posttoday

วิกฤตล้างบางพุทธศาสนา ในประวัติศาสตร์จีน

28 กุมภาพันธ์ 2559

ในประวัติศาสตร์จีนยุคโบราณ มีวิกฤตล้างบางศาสนาพุทธครั้งใหญ่ทั้งหมด 4 ครั้ง เรียกว่า “พิบัติภัยแห่ง 3 อู่ 1 จง”

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ในประวัติศาสตร์จีนยุคโบราณ มีวิกฤตล้างบางศาสนาพุทธครั้งใหญ่ทั้งหมด 4 ครั้ง เรียกว่า “พิบัติภัยแห่ง 3 อู่ 1 จง”

3 อู่ 1 จง หมายถึง ชื่อฮ่องเต้ทั้ง 4 ผู้ออกคำสั่ง ซึ่งก็คือ เป่ยเว่ยไท่อู่ตี้ (ค.ศ. 408-452), เป่ยโจวอู่ตี้ (ค.ศ. 543-578) ถังอู่จง (ค.ศ. 841-846) และ โฮ่วโจวซื่อจง (ค.ศ. 921-959)

ฮ่องเต้ทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวข้องกัน และต่างเป็นการตัดสินใจต่างกรรมต่างวาระ แต่พิบัติภัยแต่ละครั้งก็มีบางอย่างคล้ายๆ กัน ซึ่งก็คือ จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในบรรยากาศบ้านเมืองที่วัดวาอารามของพุทธเจริญรุ่งเรืองอย่างสุดขีด

ขอเน้นว่า “วัดวาอาราม” เจริญรุ่งเรือง ซึ่งอาจจะเป็นทั้งคนละคำหรือคำพูดเดียวกันกับคำว่า “ศาสนาพุทธ” เจริญรุ่งเรือง

แน่นอนวัดวาอารามจะเจริญได้ ย่อมเกี่ยวพันกับความศรัทธาที่ชาวบ้าน ขุนนางมีต่อวัด และเพื่อสะท้อนความอู้ฟู่หรูหราของวัดวาอาราม ที่จริงควรใช้คำว่า “คลั่งไคล้” แทนศรัทธา

วัดหรูมีจำนวนมากมาย ทั้งใหญ่โต และร่ำรวย สะสมทรัพย์สินมากมายจนกระเทือนถึงเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะยามบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม

รวมถึงปัญหาภิกษุได้รับสถานะพิเศษจนกระเทือนปัญหาด้านแรงงานและการทหาร

ศาสนาต่างๆ ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี รวมถึงศาสนาพุทธ ผู้บวชเป็นภิกษุไม่ต้องเสียภาษี และไม่ต้องเกณฑ์ทหาร

ด้วยอภิสิทธิ์นี้ ในยามสงครามก็ย่อมมีคนจำนวนมากออกบวชเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเกณฑ์ไปรบ ส่วนยามสงบก็เพื่อหลบเลี่ยงการถูกเกณฑ์เป็นแรงงาน

ยิ่งความต่างศักดิ์ ระหว่างความสะดวกสบายในการเป็นภิกษุกับการเป็นประชาชนมีมากขึ้นเท่าไหร่ จำนวนประชากรก็ยิ่งไหลไปเป็นภิกษุมากขึ้นเท่านั้น

ในโลกยุคโบราณ จำนวนประชากรคือพลังอำนาจของประเทศ คนยิ่งเยอะ ก็ยิ่งดีต่อบ้านเมือง การออกบวชทำให้จำนวนกำลังคนในสังคมหายไปในระยะสั้นและระยะยาว (ไม่มีลูกหลาน)

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงกลายเป็นจุดแตกหัก กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างวัดพุทธกับราชสำนัก

“แต่ละบ้านนิยมออกบวช แต่ละคนไร้ทายาท”

“กำลังพลขาดหาย ไร้คนให้ใช้สอยเป็นข้าราชสำนัก”

ฟ่านเจิ่ง นักคิดร่วมสมัยฮ่องเต้เป่ยเว่ยไท่อู่ตี้ ให้ความเห็นไว้

“ชายหนึ่งไม่ทำไร่ไถนา หนึ่งคนอด หญิงหนึ่งไม่ทอผ้า หนึ่งคนหนาว”

“ภิกษุ ภิกษุณี ไม่ไถไม่ทอ วัดวาวิจิตรงดงามหรูหราแข่งกับวัง”

“บ้านเมืองพังก็เพราะงมงายพุทธศาสนา”

และนี่คือคำประกาศของฮ่องเต้ถังอู่จง ก่อนสั่งล้างบางศาสนาพุทธ

ทั้งนี้ ยังไม่นับข่าวฉาวเรื่องสีกาสะสมเงินทองสิ่งของหรูหรา สะสมอาวุธ หมักเหล้ากันในวัด

ทั้ง “3 อู่ 1 จง” จึงออกคำสั่งรื้อวัด จับสึก จำนวนวัดที่ถูกล้างบางในแต่ละยุคนั้นเป็นหลักพันหลักหมื่น บางยุคภิกษุภิกษุณีที่ถูกจับสึกเป็นหลัก 2-3 ล้านคน นับเป็นอัตราคนถึง 1 ใน 10 ของจำนวนประชากรของราชวงศ์นั้นๆ

