posttoday

คว่ำโอกาสเป็นวิกฤต เมื่อราชวงศ์หมิงเปลี่ยนพ่อค้าเป็นโจรสลัด

13 มีนาคม 2559

ช่วงราชวงศ์หมิงของจีนนั้นคาบเกี่ยวกับช่วงเริ่มต้นยุคล่าอาณานิคม เรื่องราวยุคราชวงศ์หมิงที่คุ้นหูชาวโลกกันดี

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ช่วงราชวงศ์หมิงของจีนนั้นคาบเกี่ยวกับช่วงเริ่มต้นยุคล่าอาณานิคม เรื่องราวยุคราชวงศ์หมิงที่คุ้นหูชาวโลกกันดี คือเรื่องการเดินเรือของเจิ้งเหอ (ที่คนไทยรู้จักในชื่อ ซำปอกง) ขันทีที่นำกองสำเภาแห่งราชสำนักจีนขนาดมหึมาออกเดินทางแผ่ขยายอิทธิพลไปถึงทวีปแอฟริกา บางคนอ้างว่ากองเรือของเจิ้งเหอไปถึงอเมริกาก่อนขบวนของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ถึง 87 ปี

ไม่ว่าเรื่องเจิ้งเหอไปถึงอเมริกาจะจริงหรือไม่ แต่เนื้อหาที่คุ้นหูนี้ทำให้เราเห็นบรรยากาศของโลกในยุคราชวงศ์หมิง ซึ่งก็คือบรรยากาศการเริ่มต้นแสวงหาดินแดนใหม่และการเดินทางค้าขายข้ามมหาสมุทร ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดพลิกผันประวัติศาสตร์โลก

พูดให้เจาะจงเวลาขึ้นอีกนิดก็คือว่า ปลายราชวงศ์หมิงตรงกับจุดเริ่มต้นของยุคล่าอาณานิคมและจีนก็เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์หน้านี้ จีนคือตลาดการค้าใหญ่ของโลก จำนวนประชากรจีนในราชวงศ์หมิงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจมั่นคง บ้านเมืองสงบขึ้น สงครามลดลง และยุคสมัยแห่งการเดินเรือทั่วโลก ทำให้การค้าขายทั้งในประเทศและกับต่างประเทศเติบโตรวดเร็วจนมีปัญหาขาดเงิน

ก่อนยุคที่ตลาดการค้าโลกมีระบบการเงินสมัยใหม่ เงินตราใช้แร่เงินและทองคำเป็นหลัก แร่เงินและทองคำต้องขุดขึ้นมาจากเหมือง เมื่อ(แร่)เงินซึ่งเป็นแร่หลักในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าในจีนฝืด จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

และถ้าจะให้ในประเทศมีเงินหมุนเวียนมากพอ ย่อมหลีกไม่ได้ที่จะต้องค้าขายกับต่างชาติ จีนจึงปิดประเทศไม่ได้ การค้าขายกับต่างชาติไม่พ้นจะต้องมีสินค้าไปแลกเปลี่ยน สินค้าที่ขึ้นชื่อลือชาของจีนมีทั้งผ้าไหม ใบชา และเครื่องเคลือบ ซึ่งมาโคโปโลได้เป็นพรีเซนเตอร์โปรโมทผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้กับฝั่งยุโรปมาก่อนหน้านี้นับร้อยปีแล้ว

ผลก็คือสินค้าจีนกระจายทั่วโลก ชาวฟิลิปปินส์มีผ้าไหมสวมใส่ ชาวยุโรปมีเครื่องเคลือบลายครามใช้ สถานการณ์ไม่ต่างกับปัจจุบัน ที่หันไปทางไหนก็เจอ Made in China

ในทางกลับกัน จีนก็นำเข้าสินค้าหลายอย่างจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเทศหรือไม้มีค่าต่างๆ จากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สยาม การค้ายุคนี้จึงเฟื่องฟูเป็นอย่างยิ่ง

ยิ่งการค้าขายแลกเปลี่ยนมีมาก สินค้าและผลิตภัณฑ์ก็พัฒนามาก สถานการณ์ทุกอย่างดูดี

เฟอร์นิเจอร์ไม้สมัยราชวงศ์หมิงที่เป็นที่นิยมของนักเล่นของเก่า ส่วนหนึ่งก็ผลิตมาจากไม้เนื้อดี ซึ่งนำเข้าจากอุษาคเนย์

