posttoday

‘ดอกไม้เหล็ก’ งอกเงยบนความงดงาม

05 มีนาคม 2559

เรื่องราวการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

เรื่องราวการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 1857 หรือประมาณ 159 ปีที่แล้ว กลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีในนิวยอร์กได้เดินขบวนเรียกร้อง “สิทธิในการทำงาน” และผลพวงจากการเคลื่อนไหวเหล่านั้น ทำให้ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศถูกจุดพลุขึ้น ชาวอเมริกันและคนทั่วโลกต้องหันกลับมาสนใจเรื่องความเสมอภาคอย่างจริงจัง

การเรียกร้องสิทธิสตรีดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในปี ค.ศ. 1911 หรือประมาณ 54 ปีต่อมา โลกได้จัดงานเฉลิมฉลองวันสตรีสากลขึ้นเป็นครั้งแรก ราวๆ ต้นเดือน มี.ค. ซึ่งนับเป็นความพยายามท้าทายต่อขนบประเพณีดั้งเดิม และขัดต่อความเชื่อเก่าๆ ที่ผูกติดกับสังคมชายเป็นใหญ่มาโดยตลอด

ฟอนฟืนเมื่อปี ค.ศ. 1857 ถูกจุดขึ้น เปลวไฟได้ลุกลามมาจนถึงปี ค.ศ. 1957 หรือในอีก 100 ปีถัดมา โดยองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้มีมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ เชิญชวนทุกประเทศให้กำหนดวันใดวันหนึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองแห่งชาติว่าด้วยสิทธิสตรีและสันติภาพสากล

นั่นทำให้ในวันที่ 8 มี.ค.ของทุกๆ ปี ได้รับยกย่องให้เป็นวัน “สตรีสากล”

สำหรับวันสตรีสากลประจำปี 2559 @Weekly ภาคภูมิใจที่จะชักชวนท่านผู้อ่านรู้จักกับสตรีที่มีบทบาทอยู่ในชั้นแนวหน้าของประเทศในด้านต่างๆ

ซีอีโอแกร่งแห่ง‘ดับบลิวเอชเอ’

แน่นอนว่า ในเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยน ทุกวันนี้ผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนมากขึ้น นั่นเพราะผู้หญิงได้รับการยอมรับและเก่ง แกร่ง และกล้า

จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) วัย 49 ปี ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารเบอร์ 1 หรือซีอีโอ ของ WHA อย่างเต็มตัวและเต็มภาคภูมิ ซึ่งกว่าที่เธอจะขึ้นมารับตำแหน่งอย่างเต็มตัวนั้นได้ ทำงานและเรียนรู้งานทั้งหมดของบริษัทในทุกรูปแบบทุกแผนก และเมื่อมั่นใจและแข็งแกร่งก็พร้อมขึ้นมาเป็นแม่ทัพและนำพาให้ WHA ก้าวขึ้นเป็นบริษัทระดับโลก

“ในการทำงานไม่เคยคิดว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่จะทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ เพราะในการทำงานไม่ได้อยู่ที่เพศ แต่อยู่ที่ตัวคนที่ต้องชัดเจนและนิ่ง การเป็นหัวหน้าที่ดีต้องรับผิดชอบ ต้องสร้างคนสร้างทีม และไม่ใช้อารมณ์ในการทำงาน ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เป็นและทำมาอย่างต่อเนื่อง” จรีพร กล่าว

ความแกร่งเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้เธอขึ้นมาผงาดในธุรกิจด้วยวิธีคิดที่ชัดเจนแต่แรกว่า จะทำธุรกิจที่เป็นดาวรุ่งและมีคู่แข่งไม่มาก ซึ่งเธอคิดว่าธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์น่าสนใจ และในการทำธุรกิจจะไม่มีคู่แข่ง แต่จะเป็นคู่ค้าและพันธมิตรที่ร่วมกันสร้างการเติบโตเท่านั้น เพราะหากบอกว่าเป็นคู่แข่งจะเสียโอกาส แต่ถ้าเป็นคู่ค้าเป็นพันธมิตรจำนำมาต่อยอด การร่วมมือก็จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีให้แก่กันและกัน และด้วยปัจจัยและเหตุผลเหล่านี้เองที่ทำให้ WHA จะก้าวไปเป็นบริษัทระดับโลกได้ในอนาคต

การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีโอกาสได้ออกไปนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุนในต่างประเทศ ถือว่าเป็นการเปิดความคิดและมุมมองในการทำธุรกิจอย่างมาก เพราะในแต่ละการประชุมนั้นมีโอกาสได้พบกับซีอีโอชั้นนำทั่วโลก และถือว่าเป็นซีอีโอเก่งฉลาด

‘ดอกไม้เหล็ก’ งอกเงยบนความงดงาม

 

WHA ตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางใน 4 ธุรกิจที่สำคัญ ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ศูนย์กลางด้านสาธารณูปโภคและพลังงาน และศูนย์กลางด้านดิจิทัล ซึ่งหากแผนการขยายธุรกิจดังกล่าวสำเร็จ จะส่งผลให้ WHA เป็นภาคการผลิตที่ครบวงจรแห่งแรกของโลก

ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นซีอีโอ “จรีพร” เคยเป็นกรรมการผู้อำนวยการ WHA เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทให้เช่าคลังสินค้าแห่งนี้ และนำบริษัทเข้าซื้อบริษัทพัฒนานิคมอุตสาหกรรม หรือบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) มูลค่า 4.36 หมื่นล้านบาท ทำให้ WHA กลายเป็นผู้พัฒนาคลังสินค้าและนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดของประเทศ

ครอบครัวอนันตประยูรติดอันดับมหาเศรษฐีฟอร์บส์ปี 2558 เป็นปีที่ 3 หลังจากติดปีแรกปี 2556 อันดับที่ 33 ด้วยสินทรัพย์ 1.64 หมื่นล้านบาท และปี 2557 ที่ผ่านมาอันดับ 42 ด้วยสินทรัพย์ 1.67 หมื่นล้านบาท โดยอันดับล่าสุดความร่ำรวยมาจากธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจเดิม และรวมสินทรัพย์ของ HEMRAJ เพียงกว่า 10 วัน

หัวใจแห่งความสำเร็จของเธอ คือ การไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เปรียบเสมือนหลุมดำที่คอยดูดความรู้จากทุกคน ทำให้นำพาบริษัทมาถึงจุดนี้ได้ และความร่ำรวยที่เกิดขึ้นมาจากการทำงานหนัก โดยการทำงานจะประสบความสำเร็จต้องชนะใจตัวเองให้ได้ก่อน จึงจะสามารถเอาชนะสิ่งอื่นได้ จากนั้นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเพื่อให้ได้รับความร่วมมือในการทำให้งานนั้นสำเร็จ

จรีพร ให้นิยามแห่งความความสำเร็จว่ามาจากความกล้า กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะแตกต่าง และกล้าที่จะบุกเบิก

“WHA ก่อตั้งเมื่อปี 2546 แรกเริ่มเหมือนเข็นครกขึ้นเขา ความสามารถมีระดับหนึ่ง มีความตั้งใจทำ แก้ปัญหาให้ลูกค้า เมื่อเขาเติบโตเราโตตาม เสมือนเป็นผู้ร่วมทุนกัน ลูกค้าสำคัญที่สุด เราไม่คุยปัญหาระยะสั้น แต่เราจะแก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่างครบวงจร ตอบโจทย์เพื่ออยู่ยาว”

หลักการทำงานของเธอ คือ ความเสี่ยงต้องต่ำที่สุด และต้องมีความรวดเร็วกว่าคนอื่น

กายเป็นทหาร จิตวิญญาณเป็นนักดนตรี

ส.อ.หญิง ฉัฐฑริกา บางแก้ว หรือ “แอม” มือไวโอลินแห่งกรมดุริยางค์ทหารบก เจ้าของคติประจำใจ “กายเป็นทหาร จิตวิญญาณเป็นนักดนตรี” เริ่มชีวิตการเป็นทหารตั้งแต่วัยเด็ก หลังจบ ป.6 จากโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย ดอนเมือง ก็เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนดุริยางค์ทหารบก

ด้วยแม่ของเธออยากให้รับราชการจึงผลักดันให้เข้าสู่อาชีพรับราชการทหาร แอมเป็นเด็กเรียนเก่ง จบด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00 และสอบเข้าโรงเรียนดุริยางค์ทหารบกได้อย่างง่ายดาย ติด 1 ใน 50 จากจำนวนผู้เข้าสอบถึง 1,000 คน

