posttoday

นักวิชาการสามัญประจำบ้าน

18 กุมภาพันธ์ 2559

ยาสามัญประจำบ้าน มีไว้ในบ้านแล้วอุ่นใจ เวลาเจ็บป่วยไม่หนักหนาอะไรมากก็หยิบยาที่รักษาหรือแก้อาการนั้นๆ

โดย...วรธาร ภาพ...คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ยาสามัญประจำบ้าน มีไว้ในบ้านแล้วอุ่นใจ เวลาเจ็บป่วยไม่หนักหนาอะไรมากก็หยิบยาที่รักษาหรือแก้อาการนั้นๆ มากินเป็นการบรรเทารักษาในเบื้องต้น ไม่ต้องเสียเวลาเดินออกไปซื้อ นี่คือความสำคัญของยาสามัญประจำบ้าน สังคมไทยของเราก็มียาสามัญประจำบ้านเหมือนกัน ก็คือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะให้ความรู้หรืออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมแก่ประชาชนในเบื้องต้น  

ทว่า ถึงแม้จะมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จำนวนมาก แต่นักวิชาการที่สื่อมวลชนมักจะถามหรือประชาชนคุ้นหน้าคุ้นตาบ่อยๆ จากที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ต้องบอกว่าแทบจะนับได้ ท่านผู้อ่านลองนึกดูว่า ถ้าเราอยากรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในโลกหรือในประเทศเรา ท่านจะนึกถึงใครคนแรก

ไขสารพัดปัญหาด้วยหลักวิทยาศาสตร์

แน่นอน พ.ศ.นี้ก็ต้องยกให้ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมตั้งแต่เปิดเผยเครื่อง GT200 ว่าไม่อาจตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริง ที่สุดได้มีการจัดทดสอบเครื่อง GT200 อย่างเป็นทางการ จนนำไปสู่การยุติการใช้เครื่องและระงับการจัดซื้อเพิ่ม

นักวิชาการสามัญประจำบ้าน ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

จากนั้นเป็นต้นมา ไม่ว่าเรื่องอะไรที่สังคมสงสัย ตั้งแต่เรื่องเล็กจนถึงเรื่องใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น รูปปากกาทะเล สัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดหนึ่งที่มีการแชร์ทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งบางคนบอกเป็นดอกพญานาค มีถิ่นกำเนิดอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย แต่เขาพยายามหาคำตอบว่าสิ่งที่พูดกันนั้นไม่ใช่อย่างที่พูดกัน ยิ่งกว่านั้นแม้ไสยศาสตร์ความเชื่อเขาก็พยายามเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปอธิบาย เช่น บั้งไฟพญานาค อาจารย์บอกว่าไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติแต่มาจากการกระทำของมนุษย์

ถือเป็นนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่คนไทยรู้จักดี ที่สามารถตอบได้เกือบทุกเรื่อง ทั้งด้านฟิสิกส์ เคมี สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ไสยศาสตร์ ยิ่งทางชีววิทยา เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต พืช สัตว์ จุลินทรีย์ ไม่ต้องพูดถึงเพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมทางทะเล

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอีกคนหนึ่งที่เวลาเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ในทะเล หรือสิ่งแวดล้อมทั้งหลายตลอดจนทรัพยากรทางทะเลได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ เช่น กรณีเกิดสึนามิ หรือคราบน้ำมันในทะเล ปะการังฟอกขาว คลื่นทะเลสูง การทำประมง กระอนุรักษ์ทะเล การท่องเที่ยวทางทะเล เช่น ดำน้ำอย่างไรไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม น้ำทะเลเปลี่ยนสี ปลาตายจำนวนมาก หรือมีคนตายเพราะถูกพิษแมงกะพรุน เป็นต้น สื่อมวลชนจะต้องยกหูโทรศัพท์โทรไปสอบถามเสมอ นึกใครไม่ออกก็ต้อง ดร.ธรณ์ อยู่ในหัว

นักวิชาการสามัญประจำบ้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ทว่า ด้วยประสบการณ์การทำงานวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและคลุกคลีกับทะเลมาเกือบ 30 ปี การันตีได้เลยว่าทุกเรื่องที่เกี่ยวกับทะเลทั้งหมดที่กล่าวมา ดร.ธรณ์ บอกว่าเขาสามารถตอบได้ทันที เพราะเป็นปัญหาพื้นฐานที่เจออยู่ประจำแล้ว แต่ถ้าเป็นปัญหาเชิงลึกที่ไม่เคยเห็นอาจต้องขอเวลาค้นคว้าเพราะการให้ข้อมูลอะไรออกไปต้องศึกษาจนเป็นที่มั่นใจแล้วเท่านั้น ไม่อย่างนั้นอาจสิ่งผลเสียทั้งต่อตัวเองและมหาวิทยาลัยด้วย