แต่สำหรับแร่เงิน ซึ่งจีนต้องการนำมาใช้เป็นสื่อกลางการค้าขาย กลับต้องพึ่งพาแหล่งแร่เงิน ซึ่งในยุคนั้นมีอยู่ไม่กี่ที่ หนึ่งคือญี่ปุ่น และอีกหนึ่งอยู่ที่ดินแดนโลกใหม่-ละตินอเมริกา ซึ่งยุโรปเข้าเพิ่งเข้าไปตั้งรกราก

เส้นทางที่ชาวสเปน โปรตุเกส และฮอลันดา นำแร่เงินมาแลกเปลี่ยนสินค้า มีทั้งเริ่มจากทวีปอเมริกา ไปสู่ทวีปยุโรป อ้อมข้ามแอฟริกา อินเดีย ช่องแคบมะละกา มาถึงจีน หรือส่งตรงจากทวีปอเมริกาโดยสำเภาฟิลิปปินส์ ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกตรงมาที่ฟิลิปปินส์ แล้วเข้าสู่จีน

ทั้งหมดวิ่งเข้าสู่ดินแดนแห่ง Demand และ Supply-อาณาจักรจีน ต่างประเทศได้สินค้า จีนได้เงินมาใช้หมุนเวียนเศรษฐกิจที่โตวันโตคืน

หลายคนจินตนาการว่าสินค้าที่จีนยุคนั้นเป็นสินค้าราคาแพง เช่น เครื่องเคลือบชั้นดีและผ้าไหม แต่เอาเข้าจริงแล้วกฎของการค้าอยู่เหนือคำโฆษณา สำหรับอาณาจักรจีนเองแล้ว สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าต้นทุนต่ำ ผลิตได้มากมาย โดยมีความแปลกใหม่เป็นคุณภาพ

ต้นทุนต่ำเพราะจีนพัฒนาระบบและเทคนิคการผลิตสินค้าเหล่านี้มาเนิ่นนาน และราชสำนักตั้งใจผลิตเพื่อทำเงินให้กับอาณาจักร

อันที่จริงสินค้าเหล่านี้ในจีนผลิตโดยชาวบ้านจีน ซึ่งผลิตใช้กันเองอยู่แล้ว

แต่ระบบการค้ากับจีนกลับไม่เป็นไปตามธรรมชาติของตลาด ราชสำนักจีนกำหนดให้การค้าขายกับต่างประเทศต้องผูกขาดขึ้นตรงกับราชสำนักเท่านั้น

ราชสำนักจีนใช้ความคิดเดิมๆ ในการค้าขาย ไม่ทันได้ปรับตัวกับโลกสมัยใหม่ นั่นคือยังเห็นว่าการค้าขายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจและการอุปถัมภ์

ซึ่งนั่นคือ ระบบจิ้มก้องจีนรับสินค้าและเงินทองจากต่างประเทศในรูปแบบบรรณาการ โดยให้นานาประเทศที่เข้ามาแลกเปลี่ยนสินค้า ต้องยอมรับความยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรจีนก่อนว่าเป็นพี่ใหญ่ แล้วค่อยจ่ายคืนแต่ละประเทศเป็นสินค้าจากจีนค้าขายด้วย สำแดงอำนาจไปด้วย

ทั้งที่จริงๆ บรรดาต่างประเทศต่างมีวัตถุประสงค์ที่รู้กันอยู่ในใจ ว่านี่คือการค้าขายเท่านั้น หลายๆ ครั้งเรือที่อ้างว่ามาถวายบรรณาการจากประเทศนั้นประเทศนี้ ก็เป็นเรื่องพ่อค้าอิสระที่แอบอ้างลักลอบมาทำกำไรดีๆ นี่เอง

เมื่อติดภาพการค้าผูกกับอำนาจเดิมๆ การตัดสินใจให้ต่างประเทศค้าขายกับตนจึงยังผูกติดอยู่กับมุมมองเก่าๆ ไม่เพียงแต่กลัวผลประโยชน์ติดกระจายหลุดลอยไปสู่ชาวบ้าน ยังกลัวอำนาจการยอมรับหดหายไปด้วย

ราชสำนักร่ำรวยๆ เอา ในขณะที่ชาวบ้านริมฝั่งทะเลเห็นโอกาสข้ามหน้าข้ามตาไปอย่างน่าเสียดาย ของซื้อของขายได้เห็นๆ ทำไมจะต้องผ่านราชสำนัก บวกกับความเข้มงวดในการควบคุมชายฝั่ง ออกกฎห้ามชาวบ้านเข้าใกล้ชายทะเล ป้องกันการค้าขายสมคบคิดกับต่างชาติ ชาวบ้านริมทะเลจึงยิ่งไม่มีอะไรจะกิน

ชาวบ้านย่อมมีภูมิปัญญาจะชั่งตัววัดโอกาสและความเสี่ยง เมื่อโอกาสมาถึง และความเสี่ยงฝืนกฎเกณฑ์ยังพอมีทางรอด แล้วทำไมจะไม่ลองเสี่ยงดู

บรรดาชาวเรือจีน จึงหันไปเป็น “โจรสลัด” เป็นโจรสลัดที่เกิดจากความต้องการค้าขายกับต่างชาติโดยตรง ไม่ต้องผ่านการกดขี่ปิดประตูจากราชสำนัก เป็นโจรสลัดเพราะอยู่ใกล้ทะเลแท้ๆ แต่ถูกห้ามประกอบอาชีพที่อาศัยทะเล เป็นโจรสลัด เพราะราชสำนักปิดกั้นโอกาส มิใช่เพราะสันดานบ้าคลั่งอยากเป็นโจร

ปลายราชวงศ์หมิง ราชสำนักจึงต้องเผชิญภัยโจรสลัดที่เพิ่มขึ้นมากมาย เป็นภัยซึ่งมองให้ดีแล้วเป็นภัยที่สร้างขึ้นมาจากการฝืนกระแสโลกเสียเอง (ประวัติศาสตร์ชาตินิยมมักเรียกโจรสลัดพวกนี้ด้วยคำว่าโจรสลัดญี่ปุ่น แต่แท้จริงแล้วในช่วงปลายราชวงศ์หมิง โจรสลัดส่วนใหญ่กลับเป็นชาวจีนที่ทยอยผันตัวไปเป็นโจรสลัดเองนี่แหละ)

เมื่อโลกเปลี่ยนไป แต่โครงสร้างอำนาจไม่เปลี่ยนตาม ยึดติดอยู่กับความยิ่งใหญ่และอำนาจแบบโบราณ ไม่เข้ามาบริหารจัดการแนวทางใหม่ของโลก แต่กลับฝืนกระแส โอกาสจึงเปลี่ยนไปเป็นวิกฤต

ชาวบ้านที่อยู่ริมทะเลที่มีโอกาสผันตัวมาเป็นพ่อค้าเพื่อมาเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนอาณาจักรจีนเข้าสู่โลกยุคใหม่ จึงต้องกลายเป็นโจรสลัด และราชวงศ์หมิงก็ขาดฟันเฟืองตัวหนึ่งที่จะยืดอายุราชวงศ์ออกไป ปัญหาโจรสลัดกลายเป็นปัญหาหนึ่งที่ผลาญทรัพยากรราชวงศ์หมิงสิ้นเปลือง เร่งราชวงศ์หมิงล่มสลาย ขณะที่การขยายตัวของชนชั้นพ่อค้าในดินแดนแถบยุโรปทำให้สังคมยุโรปเร่งฝีเท้าแซงหน้าอย่างกู่ไม่กลับ

นี่ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดที่ล่มราชวงศ์หมิง หรือทำให้อาณาจักรจีนหยุดการพัฒนา และจะว่าไปแล้วหากย้อนเวลากลับไปก็ใช่จะเปลี่ยนพลิกวิธีการคิดของราชสำนักจีนได้โดยง่าย (เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำเพื่อเปลี่ยนแปลง) แต่นี่แหละคือคุณประโยชน์ของการหันมองประวัติศาสตร์ ว่าวันนี้เรามีอะไรคล้ายกันหรือไม่

ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กรรมวิธีกระจายความมั่งคั่งและอำนาจเปลี่ยนไปไวกว่าตัวบทกฎหมาย ทัศนคติของกฎเกณฑ์หรือการบริหารที่ไม่ปรับไปตามโลกที่เปลี่ยน จึงเป็นความเสี่ยงหนึ่งที่ไม่ใช่แค่การหยุดพัฒนา แต่คือการฉุดการพัฒนา และจะคว่ำโอกาสเป็นวิกฤต