ท่ามกลางเพื่อนนักเรียนทหารชายมากมายในรุ่น มีผู้หญิงแค่ 10 คน และผู้หญิงทุกคนต้องฝึก ได้รับการฝึกเฉกเช่นเดียวกับผู้ชาย ไม่มีแบ่งแยก ทุกวันเธอจะต้องตื่นตี 5 มาวิ่งกับเพื่อนๆ มีการฝึกหมอบคลาน วิดพื้น ยิงปืน กระโดดหอ ไต่หน้าผา ทุกอย่างฝึกเยี่ยงชายฉกรรจ์ ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ศึกษา แม้เวลาทำผิดก็โดนทำโทษเช่นเดียวกับผู้ชาย ไม่มีแบ่งแยกว่าเป็นผู้หญิงแล้วจะได้รับโทษเบากว่า

เมื่อถึงตอนเลือกเครื่องดนตรี แอมเลือกเล่นไวโอลิน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ถนัดและชื่นชอบ จนกระทั่งจบการศึกษา แอมได้กลายมือไวโอลินแห่งกรมดุริยางค์ทหารบก และเป็นกำลังสำคัญในการออกแสดงตามงานพระราชพิธี งานพิธีสำคัญ รวมไปถึงงานแสดงที่เล็กๆ ธรรมดาๆ การให้ความเพลิดเพลินกับประชาชน

ด้วยความสามารถที่โดดเด่น หลังจบหลักสูตรแอมได้รับเลือกเป็นครูผู้ช่วยสอน และเป็นครูประจำชั้นนักเรียนดุริยางค์ทหารบกชั้นปีที่ 1 แม้จะเป็นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่แอมก็รู้สึกประทับใจมาก และอีกหนึ่งความความภูมิใจของการเป็นมือไวโอลินแห่งกรมดุริยางค์ทหารบก คือ  การได้เล่นในงานวงออร์เคสตราวงสากล กรมดุริยางค์ทหารบก เล่นหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และงานรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

‘ดอกไม้เหล็ก’ งอกเงยบนความงดงาม ส.อ.หญิง ฉัฐฑริกา บางแก้ว

 

ช่วงเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 น้ำท่วมแทบทุกพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร แอมเป็นทหารหญิงคนหนึ่งที่ได้ออกไปทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนร่วมกับทีมสื่อมวลชน โดยเธอได้ร่วมตะลุยน้ำท่วมร่วมแจกของ และบรรเลงเพลงจากไวโอลินสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน สร้างรอยยิ้ม แม้ในยามน้ำท่วมซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์เต็มไปด้วยความตึงเครียด

มีครั้งหนึ่งที่ได้ไปช่วยเหลือผู้คนที่ถูกน้ำท่วมที่พุทธมณฑลสาย 5 รถของทีมงานประสบอุบัติเหตุตกหลุม ไม่สามารถไปต่อได้ แอมต้องเดินลุยน้ำที่สูงระดับอกออกมา เพื่อหาคนกลับไปช่วยเหลือเพื่อนทีมงานจนเจอหน่วยกู้ภัย แต่ทีมงานกลับเข้าใจผิดคิดว่าแอมหายไปและอาจได้รับอันตรายจึงออกข่าวใหญ่โต จนในที่สุดกองทัพได้ส่งรถถังมาช่วยเหลือ โชคดีไม่มีใครได้รับอันตราย แอมเลยได้นั่งรถถังกลับบ้าน

แม้จะเป็นไวโอลินมือเอกแห่งกรมดุริยางค์ทหารบกแล้ว ความมุ่งมั่นของแอมยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ แอมหาเวลาว่างจากชีวิตราชการซึ่งมีเพียงน้อยนิดในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีจนจบ ได้รับปริญญา คณะบริหารธุรกิจ สาขาบริหารทรัพยากรมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และศึกษาต่อคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการทั่วไป ในระดับปริญญาโทจนจบ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด

ปัจจุบันแอมยังคงมุ่งมั่นศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อเดินตามความฝันที่จะนำความรู้ ความสามารถมาผสมผสานกับตำแหน่งหน้าที่ทางทหารและการเล่นดนตรีที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากแอมซึ่งเป็นทหารหญิงที่มีหน้าที่เล่นไวโอลินในกรมดุริยางค์ ทหารบกแล้ว ยังมีทหารหญิงอีกมากที่ทำหน้าที่สำคัญ และทำได้ไม่แพ้ผู้ชายในกองทัพ เช่น พยาบาลทหารหญิง แพทย์ทหารหญิง ซึ่งแม้ไม่ได้มีหน้าที่รบโดยตรง แต่ก็ต้องลงภาคสนามอยู่ในพื้นที่สงครามเช่นกัน ความเสี่ยงในชีวิตสูง ชีวิตแห่งความเป็นความตายเหมือนกับเพื่อทหารชายคนอื่นๆ ทหารพลร่มหญิงและทหารพรานหญิงซึ่งทำหน้าที่เฉกเช่นทหารชายในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ นอกจากนั้นยังมีสารวัตรทหารหญิง ซึ่งฝึกมาแบบเดียวกับทหารชาย ทำหน้าที่เข้าเวรยาม อารักขา รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญหญิง

สำหรับแอมเองแล้ว ไม่เคยคิดแบ่งหญิงชาย ค่าของคนอยู่ที่ความดีที่ทำ สิ่งที่คิดในใจเสมอ คือ การทำเพื่อประเทศชาติ เหมือนดังคติประจำใจ “รู้รักสามัคคี ทำความดี สีไวโอลิน”

‘นิชา’ รักษาหัวใจให้หนักแน่น

อีกหนึ่งผู้หญิงแกร่ง นิชา-หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภริยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตกลางสมรภูมิรบภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่แยกคอกวัว

“นิชา” ถือเป็นข้าราชการหญิงคนหนึ่งที่โดดเด่นในเส้นทางอาชีพด้านข้าราชการ ตำแหน่งล่าสุดได้ก้าวขึ้นเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ช่วยดูงานในภาพรวมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เธอเป็นหนึ่งเดียวที่วิ่งเข้าวินตำแหน่งแบบไร้คู่แข่ง แถมยังอายุอ่อนสุดบนตึกไทยคู่ฟ้า กว่าอายุจะเกษียณราชการก็อีก 11 ปี หรือปี 2571

ย้อนเกร็ดไปดูเส้นทางเดินอาชีพก่อนหน้านี้ นิชาทำงานในทำเนียบรัฐบาลช่วงรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายรัฐมนตรี ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ซี 9 แต่หลังจากนั้นตำแหน่งการงานก็นิ่งอยู่พักใหญ่ตลอดอายุรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนกระทั่งรัฐบาล คสช. พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามา ก็ได้เข้ามานั่งกินซี 10 เป็นผู้ช่วยเลขาฯ นายกรัฐมนตรีเกือบปี เมื่อครบคุณวุฒิจึงก้าวเป็นรองเลขาธิการนายกฯ เต็มตัว

นิชา กล่าวถึงปรัชญาการทำงานราชการมาตลอดอายุราชการว่า หลังจากที่จบการศึกษามาก็เข้ารับราชการมาตลอด โดยยึดพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหลักในการทำราชการมาตลอด คือ

‘ดอกไม้เหล็ก’ งอกเงยบนความงดงาม นิชา-หิรัญบูรณะ ธุวธรรม

 

“การปฏิบัติราชการให้สำเร็จผลที่พึงประสงค์นั้น นอกจากจะอาศัยความรู้ ความสามารถในทางวิชาการแล้ว แต่ละบุคคลยังจะต้องมีรากฐานทางจิตใจที่ดี คือ ความหนักแน่น มั่นคงในสุจริตธรรม และความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้จนเสร็จ ทั้งต้องมีกุศโลบายหรือวิธี การอันแยบคายในการปฏิบัติงานประกอบกันพร้อมด้วย จึงจะสัมฤทธิผลที่แน่นอนและบังเกิดประโยชน์อันยั่งยืนทั้งแก่ตนเองและแผ่นดิน” (พระราชทานในวันข้าราชการพลเรือนเมื่อปี 2538)

แต่ด้วยชีวิตที่ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มา โดยเฉพาะช่วงที่เกิดความสูญเสียนั้น นิชาได้สำทับถึงอุดมการณ์ในการใช้ชีวิตว่า ช่วงชีวิตวิกฤตเป็นช่วงดีที่สุดที่คนเราได้เรียนรู้ชีวิต ได้บทเรียนที่มีค่า ซึ่งบางคนอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตหาคำตอบ แต่ช่วงวิกฤตทำให้เราได้เรียนลัด ได้รู้ว่าใครคือมิตรแท้ ใครคือมิตรเทียม อะไรคือเป้าหมายชีวิตที่แท้จริงที่คนควรแสวงหาในการเกิดมาหนึ่งชีวิต ความสูญเสียของพี่ร่มเกล้าให้บทเรียนตรงๆ เลยว่า คนเราไม่เหลืออะไรเลยจริงๆ นอกจากคุณงามความดีและผลงานที่ได้ทำไว้ ดังนั้นต่อให้มีตำแหน่งใหญ่โตเพียงใด ก็ไม่มีความหมายหากไม่ได้มีโอกาสสร้างคุณงามความดีที่เป็นประโยชน์กับแผ่นดิน

