posttoday

สิ่งแปลกปลอม ที่ชื่อว่า ‘ความลับ’

17 กุมภาพันธ์ 2559

หากเลือกได้คงไม่มีใครอยากครอบครองหรือเป็นเจ้าของ “ความลับ” เพราะคำว่า “ความลับ” มักมาพร้อมกับภารกิจที่ต้องปิดบัง ซ่อนเร้น

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา

หากเลือกได้คงไม่มีใครอยากครอบครองหรือเป็นเจ้าของ “ความลับ” เพราะคำว่า “ความลับ” มักมาพร้อมกับภารกิจที่ต้องปิดบัง ซ่อนเร้น สิ่งที่มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้ด้วยใจนี้ไว้ให้ลึกสุดใจ ยิ่งเป็นความลับสุดยอดเท่าไหร่คุณยิ่งต้องฝังลงไปในก้นบึ้งที่ลึกที่สุด เพื่อไม่ให้ใครมีโอกาสพบเห็นหรือรับรู้

คำถามคือ ทำไมคนเราต้องแบบภาระอันหนักหน่วง หรือของที่ร่างกายไม่ต้องการนี้ไว้ แล้วคนคนหนึ่งจะมีศักยภาพในการเก็บซ่อนความลับไว้กับตัวได้มากมายขนาดไหน จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถเอาความลับที่มีไปฝากไว้ที่ไหนสักแห่งหรือทำลายความลับให้สลายไป?


ความลับสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิตและจิตแพทย์ ที่ปรึกษาประจำโรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึง พฤติกรรมการมีความลับของคนเราว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักการใช้เหตุผลไปจนถึงวัยสูงอายุ

“ในช่วงวัยเด็กเราอาจไม่ได้เรียกว่าเป็นความลับซะทีเดียว เพราะบางครั้งสิ่งที่เด็กเลือกจะไม่บอกนั้น เกิดจากความกลัวว่าจะถูกผู้ใหญ่ดุมากกว่า คิดว่านี่คือความลับที่ต้องปิดบัง ซึ่งคำจำกัดความของความลับของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปจะหมายถึงเรื่องที่เราอยากปกปิด อยากให้คนอื่นรู้น้อยที่สุด เพราะหากเปิดเผยความลับให้คนนอื่นรู้ อาจนำไปสู่สิ่งที่ไม่พึงประสงค์หรือเกิดผลเสียตามมา”

สิ่งแปลกปลอม ที่ชื่อว่า ‘ความลับ’ นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ

เรื่องที่เป็นความลับส่วนใหญ่อาจถูกมองว่าเป็นด้านลบ แต่จริงๆ แล้วนพ.อภิชาติ แย้งว่า ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะบางครั้งความลับที่ต้องการปกปิดอาจจะเป็นเรื่องในทางบวก แต่ที่ต้องเลือกเก็บไว้ เพราะกลัวว่าถ้าเปิดเผยออกไปแล้วจะก่อให้เกิดผลกระทบในด้านลบ เช่น ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 แต่ต้องปิดบัง เพราะกลัวว่าหากเปิดเผยออกไปจะเจอปล้น หรือมีไอเดียใหม่ๆ ต้องเก็บไว้ เพราะกลัวว่าจะถูกขโมยไอเดีย เป็นต้น

“ถามว่าการที่คนเราสร้างความลับขึ้นมา เรียกว่าเป็นกลไกป้องกันตัวเองอย่างหนึ่งหรือไม่ ในแง่หนึ่งใช่ แต่บางครั้งการที่เราไม่เปิดเผยความลับก็เพื่อปกป้องคนอื่นด้วยเช่นกัน เช่น น้องสาวทำเรื่องไม่ดีมา เราเป็นพี่ก็ต้องช่วยปิดบัง เพราะกลัวน้องสาวจะเสื่อมเสีย”

นพ.อภิชาติ ยังบอกด้วยว่า เมื่อใดก็ตามที่คนเราเริ่มมีความลับ ส่วนใหญ่ต้องมีเรื่องความสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่าง ถ้าเช้านี้เราแอบกินไอศกรีม เรื่องนี้ก็คงไม่เป็นความลับ แต่ถ้าไปแอบกินไอศกรีมของพี่สาว อันนี้มีเรื่องความสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นความลับแล้ว การที่คนเราสะสมความลับไว้มากๆ จะทำให้เกิดความเครียด  ความกังวลกลัวว่าความลับจะหลุดหรือถูกเปิดเผยออกมา ยิ่งถ้าเก็บงำความลับที่กระทบจิตใจมากๆ จะยิ่งเครียด และสุดท้ายต้องหาทางระบายออกด้วยการบอกเล่าให้คนอื่นรู้ ซึ่งเมื่อใดที่ความลับถูกแพร่งพรายให้บุคคลอื่นรู้ เรื่องนั้นจะไม่เป็นความลับอีกต่อไป

สิ่งแปลกปลอม ที่ชื่อว่า ‘ความลับ’

 

