posttoday

องค์ความรู้สู้วิกฤตภัยแล้ง

25 กุมภาพันธ์ 2559

สถานการณ์น้ำของประเทศเวลานี้ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ลดลงมากกว่าปีที่แล้ว

โดย...วรธาร ภาพ...คลังภาพโพสต์ทูเดย์ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สถานการณ์น้ำของประเทศเวลานี้ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ลดลงมากกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะภาคกลางเชื่อมต่อภาคเหนือถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ บางเขื่อนเหลือน้ำน้อยมาก จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องเตรียมพร้อมหาทางรับมือและบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่นี้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะเดียวกันภาคประชาชนก็ต้องช่วยกันประหยัดและใช้น้ำให้รู้จักคุณค่า     

สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน

รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน อัพเดทสถานการณ์น้ำในปัจจุบันว่า ปีนี้น่าจะวิกฤตกว่าปีที่แล้ว เพราะน้ำในเขื่อนเกือบทั้งประเทศลดลง ภาคเหนือเขื่อนสิริกิติ์มีน้ำไม่ถึง 20% เขื่อนภูมิพลเหลือไม่ถึง 10% แควน้อยก็ต่ำกว่าปีที่แล้ว เขื่อนป่าสักฯ ปีที่แล้วต้องใช้น้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์มาเสริม แล้วเขื่อนศรีนครินทร์ปีนี้น้ำก็ลดต่ำกว่าปีที่แล้ว ประกอบกับฝนตกน้อยจึงทำให้ภาคเหนือลงมาถึงภาคกลาง และตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นมาน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกเขื่อนน้ำลดลงกว่าปีที่แล้วอีก ยกเว้นเขื่อนลำพระเพลิงที่ยังพอมีอยู่ แต่น้ำที่มาเลี้ยงแม่น้ำชีและมูลน่าเป็นห่วง ส่วนภาคใต้เขื่อนรัชชประภาน้ำยังเยอะ ส่วนเขื่อนนอกนั้นเหลือน้อยกว่าปีที่แล้ว ขณะที่ภาคตะวันออกสถานการณ์น้ำถือว่าดีกว่าทุกภาค ทั้งเขื่อนประแสร์ เขื่อนขุนด่าน และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลน้ำยังเยอะ

องค์ความรู้สู้วิกฤตภัยแล้ง

 

“แต่เวลานี้สถานการณ์น้ำของประเทศโดยรวมค่อนข้างสาหัส โดยเฉพาะภาคกลาง เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ที่น้ำในเขื่อนเหลือน้อยมาก ที่น่าห่วงอีกเรื่องคือฝน ตอนแรกคาดการณ์ว่าเดือน เม.ย.จะตก แต่จากการเช็กเมื่อสองวันก่อนน่าจะตกกลางหรือปลาย พ.ค. ตอนนี้ถ้าใครปลูกอะไรค่อนข้างเสี่ยงเพราะไม่มีน้ำ ยกเว้นจะมีแหล่งนำสำรองของตัวเอง ขณะที่ฝนปีนี้คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นฝนปานกลางถึงน้อย จึงน่าจะเป็นปีที่สามติดต่อกันที่สถานการณ์น้ำของประเทศเราไม่ค่อยดี”

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. ให้ความเห็นต่อว่า ระยะยาวคนไทยจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนเทคนิค วิธีการใหม่ และต้องปรับตัวจึงอยู่ได้ในวิกฤตภัยแล้ง เช่น การปลูกข้าว ควรต้องเน้นปลูกข้าวที่ประหยัดน้ำ พูดง่ายๆ คือ หาทางให้เกษตรกรหันกลับทำนาดำเหมือนเดิม เพราะนาดำประหยัดน้ำได้อย่างน้อย 20% เนื่องจากช่วงที่ข้าวอยู่ในแปลงตกกล้าในแปลงนาก็ประหยัดน้ำในช่วงนั้นได้ 20 วัน

