posttoday

ผลึกคิด ‘สุรพงษ์ กองจันทึก’ 30 ปี เพื่อสิทธิมนุษยชน

27 กุมภาพันธ์ 2559

รายละเอียดระหว่างบรรทัดจากประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของ สุรพงษ์ กองจันทึก

โดย...อธิปัตย์ ยศรุ่งเรือง ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน ภาพ...เสกสรร โรจนเมธากุล

รายละเอียดระหว่างบรรทัดจากประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของ สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ตกผลึกเป็นวิธีคิดที่สนใจ @Weekly นัดหมายเขาที่สำนักงานย่านราชเทวี เพื่อเปลือยคมความคิดที่สั่งสมมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี

ทันทีที่เราเดินทางไปถึงในช่วงบ่าย สิ่งแรกที่พบคือ “สุรพงษ์” กำลังให้คำปรึกษาหญิงสาวกะเหรี่ยง 2 ราย จากหมู่บ้านคลิตี้ จ.กาญจนบุรี ซึ่งก็ถือเป็นภาพชินตาสำหรับผู้คนที่มักคุ้นกับเขา

ในฐานะนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน น้อยครั้งมากที่ “สุรพงษ์” จะเพิกเฉยต่อความเดือดร้อน-ความทุกข์ของชาวบ้าน

นี่คงไม่ใช่แค่เรื่องของ “สำนึก” และความเป็นมนุษย์เท่านั้น หากแต่เป็นบทพิสูจน์ขนาดของหัวใจชายวัย 54 ชนิดหมดจดในข้อเคลือบแคลง

“น่าแปลกที่ทุกวันนี้เทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ พัฒนาไปมาก แต่ในแง่ของจิตใจคนกลับยังไม่มีการพัฒนาสักเท่าไร” สุรพงษ์ พูดขึ้น ... แน่นอนว่าเราเห็นด้วย

สุรพงษ์ บอกว่า ทุกวันนี้โลกเป็น global มากขึ้น ได้รู้เห็นความยากลำบากของคนมากขึ้น แต่จิตใจกลับถดถอยลง โดยเฉพาะในสังคมไทยทุกวันนี้มีแต่ความเกลียดชังกัน เรียกได้ว่าการมองเห็นคุณค่าของกันและกัน นับวันยิ่งจะมีแต่น้อยลง

ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดบนกติกาที่แทบจะไม่เปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อยอยู่ในเกม “สุรพงษ์” เชื่อมโยงให้เห็นถึงโครงสร้างของอำนาจที่มุ่งแต่แสวงหา โดยไม่สนใจว่าได้เหยียบย่ำหญ้าแพรกจนแหลกลาญ

“ผมว่าที่คนเล็กคนน้อยถูกเล่นงานอยู่ในขณะนี้ เป็นเพราะระบบทุนได้รุกล้ำเข้ามา และทุนก็มีแนวโน้มที่จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันการสะสมทุนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐมีส่วนร่วมด้วย มันจึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะวางตำแหน่งของตัวเองอย่างไร จะร่วมมือกับชาวบ้านหรือจะร่วมมือกับทุน”

นั่นคือบทสรุป นั่นคือธรรมชาติของทุน

ตลอดระยะการทำงานของ “สุรพงษ์” ได้ผูกติดชีวิตของตัวเองไว้กับความเสี่ยง โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิ์ชาวบ้านด้วยแล้ว คู่ขัดแย้งย่อมหนีไม่พ้นเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

สุรพงษ์ บอกว่า ไม่มีสูตรสำเร็จในการทำงาน แต่ต้องมีความหลากหลายแตกต่าง ต้องมีทั้งการประนีประนอม การเจรจา หรือแม้กระทั่งการชักธงรบ

“หลักการจริงๆ ของผมคือเอาผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง สมมติว่าเราเป็นแพทย์แล้วคนไข้เจ็บป่วยหนัก ถ้ามันต้องตัดขาก็ต้องตัด แม้การตัดขานั้นอาจเป็นการทำร้ายชาวบ้านก็จริงแต่มันช่วยรักษาชีวิต ส่วนคนไข้ที่ป่วยน้อยหน่อยก็ให้กินยา มันขึ้นอยู่กับโรค ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานการณ์ในขณะนั้น”

