posttoday

เมื่อรัชกาลที่ 5 ปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัย

14 กุมภาพันธ์ 2559

ที่ห้องสมุดของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผมพบหนังสือหนาเล่มหนึ่ง ที่หน้าปกเขียนว่า

โดย...ส.สต

ที่ห้องสมุดของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผมพบหนังสือหนาเล่มหนึ่ง ที่หน้าปกเขียนว่า วารสารกฎหมายปกครองฉบับพิเศษ (เล่ม 13 ตอน 1) 120 ปี เคาน์ซิล ออฟสเตต จากสถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมาเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2417-2537 จึงพลิกอ่านข้างในได้ความรู้มากทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือพระปิยมหาราช ของเราชาวไทย ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการปกครอง โดยทรงนำประเทศไทยให้เดินหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ แต่จะทำอย่างไรในเมื่อเมืองไทย หรือสยามตอนนั้นขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ แต่ก็ไม่จนแต้ม เพราะยังมีพระบรมราชวงศ์ที่จบจากนอกพอจะปรึกษาได้ เช่น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ และสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปากร เป็นต้น

ข้อความที่วารสารกฎหมายปกครองฉบับพิเศษได้เขียนไว้ในตอนแรกๆ ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : พระบิดาแห่งกฎหมายมหาชน (องค์ผู้ให้กำเนิดสถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและปฏิรูประบบกฎหมายไทย) พร้อมทั้งเล่าพระราชประวัติโดยย่อ ตั้งแต่วันพระราชสมภพ ระยะเวลาครองราชสมบัติที่ยาวนานถึง 42 ปี

ซึ่งหลักๆ ทรงพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทุกวิถีทางไม่ว่าจะเป็นในด้านการปกครอง การปฏิรูประบบกฎหมาย การสาธารณูปโภค การต่างประเทศ และเศรษฐกิจ นอกจากนั้นพระองค์ยังได้เสด็จไปต่างประเทศหลายคราวคือ สิงคโปร์ ชวา เมียนมา อินเดีย และประเทศยุโรปหลายประเทศอันมีผลดียิ่งต่อประเทศไทยทั้งทางการทูตและการเมือง

พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2453 รวมพระชนมายุ 57 พรรษา

พระราชกรณียกิจที่ยกมาอันดับแรกคือ

1.พระราชกรณียกิจในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าตามแบบตะวันตกนิยม

โดยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ เมื่อมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รับภาระดูแลการปกครองแทนในระหว่างนั้น คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุ 20 พรรษา พระองค์จึงได้ทรงรับผิดชอบในราชการบ้านเมือง โดยเด็ดขาดหลังจากพระบรมราชพิธีราชาภิเษก ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2416

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงตระหนักถึงภยันตรายของลัทธิจักรวรรดินิยมของมหาอำนาจตะวันตกที่กำลังแผ่อำนาจเข้ามาในภูมิภาคนี้ พระองค์ทรงตระหนักดีว่า วิธีที่จะต่อต้านการคุกคามของมหาอำนาจตะวันตกได้ก็คือ การปรับปรุงประเทศไทยให้ก้าวหน้าตามแบบตะวันตกนิยม เพราะมหาอำนาจตะวันตกมักอ้างเหตุผลในการเข้ายึดครองประเทศต่างๆ ว่า เพื่อช่วยสร้างความเจริญให้แก่ดินแดน “ที่ล้าหลังป่าเถื่อน”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะตรวจค้นตำราของต่างประเทศเพื่อเลือกเฟ้นแบบแผนมาใช้ในการต่างๆ ที่จะทรงจัดขึ้นในประเทศไทย พระองค์จึงได้ทรงเรียกใช้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งเป็นผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษ เป็นผู้อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เพื่อรับราชการเกี่ยวเนื่องในการต่างประเทศ

ในการปรับปรุงประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าในทุกด้านเพื่อให้เจริญ “ตามมาตรฐานต่างประเทศ” และเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องหละหลวมต่างๆ ในการปรับปรุงประเทศนี้เอง จำเป็นต้องมีคนที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อใช้เป็นข้าราชการในหน่วยงานที่มีลักษณะเป็นตะวันตกที่เกิดขึ้นใหม่ๆ และเป็นแรงสนับสนุนกระทำตามพระบรมราโชบาย แต่ปรากฏว่ายังทรงได้คนมาช่วยราชการได้ไม่พอพระราชประสงค์

ความลำบากพระทัยในเรื่องนี้จะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีไปพระราชทานแก่เจ้าพระยา ทรงเสด็จสุเรนทราธิบดี (ในสมัยที่ยังเป็นพระวิสุทธสุริยศักดิ์) มีความบางตอนว่า

“...ในเมืองเราเวลานี้ ไม่ขัดสนอันใดยิ่งกว่าคน การเจริญอันจะเป็นไปไม่ได้เร็ว ก็เพราะเรื่องคนนี้อย่างเดียว เพราะเหตุขัดสนเช่นนี้ จึงต้องจำใช้ฝรั่งในที่ซึ่งคนเรายังมีความรู้ความสามารถไม่พอ...” และ

“...คนเรามันไปไม่ไหวจริงๆ ไม่ใช่ไม่ไหวด้วยกำลังวังชา ความคิด ความสามารถไม่ไหว ด้วยมันไม่มีความรู้เสียเลย ...การที่เราใช้ฝรั่งนั้นแปลว่า เราใช้ตำราสำเร็จ คือ เอาที่เขาลองและเห็นว่าดีแล้วมาทำทีเดียว...”

การว่าจ้างชาวต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษาราชการเริ่มในราวปี 2416 ประกอบด้วยตำแหน่ง “ที่ปรึกษาราชการทั่วไป” (General Advisers) ที่ปรึกษาประจำกระทรวงประจำกรมกองต่างๆ และข้าราชการประจำ ซึ่งทรงว่าจ้างมารวมกัน 13 ท่าน

ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพระยาอภัยราชา ได้มีบทบาทสำคัญในการถวายคำปรึกษาแนะนำแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศและการทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาเอกราชไว้ได้ โดยการปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินในด้านต่างๆ และการปฏิรูประบบกฎหมายไทย

อ่านต่อสัปดาห์หน้า