posttoday

ปะการังฟอกขาว... ภัยพิบัติที่ใกล้มาเยือน

10 มีนาคม 2559

ภาวะโลกร้อนกลายเป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญต่อโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ

โดย...ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ภาวะโลกร้อนกลายเป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญต่อโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ยังเรียกร้องให้ประชากรโลกร่วมกันหยุดยั้งภัยพิบัตินี้ ในระหว่างที่เขาขึ้นรับรางวัลออสการ์ปีล่าสุด เพราะนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างคาดการณ์ตรงกันว่าปีนี้จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการติดตามภาวะดังกล่าว

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน คือ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดภัยแล้งทั่วประเทศไทย ยังส่งผลตรงสู่ท้องทะเล เมื่อองค์กร NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) หน่วยงานที่ติดตามสภาพมหาสมุทรและสภาพภูมิอากาศของสหรัฐออกประกาศเตือนว่า ปีนี้อาจเป็นปีที่มีปะการังฟอกขาวรุนแรงมากที่สุด

ปะการังเป็นสัตว์อยู่ร่วมกับสาหร่ายขนาดจิ๋ว ทั้งคู่ร่วมกันสร้างก้อนปะการังหินปูนสีขาวอยู่ข้างใน ปะการังเคลือบอยู่ด้านนอก แต่เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงผิดปกติ ทำให้ปะการังเกิดอาการผิดธรรมชาติ อ่อนแอลงจนเห็นสีขาวของก้อนหินปูนที่อยู่ข้างใน และอาจตายหากน้ำร้อนมากหรือร้อนนานหลายวัน ยังขึ้นกับสายพันธุ์ปะการังและสภาพภูมิอากาศในช่วงน้ำร้อน

ปะการังฟอกขาวถือเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่คู่กับแนวปะการังมาเนิ่นนาน แนวปะการังตามธรรมชาติสามารถฟื้นตัวกลับคืนมาแม้อาจใช้เวลาหลายปี แต่ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น อาจเป็นสาเหตุทำให้ปะการังฟอกขาวเกิดถี่ขึ้นจนแนวปะการังฟื้นตัวไม่ทัน แนวปะการังบางแห่งในโลกเจอปะการังฟอกขาวแบบซ้ำซ้อนแทบทุกปี จนเกิดความเสื่อมโทรมอย่างถาวร

NOAA ประกาศเตือนเรื่องมวลน้ำร้อนจากเอลนินโญและปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว จากนั้นก็เกิดปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรงที่ฮาวาย ตามด้วยเกาะฟิจิ จากนั้นมวลน้ำร้อนเคลื่อนมาทางตะวันตก เข้าสู่ประเทศออสเตรเลีย โดยมีโอกาสที่เกรทแบริเออร์รีฟ แนวปะการังใหญ่ที่สุดในโลก จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

เมื่อลองดูจากโมเดลที่ NOAA ทำนายเพื่อแสดงโอกาสที่จะเกิดปะการังฟอกขาวทั่วโลกในช่วงหน้าร้อนปีนี้ (มี.ค. - พ.ค.) จะเห็นว่าอ่าวไทยอยู่สีเหลือง (โอกาสฟอกขาว 60-70%) อันดามันอยู่สีส้ม (โอกาสฟอกขาว 70-80%) นับเป็นการเตือนภัยครั้งร้ายแรงของทะเลทั้งโลก โดยคาดการณ์ว่าแนวปะการังไม่น้อยกว่า 30% ในโลกอาจเกิดฟอกขาว และแนวปะการัง 5% อาจได้รับผลรุนแรงจนไม่อาจฟื้นตัวอีกเลย

ประเทศไทยเคยได้รับผลกระทบจากปะการังฟอกขาวหลายครั้งและเริ่มถี่ขึ้นในระยะหลัง โดยเฉพาะในปี 2553 ปะการังทั่วอันดามันเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาว ปะการังตายเป็นจำนวนมาก ทำให้ความสมบูรณ์ของท้องทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อเนื่องถึงการท่องเที่ยว เช่น หมู่เกาะสุรินทร์เคยเป็นแนวปะการังน้ำตื้นสวยที่สุดของไทย มีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากกว่าหมู่เกาะสิมิลันด้วยซ้ำ แต่หลังจากปะการังฟอกขาวครั้งนั้นปริมาณนักท่องเที่ยวที่ไปหมู่เกาะสุรินทร์ลดลงอย่างเห็นชัดและยังคงอยู่ในระดับต่ำจนถึงทุกวันนี้ แม้ปะการังเริ่มมีสภาพฟื้นคืนขึ้นมาบ้าง

