posttoday

เปลี่ยนโฉมให้ไฉไล รถขายอาหารริมทางข้างถนน

05 เมษายน 2559

ความเคลื่อนไหวในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา การเติบโตและได้รับการยอมรับของอาหารริมทางหรือข้างถนนจากทั่วโลก

โดย...พริบพันดาว ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ความเคลื่อนไหวในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา การเติบโตและได้รับการยอมรับของอาหารริมทางหรือข้างถนนจากทั่วโลก ได้ถูกกล่าวถึงในเรื่องความอร่อยจากสื่อระดับนานาชาติ โดยเฉพาะซีเอ็นเอ็นที่เจาะเรื่องอาหารริมทางหรือสตรีทฟู้ดจากทุกมุมโลก พร้อมกับจัดอันดับความน่ากินและอร่อยไว้เป็นคู่มือของนักเดินทางหรือนักท่องเที่ยวไว้อย่างครบครัน เช่นเดียวกันมูลค่าของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในแบบลุยเดี่ยวเที่ยวคนเดียว หรือกลุ่มเล็กๆ ที่ออกนอกแผนที่ท่องเที่ยวกระแสหลัก ทำให้อาหารสตรีทฟู้ดเป็นที่พึ่งของนักเดินทางเหล่านี้เพราะอร่อยและถูก

เมืองไทยเองก็ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่หันมาใช้บริการฝากท้องไว้กับอาหารริมทางข้างถนนมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการเติบโตของตลาดนัดทั้งกลางวันและกลางคืนที่เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นในเกือบทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้การเติบโตของอาหารริมทางข้างถนนแบบง่ายๆ พุ่งสูงอย่างมาก รวมถึงด้านผู้ประกอบการที่เป็นคนหนุ่มสาวที่หันมาทำธุรกิจสตาร์ทอัพด้านอาหารเพื่อรองรับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่

เพราะฉะนั้นพาหนะหรือรถที่ขายอาหารริมทางข้างถนนแบบเดิม ก็พัฒนาจากพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดตลาดสดอย่างที่เป็นมาแต่อดีต ผันมาสู่ความเป็นรถเข็นสตรีทฟู้ดและฟู้ดทรักรุ่นใหม่

เปลี่ยนโฉมให้ไฉไล รถขายอาหารริมทางข้างถนน

 

รถเข็นสตรีทฟู้ดแนวใหม่

ภาพล่าสุดที่น่าตื่นตาตื่นใจถึงพัฒนาการของรถเข็นสตรีทฟู้ด ในงานเทศกาลอาหารริมทางสร้างสรรค์ “THAILAND STYLISH STREET FOOD MAKEOVER & FESTIVAL 2016”  ณ ลานหน้าด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ มีการแปลงโฉมอาหารริมทางสู่สตรีทฟู้ดสุดสร้างสรรค์ ผลักดันไทยให้เป็น Street Food Destination พร้อมประกาศผลการประกวดออกแบบ “รถเข็นสตรีทฟู้ดสร้างสรรค์” และ “การประกวดแปลงโฉมอาหารริมทางสร้างสรรค์ โดยการจัดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แบรนด์ “เฟสท์” (Fest) ของบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน Street Food Destination ที่โดดเด่น

สำหรับการประกวดรถเข็นสตรีทฟู้ดสร้างสรรค์ของนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า 5 แสนบาท มี 7 ทีมสุดท้ายที่เข้าลุ้นรางวัล จาก 168 ชิ้นงานที่ส่งเข้าประกวด รางวัลชนะเลิศได้แก่ ทีมอรุณสวัสดิ์ รับเงินสด 1 แสนบาท พร้อมโล่เกียรติยศและประกาศนียบัตร

สำหรับทีมอรุณสวัสดิ์ ผลงานรถเข็นขายข้าวจี่ เป็นผลงานของกลุ่มนักศึกษาสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตน
โกสินทร์ วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม ทัศนีวรรณ แก้วกำเนิด กล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบว่า

เปลี่ยนโฉมให้ไฉไล รถขายอาหารริมทางข้างถนน

 

“ได้ไอเดียมาจากการกระติบข้าวเหนียว ใช้หวายสานตกแต่งเป็นลวดลาย รถเข็นนี้สะดวกเหมาะกับการใช้งานสตรีทฟู้ด มีถังไว้ชะล้างทำความสะอาด มีที่เก็บภาชนะ และที่ครอบอาหารป้องกันฝุ่นละออง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องสุขอนามัย สำหรับราคาในการผลิตรถต้นแบบใช้งบประมาณ 3 หมื่นบาท”

