posttoday

สำรวจการอ่าน คนไทยยุคดิจิทัล

18 เมษายน 2559

หลังจากที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบสถิติการอ่านของคนไทย

โดย...พริบพันดาว ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์, ทีเค ปาร์ค

หลังจากที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบสถิติการอ่านของคนไทย จากการแถลงข่าวนำเสนอผลสำรวจการอ่านของประชากรคนไทย พ.ศ. 2558 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค) รู้สึกยินดีที่คนไทยให้ความสำคัญกับการอ่านมากขึ้น โดยมีเวลาการอ่านเฉลี่ย 66 นาที/วัน เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2556 ที่อ่านเพียง 37 นาที/วัน

นายกรัฐมนตรีของไทยปลื้มปริ่มกับการแถลงตัวเลขสำรวจการอ่านครั้งนี้มาก เนื่องจากแนวโน้มการอ่านของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยคนไทยอ่านหนังสือมากขึ้นเป็น 77.7% หรือประมาณ 48 ล้านคน อ่านมากขึ้นเป็น 66 นาที/วัน คนไทยนิยมการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ถึงกว่า 50% แต่ 96% บอกว่ายังชอบจับหนังสือเป็นเล่ม และสุดท้ายไม่มีวิธีรณรงค์ส่งเสริมการอ่านดีที่สุดเท่ากับรณรงค์ผ่านครอบครัว

แม้ผลการสำรวจการอ่านของคนไทยในยุคดิจิทัลมีการอ่านที่มากขึ้นอย่างน่าชื่นใจ มาดูตัวเลขและความคิดเห็นเชิงวิเคราะห์ถึงสถิติการอ่านครั้งนี้กัน

สำรวจการอ่าน คนไทยยุคดิจิทัล

 

สถิติการอ่านของคนไทยปี 2558

สำหรับสถิติการอ่านของประชากรไทย จัดทำขึ้นโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติทุกรอบ 2 ปี โดยปี 2558 ได้ขยายคำนิยามการอ่าน ให้รวมการอ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์/เอสเอ็มเอส/อีเมลด้วย และทำการสำรวจจากประชากรตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2558 ซึ่งสรุปผลการสำรวจที่สำคัญได้ดังนี้ คือ

ในการอ่านของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เด็กเล็กที่อ่านมีประมาณ 2.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 60.2 โดยเด็กผู้หญิงมีอัตราการอ่านสูงกว่าเด็กผู้ชายเล็กน้อย คือ ร้อยละ 60.9 และร้อยละ 59.5 และมีความแตกต่างกันระหว่างเขตการปกครองและภาค โดยในเขตเทศบาลมีอัตราการอ่านสูงกว่านอกเขตเทศบาล คือ ร้อยละ 63.9 และ 57.4 ตามลำดับ ส่วนเด็กเล็กในกรุงเทพมหานคร มีอัตราการอ่านสูงสุด คือ ร้อยละ 73.8 ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เด็กเล็กมีอัตราการอ่านต่ำสุด คือ ร้อยละ 55.9

ในส่วนการอ่านของประชากรอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป พบว่า มีอัตราการอ่านร้อยละ 77.7 ผู้ชายมีอัตราการอ่านสูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย คือ ร้อยละ 78.9 และ 76.5 ตามลำดับ โดยวัยเด็กและวัยเยาวชนมีอัตราการอ่านสูงใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 90.7 และ 89.6 รองลงมาคือ กลุ่มวัยทำงาน คือ ร้อยละ 79.1 และต่ำสุดคือกลุ่มวัยสูงอายุ คือ ร้อยละ 52.8

ด้านประเภทของหนังสือที่อ่านหนังสือพิมพ์เป็นประเภทของหนังสือที่มีผู้อ่านสูงสุด คือ ร้อยละ 67.3 รองลงมาคือ ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์/เอสเอ็มเอส/อีเมล คือ ร้อยละ 51.6 ซึ่งเนื้อหาสาระที่ผู้อ่านชอบอ่านมากที่สุด คือ ข่าว สารคดี และความรู้ทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 48.5 เท่ากัน โดยเวลาเฉลี่ยที่ใช้อ่านเฉลี่ย 1 ชั่วโมง 6 นาที/วัน หรือ 66 นาที โดยกลุ่มเยาวชนใช้เวลาอ่านมากที่สุด เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 34 นาที/วัน หรือ 94 นาที กลุ่มวัยเด็กและวัยทำงานใช้เวลาอ่านเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 1 ชั่วโมงเล็กน้อย ส่วนวัยสูงอายุใช้เวลาอ่านน้อยที่สุดเฉลี่ย 44 นาที/วัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 พบว่า ทุกวัยใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้น เนื่องจากปี 2558 ได้เพิ่มการอ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์/เอสเอ็มเอส/อีเมลด้วย  โดยกลุ่มวัยเยาวชนใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 44 นาที/วัน

และท้ายสุดข้อมูลสถิติยังกล่าวถึงนโยบายการสนับสนุนการอ่านว่า วิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านที่ดีที่สุดคือ ปลูกฝังให้รักการอ่านผ่านพ่อ แม่ และครอบครัว, ให้สถานศึกษามีการรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน, รูปเล่มและเนื้อหาน่าสนใจ หรือใช้ภาษาง่ายๆ ส่งเสริมให้มีห้องสมุด ห้องสมุดเคลื่อนที่ มุมอ่านหนังสือในชุมชน หรือพื้นที่สาธารณะ และทำให้หนังสือสามารถหาซื้อหรือเข้าถึงได้ง่าย

โดยข้อมูลดังกล่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สามารถใช้เป็นเครื่องบ่งชี้และเป็นเครื่องมือหาแนวทางเพื่อส่งเสริมการอ่าน ความรู้และความเข้าใจของประชากร เพื่อสนับสนุนแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างยุทธศาสตร์ เป้าหมายการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการพัฒนาตามความเป็นจริง

สำรวจการอ่าน คนไทยยุคดิจิทัล

 

เบื้องหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2552 ให้มีการส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และวันที่ 2 เม.ย.ของทุกปี เป็นวันรักการอ่าน ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และกำหนดให้ตั้งแต่ปี 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของประเทศ อีกทั้งมีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นอกจากนี้ ในช่วงปี 2556 กรุงเทพมหานครได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลก โดยองค์การยูเนสโก ซึ่งในปีนั้นเราจะสังเกตได้ว่ากรุงเทพมหานครมีโครงการมากมายที่จะรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน ปัทมา อมรสิริสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักสถิติสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่าทำให้การสำรวจการอ่านของประชากรไทยครั้งที่แล้วมีตัวเลขสูง

“เวลาที่จะมาเปรียบเทียบกับปี 2558 ที่ไม่มีการรณรงค์การอ่านมากเหมือนครั้งนั้น ผลอาจจะตกลงมา แต่ความเป็นจริงก็สะท้อนให้เห็นว่าการที่คนรณรงค์แล้วทำให้คนมีจิตสำนึกในเรื่องของการรักการอ่านแต่ไม่ได้ยั่งยืน เพราะการรณรงค์นั้นไม่ได้ต่อเนื่องจนสร้างนิสัยรักการอ่าน ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักถึงผลของการสำรวจที่สะท้อนภาพอย่างนี้ออกมา”

ปัทมา ขยายความว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจการอ่านของประชากรเพื่อต้องการให้ประเทศมีข้อมูลพื้นฐานเรื่องของการอ่าน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านเพิ่มมากขึ้น สำนักงานสิถิติแห่งชาติได้สำรวจการอ่านมาแล้วถึง 6 ครั้ง

“ล่าสุดในปี 2558 โดยสำรวจทุก 2 หรือ 3 ปี ครั้งแรกในปี 2546 มีความเข้มงวดของระเบียบวิธีทางด้านสถิติ นิยามของการอ่านคือการอ่านหนังสือทุกประเภทที่อยู่ในรูปเล่มเอกสาร รวมทั้งสื่อที่ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่ผ่านการเชื่อมต่อและไม่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งปีหลังๆ การอ่านตรงนี้เรามองแค่การอ่านนอกเวลาเรียนของเด็ก นอกเวลาทำงานของพ่อแม่ หรือการอ่านที่นอกเวลาการทำภารกิจปกติ ในปี 2558 เราเพิ่มในส่วนของการอ่านสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เอสเอ็มเอส หรืออีเมล แต่ถ้าเป็นการอ่านโต้ตอบสนทนาหรือติดต่อสื่อสารในหน้าที่การอ่านก็ไม่นับเป็นการอ่านเพราะถือว่าเป็นภารกิจที่เขาต้องทำเป็นประจำ”

ปัทมา บอกว่า ถ้ามีการรณรงค์ให้ประชาชนในประเทศรักการอ่าน ส่งเสริมและปลูกฝังค่านิยมในการอ่านก็จะมีผลดี โดยเฉพาะเด็กกลุ่มปฐมวัย จะมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องยุทธศาสตร์เด็กปฐมวัย

“เด็กที่ถูกปลูกฝังรักการอ่านจะรักการอ่านตลอดไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เยาวชนของชาติก็จะมีความรู้ มีทักษะการดำเนินชีวิตที่ดี เพราะฉะนั้นหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนควรรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยรักการอ่าน”