ทอง ทองแดงทั้งหลายที่ถูกเคยระดมหล่อเป็นพระพุทธรูป เครื่องบูชา ก็ถูกนำมาหล่อเป็นเหรียญกษาปณ์เป็นเงินคงคลัง และอาวุธ เพิ่มความมั่งคั่งให้บ้านเมือง

ที่ดินวัดก็นำออกแบ่งให้ประชาชนทำไร่ทำนา ส่วนที่เป็นตำหนักเป็นอาคาร ก็ขายให้ขุนนางไปไว้ใช้เป็นคฤหาสน์คฤหัสถ์ เอารายได้เข้าคลังอีกทาง

ได้กำลังคนและกำลังทรัพย์คืนมาสู่บ้านเมืองมหาศาล

เป่ยเว่ยไท่อู่ตี้ ภูมิใจในการตัดสินใจล้างบางศาสนาพุทธมาก บันทึกไว้ว่า “นับแต่ข้าล้างบางพุทธศาสนา ราษฎรได้ลดภาระ ธัญญาหารและแพรพรรณในเสบียงคลังก็เพิ่มพูน”

รัชทายาทของฮ่องเต้เป่ยเว่ยไท่อู่ตี้เองซึ่งศรัทธาในศาสนาพุทธ ออกโรงคัดค้าน และชักจูงให้บิดาล้มเลิกความคิดนี้เสีย แม้สุดท้ายไม่ได้ผล แต่ก็ช่วยชะลอเวลาให้วัดพุทธจำนวนมากได้หาทางหนีทีไล่

แต่ที่สุด ก็ไม่มีใครห้ามความขัดแย้งระหว่างราชสำนักกับวัดวาอารามได้

ในยุคราชวงศ์ถังหลังจากการกวาดล้างของฮ่องเต้อู่ 3 องค์ผ่านไป ราชสำนักจีนกำหนดให้นักบวชต้องมีใบบวช คือต้องสอบพระธรรม จึงเข้าบวชได้

แน่นอน ใบบวชนี้ต้องซื้อเอา ถือเป็นสิ่งที่ต้องจ่ายเมื่อได้รับอภิสิทธิ์ไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหารและเสียภาษี และใบบวชนี้มีจำนวนจำกัด ซึ่งช่วยให้ควบคุมจำนวนพระภิกษุให้อยู่ในกรอบที่ราชสำนักต้องการ (ถ้าไม่มีพระสึกหรือมรณภาพ ก็ไม่มีโควตาให้พระบวชใหม่)

ราคาค่าเป็นนักบวช (ใบบวช) จึงแพงขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพบ้านเมืองที่วุ่นวายจากยุคสงคราม

พอมาถึงยุคราชวงศ์ซ่งใต้ เมื่อครั้งงักฮุยอาสาตั้งกองกำลังออกรบกู้ชาติ เข้าของบประมาณจากราชสำนักซ่ง ราชสำนักซ่งแจ้งกับงักฮุยว่า “เงินคงคลังไม่พอ ขอให้เอาใบบวช 5,000 ใบไปแทนละกัน!” เงินกู้ชาติในครั้งนั้น จึงเป็นเงินที่ได้จากการขายใบบวช

เห็นได้ว่าการได้บวชเป็นพระขณะที่ทุกคนต้องอยู่ผจญกับภัยเศรษฐกิจ การเมือง การทหารนั้น มีค่าขนาดไหน จริงอยู่ภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีอยู่ในทุกยุคทุกสมัยพร้อมๆ กับภิกษุทุศีล ตรงกันข้าม แม้ในยุคพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ และภิกษุทุศีล ก็มีอยู่พร้อมกัน

ราชสำนักก็เข้าไปจัดการเป็นรายๆ ไป ไม่ได้คิดล้มล้างทั้งศาสนา

แต่ประวัติศาสตร์ของทั้ง 3 อู่ 1 จง บอกเราว่า จุดแตกหักที่ราชสำนักจีนเลือกเข้ามาจัดการพุทธศาสนาอย่างรุนแรง คือจุดความขัดแย้งทางผลประโยชน์เรื่องที่ดิน ทรัพย์สินและแรงงาน ไม่ใช่เรื่องความเชื่อหรือความเสื่อมศรัทธา

เรื่องความเชื่อความศรัทธาหากไม่สะเทือนบัลลังก์มักไม่มีฮ่องเต้องค์ไหนอยากเข้าไปก้าวก่าย แต่หากวัดวาอารามเริ่มสะสมที่ดิน เบียดบังการทำมาหากินของผู้คน สกัดวงจรเศรษฐกิจ ลอยตัวไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับราชสำนักและสังคม วางตัวอยู่เหนือกฎหมาย หรือก่อตั้งกองกำลังท้าทายราชสำนัก ไม่นานนักการจัดการแบบล้างบางค่อยเกิดขึ้น

และโชคไม่ค่อยดีนักที่การล้างบางยุคก่อนแต่ละครั้งไม่ศิวิไลซ์ เพราะมักเหมายกเข่ง....

เป่ยโจวอู่ตี้เคยถูกข่มขู่ว่า “ฝ่าบาทห้ามเผยแผ่พุทธศาสนาตายไปต้องตกนรก!” พระองค์ตอบกลับว่า “ขอแค่ให้ประชาชนมีสุข เรายินยอมตกนรกรับทรมานเอง!”