“ทุกวันนี้คนไทยรู้แล้วว่าการทำนาไม่ได้ใช้น้ำมากเหมือนที่เข้าใจกันมาแต่ก่อน เพราะฉะนั้นควรให้ชาวนาหันกลับมาทำนาดำเหมือนเดิม ซึ่งจะช่วยประหยัดน้ำและได้ผลผลิตที่ดีกว่านาหว่าน แถมไม่ต้องเหนื่อยเหมือนสมัยก่อน เพราะสมัยนี้มีเครื่องทำนาดำแล้ว ของ มก.ก็มี เป็นเครื่องหย่อนกล้าของอาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา จึงอยู่ที่คนเท่านั้นต้องปรับ ส่วนเครื่องมือหรือองค์ความรู้มีอยู่พร้อม มก.พร้อมให้บริการ” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน ทิ้งท้าย

องค์ความรู้ มก. สู้ภัยแล้ง

การจะสู้วิกฤตภัยแล้งได้ อย่างน้อยต้องมีองค์ความรู้ที่หลากหลายในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับภัยแล้ง ไม่ว่าจะเรื่องข้าว น้ำ การปลูกพืช การจัดการลุ่มน้ำ เครื่องมือ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อจะได้นำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มก.โดยสำนักหอสมุด ได้สร้างคลังความรู้ดิจิทัลโดยรวบรวมผลงานคุณภาพของมหาวิทยาลัย อาทิ หนังสือ ตำรา วิทยานิพนธ์ งานวิจัย บทความวิชาการ และบทความรู้ทั่วไป จำนวนกว่า 6.5 หมื่นรายการ โดยได้คัดเลือกผลงานที่เกี่ยวกับภัยแล้งทั้งหมดมาสู่การขยายผลเป็น “ฐานความรู้ สู้ภัยแล้ง” เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปค้นคว้าผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

องค์ความรู้สู้วิกฤตภัยแล้ง

 

อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มก. กล่าวว่า ฐานความรู้สู้ภัยแล้งที่รวบรวมโดยสำนักหอสมุดนี้เพิ่งเริ่มทำมาเมื่อต้นปีนี้ เป็นการรวบรวมผลงานต่างๆ ของ มก. จำนวน 400 กว่ารายการที่เกี่ยวกับภัยแล้ง ทั้งงานวิจัย หนังสือ บทความ และอื่นๆ เช่น การจัดการเกี่ยวกับภัยแล้ง การผลิตพืชผลทางการเกษตร การปรับปรุงพันธุ์พืชทนแล้ง การบริหารจัดการลุ่มน้ำ เป็นต้น โดยทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้นี้ได้ฟรีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต http://kukr.lib.ku.ac.th/db/drought

“ถ้าจำไม่ได้เข้ากูเกิลแล้วพิมพ์คำว่า ฐานความรู้สู้ภัยแล้ง คลิกเข้าไปก็จะเห็น สามารถสืบค้นได้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับภัยแล้ง เช่น อย่ากรู้เรื่องน้ำพิมพ์คำว่าน้ำที่ช่องค้นหา หรืออยากรู้เรื่องข้าวก็พิมพ์คำว่าข้าวก็จะปรากฏเรื่องข้าว 137 รายการให้เลือกอ่าน เช่น เรื่องทางเลือกในการปรับตัวต่อภัยแล้งของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นงานวิจัย ซึ่งสามารถดูได้ด้วยว่าเรื่องนี้มีคนเข้าไปดูกี่คน ดาวน์โหลดกี่คน คลิกดูสถิติได้ด้วยว่าเรื่องไหนคนเข้าไปอ่านและดาวน์โหลดมากที่สุด” ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ให้ข้อมูล

ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ให้ข้อมูลต่อว่า สำหรับเรื่องที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดตอนนี้ คือ 1.หลักการจัดการลุ่มน้ำ 2.เทคนิคการปรับปรุงพันธุ์พืช 3.เกษตรศาสตร์ช่วยภัยแล้ง : พัฒนาแหล่งน้ำใต้ดินให้กับชุมชน 4.เพื่อความเข้าใจเรื่องการให้น้ำแก่พืช ส่วนเรื่องที่มีผู้ดาวน์โหลดมากที่สุด ได้แก่ 1.ปริมาณน้ำในช่วงหน้าแล้งจากป่าดิบเขาดอยปุย เชียงใหม่ การวิจัยลุ่มน้ำที่ห้วยคอกม้า เล่มที่ 34 2.เทคนิคการปรับปรุงพันธุ์พืช 3.ความก้าวหน้าของการปรับปรุงประชากรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทนทานแล้งแบบหมุนเวียนสลับ

“ข้อมูลเหล่านี้ง่ายต่อการค้นหา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับภัยแล้งล้วนๆ เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับนิสิต นักศึกษา ครูอาจารย์ ประชาชน เกษตรกร ตลอดจนผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เป็นอย่างดี ในการศึกษาค้นคว้าเพื่อนำความรู้ดังกล่าวไม่ว่าจะงานวิจัย หนังสือ หรือบทความที่ดีไปประยุกต์ใช้เพื่อต่อสู้กับภัยแล้งไม่มากก็น้อย และอยากเชิญชวนทุกท่านเข้ามาใช้บริการมากๆ” ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ชักชวน

องค์ความรู้สู้วิกฤตภัยแล้ง

 

นวัตกรรมสู้ภัยแล้ง

ถั่วลิสงพันธุ์ใหม่ KUP11281 กับ KUP1206-2 หนึ่งในนวัตกรรมของ มก. ที่นำทีมวิจัยโดย “เจตษฎา อุตรพันธุ์” อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตขนมอบกรอบจากถั่วลิสงโก๋แก่ ได้วิจัยปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมา โดยคัดเลือกเชื้อพันธุกรรมถั่วลิสงที่ปรับตัวได้ดีภายในประเทศมาใช้เป็นพันธุ์พ่อแม่ ได้แก่ ไทนาน 9 และขอนแก่น 5 ซึ่งมีคุณภาพดีกำหนดให้เป็นพันธุ์แม่ และขอนแก่น 6 ซึ่งต้านทานโรคยอดไหม้กำหนดให้เป็นพันธุ์พ่อ ผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์พ่อและแม่ แล้วคัดเลือกและประเมินผลผลิตเบื้องต้นตามลำดับขั้นตอนของการปรับปรุงพันธุ์ในสถานีวิจัยในสังกัดของคณะเกษตร มก. จนได้สายพันธุ์ดีเด่นดังกล่าว ซึ่งให้ผลผลิตสูงและทนทานต่อโรคยอดไหม้ได้ดี

อาจารย์เจตษฎา กล่าวว่า สองสายพันธุ์นี้มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกัน ตัวแรก (KUP11281) จะให้ผลผลิตสูง แต่จะไม่ต้านทานโรคยอดไหม้ ส่วนตัวที่ 2 (KUP1206-2) ได้ผลผลิตน้อยกว่า แต่ต้านทานต่อโรคยอดไหม้ได้ดี เพราะฉะนั้นเวลาปลูกจะต้องสำรวจที่พื้นปลูกให้ดีก่อน ถ้าพื้นที่ไหนเพี้ยไฟระบาด เช่น จ.กาฬสินธุ์ แนะนำให้ปลูกพันธุ์ที่ 2 เพราะต้านทานโรคได้ดี ส่วนพื้นที่ที่โรคไม่ค่อยระบาด เช่น สกลนคร และนครพนม แนะนำพันธุ์แรกที่ให้ผลผลิตสูง

“ถั่วลิสงเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยประมาณ 10 วันให้น้ำครั้งหนึ่ง เป็นพืชที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี พ.ศ. 2557 พบว่าประเทศไทยมีความต้องการใช้ปริมาณสูงถึง 114,295 ตัน แต่ผลิตได้เพียง 38,619 ตัน ส่งผลให้มีการนำเข้าถั่วลิสงจากต่างประเทศปริมาณสูงถึง 75,989 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,093.08 ล้านบาท เพราะฉะนั้นการปลูกถั่วลิสงน่าจะสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกร แต่ว่าเวลาปลูกควรต้องเลือกพันธุ์ให้เหมาะกับพื้นที่ด้วย”

องค์ความรู้สู้วิกฤตภัยแล้ง

 

เครื่องหย่อนกล้านาโยน

อีกหนึ่งนวัตกรรมของ มก. คือ เครื่องปลูกข้าวแบบหย่อนกล้าสำหรับการทำนาแบบประณีต ผลงานประดิษฐ์คิดค้นของอาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ ธนัตถ์ ศรีสุขสันต์ เป็นเครื่องหย่อนกล้าสำหรับการทำนาแบบประณีตเครื่องแรกของโลก มีจุดเด่นคือ การปลูกข้าวด้วยเครื่องนี้ต้นกล้าจะได้รับผลกระทบน้อยมากในบริเวณราก รากไม่ถูกทำให้ฉีกขาดหรือมีบาดแผล ต้นกล้าจึงไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการรักษาตัว ทำให้ต้นกล้าเติบโตไวกว่าการปลูกด้วยเครื่องปักดำถึง 10 วัน

อาจารย์ปัญญา กล่าวว่า เครื่องนี้จะทำให้สามารถลดแรงงานคนลงได้จากการทำนาโยนปกติที่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน 10 คน เหลือเพียง 2-3 คน และตัวอุปกรณ์หย่อนกล้ามีกลไกที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยระยะระหว่างกอ 20-25 ซม. (ปรับได้) ตลอดแนว ซึ่งใช้ทำงานจริงมาแล้วในโครงการทำนาแบบประณีต (SRI : The System of Rice Intensification) ของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ที่ จ.ชัยภูมิ มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุทัยธานี และนครปฐม โดยอัตราการทำงานได้ 10 ไร่/วัน ความเร็วการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า 1 กม./ชั่วโมง

“ขนาดถาดเพาะกล้า 26x51 ซม. หนึ่งถาดเพาะกล้ามีจำนวนหลุม 10x20 หลุม ซึ่งสามารถหย่อนกล้าได้ถึง 10 แถวตลอดแนว ตัวเครื่องออกแบบให้ปรับเปลี่ยนระยะห่างของการปลูกได้ทั้งแนวแกน X และแกน Y ตามสภาพดินของแต่ละพื้นที่ หรือตามลักษณะความสูงและการแตกกอของพันธุ์ข้าว อุปกรณ์หย่อนกล้าอยู่สูงจากพื้นดิน ทำให้ไม่มีโอกาสสัมผัสพื้นดินจึงลดความเสี่ยงจากความเสียหายได้ ทำให้มีอายุการใช้งานที่ทนทาน และง่ายต่อการซ่อมบำรุงรักษาอย่างมาก ตัวรถมีแผ่นสกี สำหรับแก้ปัญหานาหล่มจัดได้ มีระบบต้นกำลังขับเคลื่อนด้วยรถไถนาแบบเดินตามที่ชาวนาคุ้นเคยและซ่อมบำรุงได้เอง

การเลื่อนของชุดลำเลียงถาดเป็นแบบความเร็วต่อเนื่องวิ่งจากซ้ายไปขวาด้วยระบบโซ่ลำเลียง โดยผู้ใช้เครื่องต้องทำการใส่ถาดเข้ากับชุดล้อลำเลียงในบริเวณพื้นที่การโหลดถาด โดยการใส่เดือยของถาดให้ตรงกับรูของชุดลำเลียงกล้า ต้นกล้าในแต่ละหลุมจะถูกระบบคีบและถอนทำการคีบและถอนออกอย่างรวดเร็วให้ตกลงบนพื้นนาด้วยแรงโน้มถ่วง ในขณะที่ชุดถาดเพาะก็เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ถาดสุดท้ายที่ถูกถอนกล้าออกจนหมดแล้วจะเคลื่อนเข้าสู่ระบบการปลดถาดออกจากชุดลำเลียง โดยการปลดให้ถาดหล่นลงไปจากชุดลำเลียงอย่างอัตโนมัติลงในถังจัดเก็บถาดเปล่าที่ใช้แล้ว”

องค์ความรู้สู้วิกฤตภัยแล้ง

 

ขณะที่ประโยชน์ของเครื่องดังกล่าว คือ สะดวกและประหยัดแรงงานคน และทำให้เพิ่มผลผลิตได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการปลูกแบบนี้จะทำให้ต้นข้าวแตกกอและเติบโตได้ดีกว่าปลูกด้วยวิธีอื่น และลดปัญหาด้านวัชพืช ข้าวปลอมปน ในพื้นนาได้เป็นอย่างดี อันเนื่องมาจากการปลูกที่เป็นระเบียบ และการเพาะในถาดกล้ามาก่อนทำให้กำจัดข้าวปนหรือข้าวมีโรคในวัยต้นอ่อนได้ก่อน

สแกนนิ่งเทคนิค สำรวจแหล่งน้ำใต้ดินที่แม่นยำ

การสำรวจหาแหล่งน้ำใต้ดินที่มีความแม่นยำในเวลานี้ หลายคนนึกถึง ผศ.ดีเซลล์ สวนบุรี ศูนย์วิจัยสำรวจธรณีประยุกต์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณวิทยาศาสตร์ มก. ที่ใช้วิธีการสำรวจทางไฟฟ้าด้วยระบบอ่านค่าอัตโนมัติหลายขั้วที่ทันสมัย ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ผลที่มีความต่อเนื่อง สามารถกำหนดตำแหน่งชั้นน้ำทั้งในรอยแตกของหินแข็งและชั้นน้ำในหินร่วนจนประสบผลสำเร็จ สามารถช่วยแก้ปัญหาใหักับชุมชนที่เดือดร้อนและขาดแคลนน้ำใช้ในครัวเรือนมานับไม่ถ้วน

ผศ.ดีเซลล์ บอกว่า การสำรวจหาแหล่งน้ำใต้ดินใช้การวัดค่าสภาพต้านทานไฟฟ้าโดยทั่วไปทำแบบหยั่งลึก (VES หรือ Depth sounding) ซึ่งได้ข้อมูลที่จุดเดียว แต่เมื่อประยุกต์เครื่องมืออ่านค่าอัตโนมัติหลายขั้ว (Multi-electrode) เป็นการวัดค่าสภาพต้านทานไฟฟ้าเชิง 2 มิติ (2D resistivity imaging) ประกอบด้วย 60 ขั้วไฟฟ้า หรือมากกว่าระยะห่างขั้วไฟฟ้า 10 เมตร ออกแบบระบบขั้วไฟฟ้าแบบชลัมเบอร์เจร์ ได้ตำแหน่งที่ทำการอ่านข้อมูลใต้ผิวดินลึกกว่า 100 เมตร แนวเส้นสำรวจยาว 600 เมตร ทำการประมวลผลทั้งแบบเชิง 2 มิติ ได้เป็นภาพแบบภาคตัดขวาง แสดงผลโดยรวมของพื้นที่และแบบเชิง 1 มิติ เสมือนการสำรวจแบบ VES ทุกระยะห่าง 10 เมตร ทำให้การวิเคราะห์ผลจึงมีความต่อเนื่อง ทำให้ประสิทธิภาพของการแปลความหมายข้อมูลหาชั้นน้ำทั้งในรอยแตกของหินแข็งและชั้นน้ำในหินร่วนมีความถูกต้องมากขึ้น ซึ่งเรียกเทคนิคนี้ว่า Scanning technique