สำรวจการอ่าน คนไทยยุคดิจิทัล

 

มุมมองนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ

“การบอกว่าคนไทยอ่านหนังสือวันละ 8 นาที ปีละ 8 บรรทัด ควรเลิกพูดกันได้แล้ว เพราะว่าเป็นข้อมูลที่ทำลายประเทศชาติ ทำให้คนในชาติเกิดความอับอาย เป็นไปไม่ได้ที่คนในประเทศไหนจะอ่านหนังสือกันแค่ปีละ 8 บรรทัด ซึ่งเป็นการพูดคุยเสียดสีกันจนกลายเป็นเหมือนว่าเรื่องจริง” จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ขึ้นต้นแสดงความคิดเห็นอย่างจริงจัง ก่อนกล่าวต่อว่า

“ผมว่าข้อมูลสำรวจตรงนี้ถือว่ามีมุมที่เป็นบวกที่สุดสำหรับประเทศไทยแล้ว ณ เวลานี้ พอมีแบบสำรวจตรงนี้ออกมา ในฐานะของคนทำหนังสือก็ดีใจว่าอนาคตวงการหนังสืออยู่ได้แน่ เพราะขึ้นอยู่กับคนอ่าน การอ่านหนังสือ การอ่านออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย เป็นแค่เครื่องมือในการอ่าน วันหนึ่งคนก็จะอ่านหนังสือเอง ขอให้เขาเริ่มต้นอ่านก่อน มีคนหลายคนบอกว่าโซเชียลมีเดียเป็นอุปสรรคของการอ่านหนังสือไหม ไม่ใช่ครับ มองโลกให้ดี โซเชียลมีเดียเป็นตัวช่วยให้คนอ่านหนังสือ เด็กสามารถอ่านสั้นๆ ได้ พออ่านเรื่อยๆ พฤติกรรมการอ่านของคนก็จะต้องการมีสาระเองไปโดยธรรมชาติ”

จรัญ ให้รายละเอียดเชิงลึกว่า ตลาดหนังสือเมืองไทยในรอบ 2-3 ปีหลังมา เศรษฐกิจไม่ดีอย่างนี้ก็ได้รับผลกระทบบ้าง

“หนังสือที่มีภาพประกอบเยอะๆ อย่างอินโฟกราฟฟิก หนังสือที่อ่านง่ายๆ จะขายดี เพราะสิ่งเหล่านี้เปิดโลกให้คนอ่านรู้ อ่านแล้วเข้าใจง่าย เมื่อต้องการจะรู้จริงเขาก็ไปหาใหม่ เพราะสังคมยุคนี้ต้องการทุกสิ่งที่รวดเร็ว สถานที่ซึ่งทำให้เด็กไม่อยากอ่านหนังสือเลยคือโรงเรียน เพราะระบบการเรียนการสอนบังคับเขาให้อ่าน มนุษย์เป็นพวกที่มีเสรีภาพ การปรับปรุงการสอนของครูในโรงเรียนต้องนำอินโฟกราฟฟิกไปสอนเด็ก การบังคับให้อ่านและการไม่มีเสรีภาพในการอ่านถือว่าเป็นอุปสรรคในการส่งเสริมการอ่านของประเทศ”

สำรวจการอ่าน คนไทยยุคดิจิทัล

 

อนาคตของการส่งเสริมการอ่าน

สำหรับการสำรวจการอ่านของประชากรไทยครั้งนี้ จุดสำคัญที่ต้องให้ความใส่ใจมากที่สุด คือการอ่านของเด็กช่วงวัยปฐมวัย ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า ไปเจรจากับสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยการนำงานวิจัยและเอาข้อมูลทางการแพทย์ไปให้ ทำให้เขายอมที่จะสำรวจและแยกการอ่านของเด็กเล็กออกมา

“มีเหตุผล 2-3 ข้อที่อยากให้สำรวจการอ่านของเด็กเล็ก ช่วงเด็กเล็ก 0-6 ปี เป็นช่วงที่สมองมนุษย์เจริญเติบโตสูงสุดถึง 80% ถ้าสมมติว่าเราเอาเรื่องของการอ่านที่มีความละเมียดละไมโดยไม่บังคับ มีความรื่นรมย์นำหน้า จะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมในเรื่องของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กเล็ก สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในการนำเรื่องหนังสือและการอ่านใส่ลงไปในเรื่องของเด็กเล็ก เพราะจะมีพัฒนาการในด้านทักษะทางภาษา ทั้งงานวิจัยในต่างประเทศหรือแม้กระทั่งในโครงการบุ๊ก สตาร์ท ประเทศไทย ที่เก็บข้อมูลสำรวจก็พบว่าช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่สำคัญมากที่สุด รวมถึงเรื่องพัฒนาทักษะทางด้านสมองหรือ ซึ่งตรงนี้จะสามารถปลูกฝังได้ง่ายที่สุด แล้วก็รวดเร็วมากที่สุดก็คือช่วง 3-5 ปี ถือว่าเป็นช่วงเวลาทองแท้ๆ ของการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์”

สุดใจมีความปรารถนาที่อยากให้ข้อมูลเรื่องประโยชน์การส่งเสริมการอ่านให้เด็กปฐมวัยกระจายไปทั่วประเทศ ถ้าจะพัฒนาศักยภาพมนุษย์ต้องเริ่มกันตั้งแต่ปฐมวัย เครื่องมือที่เข้าถึงง่ายที่สุดและราคาถูกที่สุด และคืนต้นทุนให้กับประเทศเรา 7-12 เท่า นั่นคือการพัฒนาเด็กปฐมวัย

“มีลูกมีหลานอายุ 6-7 เดือน ก็อ่านหนังสือให้ลูกฟังได้แล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วอ่านลึกลงไปตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ด้วยซ้ำ ถ้าหนังสือเล่มนั้นเป็นจังหวะดนตรีหรือเป็นจังหวะคล้องจอง จริงๆ เป็นบันทึกข้อตกลงที่ประเทศไทยทำกับยูนิเซฟ เพราะว่าเด็กปฐมวัยหรือเด็กเล็ก ครอบครัวหนึ่งต้องมีหนังสือเด็กในครอบครัวอย่างน้อย 3 เล่ม มีความสำคัญอย่างนี้คือหนังสือมีปัจจัยของสิ่งแวดล้อม การที่ในบ้านเด็กมีหนังสือ มีการเก็บข้อมูล พบว่า 80% เด็กจะมีความใฝ่รู้ใฝ่เรียน รักการอ่าน แล้วก็ได้รับการพัฒนาอย่างครบถ้วน พอมีหนังสือก็จะมีกระบวนการของกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในบ้านตามมา”

ทฤษฎีหน้าต่างแห่งโอกาส ก็คือจังหวะอันเหมาะสมในการพัฒนาสมองของมนุษย์ ซึ่งสุดใจชี้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ โดยเฉพาะการสร้างความรักความผูกพัน

“แล้วตัวหนังสือก็เป็นทั้งกลไก เครื่องมือ กระบวนการที่สามารถทำให้เกิดความรักความผูกพันในเด็ก เพราะพ่อแม่ต้องอ่านให้ฟัง การอ่านและสัมผัสเด็กสามารถสร้างกลไกเรื่องความรักความผูกพันขึ้นมา แล้วจะติดตรึงเป็นหมุดตอกความรักในเด็ก เด็กที่เติบโตขึ้นท่ามกลางบรรยากาศความรักความอบอุ่นเท่านั้นถึงจะรักในมนุษย์เป็น 0-2 ปี หนังสือเด็กต้องเป็นลักษณะของหนังสือภาพ พอ 3 ขวบขึ้นไป ก็เริ่มมีนิทาน เลยขึ้นไปนิดก็เป็นนิทานที่เต็มไปด้วยจินตนาการ การที่เด็กได้รู้จักถอดรหัสทั้งรหัสภาพและรหัสคำ”

สุดใจ ย้ำว่า ถ้าพ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถบ่มเพาะปลูกฝังการอ่านไปได้เรื่อยๆ ก่อน 6 ขวบ เด็กจะถอดรหัสและอ่านหนังสือออกได้อย่างอัตโนมัติ ไม่ต้องบังคับ ซึ่งจะทำให้เด็กแนบเนียนไปกับคำสอน หนังสือเด็กเหมือนวรรณกรรมชั้นดีที่อยู่ใกล้ตัว เด็กจะเสพหนังสือด้วยความอิ่มเอมอย่างรื่นรมย์ และมีความลึกซึ้งในเรื่องของสุนทรียะ

“การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง พอ 6-7 เดือน ก็เริ่มได้แล้ว แต่บางทีพ่อแม่หลายคนพอลูกเข้าอนุบาลก็หยุดอ่านให้ลูกฟัง ซึ่งจะเสียดายมากเลย ต้องอ่านไปถึงประถมเลยด้วยซ้ำ เพื่อให้เด็กมีรากฐานที่แข็งแรง เด็กจะรักการอ่านโดยอัตโนมัติ ก็จะมีการอ่านเป็นงานอดิเรกหรือไม่ก็เข้าสู่นิสัยและพฤติกรรมการอ่าน เพราะฉะนั้นอย่าหยุดการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง”