posttoday

เกษตรกรทีเล่นแต่เอาจริง จาก ‘ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์’ ถึง ‘เกษตรกรวันหยุด’

25 มกราคม 2559

คนเมืองใหญ่ในกรุงเทพฯ ต่างอยากมีบ้านนอกเป็นของตัวเอง ได้ไปพักผ่อนเปิดสมองตามบ้านสวนหรือไร่นาในต่างจังหวัด

โดย...พริบพันดาว

คนเมืองใหญ่ในกรุงเทพฯ ต่างอยากมีบ้านนอกเป็นของตัวเอง ได้ไปพักผ่อนเปิดสมองตามบ้านสวนหรือไร่นาในต่างจังหวัด ได้สัมผัสและลงมือทำการเกษตรบ้างตามที่โอกาสจะเอื้ออำนวย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันก็มีการหันมาทำการเกษตรเพิ่มขึ้น ทั้งเรือกสวนไร่นาตามที่ตัวเองจะมีพื้นที่แบบไหน หรือตามความฝันความชอบที่อยากจะทำการเกษตร และบางส่วนแทนที่จะทำแบบเล่นๆ สนุกๆ ก็เอาจริงเอาจังจนถึงขั้นเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) กันเต็มตัว ซึ่งเป็นโครงการที่มีอย่างต่อเนื่องและต่อยอดไปสู่สังคมบ้างแล้วบางส่วน

มาดูภาพเปลี่ยนไปของเกษตรกรที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งดูเหมือนจะประกอบอาชีพเกษตรกรทีเล่นทีจริง ไม่เคร่งเครียดคร่ำครึอย่างคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ รวมถึงเกษตรกรวันหยุด คนทำงานรุ่นใหม่ที่ปันเวลาไปทำเกษตรยามว่าง แถมมีรายได้เพิ่มเติมเสริมเข้ามาอย่างน่าพอใจ แม้ไม่มากมายแต่ได้ความสุขใจ

เกษตรกรทีเล่นแต่เอาจริง จาก ‘ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์’ ถึง ‘เกษตรกรวันหยุด’

 

‘ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์’ ความหวังเกษตรกรรุ่นใหม่

“ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” (Young Smart Farmer) มีคำนิยามที่หลากหลายกันไป แต่รู้กันว่าเป็นคำจำกัดความของเยาวชนอนาคตเกษตรไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่สู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพ สามารถประกอบอาชีพการเกษตรอย่างมั่นคง มีศักดิ์ศรี มีความภาคภูมิ สมเกียรติ วิจิตรประเสริฐ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนายุวเกษตรกร กองพัฒนาเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล่าให้ฟังว่า งานส่งเสริมเยาวชนเกษตรของกรม เป็นแค่กลไกส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรทั่วไป โดยจัดกลุ่มเป้าหมายไว้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กเล็กกับกลุ่มเด็กโต

“กลุ่มเด็กเล็กเราใช้เรื่องยุวเกษตรกร ส่วนกลุ่มเด็กโตเราทำเป็นเรื่องเครือข่าย โดยส่งเสริมเป็นรายบุคคล ซึ่งเรียกว่า ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ สำหรับกลุ่มเด็กเล็ก เราไม่ได้บังคับให้เขาเป็นเกษตรกร แต่ต้องการปลูกฝังให้เขามีทัศนคติที่ดีในด้านการเกษตร แต่ถ้ามีเด็กที่เดินต่อมาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เราก็จะผลักดันให้เขาเรียนรู้เรื่องประสิทธิภาพการผลิต ประเมินดูว่าเขาผ่านการเป็น ยัง สมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือยัง ก็ให้ความรู้กันไป กระบวนการก็จะเป็นแบบนี้”

เกษตรกรทีเล่นแต่เอาจริง จาก ‘ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์’ ถึง ‘เกษตรกรวันหยุด’

