posttoday

‘ทุกที่ทุกเวลา’ กิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพดีของคนไทย

06 มิถุนายน 2559

การสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม (Physical Activity : PA) เพียงร้อยละ 67.6

โดย...พริบพันดาว ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์

การสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม (Physical Activity : PA) เพียงร้อยละ 67.6 และเยาวชนที่อายุ 6-14 ปี มีกิจกรรมทางกายลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราอ้วนลงพุงที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันมีการกล่าวถึง “กิจกรรมทางกาย” (Physical Activity) และการออกกำลังกาย (Exercise) ปะปนกันอยู่เสมอ จนบางครั้งชวนให้สงสัยว่า “กิจกรรมทางกาย” กับ “การออกกำลังกาย” เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร?

กิจกรรมทางกาย หมายถึง การเคลื่อนไหวของร่างกายที่เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อลาย และการหดตัวนี้ต้องมากพอที่จะทำให้มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนการออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางกาย โดยการออกกำลังกายเป็นกิจกรรมทางกายที่มีลักษณะทำซ้ำไปซ้ำมาตามโครงสร้าง หรือแบบแผนกิจกรรมที่ได้กำหนดไว้แล้ว ทั้งนี้มักมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะปรับปรุงสมรรถนะทางกายให้ดีขึ้น หรือคงสภาพสมรรถนะที่มีอยู่เอาไว้

องค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความว่า กิจกรรมทางกายไม่ได้จำกัดเฉพาะการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเท่านั้น แต่รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกายใดๆ ที่ต้องใช้กล้ามเนื้อและพลังงานในชีวิตประจำวันทั่วไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นในการทำงาน เช่น การขึ้นบันได การเดินระหว่างอาคาร การเดินทาง เช่น การเดิน หรือปั่นจักรยานไปยังสถานที่ต่างๆ หรือกิจกรรมนันทนาการ เช่น การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา

เพราะฉะนั้นกิจกรรมทางกายจึงทำได้ทุกที่ทุกเวลาเพื่อสุขภาพที่ดี

‘ทุกที่ทุกเวลา’ กิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพดีของคนไทย

 

กิจกรรมทางกายในความเข้าใจที่ถูกต้อง

องค์การอนามัยโลกได้แนะนำระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสำหรับเด็กอายุ 6-17 ปี อย่างน้อย 60 นาที/วัน สำหรับกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง/หนัก สำหรับผู้ใหญ่อายุ 18-64 ปี อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ สำหรับกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง หรืออย่างน้อย 75 นาที/สัปดาห์

สำหรับกิจกรรมทางกายระดับหนัก โดยให้มีกิจกรรมในแต่ละครั้งอย่างน้อย 10 นาทีขึ้นไป ส่วนวัยสูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปนั้น มีข้อแนะนำเช่นเดียวกับวัยผู้ใหญ่ แต่ให้เพิ่มเติมการฝึกการทรงตัวเพื่อป้องกันการล้ม อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งด้วย โดยสามารถดูระดับของกิจกรรมทางกายอย่างง่ายคือระดับปานกลาง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำแล้วเริ่มหายใจลำบาก แต่ยังพูดเป็นคำได้ เช่น การเดินเร็ว ส่วนกิจกรรมระดับหนัก เป็นกิจกรรมที่ทำแล้วหายใจหอบจนพูดไม่เป็นคำ เช่น การวิ่ง การว่ายน้ำ เป็นต้น

กิจกรรมทางกายแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ 1.ทำงานที่ออกแรงอย่างหนัก (Vigorous work) 2.ทำงานที่ออกแรงปานกลาง (Moderate work) 3.การเดินทางที่ออกแรงปานกลาง (Moderate travel) 4.การออกกำลังกายในยามว่างอย่างหนัก (Vigorous leisure or exercise) และ 5.การออกกำลังกายในยามว่างอย่างปานกลาง (Moderate exercise)