จากแรงบันดาลใจและแนวคิดของชิ้นงานที่สร้างสรรค์มีความแปลกใหม่และสวยงาม โดดเด่นในเรื่องการใช้งานของร้านค้าเคลื่อนที่ ซึ่งสามารถนํามาปรับใช้ให้สอดคล้องกับการใช้งานจริงของผู้ค้าได้ดีเยี่ยม รวมถึงมีการเลือกวัสดุที่มีความแข็งแรง มีสภาพคงทนต่อสภาวะแวดล้อมและใช้งานได้จริง และสุดท้ายมีนวัตกรรมการบริหารจัดการความสะอาดและที่ล้างมือ ตอบโจทย์เรื่องสุขลักษณะอนามัย

ณัฐพล ซึ้งหฤทัย สมาชิกอีกคนในทีมอรุณสวัสดิ์ ที่ร่วมประดิษฐ์รถเข็นสตรีทฟู้ดในแนวความคิดข้าวจี่ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ชี้ว่าโจทย์ก็คือทำออกมาให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่

“รถเข็นแบบเก่าที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้วหน้าตาเหมือนกันเกินไป ออกแบบมาเพื่อให้มีราคาถูกที่สุด ไม่มีจุดเด่น การออกแบบเริ่มจากที่ไปฝึกงานในนิคมอุตสาหกรรม แล้วคลุกคลีอยู่กับพวกช่าง ก็เข้าใจรูปแบบของการซื้ออาหารของคนเหล่านี้ ที่เลือกข้าวจี่เพราะเป็นอาหารตัวแทนของคนอีสาน นำความเป็นพื้นบ้านพื้นถิ่นมาใส่ในรถเข็น เรื่องการดีไซน์รูปทรงให้ออกมาเป็นกระติ๊บข้าวเหนียว”

เปลี่ยนโฉมให้ไฉไล รถขายอาหารริมทางข้างถนน

 

ณัฐพล ยังบอกว่า รถเข็นสตรีทฟู้ดรุ่นใหม่เท่าที่เห็นในการประกวด ก็มีแนวความคิดและการออกแบบที่สวยงามและดีๆ ทั้งนั้น สำหรับรถต้นแบบที่ได้รางวัลชนะเลิศจะมีการนำไปใช้ประโยชน์และออกแบบให้กับรถเข็นรุ่นใหม่

“ตอนนี้มีสั่งทำมาจากเชียงใหม่แล้ว แต่ไม่ค่อยมีเวลาทำเพราะยังเรียนกันอยู่ ก็มีหลายเจ้าติดต่อเข้ามา ราคาตั้งต้น 3 หมื่นบาท สำหรับต้นแบบก็แพงไปคิดว่าสัก 1.5 หมื่นบาทก็น่าจะไม่แพงมากนัก ก็คิดถึงธุรกิจรถเข็นรุ่นใหม่ที่จะมาให้ผลิต เพราะคิดว่าคนรุ่นใหม่เข้าสู่ธุรกิจตรงนี้มากขึ้น ขายอาหารตามคอมมูนิตี้มอลล์และตลาดนัดรุ่นใหม่ที่มีเพิ่มมากขึ้น”

ฟู้ดทรักเติบโตไว อนาคตใหม่อาหารริมทาง             

อีกด้านของอาหารสตรีทฟู้ด รถบรรทุกที่ดัดแปลงขายอาหารเคลื่อนที่ หรือฟู้ดทรัก กำลังนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะไปงานเทศกาลไหน ตลาดนัด หรือคอมมูนิตี้มอลล์สุดฮิตที่ใด รับรองว่าต้องเจอกับร้านฟู้ดทรักอย่างแน่นอน

ฟู้ดทรักมีข้อได้เปรียบคือสามารถย้ายสถานที่จำหน่ายได้ตามต้องการ ธุรกิจฟู้ดทรักของไทยเริ่มเป็นที่นิยมจากย่านธุรกิจและออฟฟิศใจกลางเมือง อย่างอารีย์ สุขุวิท สีลม ทองหล่อ แล้วค่อยๆ ขยับขยายออกไปสู่หลายพื้นที่ จนกล่าวได้ว่าตอนนี้มีทุกมุมเมือง รวมทั้งการออกร้านตามงานเทศกาลต่างๆ ที่จัดขึ้น เช่น งาน Art Box งาน Food truck festivals หรืองานต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ฟู้ดทรักเข้าร่วมออกร้านด้วย ซึ่งงานเทศกาลต่างๆ นั้นมีมากมายตลอดทั้งปี

เปลี่ยนโฉมให้ไฉไล รถขายอาหารริมทางข้างถนน

 