“ร่างกายของเราถือว่าความลับเป็นสิ่งแปลกปลอม เมื่อไรก็ตามที่เราเริ่มมีความลับ จิตใต้สำนึกจะพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอมนี้ออกไป ด้วยการลืมเลือนหรือหาทางระบายให้คนอื่นรู้ เพื่อให้รู้สึกสบายใจ”

ถามว่าปัจจุบันพฤติกรรมการมีความลับของคนเราเปลี่ยนแปลงไปไหมนพ.อภิชาติ บอกว่า พฤติกรรมการมีความลับยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ประเภทของเรื่องที่เป็นความลับเปลี่ยนไป เช่น สมัยก่อนจะมีแฟนต้องปิดบังพ่อแม่ ปิดบังเรื่องเพศสภาพ แต่เดี๋ยวนี้เรื่องเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นความลับอีกต่อไป ขณะเดียวกันพฤติกรรมของคนสมัยนี้ก็เปลี่ยน มีความรู้ ความสามารถเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีเรื่องไม่สบายใจไม่อยากเก็บไว้ แต่ไม่อยากปรึกษาคนใกล้ตัว ก็สามารถมาพบนักบำบัด นักจิตวิทยาได้ โดยไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอายเหมือนสมัยก่อน

“หากอยากรู้ว่าตัวเองกำลังเข้าข่ายคนเจ้าความลับหรือเปล่า ลองสังเกตพฤติกรรมตัวเองดูว่า มีความกังวล เครียด ซึมเศร้า กินเยอะ นอนเยอะ หรือกินน้อย นอนไม่หลับหรือไม่  มีปัญหากับการเข้าสังคม ไม่สามารถมีความสุขกับสิ่งรอบตัวที่เคยมีความสุขหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนให้เราหาทางออก จำไว้ว่าความลับไม่ใช่ปัญหาที่น่ากลัว แต่ผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจต่างหากคือสิ่งที่สำคัญ” นพ.อภิชาติ กล่าวทิ้งท้าย

สิ่งแปลกปลอม ที่ชื่อว่า ‘ความลับ’ ดร.ลูกโป่ง-ชิสากัญญ์ ปภาพันธ์เกียรติ

 

หอบความลับไปฝากธนาคาร

ต้นเหตุสำคัญอันดับแรกของความทุกข์ในชีวิตคนเรา คือ มีความลับที่เปิดเผยไม่ได้แม้แต่กับคนใกล้ตัว เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรเพื่อคลายปมทุกข์นี้ นี่จึงเป็นที่มาของธนาคารแห่งความลับ (Bank of Secret) ธนาคารที่จะทำหน้าที่รับฝากความลับทุกประเภทจากเจ้าของความลับทุกเพศทุกวัย โดยเปิดรับทำธุรกรรมทางความลับต่างๆ โดยการให้คำปรึกษา เสนอความคิดเห็น และช่วยแก้ปัญหาให้จนแล้วเสร็จ ที่สำคัญธนาคารยังมอบดอกเบี้ยให้เจ้าของความลับทุกคนด้วยความสุขทุกครั้งที่มาใช้บริการ

ดร.ลูกโป่ง-ชิสากัญญ์ ปภาพันธ์เกียรติ ผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งความลับ เล่าถึงที่มาของคอนเซ็ปต์ธนาคารสุดเก๋นี้ว่า ส่วนตัวทำหน้าที่เป็นโค้ชให้คำปรึกษาผู้ที่มีปัญหาชีวิต หรือมีความลับที่ไม่กล้าบอกใครมาร่วม 20 ปีแล้ว แต่เพิ่งเปิดตัวธนาคารแห่งความลับเมื่อปลายปี 2557 เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางเยียวยาจิตใจของผู้ที่รู้สึกว่าชีวิตกำลังเผชิญกับปัญหา หรือเต็มไปด้วยความลับที่เดินทางมาถึงทางตัน โดยเราเปิดให้คำปรึกษาฟรี ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อผ่านหน้าเฟซบุ๊ก

“ที่เลือกใช้คอนเซ็ปต์เป็นธนาคารแห่งความลับ เพราะต้องการย้ำถึงจุดยืนเรื่องจรรยาบรรณ ในการเก็บรักษาความลับ เพื่อให้เจ้าของความลับทุกคนมั่นใจที่จะเข้ามาคุยกับเรา มาระบายความทุกข์ ความไม่สบายใจ ให้เขารู้สึกว่าอย่างน้อยก็ยังมีคนที่พร้อมจะรับฟังและให้กำลังใจ”

สิ่งแปลกปลอม ที่ชื่อว่า ‘ความลับ’

 

ดร.ลูกโป่ง บอกว่า ความลับของลูกค้าของธนาคารทุกราย จะได้รับการวิเคราะห์ถึงปัญหาผ่านหลักการวิเคราะห์ธุรกิจที่เรียกว่า SWOT เพื่อชี้ให้เห็นถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ของปัญหาหรือความลับนั้นๆ อย่างถ่องแท้ โดยทางธนาคารจะชี้ให้เห็นถึงทางออกของปัญหาหลายๆ ทาง แล้วเปิดโอกาสให้เจ้าของความลับเป็นผู้ตัดสินใจ โดยจะไม่ตัดสินใจแทนเจ้าของความลับ เพียงแต่ให้ทางเดินเพื่อให้เขาเลือกเดินออกมาจากวงจรความทุกข์

“เราไม่ใช่หมอดู เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเรา คือ รับฟังและให้กำลังใจ ร่วมกันหาทางออก บางครั้งเพื่อไปสู่เป้าหมายหนึ่ง อาจจะมีทางออกหลายทาง ยกตัวอย่าง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เท่ากับ 4 อาจไม่จำเป็นต้อง 2+2 เท่านั้น แต่ 1.5+2.5 ก็ได้ผลลัพธ์เท่ากับ 4 เหมือนกัน”

สำหรับความลับยอดฮิตที่มีลูกค้ามาปรึกษามากที่สุด ดร.ลูกโป่ง บอกว่า สมัยก่อนปัญหาครอบครัวมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ แซงหน้า เพราะพอมีปัญหาเรื่องเงิน ก็เป็นลูกโซ่ทำให้ความรักจืดจาง สุขภาพไม่ดีตามไปด้วย ถามว่า ทำไมเวลามีปัญหา มุนษย์เลือกจะเก็บเป็นบางเรื่องเป็นความลับ และไม่ยอมปรึกษาคนใกล้ตัว ดร.ลูกโป่ง บอกว่า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักไม่เห็นความสำคัญของคนใกล้ตัว

“จริงๆ แล้ว เวลาที่มีความลับ เราสามารถเล่าให้ใครฟังก็ได้ เพียงแต่เราต้องถามตัวเองก่อนว่า คนคนนั้นวางตัวเป็นกลางได้ไหมมากกว่า” ดร.ลูกโป่ง กล่าวทิ้งท้าย

สิ่งแปลกปลอม ที่ชื่อว่า ‘ความลับ’ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

 

ความลับล่องลอยในโลกโซเชียล

อีกช่องทางยอดฮิตที่คนยุคนี้ใช้ระบายความลับ คือ โซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่างเฟซบุ๊ก พันทิป สำหรับประเด็นนี้ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวทิยาลัย บอกว่า คนเรามีความลับมากมายและมีหลายรูปแบบในการนำเสนอ หนึ่งในนั้นคือหาที่ปรึกษา แต่ต้องยอมรับว่าในบ้านเรารวมทั้งในประเทศแถบเอเชีย คนที่มีปัญหาหรือมีความลับแล้วมาปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยายังถูกมองว่าเป็นคนผิดปกติ

ทางออกของกลุ่มนี้ ถ้าไม่ปรึกษาคนใกล้ตัว ก็ต้องพึ่งช่องทางอื่น อย่างในอดีตก็ใช้โทรสายด่วน เพื่อมั่นใจว่าอีกฝ่ายจะไม่รู้ตัวตนที่แท้จริง แต่สมัยนี้เทคโนโลยีก้าวล้ำ หลายคนเลือกจะเปิดเผยความลับหรือระบายปัญหาของตัวเองผ่านทางโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นการตั้งหน้าเฟซบุ๊กที่ไม่เปิดเผยตัวตน หรือตั้งกระทู้ในพันทิป

“ถามว่าในกรณีคนที่ค่อนข้างอ่อนไหว การที่ระบายความรู้สึกผ่านโลกออนไลน์ดีไหม ก็เป็นช่องทางหนึ่ง อย่างน้อยเวลามีคนมาให้ความสนใจ กดไลค์ หรือคอมเมนต์ เขาจะรู้สึกมีกำลังใจรู้ว่าอย่างน้อยก็มีคนรับฟัง เช่นเดียวกับเวลามาพบนักจิตวิทยา เขาก็จะทำหน้าที่รับฟัง ให้ความชุ่มชื้นหัวใจกับคนไข้ แต่ถามว่าสุดท้ายปัญหายังอยู่ไหมยังอยู่นะ เพราะผู้ที่จะแก้ปมต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดีที่สุด คือ เจ้าของความลับเอง”

ในกรณีของผู้ที่เลือกเปิดเผยความลับผ่านโลกออนไลน์ ดร.ณัฐสุดา เตือนว่าต้องระวังพวกนักเลงคีย์บอร์ด ที่บางครั้งแสดงความคิดเห็นด้วยความคึกคะนอง แต่อาจทำลายชีวิตคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ถามว่าทำไมคนเราถึงเลือกที่จะหนีจากคนใกล้ตัว คนที่รักไปเล่าปัญหา หรือความลับของตัวเองให้คนอื่นฟัง ดร.ณัฐสุดา บอกว่า เพราะปัญหาหรือความลับที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในชีวิตของคนเราก็มีต้นเหตุจากคนใกล้ตัว เพราะฉะนั้นเมื่อมีปัญหายากที่จะพูดได้ หรือบางครั้งถ้าไปปรึกษาเพื่อนสนิท เขาก็จะให้คำปรึกษาโดยอิงบริบทจากตัวเขา ไม่ใช่จากตัวเรา ทำให้ผลลัพธ์จากการปรึกษาได้ผลน้อยตามไปด้วยนั่นเอง