โดยในชีวิตประจำวันสามารถแบ่งกิจกรรมทางกายในการใช้พลังงานให้หมดไปได้โดยที่ไม่ต้องไปออกกำลังกายอย่างจริงจัง นั่นก็คือกิจกรรมทางกายที่เกี่ยวกับการทำงาน (Work-related physical activity) โดยประเมินจากอิริยาบถส่วนใหญ่ที่ใช้ในการทำงาน เช่น ยืน นั่ง หรือเดิน และประเภทของงานที่ทำ โดยดูจากลักษณะการออกแรงในการทำงาน ร่วมกับระยะเวลาที่ใช้ในการทำงาน (เป็นชั่วโมงและนาที) ต่อวัน และจำนวนวันต่อสัปดาห์ โดยพิจารณารวมทั้งงานที่ก่อให้เกิดรายได้และไม่เกิดรายได้

‘ทุกที่ทุกเวลา’ กิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพดีของคนไทย

 

กิจกรรมทางกายที่เกี่ยวกับการเดินทางในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางไปทำงาน ไปซื้อของ ไปจ่ายตลาด ไปทำธุระต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการเดินทางที่ใช้การเดินหรือการขี่รถจักรยานเป็นเวลาตั้งแต่ 10 นาทีขึ้นไป ส่วนการเดินทางโดยวิธีอื่นๆ เช่น การขับรถยนต์ไปโดยสารยานพาหนะอื่นๆ ไป ไม่รวมอยู่ในกิจกรรมทางกายด้านนี้ โดยพิจารณาร่วมกับระยะเวลาที่ใช้เดินหรือขี่จักรยานไปในแต่ละวัน และเป็นจำนวนวันต่อสัปดาห์

กิจกรรมทางกายในเวลาว่างจากการทำงาน กิจกรรมเหล่านี้เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายในเวลาที่นอกเหนือเวลาทำงานและการเดินทาง เช่น การนอนดูโทรทัศน์ การนั่งๆ นอนๆ อ่านหนังสือ การทำสวน หรือการออกกำลังกายทั้งอย่างหนัก เช่น เต้นแอโรบิก การวิ่ง เล่นเทนนิส และการออกกำลังกายปานกลาง เช่น เดินเร็วๆ ว่ายน้ำ ฯลฯ

“ปฏิญญากรุงเทพฯ” ความหวังปลายปี 2559

กลุ่มกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย เรียกว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” (Sedentary behavior) ที่คนไทยปัจจุบันมักจะมีพฤติกรรมนี้มากขึ้น เช่น การนั่งทำงาน การนั่งประชุม การนั่งหรือนอนเล่นโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ทำให้มีเวลาและโอกาสในการออกกำลังกายน้อยลง

การมีกิจกรรมทางกายสะสมในแต่ละช่วงเวลาของวัน โดยเฉพาะในเวลาทำงาน หรือการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการลุกยืน และเดินไปดื่มน้ำ หรือเข้าห้องน้ำ การยืนในช่วงเวลาเบรก หลังจากนั่งเก้าอี้ทำงานทุก 1 ชั่วโมง การเดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ การเดินหรือปั่นจักรยานมาทำงานหรือในการเดินทาง การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน การลงรถโดยสารประจำทางก่อนถึงจุดหมาย การจอดรถให้ไกลจากอาคารมากขึ้น เหล่านี้ล้วนช่วยส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยได้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้นในวิถีชีวิต และเป็นการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งด้วย

‘ทุกที่ทุกเวลา’ กิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพดีของคนไทย

 

การขับเคลื่อนกิจกรรมทางกายสู่ปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) และนโยบายสาธารณะ เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th ISPAH Congress; International Congress on Physical Activity and Public Health - ISPAH) ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ว่า ปัญหาการขาดกิจกรรมทางกาย เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ประชากรโลกเกิดความเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Noncommunicable diseases, NCDs)