นิชา กล่าวย้ำว่า เป็นผู้หญิงยุคสมัยนี้กับการวางตัวการใช้ชีวิตให้แข็งแกร่งว่า เราต้องสร้างสมดุลกับชีวิตทุกด้านเป็นเรื่องยากสำหรับผู้หญิงสมัยนี้ การทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ทั้งต่อตนเอง คือ ดูแลกายใจให้แข็งแรง การทำหน้าที่ต่อครอบครัวดูแลบุพการี และภาระงานในหน้าที่ต่อสังคมส่วนรวม ผู้หญิงจึงต้องรักษาสติในการจัดการกับชีวิตให้ได้ ขณะเดียวกันต้องรักษามโนธรรมในใจตนให้หนักแน่นมั่นคง ไม่สั่นคลอนต่อลมพายุหรือกิเลสในรูปแบบสารพัดทั้งปวงที่เข้ามาหาเราทุกวัน

ส่วนตัวไม่ค่อยแสวงหาคำว่า “เท่าเทียม” แต่มองว่าหญิง-ชาย ต่างคนต่างมีหน้าที่ที่ต้องทำ ต่างบทบาทหน้าที่ เป็นความแตกต่างที่ต้องให้เกียรติและยอมรับซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะหาจุดลงตัวสมดุลในการวางสถานะบทบาทที่เกื้อกูลส่งเสริมกันในการจรรโลงสังคมที่สวยงามบนโลกใบนี้ไปด้วยกัน

‘นิกกี้’ 1 ใน 300 ผู้นำ การเปลี่ยนแปลงยุคใหม่

สำหรับหญิงเก่งคนสุดท้าย เป็นหญิงไทยคนเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 300 ผู้นำความเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ในเอเชียโดยนิตยสารฟอร์บส์ (30 Under 30 2016 Asia) นิกกี้-วิสุตา โลหิตนาวี วัย 28 ปี ทายาทแห่งไร่กราน-มอนเต้ เขาใหญ่ และผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกองุ่นและการทำไวน์ (Oenologist) ซึ่งนอกจากบทบาทนักบริหารรุ่นใหม่ เธอยังเป็นส่วนสำคัญในการปฏิวัติมาตรฐานไวน์ไทยสู่ระดับสากล

วิสุตา เล่าว่า เธอเติบโตในไร่องุ่นและรู้ตัวเองว่าชอบด้านนี้ตั้งแต่อายุ 12 ปี เมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมปลายจึงไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเอนโนโลจี (Enology) ที่เกี่ยวกับการปลูกองุ่นและการทำไวน์โดยเฉพาะ

“พอนิกกี้เรียนจบก็มีคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับเป็นโอเอนโนโลจิสต์เลย แต่ระหว่างที่เรียนก็เริ่มทำงานกับกราน-มอนเต้แล้วตั้งแต่อยู่ปี 2 โดยส่วนใหญ่จะให้คำแนะนำเรื่องการปรับปรุงวิธีการผลิต การจัดการต่างๆ จนกระทั่งกลับมาเมืองไทยก็ทำหน้าที่เป็นโอเอนโนโลจิสต์เต็มตัว” เธอกล่าว

‘ดอกไม้เหล็ก’ งอกเงยบนความงดงาม

 

โอเอนโนโลจิสต์มีหน้าที่จัดการดูแลทุกขั้นตอนของการทำไวน์ ตั้งแต่เลือกพื้นที่ปลูกองุ่น คัดเลือกพันธุ์องุ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่ การดูแลต้นองุ่นให้เติบโตจนเกิดผลผลิต กำหนดวันเก็บองุ่น ควบคุมการผลิตทั้งการหมัก การบ่ม ยีสต์ที่ใช้ จนถึงกระบวนการบรรจุขวดและแพ็กเกจจิ้ง ซึ่งเธอคาดว่าจำนวนโอเอนโนโลจิสต์ที่เป็นผู้หญิงมีน้อยกว่าร้อยละ 20 ของโอเอนโนโลจิสต์ทั้งหมดในโลก

“การเป็นผู้หญิงไม่มีข้อด้อยไปกว่าผู้ชาย แต่มีข้อได้เปรียบตรงที่ผู้หญิงจะมีความเอาใจใส่ในดีเทลเล็กๆ มากกว่า ทั้งเรื่องของสไตล์ การทำไวน์และการดูแลองุ่น และมีผลการวิจัยระบุด้วยว่า โดยทั่วไปลิ้นผู้หญิงรับรสได้ดีกว่าผู้ชาย อย่างไรก็ตามทุกคนสามารถเป็นโอเอนโนโลจิสต์ได้ถ้ามีใจรักและศึกษาอย่างจริงจัง โอเอนโนโลจิสต์ที่ดีต้องหมั่นศึกษา เพราะการทำไวน์ก็เหมือนแฟชั่นที่มีเทรนด์ที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา” วิสุตา กล่าว

วิสุตา อยู่ในแวดวงไวน์มานาน 10 ปี มีหลักการทำงานโดยเน้นการทำจริงและทีมเวิร์ก “นิกกี้ชอบลงมือเอง จึงดูแลทุกอย่างทุกขั้นตอนร่วมกับทีมของเรา” นอกจากนี้เธอยังต้องคิดค้นเทคนิคการหมักใหม่ๆ ที่ทำให้ไวน์ของกราน-มอนเต้แตกต่างจากคนอื่น “เทคนิคของเราไม่สามารถบอกได้ แต่จริงๆ แล้วไม่มีทางเลยที่สองไร่จะทำไวน์ให้มีรสชาติเหมือนกัน เพราะด้วยปัจจัยหลายอย่างทั้งองุ่น
พื้นดินที่ปลูก ถ้าแตกต่างกันรสชาติองุ่นก็จะไม่เหมือนกัน รวมถึงเทคนิคของโอเอนโนโลจิสต์แต่ละคนด้วย” เธอเพิ่มเติม

ตลอดระยะเวลาการทำงานเธอประสบปัญหาใหม่ตลอด ซึ่งปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ คือ สภาพอากาศแปรปรวนอันเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน เธอกล่าวว่า ถึงแม้ว่าเราจะเลือกพื้นที่ที่ เหมาะแก่การปลูกองุ่นแล้ว แต่บางครั้งช่วงหน้าแล้งหรือหน้าหนาวที่องุ่นของเรากำลังสุกก็มีฝนมา ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งที่ทำได้คือ รับมือกับปัญหาและแก้ไปทีละอย่าง สำหรับเขาใหญ่เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูกองุ่นและเป็นแหล่งปลูกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

นอกจากนี้ กราน-มอนเต้ยังเป็นขาประจำเวทีประกวดไวน์ทั้งในฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฝรั่งเศส ออสเตรีย และอังกฤษ ยิ่งไปกว่านั้นเธอเป็นที่ปรึกษาให้ไวน์เนอรี่ทั่วโลกอย่างฝรั่งเศส โปรตุเกส แอฟริกาใต้ บราซิล เม็กซิโก และเวเนซุเอลา เป็นต้น

นับจากนี้เธอมีเป้าหมายที่จะทำให้กราน-มอนเต้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลังจากประสบความสำเร็จในการผลิกโฉมหน้าไวน์ไทยมาแล้ว “สมัยก่อนไวน์ไทยไม่มีใครกล้าชิมและมีชื่อไม่ค่อยดี เพราะมีการนำผลไม้อื่นมาทำ ซึ่งตามจริงแล้วไวน์ต้องทำจากองุ่นเท่านั้น แต่หลังจากที่นิกกี้เรียนจบและคุณพ่อ (วิสุทธิ์ โลหิตนาวี) ก่อตั้งสมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย เราก็ผลักดันเทคนิคการปลูกองุ่นและการทำไวน์ให้มีมาตรฐานสากล หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับคุณภาพไวน์ของเมืองไทย”

ปัจจุบันไร่กราน-มอนเต้ มีขนาด 100 ไร่ และจะขยายอีก 60 ไร่ ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยคนทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมไร่องุ่นได้ทุกวัน และในเดือน ก.ค. กราน-มอนเต้จะเปิดคอร์สสอนการทำไวน์ GranMonte Practical Wine Education Program รับเพียง 12 คนให้มาเรียนรู้ทุกขั้นตอนตั้งแต่การปลูกจนกลายเป็นไวน์ ติดตามได้ที่ www.granmonte.com