เมื่อเราทราบว่าปะการังฟอกขาวเป็นภัยพิบัติที่มาพร้อมภาวะโลกร้อนที่จะรุนแรงมากขึ้น ส่งผลต่อทะเลและแหล่งท่องเที่ยวโดยตรง คำถามคือเรารับมืออย่างไร? หลายปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ทางทะเลได้เรียนรู้เกี่ยวกับปะการังฟอกขาว ศึกษา “สุขภาพของแนวปะการัง” ที่จะมีผลเป็นอย่างมากต่อความทนทานต่อน้ำร้อนและการฟื้นตัว ยังหมายถึงการศึกษาปะการังสายพันธุ์ที่ทนทานต่อน้ำร้อนและนำไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบอุณหภูมิของน้ำทะเล และแจ้งเตือนให้นักดำน้ำช่วยกันรายงานหากเจอปะการังฟอกขาว

การศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่นำไปใช้ในการปฏิบัติจริงจัง เรามักทำหลังจากเกิดผลกระทบแล้ว เช่น ในปี 2553 อุทยานทางทะเลปิดจุดดำน้ำ 10 แห่งหลังจากเกิดปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง แต่นั่นเป็นการล้อมคอกหลังวัวหาย น่าดีใจที่ในปีนี้ เราเริ่มเตรียมการล่วงหน้า เริ่มที่พีพีโมเดลซึ่งผมมีโอกาสเข้าไปร่วมงาน เราขอให้อุทยานเสนอปิด “เกาะยูง” พื้นที่สุดท้ายที่ยังมีแหล่งพ่อแม่พันธุ์ของปะการังเหลืออยู่ในบริเวณหมู่เกาะพีพี เพื่อลดผลกระทบจากนักท่องเที่ยว ทำให้แนวปะการังมีสุขภาพดีขึ้น เพิ่มความทนทาน และโอกาสในการฟื้นตัวจากปะการังฟอกขาว กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้พิจารณาเรื่องนี้และเห็นด้วยต่อการปิดเกาะดังกล่าว ทำให้อย่างน้อยเราก็เริ่มมีการรับมือล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องขยายผลให้มากกว่านี้ ถ้าพิจารณาข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานว่าปะการังที่สมบูรณ์พอเป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ของทะเลไทยเหลืออยู่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ เรายิ่งต้องรีบเตรียมตัวในการรับมือโดยดูแลแนวปะการังเหล่านั้นให้ดีที่สุด ยังหมายถึงความพยายามในการลดน้ำเสียและตะกอนจากการพัฒนาชายฝั่งให้น้อยลงให้มากที่สุด เพราะทั้งสองปัจจัยส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและซ้ำเติมแนวปะการังที่สุ่มเสี่ยงต่อการฟอกขาวอยู่แล้วให้เสียหายหนักขึ้น

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มมีความพยายามในการรับมือกับภาวะโลกร้อนในรูปแบบต่างๆ เช่น ระบบจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งและอุทกภัย ผมจึงอยากเห็นการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมในท้องทะเล ถ้าเราเริ่มตั้งแต่ก่อนเกิดภาวะปะการังฟอกขาวในครั้งนี้ จะถือเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสครั้งสำคัญ และต่อให้เราโชคดี ไม่เกิดปะการังฟอกขาวขึ้นในปีนี้ แต่ผมมั่นใจว่าในปีหน้าหรือปีต่อๆ ไปในอีกไม่นาน เราจะต้องโดนปะการังฟอกขาวแน่นอน และด้วยสภาพของแนวปะการังที่ทรุดโทรมอย่างในทุกวันนี้มันน่าเป็นห่วงมากครับ

จึงอยากฝากความหวังไว้กับภาครัฐให้ควบคุมการท่องเที่ยวในแนวปะการังพ่อแม่พันธุ์ ยกระดับโรงบำบัดน้ำเสียตามเกาะต่างๆ และหาทางป้องกันตะกอนจากการพัฒนาชายฝั่งให้มากที่สุด หากเราทำได้นั่นคือความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรมในการรับมือกับภาวะโลกร้อนของบ้านเรา และจะมีผลอย่างยิ่งต่อการนำเสนอให้นานาประเทศทราบถึงความพยายามของประเทศไทยครับ