posttoday

Japan Female Revolution เมื่ออนาคตของญี่ปุ่นถูกฝากไว้กับผู้หญิง

09 กุมภาพันธ์ 2559

นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ กล่าวสุนทรพจน์ “ญี่ปุ่นต้องเดินหน้าสู่การเป็นดินแดนที่ผู้หญิงจรัสแสง” บนเวที World Economic Forum เมื่อปี 2014

โดย...เอกศาสตร์ สรรพช่าง

นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ กล่าวสุนทรพจน์ “ญี่ปุ่นต้องเดินหน้าสู่การเป็นดินแดนที่ผู้หญิงจรัสแสง” บนเวที World Economic Forum เมื่อปี 2014 ใจความสำคัญของการพูดในครั้งนั้นอยู่ที่การหาทางออกที่จะหนีจากภาวะของการชะงักงันทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งต่อเนื่องยาวนานมากว่าสิบปีอีกทั้งเป็นการดึงเอาศักยภาพของคนที่ซ่อนอยู่ในประเทศเอาออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เพราะหากคิดว่าญี่ปุ่นกำลังจะเดินหน้าเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนของผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกด้วยแล้วละก็ การดึง “แรงงานที่อยู่ในบ้าน” ให้ออกมาทำงานนอกบ้านให้มากขึ้น ย่อมเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน

โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ไว้ว่า ถ้าหากว่าญี่ปุ่นสามารถทำสำเร็จจริงๆ แล้วละก็ จะสามารถเพิ่มจีดีพีให้กับญี่ปุ่นชนิดที่ว่าแซงหน้าจีนได้สบาย

แต่เรื่องไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แม้ว่ามิสเตอร์อาเบะจะพยายามถามทางนำร่องไว้อย่างดี เริ่มตั้งแต่ขยายตำแหน่งงานในระบบราชการให้มีผู้หญิงมากขึ้น เพิ่มโอกาสให้กับผู้หญิงให้มีโอกาสทำงานในระดับบริหาร มากกว่าจะทำงานในภาคบริการแต่เพียงอย่างเดียว โดยเขาเริ่มทำเป็นตัวอย่างด้วยการแต่งตั้ง 5 รัฐมนตรีหญิงเพื่อเป็นตัวอย่างของการแข็งขันเอาจริงเอาจังต่อนโยบายนี้

“แต่พี่ว่าญี่ปุ่นนี่เหมาะไปเที่ยวมากกว่าไปทำงาน” มิตรสหายท่านหนึ่งให้ความเห็นไว้ ในฐานะที่ไปใช้ชีวิตทำงานเป็นสาวออฟฟิศที่นั่นหลายปีดีดัก เธอเอ่ยออกมาแบบไม่ต้องให้ผมถามให้ยืดยาวเมื่อถามไถ่ถึงชีวิตการทำงานที่ผ่านมาไม่นานนี้ “ที่บริษัทกำลังจะส่งน้องผู้หญิงอีกคนไปทำงานตามโครงการแลกเปลี่ยนพนักงาน แต่ตอนนี้ต้องระงับไว้ก่อน เพราะก่อนหน้านั้นมีพนักงานผู้หญิงของเราไปที่นั่นแล้วโดนลวนลาม ตอนนี้บริษัทก็เลยเปลี่ยนนโยบายว่า หากเรื่องทางโน้นยังไม่เรียบร้อย เราจะไม่ส่งพนักงานผู้หญิงไปที่นั่น” ท่ามกลางแสงพระอาทิตย์ฉายก็ยังมีจุดมืดเล็กๆ อยู่ดีประสบการณ์บางส่วนที่ได้ยิน ทำให้เรารู้ว่าความฝันของมิสเตอร์อาเบะไม่ใช่เรื่องง่าย ความแตกต่างทางเพศยังคงเป็นเรื่องใหญ่


“ไม่ง่ายเลยนะที่ผู้หญิงญี่ปุ่นสักคนจะขึ้นไปอยู่ในตำ แหน่งสูงๆ ในบริษัท เพราะผู้ชายที่นั่นก็ไม่ได้ยอมรับผู้หญิงคิดว่าที่ทางของผู้หญิงน่าจะอยู่ในบ้านมากกว่าที่จะออกมาทำงานนอกบ้านอยู่ดี อย่างเพื่อนคนญี่ปุ่นของพี่บางคนมีชีวิตที่น่าสงสารมาก เพราะนอกจากต้องทำงานนอกบ้านแล้ว งานในบ้านก็ยังถูกคาดหวังจากสามีให้ดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่เตรียมอาหาร ดูแลลูก ซักผ้า แต่งานของตัวเองก็ต้องทำ”เพื่อนผมยังบอกอีกว่า มีครอบครัวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย แม้กระทั่งแม่สามีเองที่รู้สึกว่านี่เป็นวิถีของผู้หญิงญี่ปุ่นที่ต้องทำการทำงานนอกบ้านไม่ใช่ที่ทางของพวกเธอก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเอง ก็ไม่เคยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับวีรสตรีเลย


สิ่งที่น่าสนใจจากรายงานของธนาคารโลกและอีกหลายสำนักพบว่า ปี 2015 ที่ผ่านมาสัดส่วนของผู้หญิงญี่ปุ่นที่ออกมาทำงานนอกบ้านนั้นเพิ่มมากขึ้นไม่น้อยเลย (พบว่าผู้หญิงในวัยระหว่าง 25-35 ปีอยู่ที่ 43%) เรียกว่าแทบจะเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้หญิงในสหรัฐ (46.5%) และอังกฤษ (45.9%) แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อไปดู “การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในระดับของการบริหาร” สัดส่วนของผู้หญิงที่เข้าไปมีบทบาทนั้นน้อยมาก

ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงที่มิสเตอร์อาเบะต้องการนั้น อาจทำไม่ได้เพียงแค่เพิ่มจำนวนรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี หรือ เปิดตำแหน่งใหม่ๆ เพื่อรองรับผู้หญิงมาทำงาน แต่มันอาจต้องหมายรวมไปถึงการปฏิวัติความคิดเรื่องเพศและวัฒนธรรมเกี่ยวกับการทำงานอย่างมากมาย

ที่ต้องเปลี่ยนอย่างแรกเลย เห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องความเชื่อเรื่องชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานของบรรดาซาลารี่แมนที่ต้องมาทำ งานแต่เช้ากลับค่ำและยังต้องอยู่สังสรรค์กับเจ้านายเพื่อให้มีโอกาสในการเลื่อนขั้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ค่านิยมในการทำงานแบบนี้ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อเอื้อต่อวิถีชีวิตของผู้หญิง และมองผู้หญิงอย่างเข้าใจว่าสิ่งที่เธอแตกต่างจากผู้ชาย ไม่ได้หมายความว่าเธอจะมีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยกว่า

เพื่อนบางคนบอกผมว่าเอาแค่ชื่อที่ใช้เรียกผ้หู ญิงในที่ทำงานว่า Office Lady กับผู้ชายว่า SalaryMan ให้ได้ก่อน ก็ยังดีคำสองคำนี้มีนัยของการให้คุณค่าต่างกันมาก

อย่างที่สองก็คือเรื่องความคิดของผู้หญิงเอง พูดกันง่ายๆ ก็คือ Female Leadership ในผู้หญิงญี่ปุ่นนั้นมีน้อยมาก เพราะพวกเธอถูกปลูกฝังให้เป็นแรงงานภายในบ้านมากกว่าจะออกมานอกบ้านมานานแล้ว ฉะนั้นการผลักดันให้ผู้หญิงญี่ปุ่นมีภาวะของความเป็นผู้นำนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถทำกันได้ใน 10 ปีนี้อาจต้องอาศัยเวลามากกว่านั้นมาก และยังไม่นับเรื่องของความคาดหวังในการต้องเป็นแม่ของลูกเพื่อเพิ่มประชากรให้ประเทศอีก

ความขาดๆ เกินๆ ไม่คุ้นชินของผู้หญิงนั้น จึงทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เราเห็นการประกาศลาออกของ ยูโกะ โอบูชิ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และมิโดริ มัตสึชิมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต่อปัญหาเรื่องของการบริหารที่ผิดพลาด(สรุปรวมแล้วจากรัฐมนตรีผู้หญิงที่อาเบะมีทั้งหมด 5 คน ตอนนีเหลือแค่ 2 ที่ยังทำงานอยู่) ปัญหาเหล่านี้เชื่อว่าไม่ได้เกิดจากความตั้งใจในการทำงานผิดพลาดหรือทุจริต แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมการทำงาน ค่านิยม และเรื่องทางสังคม ที่ดูเหมือนว่าทั้งชายและหญิงแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัย ยังปรับตัวเข้าหากันไม่ได้ เรายังไม่คุ้นชินกับการเห็นภาพของผู้หญิงญี่ปุ่นยืนอยู่หลังโพเดียมกล่าวสุนทรพจน์มากกว่ายืนอยู่ในครัวทำอาหาร

ผมยังเชื่อของผมลึกๆ ว่านี่เป็นเรื่องยากมากสำหรับสังคมญี่ปุ่น อาจเป็นเรื่องหนึ่งที่เขาทำไม่สำเร็จในจำนวนสิ่งที่พวกเขาทำสำเร็จมาแล้วมากมาย แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว พวกเขาไม่มีทางเลือกมากนักในการต่อสู้

ฉะนั้นก็ต้องดูกันต่อไป