posttoday

อนุรักษ์ป่าตามวิถีพุทธ

28 มกราคม 2559

ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสรรพสิ่งบนโลกใบนี้

โดย...วรธาร

ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ แต่ทุกวันนี้ผืนป่าทั่วโลกต้องบอกว่าเหลือน้อยเต็มที จนถึงขนาดมีคนพูดว่า ทุกวินาทีจะมีต้นไม้หายไปจากโลกของเรา 1 พื้นที่สนามฟุตบอล ทว่าเมื่อหันกลับมาประเทศไทยก็เห็นชัดว่าอัตราการทำลายป่าในประเทศนั้นสูง หากไม่หาแนวทางป้องกัน หยุดยั้ง และการอนุรักษ์ป่าไว้ รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียว เชื่อว่าอนาคตประเทศไทยคงจะไม่มีป่าหลงเหลือ เมื่อนั้นภัยธรรมชาติต่างๆ ก็จะถาโถมสร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับมนุษย์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เมื่อพูดถึงการดูแลและรักษาผืนป่าทั่วทั้งประเทศอย่างยั่งยืนนั้น จึงไม่เป็นเพียงหน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่รับผิดชอบโดยตรงเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติที่ต้องช่วยกัน ที่สุดแม้พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งต้องยอมรับว่าหลายสิบปีที่ผ่านมามีพระสงฆ์หลายรูปมีบทบาทโดดเด่นในการเป็นผู้นำในการสร้างป่าไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์เอาไว้จากการถูกทำลาย

อนุรักษ์ป่าตามวิถีพุทธ

พระพุทธศาสนากับการอนุรักษ์ป่า

เมื่อย้อนไปสมัยพระพุทธเจ้าจะเห็นว่าพระกับป่านั้นเป็นของคู่กันมาตลอด จึงไม่แปลกที่พระสงฆ์ทุกวันนี้จะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญในการดูแลและรักษาป่าให้คงไว้ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยอาศัยพระพุทธศาสนาเป็นฐานที่ยิ่งใหญ่  

ดร.ซูซาน เอ็ม. ดาร์ลิงตัน อาจารย์สอนมานุษยวิทยาและเอเชียศึกษา วิทยาลัยแฮมเชียร์ สหรัฐ ผู้เขียนหนังสือ The Ordination of a Tree The Thai Buddhist Environmental Movement  (ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษในประเทศสหรัฐเมื่อปี 2012 ต่อมาบริษัท สวนเงินมีมา ได้จัดพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค. 2559 แปลโดย นัยนา นาควัชระ ในชื่อหนังสือ “บวชต้นไม้ : การอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อมวิถีพุทธ”) เป็นหนังสือที่พูดถึงการทำงานของพระสงฆ์ที่มีบทบาทในการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อมหลายรูปในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา กล่าวว่า ต้นไม้ไม่ใช่แค่ที่พักพิงของนก ลิง และเสือเท่านั้น แต่ยิ่งไปกว่านั้นต้นไม้ยังเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธเจ้าทรงมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับต้นไม้มาตั้งแต่เกิด เริ่มจากทรงประสูติในป่าที่สวนลุมพินี ตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และเสด็จปรินิพพานในป่าสาละ

อนุรักษ์ป่าตามวิถีพุทธ

เช่นเดียวกับ พระชายกลาง อภิญาโณ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เจ้าของโครงการป่าเรียกนก  แห่งมูลนิธิสหชาติ กล่าวว่า พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการอนุรักษ์ป่ามาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้า โดยพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามพระภิกษุพรากภูตคามและพีชคาม (ต้นไม้ที่เกิดเองตามธรรมชาติและต้นไม้ที่ปลูกขึ้นด้วย) เด็ดขาด

“พระองค์ทรงสอนภิกษุในการอยู่ร่วมกับป่าด้วยการไม่ให้ไปทำลายป่า ไม่ว่าจะตัดต้นไม้ เด็ดใบไม้หล่นจากต้น แม้ถ้าจะพรากต้นไม้จริงๆ ตามพระวินัยก็ต้องเป็นต้นไม้ที่ไม่สามารถงอกงามต่อได้เท่านั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอยู่โคนไม้ไม่ให้สร้างความสกปรก เช่น ไม่ถ่มน้ำลายใส่ เป็นต้น จะเห็นว่าพระกรรมฐานสายป่าสมัยก่อนจะอยู่ในป่าไม่ได้อยู่เมือง ยิ่งเมื่อต้องอาศัยความวิเวกยิ่งต้องรักษาป่าไว้เต็มที่” พระชายกลาง พูดถึงพระพุทธศาสนาในแง่ของการอนุรักษ์ป่า

อนุรักษ์ป่าตามวิถีพุทธ

ทำวัดเป็นศูนย์เรียนรู้ บวชต้นไม้รักษาป่า

เมื่อแนวคิดและหลักการของพระพุทธศาสนาคือ “การไม่ทำลายป่าและต้นไม้ในทุกมิติ” ดังนั้น พระสงฆ์ที่มีบทบาทในด้านการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อมจึงพยายามที่จะหาวิธีและแนวทางที่จะรักษาป่าไว้ไม่ให้ถูกทำลาย ขณะเดียวกันก็พยายามเพิ่มพื้นที่ป่ามากขึ้น ด้วยแนวคิดและวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสม โดยดึงชุมชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน และวิธีหนึ่งที่นิยมทำต่อมาแพร่หลายในหลายพื้นที่คือ การบวชต้นไม้ โดยการนำผ้าเหลืองหรือจีวรมาพันรอบต้นไม้ โดยมีพระเป็นผู้ทำพิธี

พระครูสุจิณนันทกิจ หรือที่ชาวบ้านรู้จักดีในชื่อ พระสมคิด จรณธัมโม เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ และประธานมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) ต.พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน พระนักคิดนักพัฒนารูปหนึ่งของภาคเหนือที่ทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชนและภาครัฐมาหลายสิบปี เป็นรูปหนึ่งที่ใช้วิธีการบวชต้นไม้เพื่อการอนุรักษ์มานาน และยอมรับว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผล แม้จะไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่ก็ถือว่าบังเกิดผล เมื่อคนเกิดความกลัวที่จะตัดต้นไม้ที่มีผ้าพันต้นไว้

อนุรักษ์ป่าตามวิถีพุทธ

 

เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ กล่าวว่า วิธีนี้เกิดขึ้นจากการได้เห็นสภาพแวดล้อมในชุมชนเกิดการเปลี่ยนไป มีการถางป่า ตัดต้นไม้ รุกรานธรรมชาติ ชาวบ้านพึ่งปัจจัยภายนอกจากชุมชนมาดำรงชีวิตและปัญหาต่างๆ อีกมากมาย จึงคิดหาวิธีแก้ไขและพัฒนาชุมชนให้ปลอดจากปัญหาดังกล่าว เริ่มจากการกระตุ้นให้คนในชุมชนสำนึกรักและหวงแหนป่าไม้ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเป็นสำคัญ ทั้งยังเปิดวัดเป็นศูนย์เรียนรู้ โดยใช้ชื่อว่าศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนบ้านโป่งคำด้วย

“อาตมารู้ว่าถ้าป่าหมดเกิดปัญหาแน่ และหลายเรื่องจะตามมา ก็คิดว่าจะสอนคนอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องทำเป็นตัวอย่าง ถามว่าตัวอย่างที่เหมาะสมอยู่ที่ไหน ก็คงอยู่ที่วัด ก็เลยทำวัดเป็นศูนย์เรียนรู้ทุกอย่างให้กับชาวบ้าน พอดีมีโยมถวายที่ 15 ไร่ ก็เลยตั้งใจเอามาปลูกป่า แบ่งเป็นแปลงสาธิตปลูกป่าเข้าแถว ปลูกป่าแบบผสมผสาน โดยเอาความเชื่อของชาวบ้านมาประยุกต์ใช้ ยกตัวอย่างทางเหนือจะเรียกคนที่บวชแล้วว่าคนสุก ถ้างั้นเราจะเอาต้นไม้ให้สุกก่อน เลยเอาพิธีการบวชต้นไม้มาใช้”

