posttoday

บางครั้ง…รักก็มีรสขม

17 กุมภาพันธ์ 2559

ก.พ.มีความพิเศษซึ่งทุกคนมักนึกถึงก่อนเป็นอันดับแรก คือเดือนแห่งความรัก

โดย...ปูปรุง ภาพ... ภัทรชัย ปรีชาพานิช

ก.พ.มีความพิเศษซึ่งทุกคนมักนึกถึงก่อนเป็นอันดับแรก คือเดือนแห่งความรัก จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเขียนเรื่องราวความรักอีกสักครั้ง ในเวลาที่ล่วงเลยวัยหนุ่มสาวมาแล้ว ถ้าจะต้องพูดเรื่องรักก็คงต้องมองมันด้วยแว่นอีกแบบหนึ่ง ที่แน่ๆ คือไม่ใช่แว่นสีชมพูหวานแหววอีกต่อไป แต่ควรเป็นแว่นขยาย ซึ่งช่วยให้สามารถมองทะลุรายละเอียดที่หุ้มห่อโลกใบสีชมพูเหล่านั้นได้ด้วย ฉันกำลังหมายถึงอีกด้านหนึ่งที่คนมีรักต้องพบเจอนั่นก็คือ สิ่งที่เรียกว่าการอกหักค่ะ

บางคนเคยกล่าวไว้ว่า “ความรักความสัมพันธ์นั้นเหมือนเช่นดอกกุหลาบ เพื่อจะได้สัมผัสกับความสวยงามและกลิ่นหอมของดอกกุหลาบนั้น บางครั้ง... เราก็คงต้องยอมเสี่ยงที่จะโดนทิ่มแทงด้วยหนามแหลมคมบ้างเหมือนกัน” แต่รู้ทั้งรู้ว่าธรรมชาติ เมื่อมีรักก็ย่อมมีเลิกราเป็นเรื่องปกติ แม้ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญคือเราจะสามารถเยียวยาจิตใจตัวเองได้อย่างไร เพื่อที่แผลใจนั้นจะหายได้เร็วที่สุด และเราก็สามารถกลับไปเป็นคนเดิมอย่างที่เรานั้นเคยเป็น

พบข้อมูลทางจิตวิทยาที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่มีการแบ่งระยะของความโศกเศร้าจากการสูญเสียเอาไว้ ตามอาการออกเป็น 5 ระยะ คือ 1.ระยะช็อก/ปฏิเสธความจริง : เป็นอาการการตกใจ ช็อก และไม่ยอมรับความจริง เมื่อโดนทิ้งหรือถูกบอกเลิก ซึ่งระยะนี้อาจกินเวลาเพียงไม่กี่นาที จนถึงหลายๆ วันได้ในบางคน

2.ระยะโกรธ : เป็นระยะต่อมาเมื่อพ้นจากระยะช็อกแล้ว โดยอาจจะโกรธได้ทั้งคนอื่น หรือโกรธตัวเอง ในบางคนอาจถึงขั้นมีความคิดอยากไปทำร้ายคนอื่นได้

3.ระยะต่อรอง : หรือที่จิตแพทย์บางท่านอาจเรียกว่าระยะความหวังลมๆ แล้งๆ คือระยะที่ผู้กำลังสูญเสียจะต่อรองกับอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอีกฝ่าย หรือกระทั่งบนบานกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้เขาคนนั้นกลับคืนมา ว่ากันว่าระยะนี้มักเป็นปัญหาที่สุด ที่ทำให้หลายคนติดอยู่หรือไม่สามารถก้าวผ่านความเจ็บปวดนั้นไปได้

4.ระยะซึมเศร้า : คืออาการที่เกิดขึ้นเมื่อรู้ว่าไม่ว่าจะทำอย่างไรเขาก็ไม่กลับมาอีกแล้ว บางคนอาจรู้สึกโทษตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หากเป็นมากอาจถึงขั้นคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่