“แผนกิจกรรมทางกายมียุทธศาสตร์การทำงานที่สำคัญคือ ผลักดันให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยตั้งเป้าภายในปี 2564 คนไทยอายุ 11 ขวบขึ้นไป ต้องมีกิจกรรมทางกายไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และภายในปี 2562 ลดความชุกของภาวะน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยมุ่งส่งเสริมการสร้างพื้นที่สุขภาวะหรือปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมทุกช่วงวัย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง สนับสนุนและสื่อสารรณรงค์การมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันที่ปฏิบัติได้ง่ายให้เป็นค่านิยมและวิถีชีวิต รวมถึงพัฒนางานวิชาการและงานวิจัยกิจกรรมทางกายสู่เวทีนานาชาติ”

ความร่วมมือของ สสส.ที่เข้ามาสนับสนุนงาน 3 ด้าน คือ 1.สื่อสารให้ประชาชนรู้จักนิยามคำว่า กิจกรรมทางกาย พร้อมกระตุ้นให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น 2.การผลักดันนโยบาย มาตรการ ยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดรู้จัก “กิจกรรมทางกาย” ปรับไลฟ์สไตล์เพื่อชีวิตมีสุขภาวะ thaihealth ขึ้น และแนวทางใหม่ๆ ในการลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และ 3.การผลักดันในเชิงสิ่งแวดล้อมว่า หัวใจสำคัญของการมีกิจกรรมทางกายเกิดขึ้นจาก 3 ส่วน คือ การมีกิจกรรมทางกายระดับบุคคล (Active People) มีสถานที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมทางกาย (Active place) และนโยบายของการมีกิจกรรมทางกาย (Active Policy)

ดร.ทิม อาร์มสตรอง ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายและการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจากองค์การอนามัยโลก บอกว่า การเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม ISPAH ครั้งที่ 6 นี้ ถือเป็นประโยชน์ที่จะสื่อสารเรื่องกิจกรรมทางกายให้คนทั่วไปได้ตระหนักทั้งในประเทศไทย ระดับเอเชีย และระดับนานาชาติ ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ การขยายงาน และสร้างความเข้าใจการส่งเสริมการเคลื่อนไหว และกิจกรรมทางกายออกไปกว้างขวางในอนาคตต่อไป

‘ทุกที่ทุกเวลา’ กิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพดีของคนไทย

ด้านศาสตราจารย์ฟิโอน่า บูล ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ อธิบายว่า คาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะส่งผลดังนี้ 1.ด้านการวิจัย จะช่วยเพิ่มศักยภาพการวิจัย โดยเชื่อมโยงการทำงาน และขยายงานวิจัยสู่ระดับนานาชาติ มีการพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นระบบ และมีการจัดการฐานข้อมูลกิจกรรมทางกายเพื่อให้เกิดการนำการวิจัยไปใช้ประโยชน์ 2.การประกาศวาระด้านการทำงานกิจกรรมทางกายของประเทศไทย และดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย 9 ปี ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญของ สสส. 3.เป็นโอกาสสำคัญของการสร้างพันธมิตรการทำงานในระดับนานาชาติ

“การที่เลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม ISPAH เป็นแห่งแรกของภูมิภาคเอเชีย เพราะมองเห็นศักยภาพการทำงานของ สสส.ในระดับชุมชน ทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อกิจกรรมทางกาย การผลักดันในระดับนโยบายที่ชัดเจน และการสื่อสารงานส่งเสริมสุขภาพที่นำมาใช้เพื่อการสื่อสารกิจกรรมทางกาย ซึ่งสามารถทำให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหา ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ และสร้างแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมต่อไป”