ด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ และอื่นๆ 

สมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตินิยมวิทยา และประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ น้อยคนจะไม่รู้จัก หากจำกันได้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์สึนามิ ที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันของไทย ในปี 2547 เขาเคยเตือนว่า ประเทศไทยในพื้นที่ดังกล่าวมีสิทธิที่จะได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ แต่ว่าคนในขณะนั้นยังไม่มีใครเชื่อ จนกระทั่งหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้น ประชาชนก็ให้ความเชื่อถือ และเมื่อเขาเตือนภัยอะไรก็ตาม ผู้คนก็มักจะให้ราคารวมทั้งสื่อมวลชนด้วย

ขณะที่ด้านจิตวิทยาก็มีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญหลายคน หนึ่งในนั้นที่ใครต่างรู้จักดี คือ ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม อดีตอาจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ที่กล้าบอกว่า พฤติกรรมรักร่วมเพศนั้นมีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดู ไม่ใช่พันธุกรรมและสามารถรักษาให้หายขาดได้

นักวิชาการสามัญประจำบ้าน

ถือเป็นนักจิตวิทยาระดับแถวหน้าของไทยที่ให้ความเห็นต่อสังคมในประเด็นต่างๆ ในแง่ของจิตวิทยาที่ชัดเจน เช่น เรื่องความเครียด การจัดการความเครียด และการบำบัด เป็นต้น เห็นวุฒิการศึกษาแล้วไม่แปลกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา เพราะจบปริญญาตรีทางจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ปริญญาโท จิตวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยบอสตัน และปริญญาเอกจิตวิทยาคลินิก มหาวิทยาลัยบอสตัน

ด้านแผ่นดินไหว ชื่อของ ดร.ไพบูลย์ นวลนิล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อยู่อันดับต้นๆ ที่เวลาเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวสื่อต่างๆ มักจะสอบถาม ถ้าหันมาทางด้านภาษาไทย คนก็นึกครูลิลลี่ เป็นต้น ซึ่งยังมีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อีกมาก แต่คงไม่สามารถนำมากล่าวได้หมด

กว่าจะเป็นกูรูที่ได้รับการยอมรับ

ผศ.ดร.ณรงค์ ขำวิจิตร์ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้าเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์เวลานี้ก็ต้องอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ถ้าทางทะเลก็ต้องยกให้ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละท่านได้รับการยอมรับเพราะมีการสั่งสมองค์ความรู้ มีการศึกษาค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา และพอสังคมต้องการความรู้อาจารย์เหล่านี้ก็สามารถอธิบายให้คนได้เข้าใจ ขึ้นกับว่าสังคมจะเลือกเชื่อหรือไม่อย่างไรนั่นเป็นอีกเรื่อง

นักวิชาการสามัญประจำบ้าน

“ผมว่าอาจารย์แต่ละคนก็จะมีแบรนด์ของตัวเอง กล่าวคือแต่ละท่านก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และการที่จะเป็นที่รู้จักของสังคมหรือไม่นั้น บางครั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็มีส่วน อย่างอาจารย์เจษฎาคนรู้จักท่านมากขึ้นก็ท่านออกมาพูด GT200

“หรืออย่างกรณีนกแอร์ที่เกิดวิกฤตเมื่อสองสามวันก่อน ตอนแรกบอกว่ามีปัญหาทางเทคนิค แต่ภายหลังรู้ว่านักบินสไตรค์หรือประท้วงหยุดงาน ซึ่งในเชิงนิเทศศาสตร์ถือว่าการสื่อสารในภาวะวิกฤตไม่ดี สื่อก็ต้องหาใครที่มีความรู้ด้านการจัดการเกี่ยวกับการสื่อสารในภาวะวิกฤตมาให้ข้อมูลแก่ผู้โดยสารหรือญาติผู้โดยสารที่ควรจะรู้ ถ้าอาจารย์ท่านนั้นตอบได้ดี คนก็จดจำ เวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้สื่อก็อยากสัมภาษณ์”

กับการทำหน้าที่ให้ความรู้ดังกล่าว ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ บอกว่า เป็นความสนุกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้คำตอบต่างๆ แก่สังคม และอยากให้สังคมรู้ว่าวิทยาศาสตร์มีคำตอบและวิทยาศาสตร์เป็นที่พึ่งได้ ขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกที่อยากกระตุ้นให้นักวิชาการในประเทศไทย หรือสายนักวิทยาศาสตร์ออกมามาให้ความรู้สังคมเยอะๆ หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็ควรจะเป็นหน่วยงานแถวหน้าที่ออกมาอธิบายเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเพื่อที่สังคมไทยจะได้เป็นสังคมวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ขณะที่ ดร.ธรณ์ ผู้หลงรักทะเล บอกว่า แม้จะเหนื่อย แต่มีความสุขเสมอ และไม่เคยเบื่อกับการทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะสิ่งที่ทำคือสิ่งที่รักและอยู่กับมันมาเกือบ 30 ปีแล้ว