอบด้วยโลหะและหินอ่อน ปิดทองประดับกระจก และตกแต่งด้วยจิตรกรรมในส่วนต่างๆ ทั้งเรือนยอด

สถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้มีการจัดแถลงข่าวงานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 7 โดยท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ และท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน กล่าวแนะนำศิลปกรรมชิ้นเอกชิ้นล่าสุดนี้ “เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์” สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ในปีนี้และร่วมฉลองในอีกหลายโอกาสมหามงคล

ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา 5 ธ.ค. 2560 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 12 ส.ค. 2559 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 28 ก.ค. 2555 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 2 เม.ย. 2558 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะทรงเจริญพระชันษาครบ 5 รอบ 4 ก.ค. 2560 และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงเจริญพระชันษาครบ 5 รอบ 5 เม.ย. 2554

ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ เริ่มกล่าวอธิบายว่า “24 ปี นับตั้งแต่การจัดงานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 1 ในปี 2535 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงนำลูกหลานชาวนาชาวไร่มาฝึกงานให้วิชาความรู้ เพื่อให้เขาใช้ความสามารถเลี้ยงชีพได้ต่อไป ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาฝีมือขึ้นมาก และได้กำลังใจจากประชาชนที่เข้ามาชื่นชมผลงานศิลป์แผ่นดิน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ตลอดจนผู้มีจิตเมตตาทูลเกล้าฯ ถวายเงินแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อสนับสนุนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบุคลากรและสร้างงานศิลปะชิ้นเอกไว้ให้แผ่นดิน

งานประกาศเกียรติภูมิ งานประณีตศิลป์ไทย

 

ด้วยพระวิสัยทัศน์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รับสั่งไว้แต่แรกเลยค่ะว่า การสร้างพิพิธภัณฑ์ช่วยเลี้ยงชาวศิลปาชีพได้ยั่งยืน ดิฉันฟังแล้วก็คิดว่าค่าบัตรเพียงคนละ 150 บาท จะเลี้ยงได้อย่างไร แต่ก็กลายเป็นว่าการก่อสร้างเรือนยอดแห่งนี้ได้มาจากการจำหน่ายบัตรทั้งสิ้น เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ทั้งหลังเป็นโลหะหล่อจากต้นแบบที่เป็นผลงานไม้แกะสลักของช่างศิลปาชีพ สถาบันสิริกิติ์ ซึ่งต่างจากสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่เรือนยอดสร้างเป็นปูนประกอบโลหะหรือไม้ประกอบโลหะ

เรือนยอดโลหะจึงเป็นถาวรวัตถุแข็งแรง ทนทาน อย่างน้อย 15 ปี โดยไม่ต้องซ่อมแซม และจะสวยงามเนิ่นนานนับร้อยปี เรือนยอดแห่งนี้ไม่เก็บค่าเข้าชม ทุกๆ คนเดินเข้ามาชมและถ่ายรูปได้เลยค่ะ” ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ กล่าว และแนะนำ เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะไทยนำกลุ่มสื่อมวลชนชมอย่างละเอียดต่อไป

“เรือนยอด” ศิลปะชิ้นเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เผ่าทอง นำชมและอธิบาย เริ่มที่หน้าบันของเรือนยอดนี้ มีทั้งสิ้น 8 หน้าบัน ได้อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย อักษรพระนามาภิไธย และอักษรพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และอักษรพระนามของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประดิษฐานอยู่ ณ เพดานกลางของเรือนยอด

เรือนยอดองค์นี้จึงเป็นการสร้างถวายในวาระสำคัญของทุกพระองค์ เผ่าทอง กล่าวว่า สำหรับบุคคลที่เข้ามาชม ขอแนะนำจุดสำคัญพลาดชมไม่ได้เลย

เรือนยอดโลหะแห่งแรกในเมืองไทย

ในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของภูมิภาคแถบนี้ ได้เคยมีการสร้างอาคารเป็นโลหะมาแล้วในสมัยพุทธกาล นางวิสาขาได้สร้างโลหะปราสาทน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถี ต่อมาพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยราชา (ออกเสียงว่า “พระ-เจ้า-ทุด-ถะ-คา-มะ-นี-อะ-ไพ-รา-ชา”) กษัตริย์แห่งเมืองอนุราธปุระ (อ่านออกเสียงว่า “อะ-นุ-รา-ทะ-ปุ-ระ”) ประเทศศรีลังกา สร้างถวายไว้ในพุทธศาสนา เมื่อปี พ.ศ. 382 และต่อมาในปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโลหะปราสาท ณ วัดราชนัดดารามวรวิหาร อุทิศถวายเป็นพุทธบูชา

งานประกาศเกียรติภูมิ งานประณีตศิลป์ไทย

 

 

โลหะปราสาททั้งสามหลังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นอาคารสร้างด้วยไม้ประกอบโลหะหินประกอบโลหะ และก่ออิฐถือปูนประกอบโลหะ ตามลำดับ แต่เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์นี้ เป็นอาคารที่มีโครงสร้างภายในและเครื่องประดับตกแต่งทั้งหมดเป็นโลหะ จึงถือว่าเป็นอาคารโลหะหลังแรกในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทยและกรุงรัตนโกสินทร์

เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ มีขนาดความกว้าง 14.134 เมตร ความยาว 28.534 เมตร และความสูง (จากฐานถึงปลายยอด) 24.80 เมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ก.พ. 2557 แล้วเสร็จในวันพฤหัสบดีที่  9 มิ.ย. 2559 รวมเวลาสร้าง 847 วัน

“เรือนยอดนี้มีเสา 48 ต้น เสาร่วมด้านนอก 24 ต้น ด้านในอีก 24 ต้น เสาหล่อด้วยโลหะสเตนเลสอยู่ยั้งยืนยงนับร้อยปีแน่นอนครับ หุ้มเสาด้วยหินอ่อนจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี แห่งเดียวกับพระที่นั่งอนันตฯ ซึ่งด้วยกาลเวลาปีนี้ครบร้อยปีพอดี หินอ่อนพระที่นั่งอนันตฯ จึงดูสีเข้มขรึมกว่า” เผ่าทอง แนะนำรายละเอียดแรกที่ไม่ควรพลาดชม  

ช้างเผือก 10 ช้าง

เริ่มแรกสายตาทุกๆ คนต้องโฟกัส โดยรอบชั้นฐานไพทีของเรือนยอดมีประติมากรรมหล่อโลหะรูปช้างสำคัญประจำรัชกาลปัจจุบัน ทั้งหมด 10 ช้าง เช่น พระเศวตอดุลยเดชพาหน พระเศวตภาสุรคเชนทร์ เผ่าทอง อธิบายว่า

 

“พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลถือว่าช้างเป็นพาหนะสัตว์สำคัญในการทำสงครามยุทธหัตถี ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงสอนพระราชโอรสและพระราชธิดา ไม่ให้เรียกช้างว่า มัน มันยกงวง ยกขา ไม่ได้เลย ช้างเผือกขึ้นระวางสมโภชแล้ว ใช้คำเรียกว่า คุณพระ และใช้สรรพนามว่า ช้าง แต่ละช้างรอบๆ เรือนยอดอากัปกิริยาแตกต่างกันทั้ง 10 ช้าง แต่ละช้างชูงวงยกขาแข็งแรง”

องค์ประกอบส่วนฐาน

เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ มีฐานซ้อนกัน 2 ชั้น มีฐานล่างเป็นฐานไพทีสูง 2 เมตร โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหุ้มด้วยหินอ่อน มีระเบียงหินอ่อนและเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์หล่อด้วยโลหะปิดทอง มีบันไดด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เป็นนาคพลสิงห์หล่อด้วยสำริดเป็นรูปนาคทรงเครื่อง บันไดด้านทิศใต้และทิศเหนือเป็นนาคพลสิงห์แบบโค้งหล่อโลหะสำริดเป็นนาคจำแลง มีอัฒจันทร์เชิงบันไดจำหลักหินอ่อนทุกด้าน

งานประกาศเกียรติภูมิ งานประณีตศิลป์ไทย

 

“มาชมก็ต้องถ่ายรูปนาคไว้ทั้ง 4 ทิศ เพราะใบหน้าไม่เหมือนกันเลย สี่ทิศสี่บันได ทางขึ้นด้านหน้าเป็นมนุษยนาควิจิตรพิสดารมาก” เผ่าทอง แนะนำ

เครื่องบนส่วนยอด

เผ่าทอง แนะนำให้มองไปที่ด้านบนสุดของเรือนยอดปราสาท 9 ยอด หล่อด้วยโลหะสำริดปิดทองประดับกระจกยอดหลักทั้ง 3 ยอด ประดับด้วยพรหมพักตร์ทั้ง 4 ทิศประดับกระจก

“เปรียบดั่งเช่นพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรทุกข์สุขราษฎร และที่ย่อมุมไม้สิบสองของยอดประธานทำเป็นประติมากรรมรูปช้างสามเศียรหล่อสำริดประดับกระจกรับไขราทั้งสี่มุม”

“ห้องปีกแมลงทับ”

วิจิตรล้ำในพระที่นั่งอนันตฯ

สำหรับผู้เสียค่าชม 150 บาท เพื่อเข้าไปชมงานศิลป์แผ่นดิน ก็ไม่ควรพลาดอีกผลงานประณีตศิลป์ชิ้นสำคัญภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม คือ “ห้องปีกแมลงทับ” ห้องจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมชิ้นพิเศษเพียงเดินเข้าไปในห้องส่วนแรกก็ตื่นตากับผนังสีเขียวแวววับ เผ่าทอง อธิบายว่า ประดิษฐ์ตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ ที่ทิ้งตัวตายเองตามธรรมชาติ จึงมีความแข็งแรง ทนทาน สีเขียวสวยเหลือบเงาตามธรรมชาติ

ห้องนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน ใครมาแล้วต้องชมให้ละเอียดก็จะเห็นศิลปะสุดวิจิตรหนึ่งเดียวในโลก

ผนังสานย่านลิเภาสอดเส้นเงิน เส้นทอง เส้นนาก

ผนังส่วนนี้ตกแต่งด้วยแผ่นประดับด้วยตราสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และตราสัญลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ ห้องนี้สร้างถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ซึ่งนักษัตรปีมะโรงคือปีพระราชสมภพ ในห้องนี้จึงมีพญานาค 1,310 ตัว ทำด้วยปีกแมลงทับสีเขียวแวววาวดูล้ำค่า

“สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคใต้ ทอดพระเนตรข้าวของเครื่องใช้ของเจ้านายที่นั่นสวยแปลกตา เช่น กระเป๋าทอด้วยใยธรรมชาติจากไม้เถาชนิดหนึ่ง คือลิเภา และเก็บรักษาได้ยาวนาน ผนังทอด้วยลิเภาสอดยกลายด้วยโลหะสามกษัตริย์ ทอง นาก เงิน เพิ่มความวาวเหลือบสีเขียวแมลงทับที่ต้องตัดปีกให้เป็นชิ้นเล็กๆ ละเอียด คือประณีตศิลป์ในรัชกาลนี้ที่เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากโบราณ” 

งานประกาศเกียรติภูมิ งานประณีตศิลป์ไทย

 

ห้องโดม

ผนังด้านซ้ายตกแต่งด้วยแผ่นสานย่านลิเภา ประดับตราสัญลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ

ถัดไปอีกส่วนหนึ่ง เป็นการตกแต่งผนังห้องด้วยแผ่นสานย่านลิเภาสานเป็นลายขิด แล้วสอดด้วยปีกแมลงทับเพื่อให้ลวดลายคมชัดโดดเด่น ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีไม้แกะสลักเป็นพญานาคาเกี้ยวกระหวัดกันนับร้อยนับพันตัว ตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ พญานาคาทุกตัวฝังตาทับทิมสีแดงสดตามความเชื่อว่าเป็นลูกพระอาทิตย์