หวังไกล “ลดพุง ลดโรค” ผ่านแอพ 60 DAY BEST OF ME

โครงการลดพุง ลดโรค (60 DAY BEST OF ME) แนะวิธีเปลี่ยนชีวิตใหม่ใน 60 วัน ให้มีสุขภาพดีได้จริง พิชิต 3 MISSIONS แชะแชร์เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน-เพิ่มกิจกรรมทางกาย ผ่านแอพพลิเคชั่น
60 DAY โดยมีเซเลบที่มีร่างกายฟิตปั๋งอย่างเช่น วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา, กาละแมร์-พัชรศรี เบญจมาศ, ฟ้าใส พึ่งอุดม, เมจิ-อโณมา คุ๊ก และหนูแหม่ม-สุริวิภา กุลตังวัฒนา มาเป็นเทรนเนอร์สร้างแรงบันดาลใจ สร้างวินัยในการดูแลสุขภาพของตัวเอง ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างกิจกรรมทางกายให้อยู่ในชีวิตประจำวัน

‘ทุกที่ทุกเวลา’ กิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพดีของคนไทย

แอพนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากวู้ดดี้ พิธีกรชื่อดัง ซึ่งเขาบอกว่าได้ริเริ่มทำโครงการ 60 Day Challenge มาตั้งแต่ต้นปี 2558 ในสื่อของวู้ดดี้ เวิลด์ โดยเริ่มจากตัวเองออกกำลังกายฟิตหุ่น ตั้งเป้าหมายโดยใช้เวลาเพียง 60 วันในการเอาชนะใจตนเองขึ้นแข่งขันเวที Mr.Thailand และได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรอบข้างเป็นอย่างมาก

“จึงได้ส่งต่อโครงการนี้ไปยังดาราเซเลบหลายๆ ท่าน 60 วันนั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการดูแลตัวเองเท่านั้น วู้ดดี้หวังเพียงแค่เหล่าเซเลบจะนำความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ การออกกำลังกาย และโภชนาการ ส่งต่อไปให้กับคนไทยได้แพร่หลายที่สุด แต่ด้วยลำพังสื่อของวู้ดดี้ เวิลด์ เองคงไม่เพียงพอ ผมจึงเดินเข้าไปหา สสส. ว่ามีความตั้งใจอยากให้คนไทยมีสุขภาพและรูปร่างที่ดี เพราะถ้าเรามีรูปร่างที่ดี หุ่นดีแล้ว ไม่ว่าทำอะไรก็จะมีความมั่นใจในตัวเอง หากคุณสามารถสร้างหุ่นที่เพอร์เฟกต์ของคุณได้ คุณก็จะสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณคิดว่ายากได้สำเร็จหมด”

รองประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง สง่า ดามาพงษ์ บอกว่า โครงการ 60 DAY BEST OF ME ได้นำแนวคิดการลดน้ำหนักด้วย 3 อ. คือ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และควบคุมอารมณ์มาประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัว

“ถือเป็นมิติใหม่ของการลดอ้วนลดพุง สำหรับคนที่ต้องการท้าทายตัวเอง แข่งขันกับตัวเองและลดด้วยตัวเอง แบบไม่ยุ่งยากแต่แฝงอยู่ในวิถีชีวิต ซึ่งวิธีการลดแบบ 3 อ. จะไม่เกิดผลข้างเคียง ไม่เปลืองสตางค์ ลดได้อย่างถาวรยั่งยืน ไม่กลับมาอ้วนใหม่ เหนือสิ่งอื่นใด ได้สุขภาพดีตลอดชีวิต การออกกำลังกายก็จะมีทั้งเรื่องแนะนำการเผาผลาญด้วยการเดิน ซึ่งเหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย และทำได้ง่ายๆ ได้ทุกที่ และท่าออกกำลังสร้างกล้ามเนื้อในแบบต่างๆ อีกด้วย ในเรื่องการควบคุมอารมณ์ แอพพลิเคชั่นนี้ก็คือการรวมตัวของคนที่มีเป้าหมายเรื่องสุขภาพ และการลดพุง ลดน้ำหนักเหมือนกัน ใครได้เข้ามาเล่นก็จะได้ช่วยกันเป็นแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ ให้กำลังใจไปตลอดทางได้อีกด้วย”