posttoday

นพ.พนธกร พานิชกุล แนะวิธีผ่าสะโพกแนวใหม่

30 มกราคม 2559

ฉบับนี้ นพ.พนธกร พานิชกุล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ฉบับนี้ นพ.พนธกร พานิชกุล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เล่าให้ฟังเกี่ยวกับเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ (Direct anterior approach total hip replacement) ซึ่งเป็นการผ่าตัดรูปแบบใหม่โดยผ่าตัดจากด้านหน้าข้อสะโพก เข้าระหว่างกล้ามเนื้อTensor fascia lata และ Sartorius โดยไม่มีการตัดกล้ามเนื้อใดๆ ขณะผ่าตัด

สำหรับรูปแบบการผ่าตัดนั้นผู้ป่วยจะนอนหงายขณะผ่าตัด ทำให้กายวิภาคไม่ผิดท่ามากนัก การใส่ข้อสะโพกเทียมทำได้ตรงจุด และสามารถประเมินความยาวของขาได้แม่นยำขึ้น มากกว่าการผ่าตัดแบบเดิม รวมถึงสามารถเอกซเรย์ขณะผ่าตัด เพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำในการใส่ข้อสะโพกเทียมและประเมินความสั้นยาวของสะโพก โดยขนาดของบาดแผลผ่าตัดนั้นจะมีความยาวประมาณ 3-4 นิ้ว ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเดิมที่ประมาณ 6 นิ้ว โดยสามารถซ่อนแผลใต้รอยขอบบิกินี่ หากผู้ป่วยต้องการอีกด้วย

นพ.พนธกร บอกว่า การผ่าตัดรูปแบบนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยเทคนิคนี้จะไม่มีการตัดกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อสะโพก ทำให้ข้อสะโพกเทียมหลุดน้อยกว่าวิธีเดิม เนื่องจากไม่มีการตัดกล้ามเนื้อที่เป็นตัวช่วยเพิ่มความมั่นคงของข้อสะโพกเทียม สามารถผ่าพร้อมกัน 2 ข้างได้ในคราวเดียว อัตราการสูญเสียเลือดน้อยกว่า 550 cc/2 ข้าง เนื้อเยื่อเสียหายน้อย อัตราการเกิดข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัดลดลง เพิ่มความแม่นยำในการควบคุมความยาวของขา

อีกทั้งยังใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย ทำให้การฟื้นตัวของคนไข้เร็วกว่าปกติ ลดอาการเจ็บหลังผ่าตัด สามารถเดินได้โดยไม่มีการกะเผลกเอียงของลำตัว (limping) หลังผ่าตัดสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ทำงาน และเล่นกีฬาได้เร็วขึ้นภายใน 4 สัปดาห์

“ที่ผ่านมาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกโดยวิธีดั้งเดิมนั้น ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดวิธีใหม่ที่ผ่าตัดตรงสู่ข้อสะโพกด้านหน้าโดยที่ไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อนี้ เป็นอีกทางเลือกใหม่ที่ช่วยตอบโจทย์ซึ่งเป็นผลดีในผู้ป่วยคือ เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวไว เคลื่อนไหวสะดวก ภาวะแทรกซ้อนน้อย” นพ.พนธกร ระบุ