“บางงานแค่คุยประสานกันก็จบ แต่บางงานมันไม่ได้ก็ต้องรุกแรงขึ้น แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้แนวคิดเบาไปหาหนักเสมอ คือต้องคิดตลอดว่าจะคลี่คลายปัญหาเหล่านั้นอย่างไรให้ดีที่สุด”

สำหรับ “การชักธงรบ” ในแบบฉบับของสุรพงษ์ คงไม่ใช่วิธีการก่อม็อบหรือชูป้ายประท้วง

“ผมเป็นนักกฎหมายก็ต้องสู้ด้วยกฎหมาย ซึ่งตรงนี้เราอาจจะมีความพร้อมหรือความถนัดมากกว่า เราต้องต่อสู้และชี้แจงต่อเขาด้วยความปรารถนาดี เราไม่ได้ไปโต้แย้งใครเพื่อที่จะไปหักล้างหรือทำร้าย มันต้องเป็นการต่อสู้เชิงบวก” เขา ระบุ

ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์กะเหรี่ยงศึกษาและพัฒนา “สุรพงษ์” บอกว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ คนที่อยู่กับป่าก็มีการเรียนรู้ชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติมานาน และคนเหล่านี้ก็สามารถรักษาผืนป่าเหล่านี้มาไว้ได้ถึงทุกวัน

“หมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงนั้น เหล่าบรรดาสัตว์ทั้งหลายจะรับรู้และไม่ก้าวก่ายนิเวศซึ่งกันและกัน เช่น คนก็จะรับรู้ว่าตรงนี้เป็นที่ของเสืออยู่ ทางตรงนี้ก็เป็นทางที่ช้างเดิน ทุกคนพอรับรู้ก็จะจัดสรรทรัพยากรร่วมกันประโยชน์ร่วมกัน อยู่ร่วมกันนานจนกลายเป็นระบบนิเวศของป่า ...”

“… ถ้าคุณไปเอาคนออกป่า นั่นก็อาจเป็นการทำลายระบบนิเวศในอีกทางหนึ่งเช่นกัน เพราะวิธีการมองในเรื่องป่าไม้ของเจ้าหน้าที่รัฐ มันขัดกับวิธีการมองในภูมิปัญญาการรักษาระบบนิเวศของชาวบ้านที่เขามีอยู่”

ย้อนกลับไปในสมัยอดีต น่าสนใจว่าอะไรเป็นสิ่งประกอบสร้างให้เกิดคนอย่าง “สุรพงษ์” ขึ้นมา

สุรพงษ์ เล่าว่า ตัวเองเติบโตมาในครอบครัวข้าราชการ และบิดาต้องย้ายพื้นที่การทำงานอยู่บ่อยๆ จึงเริ่มคุ้นเคยและใกล้ชิดกับชุมชนในแต่ละแห่ง ประกอบกับถูกปลูกฝังให้เป็นคนรักการอ่านมาตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้เข้าใจเรื่องของสังคม ศาสนา และวรรณกรรมมากขึ้น

“ครอบครัวผมเป็นคนชั้นกลาง ด้วยวาระงานของข้าราชการมันทำให้ครอบครัวต้องย้ายที่อยู่มาโดยตลอด เคยอยู่ทั้งภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสาน สมัยนั้นโรงเรียนที่ผมเรียนก็เป็นโรงเรียนเดียวกันกับที่แม่สอนอยู่บ้าง ผมไม่เคยเรียนโรงเรียนไหนเกิน 2 ปีเลย และต้องย้ายมากว่า 10 ครั้ง ตั้งแต่ระดับชั้นประถมจนถึงมหาวิทยาลัย ...”

“… การย้ายที่อยู่และย้ายโรงเรียนบ่อยๆ มันทำให้เราเจอกลุ่มคนที่หลากหลาย เจอวิถีชีวิตของชาวบ้านที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เราก็เลยคุ้นเคยกับคนเล็กคนน้อยเหล่านี้มาตั้งแต่เด็กในฐานะที่เป็นเพื่อนเรา และตอนเด็กๆ ผมก็แปลกที่มักจะคบกับเด็กชนบทฐานะยากจน คนเหล่านี้เขามีความซื่อและดูจริงใจมากกว่าคนในเมือง พอคุยด้วยแล้วมันรู้สึกสบายใจ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้มันเลยค่อยๆ หล่อหลอมให้ผมต้องพยายามปรับตัว พยายามตื่นตัวที่จะเรียนรู้จากพวกเขามาตลอด อันนี้น่าจะเป็นข้อได้เปรียบกับการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตามที่ต่างๆ มากกว่าคนอื่น”

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ “สุรพงษ์” กลายเป็นนักพัฒนาสังคม คือการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสามาตลอดระยะเวลาที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่นยิ่งทำให้มีโอกาสได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะสถานที่ทุรกันดาร ทั้งผืนป่าและดอยสูงที่มีพี่น้องชาติพันธุ์อาศัยอยู่

การเดินทางทำให้รู้และเห็นปัญหามากมายที่ซุกซ่อนอยู่ในสังคมไทย สิ่งเหล่านี้เพาะบ่มให้เขากลายเป็นคนมีใจรักในการช่วยเหลือสังคม

“ผมจบจากคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยระหว่างที่เรียนอยู่ก็มีการออกค่ายมาตลอด ต้องบอกว่าสมัยที่เป็นนักศึกษาอยู่ความคิดอยากช่วยมีอยู่แล้ว แต่เรารู้ว่ากำลังตรงนั้นมันไม่พอ เพราะก่อนที่จะไปช่วยเขาคือต้องเรียนรู้จากเขาก่อน ช่วงแรกๆ เราก็ไม่ได้คิดเรื่องจะไปช่วยเขาหรอก คิดแต่ว่าเราจะเรียนรู้จากเขายังไง ซึ่งตัวผมเองก็ชอบออกค่ายเพราะมันได้ท่องเที่ยวและเรียนรู้ไปในตัว ทำให้เราได้เห็นโลกมากขึ้น”

“ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสได้ไปเชียงใหม่ ชวนภรรยาขับรถไปที่หมู่บ้านแม่โต๋  ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ผมกับกลุ่มเพื่อนเคยช่วยกันสร้างโรงเรียนแห่งนี้เอาไว้จากการออกค่ายอาสาเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ตอนสมัยที่ยังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 พอจอดรถที่หมู่บ้าน มีเด็กหนุ่มอายุประมาณ 25 ปี เข้ามาทักว่าใช่พี่หนอนหรือเปล่า ผมก็ตอบว่าใช่ๆ เขาดีใจพร้อมพูดว่า ไม่เจอพี่หนอนนานเลย ผมเป็นเด็กรุ่นแรกที่พี่หนอนสอนและมาเปิดโรงเรียนให้ ถ้าพี่หนอนไม่สอนผมก็ไม่มีโอกาสอย่างนี้ ...”

“… ผมจึงถามต่อว่าแล้วตอนนี้เป็นไงบ้าง เด็กหนุ่มคนนั้นตอบว่าตอนนี้ผมเรียนอยู่ระดับชั้นปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียนเรื่องการพัฒนาชุมชน ผมจะกลับมาพัฒนาหมู่บ้าน ผมฟังแล้วรู้สึกว่าสิ่งเล็กๆ จากการออกค่ายของนักศึกษาสร้างมาในวันนั้น มันไม่ได้สูญเปล่า”

โรงเรียนในหมู่บ้านแม่โต๋ที่ “สุรพงษ์” ไปร่วมก่อสร้าง เป็นโรงเรียนของชาวเขาใน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ และคือโรงเรียนเดียวกันกับที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง “เด็กโต๋” ซึ่งฉายในปี 2548

“เป้าหมายชีวิตของคนเรา ผมคิดว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวสำหรับใครคนใดคนหนึ่ง เพราะคนเราก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนชีวิตไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ มันค่อยๆ เป็นไปตามช่วงตามจังหวะของชีวิต ช่วงที่เราอายุยังน้อยมันเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ พอมีอายุมากขึ้นก็เห็นช่องทางมากขึ้น เราก็มีโอกาสที่จะได้คุยในเรื่องของเชิงนโยบายได้มากขึ้น ...”

“... แต่ไม่ใช่ว่าเราจะทำแต่เรื่องใหญ่ๆ แล้วไม่ทำเรื่องเล็กๆ นะ เราก็ยังต้องทำเหมือนเดิม ยังต้องช่วยเหลือคนเล็กคนน้อยอยู่ คือถ้าเราไม่ทำ คนเหล่านั้นก็ไม่รู้จะไปหาทางออกอย่างไร ทุกวันนี้นิยามงานของผมคือ ช่วยใครได้ ช่วยทุกเรื่อง ... ยกเว้นเรื่องเงิน (หัวเราะ)”