อนุรักษ์ป่าตามวิถีพุทธ ดร.ซูซาน เอ็ม. ดาร์ลิงตัน

 

พระนักพัฒนากล่าวต่อว่า แรกทีเดียวไม่ใช้จีวรบวช แต่จะใช้ด้ายมัดตราสังมาพันต้นไม้ เพราะคนทางเหนือเชื่อว่าด้ายมัดตราสังที่พันมือคนที่ตายนั้นจะสร้างความกลัวให้คนที่จะตัดไม้ หากเอาไปพันต้นไม้ต้นไหนคนก็จะไม่กล้าตัด

“เวลามีคนตายอาตมาก็ไปขอบิณฑบาตด้ายตราสัง วันเสาร์-อาทิตย์พาเด็กๆ และชาวบ้านไปที่ป่า เอาไปผูกต้นไม้ แล้วคนที่รู้ว่าเป็นตราสังก็เกรงกลัว เลยคิดว่าขนาดด้ายตราสังคนยังกลัว จีวรน่าจะกลัวมากกว่านี้ จากนั้นก็เปลี่ยนมาใช้จีวรแทน ก็ไปบิณฑบาตจีวรเก่าๆ จากพระเณรวัดโน้นวัดนี้ แล้วเอาไปผูกที่ต้นไม้สามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกันก็เขียนคำขวัญติดหน้ากุฏิว่า ปลูกต้นไม้วันละต้นเสริมมงคลแก่ชีวิต ใครที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองไม่ต้องไปหาหมอดู ให้ดูที่การปลูกต้นไม้ ถ้าปลูกต้นไม้แล้วตายแสดงว่าชะตาชีวิตจะขาด ถ้าปลูกแล้วงอกงามบ่งบอกว่าชีวิตจะเจริญรุ่งเรือง โดยอาตมาจะเพาะพันธุ์กล้าไม้ไว้ในถุงพลาสติกเตรียมไว้ให้ญาติโยมเวลามาทำบุญที่วัดเอาไปปลูกในที่ 15 ไร่ของวัด พอปลูกแล้วโยมก็แวะเวียนมาดูกลัวว่ามันจะตาย ทุกวันนี้ปรากฏว่าป่า 15 ไร่ ของวัดผ่านมา 20 กว่าปีแน่นมาก”

อนุรักษ์ป่าตามวิถีพุทธ

 

พระนักพัฒนาเมืองน่าน กล่าวต่อว่า นี้คืออุบายเล็กๆ น้อยๆ จากความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระที่ได้นำมาประยุกต์ใช้ แต่เหนืออื่นใดสิ่งสำคัญอยู่ที่พระซึ่งมีฐานศรัทธาของชาวบ้านอยู่แล้ว ถ้าทำตัวเป็นที่พึ่งและที่ศรัทธาของชาวบ้านอย่างแท้จริง ก็จะคุ้มครองชุมชนให้ร่มเย็นได้โดยไม่ต้องลงแรงอะไรมาก เพียงแค่ใช้เทคนิคและวิธีคิดนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง

พระควรต้องนำชาวบ้านปลูกป่า

ขณะที่ พระชายกลาง เจ้าของโครงการป่าเรียกนก กล่าวว่า การบวชต้นไม้ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อต้องการป้องปรามไม่ให้คนไปตัดไม้ทำลายป่า เป็นลักษณะขอบิณฑบาตไม่ให้ไปตัดต้นไม้ ซึ่งได้ผลในหมู่อนุรักษ์ เช่น ที่ดอยอินทนนท์ หรือหลายๆ แห่ง โดยคนเห็นว่าต้นนี้เคยผ่านการบวชแล้ว มีเทวดารักษาก็ไม่ได้ไปตัด แต่การที่จะรักษาป่าที่ดีที่สุดคือการปลูกป่าให้มากที่สุด

อนุรักษ์ป่าตามวิถีพุทธ

 

“พระสงฆ์จะต้องช่วยกันปลูกป่าในวัด ต้องเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในการอนุรักษ์ป่า การปลูกป่า และการถ่ายทอดความรู้ แนวคิดไปสู่ประชาชน ขณะเดียวกันพระสงฆ์จะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการรุกล้ำทำลายป่าในทุกมิติด้วย และในส่วนของอาตมาเองได้ประกาศเดินหน้าทำป่าเรียกนก และนกจะคืนป่าให้เรา อย่าลืมว่านกนั้นเป็นพนักงานปลูกป่ามาล้านปีแล้ว แต่มนุษย์ไปทำลายที่ที่นกปลูกไว้จนหมดสิ้น”

พระชายกลาง  กล่าวต่อว่า นกคือสิ่งที่มีชีวิตตัวน้อยที่มีคุณค่ามหาศาล เป็นฟันเฟืองสำคัญต่อระบบนิเวศและการขยายพันธุ์พืชในผืนป่า มีความหมายต่อธรรมชาติไม่น้อยไปกว่าสิ่งอื่น นกบางตัวกัดกินปลาในน้ำเพื่อควบคุมระบบห่วงโซ่อาหาร บางตัวดักจับศัตรูพืช บางตัวจิกกินผลไม้แล้วไปถ่ายมูลที่อื่น จากมูลเหล่านี้ไม่นานก็กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงให้ร่มเงากลายเป็นผืนป่ากว้างที่มนุษย์ไม่อาจสร้างได้เทียบเคียง

อนุรักษ์ป่าตามวิถีพุทธ

 

“นกเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า ถ้านกไม่มีป่าก็สูญไปด้วย ท้ายที่สุด เทือกเขา ป่าไม้ ต้นน้ำ แหล่งอาหารและปอดของโลกก็จะหมดไป โครงการป่าเรียกนกนี้ถือกำเนิดขึ้นด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ตรัสกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เมื่อครั้งได้รับการถวายพระตำหนักทรงพัฒนาพร้อมด้วยพื้นที่โดยรอบ 100 ไร่ (เมื่อคราวสร้างวัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี) แต่ทรงรับครึ่งเดียว อีกครึ่งทรงให้ นพ.บุญส่ง เลขะกุล ไปปลูกต้นไม้ที่มีผลให้นกกินได้ เรียกว่าป่าเรียกนก ดังนั้น ป่าเรียกนกจึงมีความหมายถึงการคืนต้นไม้ให้กับแผ่นดิน คืนความชุ่มชื้นให้กับพระแม่ธรณี ทั้งให้อากาศบริสุทธิ์”

พระผู้ก่อตั้งโครงการป่าเรียกนก กล่าวทิ้งท้ายว่า นกเป็นแรงงานปลูกป่าที่ซื่อสัตย์ เมื่อมีที่อยู่และแหล่งอาหารก็จะขยายพันธุ์พืชได้มหาศาลจากการกินและถ่ายมูล ขยายพื้นที่สีเขียวไม่เพียงเฉพาะผืนป่าสิริเจริญวัฒน์เท่านั้นแต่ชุมชนที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก รกร้าง กันดาร แห้งแล้ง หรือสวนหลังบ้านก็สามารถพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศทำเป็นป่าเรียกนกได้ หากแต่เริ่มปลูกป่าขึ้นในใจคนก่อน จากนั้นผืนป่าก็จะเขียวทั่วทั้งแผ่นดิน