ญาณเดช ศิรินุกูลชร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งฟู้ด ทรัค คลับ (ประเทศไทย) ซึ่งคลุกคลีในการปลุกปั้นธุรกิจของรถขายอาหารแบบใหม่ของเมืองไทย ในช่วง 2-3 ปีหลังอย่างต่อเนื่อง ขยายภาพของฟู้ดทรักให้ฟังว่า เดิมทีฟู้ดทรักก็เป็นแฟชั่นมาก่อน

“เด็กรุ่นใหม่หรือนักธุรกิจใหม่ๆ ในแนวสตาร์ทอัพก็นำฟู้ดทรักมาแต่งหรูๆ ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่แล้วก็ถือว่ายังน้อยมาก คนที่ทำแรกๆ ก็จะโดดเด่นในตลาดมากเลย เพราะยังไม่มีใครทำมากนัก พอ
กลุ่มที่บุกเบิกได้จุดกระแส ก็มีการมองเห็นแล้วว่าฟู้ดทรักนั้นมีข้อดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนที่หรือพื้นที่ขายไปไหนก็ได้ในวันเดียวกัน เช้าขายที่หนึ่ง เที่ยงหรือเย็นก็ไปอีกที่หนึ่ง กลางคืนก็ไปอีกที่ เพราะฉะนั้นเขาจะไปเพิ่มยอดขายได้โดยอิสระ”

ความนิยมของฟู้ดทรักที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ญาณเดชมองว่าเป็นเพราะช่วยลดต้นทุน โดยสามารถประกอบร้านๆ หนึ่งให้เกิดขึ้นได้บนรถหนึ่งคัน ไม่ว่าจะเป็นรถกระบะ รถบรรทุก รถตู้ ก็สามารถที่จะดัดแปลงทำร้านหนึ่งร้านได้

“โดยที่คนลงทุนไม่ต้องไปสิ้นเปลือง ไม่ต้องกังวลกับเงินงอกและการเสียค่าเช่าที่มากเกินไป ก็เลยทำให้คนหันมาเริ่มตามกระแส พอกระแสติดปั๊บก็ได้รับการตอบรับจากคนในหลายๆ พื้นที่ ก็ทำให้ธุรกิจฟู้ดทรักที่เป็นเทรนด์ได้กลายมาอยู่ในไลฟ์สไตล์ของคนเมืองทันที ตอนนี้หลายคนเชื่อว่าได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนกรุงแล้ว

เปลี่ยนโฉมให้ไฉไล รถขายอาหารริมทางข้างถนน

 

คอมมูนิตี้หรือตลาดนัดใหม่ๆ การที่เขาเอาฟู้ดทรักไปตั้งรวมกันในพื้นที่หลายๆ คัน ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณได้มากเลย ญาณเดช บอกว่า เพียงแต่ปรับพื้นที่ว่างให้มีความเรียบเหมาะกับการจอดรถ สามารถทำให้พื้นที่มีสีสันขึ้นมาทันทีโดยไม่ต้องทำอะไรมาก เลยทำให้เจ้าของพื้นที่เริ่มมองเห็นแล้วว่าฟู้ดทรักเป็นอะไรที่มีความรวดเร็วและสลายตัวเร็ว เรียกมาก็ได้ทันที

“พอมีพื้นที่รองรับคือมีสินค้าและมีตลาด ก็จะเริ่มเติมเต็มวงจรของธุรกิจ มีผู้ขาย มีสถานที่ขาย มีผู้ซื้อ เหลือแต่ว่าจะเรียกผู้ซื้อมาอย่างไร? มันก็เลยทำให้ตลาดของฟู้ดทรักโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอบโจทย์อะไรหลายๆ อย่างของคอมมูนิตี้มอลล์หรือตลาดนัดก็โตขึ้นตามไป เขาก็มองหาสิ่งที่มาเติมเต็มในพื้นที่การขาย ก็เลยทำให้กระแสนี้เป็นวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ไปโดยปริยาย”

สำหรับไอเดียการออกแบบตกแต่งและทำครัวเคลื่อนที่ ซึ่งโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เป็นแรงดึงดูดให้ลูกค้าสนใจ ญาณเดชชี้ว่าการคิดคอนเซ็ปต์ของร้านเป็นหัวใจสำคัญ

“การพัฒนาฟู้ดทรักในเรื่องรูปแบบและสีสัน อย่างอเมริกันเขาจะมีรถใหญ่ๆ ตกแต่งสวยงามทำฟู้ดทรัก แต่เมืองไทยบ้านเรามันไม่ใช่ เราไม่สามารถหารถใหญ่ขนาดนั้นมาทำเป็นฟู้ดทรักได้ เนื่องจากว่าต้นทุนสูงกินน้ำมันเยอะ อากาศบ้านเราก็ร้อนจัด ประกอบกับเรื่องกฎหมายเรื่องอะไรต่างๆ ทำให้เกิดข้อจำกัดของการดัดแปลงรถ จึงทำให้สไตล์การแต่งรถฟู้ดทรักของเมืองไทยก็จะเป็นอีกแนวหนึ่ง ออกแนวเอเชียพยายามเปิดโล่งทุกทิศทุกทาง ให้ลมผ่าน ก็นำวัฒนธรรมฟู้ดทรักเมืองนอกมาปรับใช้ สินค้าที่คนไทยน่าจะชอบก็เป็นอาหารในแนวซื้อไปแล้วจร คว้าได้ก็ไป จ่ายตังค์แล้วก็กินเลย ก็เลยทำให้ฟู้ดทรักขายอาหารประเภทเบอร์เกอร์ ฮอตด็อกค่อนข้างเยอะ แต่บางคนก็ไม่ถนัดก็เลยพยายามหาสินค้าอาหารที่ตัวเองถนัดให้ขึ้นไปขายอยู่บนรถที่มีข้อจำกัดได้ พอมีโจทย์ตรงนี้ก็มีความพยายามหาทางแก้ปัญหา ซึ่งแต่ละคนก็มีองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาของตัวเองต่างกัน”

เปลี่ยนโฉมให้ไฉไล รถขายอาหารริมทางข้างถนน

 

จากความหลากหลายของที่มาที่ไปและคอนเซ็ปต์ของการทำร้านที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดความหลากหลายขึ้นในกลุ่มคนทำฟู้ดทรัก ทำให้มีวิวัฒนาการของมัน ทำให้เกิดฟู้ดทรักสไตล์ไทยๆ

“ต้องบอกว่าวงการฟู้ดทรักบ้านเรามีบริษัทรถหลายบริษัทที่ออกแบบรถของตัวเองให้มีอุปกรณ์เสริมเป็นโครงมาตรฐาน มันก็เลยทำให้หลายๆ คันที่เป็นฟู้ดทรักมีความคล้ายกันในเรื่องของโครงสร้างหลักของรถ เรื่องของสไตล์และการออกแบบที่หลากหลายเลยยังน้อยไปนิดหนึ่ง แต่เชื่อว่าอีกไม่นานจะมีการปรับพัฒนารูปแบบ เพราะฟู้ดทรักมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน ทำให้เขาเริ่มตั้งโจทย์การแข่งขันทางธุรกิจของเขาว่าจะแสดงตัวตนของเขาในรูปแบบไหน ตอนนี้แหละที่จะทำให้ฟู้ดทรักในเมืองไทยมีการพัฒนาในแง่ของการออกแบบ”

ญาณเดช ยังมองอีกว่าอันดับที่หนึ่งสำหรับคนไทย เวลาจะขายอาหารต้องเน้นเรื่องรสชาติมาก่อน ถ้าทำอาหารอร่อย เรื่องดีไซน์ตัวรถก็ยังไม่สำคัญเท่า

“ดีไซน์รถได้สวยมากแต่อาหารไม่อร่อยเลยก็ดับได้เหมือนกัน ตอนนี้ผู้ประกอบการส่วนมากจะไปโฟกัสที่รสชาติอาหารเพื่อสร้างแบรนด์ของตัวเองกันก่อน ถ้าแบรนด์ติดตลาดและแข็งแรงแล้ว ต่อไปคงจะมาคิดเรื่องดีไซน์การแต่งรถกัน มีพัฒนาการในฟู้ดทรักแต่ละเจ้ามีวิธีการเติบโตในรูปแบบของเขา”

ทิ้งท้าย ญาณเดช มองไกลไปว่าจุดที่ทำให้ตลาดแข็งแรงก็คือการแข่งขัน ซึ่งทำให้เกิดพัฒนาการโดยธรรมชาติ

“แม้ตอนนี้การออกแบบและสีสันยังไม่มีความหลากหลาย แต่ตลาดฟู้ดทรักกำลังโตและเริ่มมีดีไซน์ก็มีความแตกต่างกันมากขึ้นในแต่ละเจ้า พูดถึงฟู้ดทรักในเมืองไทยต้องบอกว่าเรามาเร็วแต่ยังไม่ไกล เพิ่งเริ่มต้นจริงจังเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มันยังไม่ไกลหรอกในแง่ของการพัฒนาฟู้ดทรัก เพราะมันยังไม่เยอะยังไม่หลากหลาย ยังมีความซ้ำกันอยู่ แต่มันเติบโตเร็วมากสามารถไปโชว์เมืองนอกได้โดยเฉพาะในอาเซียน กระแสที่บริษัทต่างๆ เริ่มหันมามองฟู้ดทรักในการทำพีอาร์ รวมถึงระบบแฟรนไชส์ที่กำลังเริ่มต้นอย่างแข็งแรงและมีเส้นทางอีกยาวไกล”