posttoday

เรามี ขงเบ้ง ไว้ทำไม

06 มีนาคม 2559

ขงเบ้งเป็นกุนซือคนสำคัญของจ๊กก๊ก หนึ่งในสามก๊ก ซึ่งอันที่จริงชื่อชั้นขงเบ้งจัดอยู่ในระดับไอดอลกุนซือคนสำคัญของประวัติศาสตร์จีน

โดย...นิธิพันธ์ วีประวิทย์

ขงเบ้งเป็นกุนซือคนสำคัญของจ๊กก๊ก หนึ่งในสามก๊ก ซึ่งอันที่จริงชื่อชั้นขงเบ้งจัดอยู่ในระดับไอดอลกุนซือคนสำคัญของประวัติศาสตร์จีน ขนาดคนไทยเองก็มีจำนวนไม่น้อยที่เคยได้ยินชื่อ ขงเบ้ง

ขงเบ้งเริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่ในวัยหนุ่ม เร้นกายอยู่ในหุบเขาทำนาทำไร่ ตั้งปณิธานจะช่วยผู้นำซักคนทำการใหญ่ ซุ่มซ่อนรอคอยโอกาสและคนคนนั้น

เล่าปี่ที่กำลังตกยากไร้หลักไร้กำลัง ต้องการเสาะหาคนมีปัญญามาช่วยการใหญ่ เล่าปี่คือผู้นำที่มีชื่อเรื่องความมีน้ำใจ บุคลิกสุภาพสง่างามประทับใจผู้คน และเฝ้าประกาศปณิธานช่วยราชวงศ์ฮั่นที่ปวกเปียก ให้ฟื้นคืนมั่นคง

นึกไม่ถึง แค่เพียงชื่อเสียงเด็กหนุ่มคนนี้ถึงหูเล่าปี่ คุณลุงเล่าปี่ก็ดั้นด้นเดินทางไปหาในหุบเขา ถึงผิดหวังไม่ได้เจอตัวไปสองครั้งสองครา แต่เล่าปี่ก็ยังไม่เลิกพยายาม จนได้พบและเชิญตัวมาได้ในครั้งที่สาม

น้ำใจเล่าปี่ช่างประเสริฐ ส่วนหนุ่มน้อยขงเบ้งก็ช่างมีปัญญา แจกแจงสถานการณ์ยุคนั้นว่าจักต้องแตกเป็นสามก๊ก และชี้ให้รู้ว่าเล่าปี่มีโอกาสเป็นหนึ่งในนั้นได้ เล่าปี่จึงเห็นความหวังในการตั้งตัว

ตอนนั้นเล่าปี่คงรู้แล้วว่า ขงเบ้งมีไว้ทำไม

ขงเบ้งไม่ทำให้ผิดหวัง วางแผนให้เพลิงเผาทัพศัตรูที่รุกไล่ เขียนเฉลยกลยุทธ์การศึกใส่ไว้ในถุงผ้าให้แม่ทัพเปิดใช้ในยามฉุกเฉิน ยุให้พันธมิตรต่างก๊กมาร่วมรบ ยืมธนูศัตรูนับแสนดอกมาใช้งาน เรียกลมเรียกฝนหยั่งรู้ดินฟ้า เป็นขุนนางผู้ซื่อสัตย์ให้ฝากฝังลูกเต้า คิดค้นประดิษฐ์ม้ายนต์โคยนต์ขนเสบียงได้อย่างมหัศจรรย์ เป็นต้นกำเนิดตำนานหมั่นโถและโคมลอย จับๆ ปล่อยๆ กลุ่มคนป่าจนยอมศิโรราบให้กับความเมตตา ทำนุบำรุงแคว้นด้วยกฎหมายยุติธรรม ลงโทษทัณฑ์แม้เป็นพรรคพวกหรือแม้กระทั่งตัวเองเมื่อทำผิด หักเหลี่ยมเฉือนคมหลอกศัตรูได้ทั้งๆ ที่เมืองว่างไร้ทหาร แล้วยังทำงานหนักหน่วงจนตัวตายเพื่อปณิธานของเจ้านาย ก่อนตายยังวางแนวทางการปกครองให้กับจ๊กก๊กต่อไปอีกสองสามรุ่น

“เพอร์เฟกต์” เสียจนคนรุ่นใหม่สมัยหลังที่ชอบล้วงแคะแกะเกาบอกว่า “เฟก”

แล้วย้อนถามว่า คนอย่างขงเบ้งมีไว้ทำไม?