สำหรับที่มาที่ไปของ ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ต้องย้อนหลังกลับไปปี 2556 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางพื้นฐานการสร้างเกษตรกรในรูปสมาร์ทฟาร์มเมอร์ โดยจดทะเบียนเกษตรกรให้มีข้อมูลที่ทันสมัยผ่าน “หนึ่งบัตรประชาชนเพื่อเกษตรกรปราดเปรื่อง : One ID Card for Smart Farmer” พร้อมมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตร (War Room) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนให้ครอบคลุม และมีการจัดทำแผนพัฒนาระดับจังหวัด รวมทั้งตั้งสถานีโทรทัศน์เกษตร เพื่อที่จะให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ให้ทั่วถึง เพื่อให้นโยบายการผลักดันเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประสานนโยบายสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เข้ากับแผนงาน สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) รวมทั้งได้ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์

ต่อมาปีงบประมาณ 2557 มีการจัดสรรงบประมาณ 448 ล้านบาท ในการสานต่อนโยบายสมาร์ทฟาร์มเมอร์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้แก่สนับสนุนปัจจัยพื้นฐานให้กับสมาร์ทฟาร์มเมอร์ การอบรมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 แสนบาท เพื่อยกระดับรายได้และการพัฒนาเกษตรกรเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ต้นแบบเพื่อขยายผลไปยังเกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป และสมาร์ทฟาร์มเมอร์รุ่นใหม่ หรือ ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ก็อยู่ในกระบวนการนี้

เกษตรกรทีเล่นแต่เอาจริง จาก ‘ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์’ ถึง ‘เกษตรกรวันหยุด’

 

“ตอนนี้มีเรื่องของเกษตรกรรุ่นใหม่ ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ เป็นเรื่องของเกษตรกรที่เริ่มต้นประกอบอาชีพ แล้วมีความเก่งกว่าผู้ใหญ่หรือเก่งกว่าเกษตรกรอาวุโสปัจจุบัน ซึ่งจะทดแทนเกษตรกรรุ่นเก่าได้แน่นอน โดยเกษตรกรรุ่นใหม่มาจากหลายสาขา จบวิทยาศาสตร์ วิศวกร นิติศาสตร์ก็มี แต่มาทำการเกษตร เป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ เขาอาจจะเป็นยุวเกษตรกรมาก่อน รวมถึงคนที่สนใจทางด้านนี้ โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรของตัวเองอยู่ ก็จะมาทางสายนี้” สมเกียรติ เล่าต่อและแจกแจงว่า

“กรมก็มีข้อจำกัดอยู่ในเรื่องงบประมาณและความสามารถทางกำลังคน แต่ละปีก็สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ได้จังหวัดละ 30 คนทั่วประเทศ ซึ่งทำได้ยากเหมือนกัน เมื่อก่อนเมืองไทยมีเกษตรกรอยู่ 80% ของประเทศ แล้วก็เหลือ 60% แนวโน้มตอนนี้ก็ลดเหลือเพียง 40% แล้ว ในอนาคตก็จะลดเหลือ 20% อย่างแน่นอน ซึ่งจะเหลือน้อยมากในการผลิตสินค้าเกษตรเลี้ยงคนในประเทศ ซึ่งความสามารถของเกษตรกรรุ่นใหม่ต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งคนที่มีคุณสมบัติที่ตรงกับที่ต้องการก็หาได้ยากในพื้นที่”

ว่าไปแล้ว การแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรเบื้องต้นมุ่งเน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการปรับตัวของภาคการเกษตร ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาคุณภาพการผลิต และการสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีความรู้อย่างถ่องแท้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ภายใต้โครงการ ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ โดยการส่งเสริมและพัฒนาคนกลุ่มนี้ให้มีความสามารถผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้าน เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนหลักการและเหตุผล ตลอดจนรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเกษตร และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

เกษตรกรทีเล่นแต่เอาจริง จาก ‘ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์’ ถึง ‘เกษตรกรวันหยุด’

 

ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จก็มีอย่าง สุพจน์ ศรีคำหู้ ประธานเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ ภาคตะวันตก 8 จังหวัด ซึ่งถือเป็นรุ่นแรกบุกเบิกในปี 2555 หลังอบรมเสร็จสุพจน์รวบรวมคนที่สนใจจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาภายใต้ชื่อกลุ่มเกษตรกรทำเกษตรปลอดภัยตำบลคลองนกกระทุม เน้นการทำเกษตรที่ปลอดภัยและลดต้นทุนเป็นหลัก โดยเริ่มจากแปลงนาข้าวของสมาชิก บนเนื้อที่ 2 ไร่ เพื่อทดลองปลูกข้าวปลอดสารเคมี โดยลดการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีลง แต่ยังสามารถให้ผลผลิตเท่าเดิมหรือใกล้เคียง จนเป็นที่ยอมรับของสมาชิกในกลุ่ม ทำให้ทุกวันนี้สมาชิกในกลุ่มใน ต.คลองนกกระทุม ได้หันมาทำนาอินทรีย์กันเกือบทั้งหมด

องค์ความรู้ที่นำไปสอนนั้น ประการแรกจะเน้นวิธีการทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าปุ๋ย ค่ายา โดยแนะนำให้รู้จักวิธีการใช้อย่างเหมาะสมและใช้ในส่วนที่จำเป็นจริงๆ ประการต่อมาเป็นเรื่องของการตลาด ให้สมาชิกรู้จักการหาช่องทางการตลาดเพื่อกระจายสินค้าได้มากขึ้น โดยจะมุ่งพัฒนาเกษตรกรรายย่อยเป็นหลัก เน้นการใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก การออกบูธตามงานต่างๆ และการใช้เครือข่ายของสมาชิกด้วยกัน ในการทำตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์

อีกคนก็คือ อภิวัฒน์ สุขพ่วง เจ้าของไร่สุขพ่วง ใน ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี แกนนำเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผ่านการอบรมในโครงการ ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ เช่นกัน การหันหลังให้กับชีวิตลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมที่นิคมมาบตาพุด จ.ระยอง มาสู่วิถีทางการเกษตรอย่างเต็มขั้น บนเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ โดยทำเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำเกษตรตามแนวพระราชดำริ ซึ่งแบ่งพื้นที่นาข้าวประมาณ 25 ไร่ โดยเน้นปลูกข้าวดอกมะขาม ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง ส่วนที่เหลือจะปลูกอ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด ไม้ผล และพืชผักต่างๆ โดยผลผลิตที่ได้จะนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านกระบวนการผลิตในครัวเรือนและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เป็นจำนวนมาก

เกษตรกรทีเล่นแต่เอาจริง จาก ‘ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์’ ถึง ‘เกษตรกรวันหยุด’

‘เกษตรกรวันหยุด’ แต่ไม่เคยหยุดฝัน

คนรุ่นใหม่วัยทำงานที่ใช้เวลาว่างในวันหยุดทำกิจกรรมการเกษตร และพัฒนามาเป็นอาชีพเสริมจนสามารถสร้างรายได้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนยุคปัจจุบัน ที่เข้าร่วมประกวด “เกษตรกรวันหยุด” ของมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และได้รางวัลมาอย่าง พชกร สีสันต์ ซึ่งทำงานประจำอยู่ที่ดีแทค วนเวียนใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เทียวมาเทียวไปกับ จ.นครปฐม ซึ่งพ่อแม่มาลงหลักปักฐานอยู่ แต่วันหนึ่งเธอไปเยี่ยมบ้านของยายที่ จ.อ่างทอง พบว่าที่ของบรรพบุรุษทางแม่ จำนวน 2 ไร่ครึ่งถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า

เกษตรกรทีเล่นแต่เอาจริง จาก ‘ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์’ ถึง ‘เกษตรกรวันหยุด’

 

“คิดว่าเราน่าจะทำเกษตรในวันหยุด พอวันศุกร์หรือเสาร์ก็ขับรถมาที่อ่างทอง ซึ่งใช้เวลาเพียงชั่วโมงกว่าถึงสองชั่วโมง มาดูแลได้ทุกอาทิตย์ ก็เลยตัดสินใจคุยกับญาติ เขาก็บอกว่าไหวเหรอ แต่ก็ลงมือทำ”

พืชที่เธอปลูกนั้นก็คือ ข่ากับตะไคร้ ซึ่งเป็นพืชผักสวนครัวที่เป็นสมุนไพรในตัวเองด้วย และเป็นการวางแผนอย่างชาญฉลาด ทดลองปลูกไปก่อนแค่ 1 ไร่ครึ่ง เธอบอกว่า

“ก็ไม่ค่อยมีเวลา ถ้าปลูกผักสวนครัวที่ต้องดูแลรดน้ำเช้าเย็นคงไม่ไหว เลยเลือกปลูกข่ากับตะไคร้ ก็ลงทุนไปแค่หมื่นกว่าบาท ไม่รวมการติดตั้งระบบจ่ายน้ำแบบสปริงเกอร์ ซึ่งก็ดีมาก ผลผลิตออกมางามมาก แทบจะไม่มีปัญหาอะไร”

จากระยะเวลา 8 เดือนผ่านไปตั้งแต่เริ่มต้นเป็นเกษตรกรวันหยุด เก็บผลผลิตไปแล้ว 1 ครั้ง ขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อได้เงินมาถึง 4.5 หมื่นบาท ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงของมนุษย์ที่ทำงานประจำกินเงินเดือนอยู่ในกรุงเทพฯ

“หากเทียบกับรายได้ที่ทำอยู่ งานจากเกษตรก็ถือว่าไม่มากนัก แต่เราทำในช่วงวันหยุดและเวลาว่าง ตอนนี้ก็วางแผนจะปลูกหมุนเวียนให้เต็มพื้นที่ 2 ไร่ ซึ่งจะได้ขายทั้งปี รวมถึงพยายามจะเป็นศูนย์ในการรวมพืชที่เป็นข่า ตะไคร้ ในย่านเดียวกัน ในการนำไปขาย”

เกษตรกรทีเล่นแต่เอาจริง จาก ‘ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์’ ถึง ‘เกษตรกรวันหยุด’ พชกร สีสันต์

 

เธอบอกว่ายังไม่คิดถึงการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตรของตัวเอง แต่มีความสุขที่ได้ทำตรงนี้ และอยากชวนมนุษย์เงินเดือนที่มีที่ดินอยู่ในต่างจังหวัดมาทำเกษตรวันหยุดกัน เพราะได้ทั้งความสุขใจและดีต่อสุขภาพ คลายเครียดในวันหยุดอยู่กับธรรมชาติ และมีรายได้เสริมด้วย

“เกษตรกรวันหยุด” คือกลุ่มคนหนุ่มสาววัยทำงานรุ่นใหม่ที่ใช้เวลาวันหยุดจากการทำงานประจำในเมืองหลวงและจังหวัดต่างๆ กลับมาบ้านเกิดหรือพื้นที่ของตนเองเพื่อทำการเกษตร ปลูกข้าว พืช ผัก ผลไม้ต่างๆ ทั้งเพื่อการเก็บไว้กินเอง แบ่งปัน แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายหารายได้กลับมาลงทุนหมุนเวียนในพื้นที่เกษตรนั้น โดยยึดหลักการสำคัญคือไม่ใช้สารเคมี หรือสิ่งที่เป็นอันตรายหรือทำลายสภาพแวดล้อม โดยอาจเป็นขั้นพื้นฐานคือร่วมด้วยช่วยกันในครอบครัว และขั้นต่อยอดคือการรวมกลุ่มเพื่อนหรือขยายเครือข่ายการผลิต การแลกเปลี่ยนและการค้าทั้งในตลาดใกล้บ้าน รวมทั้งการสื่อสารระบบออนไลน์