5.ระยะยอมรับ : เป็นระยะสุดท้าย ระยะนี้คือการที่คนคนนั้นยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ อารมณ์จะกลับมาเป็นปกติและไม่เศร้าอีกต่อไป ซึ่งการทำความเข้าใจกับเรื่อง “ระยะของความโศกเศร้า” นี้ย่อมมีประโยชน์แม้อาจจะไม่ได้เกิดกับตัวเองแต่อย่างน้อย หากรู้ข้อมูลไว้บ้างก็น่าจะทำให้เราสามารถดูแลคนใกล้ตัวที่กำลังเป็นได้มากและถูกวิธีขึ้นก่อนเรื่องร้ายจนคาดไม่ถึงจะเกิดแบบที่เราได้รับข่าวสารอยู่บ่อยๆ

การเยียวยาบาดแผลจิตใจยามอกหัก แม้จะมีวิธีอยู่มากมายจากหนังสือหรือจากผู้เชี่ยวชาญก็ตาม แต่เชื่อเถอะค่ะว่าสิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำก่อนวิธีทั้งหลายเหล่านั้นคือ การกลับมารักและเห็นคุณค่าของตัวเองให้ได้ก่อน ซึ่งเคล็ดลับสำคัญที่สุดคือ “การกลับมาเป็นเพื่อนที่ดีกับตัวเอง” รัก ยอมรับ และเห็นคุณค่าในตนเองอย่างเพื่อนแท้คนหนึ่งที่รัก ยอมรับ และเห็นคุณค่าในตัวเรา พร้อมจะบอกกล่าวตักเตือน ด้วยเจตนาดี อย่างอบอุ่นอ่อนโยน ไม่ด่าว่าเกินจริงและไม่หลงชม เยินยออย่างผิดๆ แต่เต็มไปด้วยความใส่ใจ เข้าใจ ให้อภัย และพร้อมจะเป็นกำลังใจหรืออยู่เคียงข้างเพื่อนคนนี้เสมอ

ชีวิตคนเรานั้น บางครั้งหรือหลายครั้งก็มีบางสิ่งบางอย่างกระทบกระแทกจิตใจให้ต้องปรับเปลี่ยนอย่างรุนแรง บางคนด้วยโรคภัยไข้เจ็บ บางคนด้วยการพลัดพราก บางคนด้วยความเกลียดชังและบางคนด้วยความรัก แต่สุดท้ายลำพังเพียงเราเท่านั้นที่ต้องผ่านหรือแก้ไขเรื่องราวเหล่านั้นไปให้ได้ด้วยตัวเอง

มีคำกล่าว 2 ชุด ที่ตัวเองจดจำมาใช้เสมอ คำกล่าวแรก ออกแนวสากล เขาบอกว่า “เราควรเรียนรู้ที่จะทำให้จิตใจให้กว้างใหญ่ไพศาลเหมือนจักรวาล เพื่อจะได้มีพื้นที่ให้เพียงพอสำหรับความจริงที่ขัดแย้งในตัวมันเองทั้งหลาย” และคำกล่าวอีกชุดหนึ่งเป็นของพระศาสดาของเราเอง

พระองค์ทรงตรัสสั่งสอนว่า “จงเป็นเนื้อที่จมอยู่ในบ่วงแต่ไม่ติดบ่วง” หมายความว่า แม้จะจมอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส แต่เราต้องรู้วิธีที่จะไม่ให้ตัวเองติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รสนั้นจนเป็นทุกข์ ซึ่งพระองค์บอกว่า มีอยู่ 3 วิธี คือ 1.รู้รสอร่อยหรือรู้คุณงามความดีของมัน 2.รู้โทษ รู้อันตรายของมัน และ 3.รู้อุบายหรือเครื่องออกไปให้พ้นจากสิ่งนั้น

เมื่อรู้ทั้งสามมุมมองนี้ได้เมื่อไหร่ก็เท่ากับว่าเราจะเป็นเนื้อที่อยู่ในท่าที่พร้อมจะกระโจนออกจากบ่วงเมื่อนายพรานมา และย่อมหมายถึง เราจะมีความสามารถเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกหรือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจและมีความสุขขึ้น ซึ่งย่อมรวมถึงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับความรักอย่างรู้เท่าทันด้วย

ขอบคุณข้อมูลจากแฟนเพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย