posttoday

อีแร้งวัดสระเกศ

06 มีนาคม 2559

ภาพเก่าเล่าเรื่องวันนี้ เป็นภาพ “อีแร้งวัดสระเกศ” ดูแล้วหวาดเสียว แถมใต้ภาพยังเขียนว่าอีแร้งรุมทึ้งศพที่วัดสระเกศ อีกด้วย

โดย...ส.สต

ภาพเก่าเล่าเรื่องวันนี้ เป็นภาพ “อีแร้งวัดสระเกศ” ดูแล้วหวาดเสียว แถมใต้ภาพยังเขียนว่าอีแร้งรุมทึ้งศพที่วัดสระเกศ อีกด้วย

ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินได้ฟังมานานแล้ว เรื่อง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ ส่วนความเป็นมาตามที่สืบสาวราวเรื่องได้ ก็พบว่าวัดสระเกศนั้นเคยเป็นที่ตั้งเมรุเผาศพชาววังที่ตายในกำแพงพระนคร ต้องนำศพออกมาเผานอกกำแพงพระนคร โดยถือเอาคลองโอ่งอ่างเป็นเส้นแบ่งเขต เว้นแต่สนามหลวง และวัดบวรนิเวศวิหาร ยังให้เป็นที่เผาศพได้ คือ สนามหลวงเป็นที่พระราชทานเพลิงศพพระบรมราชวงศ์ และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ส่วนวัดบวรนิเวศวิหารก็เคยเป็นที่เผาศพขุนนางผู้ใหญ่ สถานที่ตั้งเมรุวัดบวรนิเวศวิหารคือสถานที่ตั้งพระอุโบสถ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เว้นแต่สนามหลวง

เมื่อนำศพออกมาจากกำแพงพระนครชั้นใน เพื่อมาเผาที่วัดสระเกศ ประตูที่นำศพออก เรียกว่าประตูผี คนรู้จักกันดี แต่ปัจจุบันไม่รู้ว่าใครดัดจริตเปลี่ยนชื่อเป็นแยกสำราญราษฎร์ นำศพข้ามคลองโอ่งอ่างก็มาเผาที่เมรุปูนวัดสระเกศ

ข้อมูลของวัดสระเกศว่า เมรุปูนวัดสระเกศ ปัจจุบันคือที่ตั้งวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร เป็นเมรุเกียรติยศ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) แต่ครั้งยังเป็นพระยาพิพัฒน์รัตนราชโกษา เป็นนายสร้างเมรุ สร้างด้วยอิฐปูนล้วน เรียกว่า “เมรุปูน” สำหรับพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย และศพข้าราชการผู้ใหญ่

เมรุปูนนี้จึงนับเป็นเมรุเกียรติยศที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพตั้งแต่รัชกาลที่ 3 เหมือนอย่างเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ในปัจจุบัน

เมื่อเมรุตั้งติดกับถนนและอาคารบ้านเรือน จึงไม่เหมาะที่จะทำการฌาปนกิจศพ ดังนั้น เมรุเกียรติยศจึงได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส และได้ยุบเลิกเมรุปูนเสีย แต่ชื่อยังปรากฏอยู่จนบัดนี้ ต่อมาทางวัดได้มอบสถานที่นั้นให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนช่างไม้ เรียกว่า “โรงเรียนช่างไม้วัดสระเกศ” ต่อมาเปลี่ยนเป็น ”โรงเรียนสารพัดช่างพระนคร” และปัจจุบันเป็น “วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร”

เมรุปัจจุบัน

แม้จะย้ายเมรุเกียรติยศไปแล้ว แต่ศพราษฎรสามัญได้ตั้งและเผาที่เมรุซึ่งตั้งอยู่ข้างบรมบรรพต เป็นเมรุทำด้วยไม้ เมื่อ พ.ศ. 2498 สมัยเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ ครั้งทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้ทรงสร้างเป็นเมรุถาวรก่ออิฐถือปูนพร้อมด้วยศาลาใหญ่ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ 8 แสนบาทเศษ ปัจจุบันคือ ฌาปนสถานคุรุสภาวัดสระเกศ

ส่วนศพที่มาตั้งหรือทิ้งที่วัดสระเกศในอดีต จนกลายเป็นเหยื่อของอีแร้ง เพราะเผาไม่ทันนั้น เกิดในช่วงที่โรคห่าระบาดในพระนคร คนตายกันมากจนเผาไม่ทัน ซึ่งโรคระบาดนี้เกิดในรัชกาลที่ 2 ที่ 3 และที่ 5

ส่วนภาพที่เห็นอีแร้งคอยกินศพ มีเด็กๆ และสัปเหร่อเฝ้าอยู่ น่าจะเป็นภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะยังมีโรคระบาดเกิดในพระนคร มีคนตายจำนวนมาก จนเผาไม่ทัน อีแร้งจึงมาช่วยกำจัดให้ จึงเป็นที่มาของคำว่า อีแร้งวัดสระเกศ