พลาดชมไม่ได้...เพดานด้านบนมีโคมระย้าพญานาคและหงส์ประดับด้วยปีกแมลงทับและแก้วเจียระไน

บนฝาผนังด้านหนึ่งอัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นประดิษฐานภายในกรอบถมทองเขียนลายรูปหงส์เคล้าลายกระหนกเทศ เหนือกรอบถมทองมีอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. และอักษรพระนามาภิไธย ส.ก. ภายใต้พระมหามงกุฎไม้แกะสลักปิดทอง ผนังห้องอีกด้านหนึ่งประดับด้วยชิ้นงานคร่ำทองเป็นบทร้อยกรอง “ศิลป์แผ่นดิน”

“งานคร่ำต้องทำบนแผ่นเหล็ก สีเทาๆ ที่เห็นคือสีเหล็ก ซึ่งเมื่อผ่านกาลเวลาก็จะเกิดสนิมสีน้ำตาลที่เรียกว่าสนิมเหล็ก แต่ก็จะทำให้สีทองเหลืองสว่างยิ่งขึ้นด้วยนะครับ คือกรรมวิธีโบราณ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงรักษางานศิลปะนี้ไว้โดยให้ช่างเก่าแก่เข้ามาสอนในโรงศิลปาชีพ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นครูคร่ำทองคนสุดท้ายก็ว่าได้” เผ่าทอง กล่าว

ผนังถมเงินถมทอง

มีขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ฝาผนัง ผนังห้องอีกด้านหนึ่งจัดแสดงงานคร่ำสามกษัตริย์ ทอง เงิน นาก พื้นห้องส่วนจัดแสดงทั้งสองด้านปูด้วยแผ่นเสื่อสานเส้นเงินสอดเส้นนากเป็นลายขิดแบบโบราณ ซึ่งงานประดับฝาผนังถมเงินถมทองและงานประดับฝาผนังคร่ำสามกษัตริย์ ถือเป็นชิ้นงานบนพื้นผิวเรียบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดสร้างขึ้นในประวัติศาสตร์ของวงการศิลปะของกรุงรัตนโกสินทร์

“เสื่อสานเส้นเงินอีกชิ้นสำคัญคือที่วัดพระพุทธบาท ซึ่งทำตั้งแต่รัชกาลที่ 1 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงอนุรักษ์งานชิ้นนี้ไว้โดยให้ช่างศิลปาชีพทอเทคนิคใหม่ คือสานเงินสลับนากซึ่งเป็นโลหะมีความแข็งมาก จึงทอยากกว่าเดิมอีกด้วยนะครับ เป็นเทคนิคในทางศิลปะที่สร้างขึ้นมาใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน” เผ่าทอง อธิบาย

พิพิธภัณฑ์ “ศิลป์แผ่นดิน” จัดแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมอันงดงามฝีมือของลูกหลานชาวไร่ชาวนาที่เข้ามาฝึกงานที่โรงฝึกศิลปาชีพ (ซึ่งได้รับการยกสถานะขึ้นเป็นสถาบันสิริกิติ์ ในปี 2553) ผลงานที่สร้างขึ้นล้วนเป็นประณีตศิลป์ชั้นสูง มีความวิจิตรบรรจงถึงระดับฝีมือช่างหลวง หรือช่างแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ ช่างถมทอง ช่างเครื่องเงินเครื่องทอง ช่างคร่ำ ช่างลงยาสี ช่างปักผ้า ช่างแกะสลักไม้ ช่างเขียนลาย ฯลฯ ผลงานแต่ละชิ้นล้วนทรงคุณค่ายิ่ง แสดงถึงเอกลักษณ์เกียรติศักดิ์และเกียรติภูมิของงานประณีตศิลป์ไทยที่ประกาศให้ชาวโลกได้ชื่นชม ทุกชิ้นนับเป็นงานศิลป์ของแผ่นดิน