ช่วยเหลือเจ้านายด้วยวิธีเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ปลิ้นปล้อนพลิกลิ้น กั๊กอำนาจบริหารจนฮ่องเต้ปวกเปียกปัญญาอ่อน ทำงานหนักแต่ไม่สัมฤทธิผล กดขี่ขูดรีดปวงประชาเพื่อสร้างสงครามอุดมการณ์ลมๆ แล้งๆ ของเจ้านาย ส่วนเรื่องกลยุทธ์มหัศจรรย์ทั้งหลายก็เป็นเรื่องโกหก

คนชอบก็ชื่นชมยกย่อง คนเกลียดก็พลิกด้านมุมอับมาด่าว่า เป็นธรรมดาของโลก ซึ่งต้องยอมรับว่า หลายๆ ยุทธภูมิ ล่อกวนตง (ผู้แต่งวรรณกรรมสามก๊ก) ช่วยขงเบ้งรบ โดยขงเบ้งไม่รู้อะไรกับเขาเลย

สามก๊กคือประวัติศาสตร์จริงเมื่อกว่า 1,800 ปีที่แล้ว มีบันทึกในประวัติศาสตร์ชัดเจนเป็นทางการ รวบรวมและสะสางหลายฉบับโดยหลายก๊ก เพราะฉะนั้นเมื่อตอนบันทึกเสร็จใหม่ๆ ก็มีความแตกแยก
ขัดแย้งกันอยู่ในตัว ชีวประวัติ ผลงาน และบุคลิกของขงเบ้งก็เช่นกัน

ลำพังจารึกประวัติศาสตร์ก็มีข้อขัดแย้ง ไม่ต้องพูดถึงวรรณกรรมสามก๊กที่แต่งโดยคนรุ่นหลัง ซึ่งกว่าจะเป็นเรื่องเล่าครบรสครบตอน ก็ห่างจากสถานการณ์จริงไปแล้วพันกว่าปี

แต่ความนิยมชมชอบขงเบ้ง ก็ไม่ได้อุปโลกน์ขึ้นมาเปล่าๆ แต่มีหลักฐานมาเนิ่นนานตั้งแต่บันทึกประวัติศาสตร์ร่วมสมัยขงเบ้ง

ขงเบ้งเป็นขุนนางที่อุตสาหะจริง ในขณะขงเบ้งปกครอง ก็ดูแลเอาใจใส่คดีความและทุกข์สุขชาวบ้านอย่างถี่ถ้วน จนชาวบ้านรู้สึกว่ากฎหมายบ้านเมืองหนักแน่นเป็นธรรม ผู้คนขยันขันแข็งก็ได้รับผลที่ควรได้ แม้จะเข้มงวดกวดขันจนอาจอึดอัดแต่ก็เท่าเทียม หลังขงเบ้งตายไป ชาวประชาจ๊กก๊กจึงต่างเรียกร้องให้ราชสำนักตั้งศาลบูชาขงเบ้ง

หลังจากนั้นไม่นาน ความมหัศจรรย์ในปรีชาสามารถก็เริ่มเกิดมากขึ้น แฟนพันธุ์แท้ขงเบ้งเริ่มเขียนเผยแพร่เรื่อง ขงเบ้งยืมธนู เรียกลมเรียกฝน และกลเมืองว่างชนะสุมาอี้ ทั้งๆ ที่หลักฐานทางบันทึกที่เป็นประวัติศาสตร์และเป็นทางการ ไม่บันทึกไว้และไม่มีทางเป็นไปได้ในทางตรรกะ ซึ่งฝ่ายยกยอปอปั้นมักจะบอกว่า ไม่มีบันทึก ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

คนดีๆ ย่อมวิเศษในทุกด้าน เรื่องเล่าเชิดชูเตลิดกลายเป็นเรื่องเอามันไม่เอาเหมือน ถ้านิยามว่าเป็นเรื่องแต่งเอาสนุกก็พอเข้าใจได้ แต่ชาวบ้านชาวช่องฟังมากเข้ามักคิดเป็นจริงจัง ไม่ต่างจากข่าวลือตามโซเชียล
มีเดียปัจจุบันที่อุปโลกอะไรมา ก็มักมีคนส่วนหนึ่งที่เห็นว่าเข้ากับจินตนาการของตน คล้อยตามได้อย่างรวดเร็ว

จากขงเบ้งที่เป็นยอดนักรัฐศาสตร์ผู้ทุ่มเทเริ่มกลายเป็นพ่อมดวิเศษที่เสกกลยุทธอะไรก็เป็นอันสำเร็จ

มองกันให้ดี ขงเบ้งเป็นหลายสิ่งแบบที่โจโฉ-ตัวร้ายแห่งวรรณกรรมสามก๊กเป็น

ทั้งคู่ต่างไม่ได้เป็นฮ่องเต้ แต่เข้ายึดอำนาจและจัดวางตนเองเป็นผู้บริหารบ้านเมืองอย่างเป็นทางการและเด็ดขาดในก๊ก และทั้งคู่ต่างทุ่มเทในการงานในทางของตัวเอง

ต่างกันตรงที่ว่า ลูกของโจโฉกลับสานต่อและยึดบัลลังก์ฮ่องเต้ ส่วนลูกหลานขงเบ้งไม่

โจโฉจึงอยู่ในฐานะขุนนางผู้ฉ้อฉล เหิมเกริม ต้นตอการโค่นล้มบัลลังก์ แต่ขงเบ้งคือขุนนางผู้ภักดี ไม่ใช่แค่ภักดีต่อเล่าปี่  แต่ภักดีต่อราชวงศ์ฮั่นเพราะเล่าปี่ก็ได้ชื่อว่าเป็นเชื้อพระวงศ์

เป็นขุนนางผู้ภักดี มีความสามารถ ไว้ใจได้ และผู้นำอย่างเล่าปี่ให้เกียรติไปเชิญตั้ง 3 ครั้ง แถมรับฟังแทบทุกอุบาย

ชีวิตขงเบ้งจึงเป็นชีวิตในอุดมคติของปัญญาชนจีน ซึ่งตรงกันข้ามเป็นฟ้ากับเหวกับชีวิตปัญญาชนจริงๆ จะมีราชสำนักไหนเล่าเสียเวลาออกเร่หา ถ้าอยากเป็นก็คร่ำเคร่งอ่านตำราสอบแข่งขันกันเข้ามา บรรยากาศตอนสอบเข้าก็ดูไร้ศักดิ์ศรี ก่อนเข้าสอบต้องแก้ผ้าหมดตัวให้ผู้คุมสอบตรวจเพื่อป้องกันทุจริต ห้องสอบคือคอกเล็กๆ ไว้สำหรับขังเดี่ยวทั้งวันทั้งคืน คอกทั้งหมดเรียงต่อกันเป็นตับ ช่วงระยะเวลาสอบก็ต้องแก่งแย่งเอาตำแหน่งกันทุก 3 ปี 5 ปี วันดีคืนดีสอบๆ อยู่ไฟไหม้ย่างปัญญาชนคาคอกตายหมู่ก็เคยมี

ซินเดอเรร่าเป็นอุดมคติในฝันของเด็กสาวยุคหนึ่งฉันใด ขงเบ้งก็เป็นอุดมคติในฝันของปัญญาชนยุคโบราณฉันนั้น ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องสอบ เจ้านายมาเสาะหาและยกขึ้นแท่นเอง

เรื่องเล่าของขงเบ้งจึงค่อยๆ ถูกแต่งเติมขัดเกลาจนกลายเป็นไอดอลเพื่อตอบสนองฝันของปัญญาชนในสังคมจีนทุกๆ ด้าน เสาะหาฉันซิ แล้วท่านจะ
ไม่ผิดหวัง

และสำหรับฮ่องเต้ ขงเบ้งก็คือตัวอย่างขุนนางผู้จงรัก และสำหรับชาวบ้านชาวช่อง ขงเบ้งคือข้าราชการผู้เอาใจใส่ ลงมือพิทักษ์รักษากฎหมายเพื่อความสงบสุขเป็นธรรม

ทั้งหมดนี้ในชีวิตจริงมักจะขาด ในจินตนาการจึงพยายามเติมเต็ม

ฮ่องเต้ ปัญญาชน และชาวบ้าน จึงมีคำตอบของตัวเองว่า ขงเบ้งมีไว้ทำไม และช่วยกันเสริมแต่งขัดเกลาให้ขงเบ้งเป็นคำตอบที่ตรงคำถาม ดราม่า และศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น

ขงเบ้งมีไว้เพื่อสร้างความฝันสร้างจินตนาตอบโจทย์ให้กับผู้คนในสังคมจีนโบราณตลอดเกือบ 1,700 ปีที่ผ่านมา จนมาระยะหลังเมื่อแนวคิดขงจื่อไม่ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ ขงเบ้งในจินตนาการคนรุ่นเก่าจึงถูกตั้งคำถามไปด้วย

จะก่นด่าหรือชื่นชมขงเบ้ง ในวรรณกรรมสามก๊กก็คือก่นด่าหรือชื่นชมไลฟ์สไตล์ในอุดมคติของขุนนาง และปัญญาชนในสังคมโบราณของจีน

ขงเบ้งตัวจริงทำงานเหนื่อยหนักและจากไปนานแล้ว ส่วนคงขงเบ้งในจินตนาการยังคงมีไว้สำหรับเล่าขานและถกเถียงประชันอุดมการณ์ต่อไป