อารีย์ นิลวดี เป็นเกษตรกรวันหยุดที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงอีกคนหนึ่ง เธอทำงานอยู่ที่บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) แต่ครอบครัวอยู่ที่โคราช หรือตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา มีสวนอยู่ 8 ไร่ ที่ อ.ปักธงชัย เพราะฉะนั้นทุกวันศุกร์ จุดนัดพบของครอบครัวก็คือ สวนสวัสดี ซึ่งเป็นชื่อเรียกสวนของตัวเอง

“พอวันหยุดก็กลับไปทำกิจกรรมร่วมกันที่สวน ก็ได้ทำกิจกรรมการเกษตรกันทั้งบ้าน หลักๆ ก็มีปลูกกล้วย ละมุด และก็ฝรั่ง ซึ่งเป็นไม้ผล ส่วนพืชผักสวนครัวนั้นปลูกไม่ได้ เพราะวันธรรมดาไม่มีคนดูแล ปกติที่ไร่นี้จะปลูกละมุดไว้อยู่แล้ว พอดีทั้งครอบครัวก็ทำงานประจำกันอยู่ ซึ่งต้องคัดต้องเก็บต้องบ่ม แต่กล้วยสามารถเข้าไปตัดเครือที่ใกล้สุกเพียงรอบเดียว ซึ่งจะดูแลง่ายกว่าและขายง่ายด้วย ซึ่งก็ขายพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อถึงสวนไป แต่มีบางส่วนที่เรามาเก็บกล้วยตอนวันหยุดยาวๆ แล้วเอาไปขายเองที่โคราชใช้แบรนด์ชื่อ สวนสวัสดี ซึ่งคิดกับลูก ก็ได้ราคาดีกว่า แต่นานๆ ทีครั้ง”

เกษตรกรทีเล่นแต่เอาจริง จาก ‘ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์’ ถึง ‘เกษตรกรวันหยุด’

 

รายได้ที่สวนถ้าเทียบกับงานประจำก็ไม่เยอะมาก เพราะเราปลูกขายเองเท่าที่จะทำได้ อารีย์บอกว่าเฉลี่ยแล้วก็ตกเดือนละ 8,000 บาท ซึ่งก็เก็บเป็นเงินฝากประจำให้ลูก ซึ่งในอนาคตเขาก็สามารถมีเงินที่จะดูแลตัวเองได้

“ตอนนี้ปลูกเต็ม 8 ไร่แล้ว แต่จะค่อยๆ ลดพื้นที่ปลูกละมุด เพราะไม่ค่อยได้ดูแลเต็มที่ มันก็ตาย ก็เลยเพิ่มพื้นที่ปลูกกล้วยให้มากขึ้น แล้วก็จะหาพืชที่ชอบอากาศเย็นๆ หน่อย อย่างมัลเบอร์รี่ และอโวคาโด ปลูกแซมให้หลากหลาย เพราะกล้วยคนปลูกกันเยอะ บางทีก็ราคาตก”

เธอฝากถึงคนที่มีที่ดินของตัวเองในต่างจังหวัด แต่มาหมกตัวทำงานประจำอยู่ในกรุงเทพฯ ว่า คนที่ทำงานในกรุงเทพฯ เป็นคนต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ ก็อยากให้ใช้เวลาว่างวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงเทศกาลหยุดยาวไปเป็นเกษตรกร

“ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ก็ดี อย่างน้อยก็สามารถลดค่าใช้จ่ายบางอย่างในชีวิตประจำวันได้บ้าง ถือเป็นการกลับบ้านสร้างความอบอุ่นในครอบครัว สนุกมาก” อารีย์ทิ้งท้าย

เกษตรกรวันหยุดได้กลายเป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้หนุ่มสาวคนทำงานในเมืองใหญ่หรือพื้นที่ต่างๆ ที่มีความต้องการทำการเกษตรหรือใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน