posttoday

ศิลปะไทยในกระแสเปลี่ยนผ่าน ‘ฉันจะไม่ยอมให้ถูกกลืนหาย’

23 มกราคม 2559

เจ้าของธุรกิจอายุน้อยร้อยล้าน ดารานักแสดงดาวรุ่ง นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ที่กำลังโลดแล่นอยู่บนสื่อสังคมออนไลน์

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

เจ้าของธุรกิจอายุน้อยร้อยล้าน ดารานักแสดงดาวรุ่ง นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ที่กำลังโลดแล่นอยู่บนสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กยุคใหม่ตั้งเป้าหมายในชีวิต ต้องการไปสู่จุดสูงสุดหรือประสบความสำเร็จเฉกเช่นเขาเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว

แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับอาชีพสายงานนาฏศิลป์ ดนตรีไทยและ ประติมากรรม ที่ต้องอาศัยประสบการณ์บ่มเพาะฝีไม้ลายมือมายาวนานจนเป็นที่ยอมรับ ความอดทนหมั่นเพียรคือกุญแจสำคัญ และนั่นอาจเป็นกำแพงที่สกัดกั้นจนทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจกับแขนงวิชาเหล่านี้

สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ฉายภาพปัญหาเส้นทางอาชีพนักแสดงนาฏศิลป์ไม่เป็นที่ปรารถนาของนักศึกษายุคใหม่เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งเกิดจากการขาดความพยายามในการสนับสนุนศิลปะของชาติอย่างจริงจัง เพราะทุกวันนี้รายการโทรทัศน์ วิทยุ ไม่มีช่วงเวลาใดที่เสนอเรื่องของศิลปะนาฏศิลป์ เผยแพร่ความงดงามของประวัติศาสตร์ชาติไทย

ศิลปะไทยในกระแสเปลี่ยนผ่าน ‘ฉันจะไม่ยอมให้ถูกกลืนหาย’

 

“มีแต่รายการเกมโชว์สร้างรายได้มหาศาล แตกต่างกับรายการเกี่ยวกับศิลปะ ดนตรีไทย นาฏศิลป์ กวี ประติมากรรม ที่ไม่มีสปอนเซอร์สนับสนุน เมื่อไม่มีรายได้เจ้าของรายการก็บอกว่าจะทำไปทำไม ทำแล้วขาดทุน สุดท้ายไม่มีเวทีให้นักแสดงได้โชว์ฝีไม้ลายมือฉายภาพความงดงามสู่สายตาประชาชน”

อธิการบดีผู้นี้ยกตัวอย่างเช่นในปัจจุบันเพลงสากลที่เปิดให้ฟังตามโทรทัศน์และวิทยุตลอดทั้งวันทำให้คนรู้จักชื่อเพลงกันทั้งบ้านทั้งเมือง เพลงจึงดังเป็นที่รู้จัก แต่ไม่มีเลยที่เพลงจากเครื่องดนตรีไทยจะถูกเปิดให้ฟังบ้าง เป็นเรื่องน่าน้อยใจที่ไม่มีแม้แต่การประยุกต์ดนตรีไทยเข้ากับแนวเพลงสมัยใหม่ การจะหาฟังก็ไม่มีที่ไหนให้แสดงออก ครั้นจะในโรงเรียนก็ไม่ได้มาตรฐาน แม้แต่ขั้นพื้นฐานยังไม่ได้ไม่ทันจะหยิบจับเครื่องดนตรีไทยดีดสายให้เป็นเสียงก็หมดชั่วโมงเรียนแล้ว หรือหาศึกษาตามยูทูบก็ไม่มากพอให้เป็นแหล่งเรียนรู้สร้างความน่าสนใจได้ หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจำนวนคนฟังดนตรีไทยจะน้อยลง หรือแทบไม่รู้จัก

“เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ หากปล่อยละเลยไว้การรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ เป็นเรื่องยาก เพราะแม้แต่รัฐบาล ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวต่อเหล่านักแสดงโขนเมื่อครั้งเคยไปแสดงโชว์ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่าให้ช่วยกันรักษาศิลปะของชาติเช่นนี้ไว้เพื่อแสดงต่อสายตาของชาวต่างชาติ แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีการจัดนโยบายอะไรที่ช่วยส่งเสริมให้โขนได้แสดง”

ศิลปะไทยในกระแสเปลี่ยนผ่าน ‘ฉันจะไม่ยอมให้ถูกกลืนหาย’

 

อาจารย์สิริชัยชาญ บอกว่า ทุกวันนี้ศิลปะการรำวงประเทศไทยตามหลังประเทศลาวแล้ว เวลาประเทศลาวมีงานอะไรเขาจะจัดเวทีรำวงให้สำหรับทุกคนขณะที่คนไทยรำวงไม่เป็นด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าอยากให้ธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมของชาติไว้ให้ได้ คนไทยต้องให้ความสนใจมากกว่านี้

“คนมักจะถามว่าเรียนนาฏศิลป์แล้วจะไปประกอบอาชีพอะไร เต้นๆ รำๆ ร้องๆ อย่างนี้จะมีงานทำหรือ ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกที่คำถามเช่นนี้ไม่เห็นมีใครไปถามภาควิชาอื่นบ้าง เช่น เรียนวิทย์-คณิต แล้วไปประกอบอาชีพอะไร”สิริชัยชาญ กล่าว

เขาเล่าอีกว่า แม้ว่าจำนวนนักศึกษาที่เข้ามาสมัครเรียนนาฏศิลป์ของสถาบันไม่ได้น้อยลง เพราะรับสมัครจำนวน 500 คน/ปี ซึ่งจะเป็นจำนวนที่มีคุณภาพคัดความสามารถมาจากทั่วประเทศ เด็กหนุ่มมักมีความนิยมในการแสดงโขนส่วนเด็กผู้หญิงสนใจเล่นเครื่องดนตรีไทย

ศิลปะไทยในกระแสเปลี่ยนผ่าน ‘ฉันจะไม่ยอมให้ถูกกลืนหาย’

 

“เส้นทางการศึกษานาฏศิลป์สามารถต่อยอดต่อไปได้ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอก สำหรับเส้นทางอาชีพผู้ที่สำเร็จการศึกษาสามารถประกอบอาชีพครูนาฏศิลป์ดนตรี หรือมุ่งมั่นเป็นศิลปินระดับสูงของประเทศได้ ทั้งยังเข้าทำงานหลากหลายอาชีพเช่น ธนาคารการประชาสัมพันธ์ หรืองานที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปวัฒนธรรมผสมผสาน”

อย่าตั้งโจทย์ชีวิตด้วยเงิน

บุญพาด ฆังคะมะโน ผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป กล่าวว่า อาชีพประติมากรรมสามารถสร้างรายได้และมีชื่อเสียงแต่กว่าจะได้มาต้องอดทนพิสูจน์ตัวเองให้ผู้คนได้เห็นก่อน มูลค่าถึงจะเกิด เด็กยุคใหม่มักตั้งราคาก่อนว่าจะได้เงินเท่าไหร่ถึงพอใจถูกจ้างทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ควรทำในงานด้านศิลปะอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะงานด้านประติมากรรม จิตรกรรม ทั้งที่ความจริงแล้วมูลค่าของชิ้นงานจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตัวผู้ปั้น ผู้วาดงานนั้นๆ ผ่านประสบการณ์ ผ่านกระบวนการคิดเรื่องราวต่างๆ มามากน้อยเพียงใด ดังนั้นอย่าเริ่มต้นด้วยการตีราคาเป็นตัวเลขจำนวนเงินก่อนลงมือทำ หากยังไม่ได้แสดงฝีมือ

“เริ่มต้นชีวิตผมเองที่ฝึกปั้นงานมา ฝึกออกแบบเหรียญ มีคนมาจ้างด้วยราคาที่ต่ำมาก แตกต่างจากงานของศิลปินที่มีชื่อเสียง ทำงานแบบเดียวกันแต่มีราคาสูงกว่า แต่เมื่อไม่ท้อตั้งใจฝึกฝนมาเรื่อยๆ มีฝีมือ งานดีมากขึ้น สังคมรับรู้มากขึ้น มูลค่าของชิ้นงานก็จะมากขึ้นตามไปด้วย เมื่อมาเป็นอาจารย์ได้เห็นนักเรียนนักศึกษารุ่นใหม่เริ่มต้นด้วยการพูดถึงกำไร ขาดทุนเป็นอันดับแรก ถ้าไปนึกถึงมูลค่าก่อน คุณค่าก็จะไม่เกิด เมื่อคุณค่าไม่เกิดแล้วจะไปเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นได้อย่างไร ถ้างานเราดีจริงไม่มีใครหรอกที่มาซื้อในราคาถูกๆ”

ศิลปะไทยในกระแสเปลี่ยนผ่าน ‘ฉันจะไม่ยอมให้ถูกกลืนหาย’

 

ดังนั้น นักศึกษาต้องอดทนอย่างถ่อมตัว บางคนตอนอยู่ว่างๆ ก็ไม่คิดจะฝึกฝน เพราะไม่รู้จะฝึกไปทำไมไม่เห็นจะมีรายได้ แต่พอตอนคิดหารายได้ ก็ไปตั้งราคาว่าจะให้เท่าไหร่มีค่าจ้างเท่าไหร่ ถ้าคิดแบบนี้คือการดูถูกคนที่เขามาจ้าง เพราะถ้าเราไม่แสดงฝีมือให้เขาเห็น ไม่พยายามบ่มเพาะความเชี่ยวชาญให้กับตัวเอง แล้วใครจะมาเชื่อถือเชื่อมั่นเราได้อย่างไร มันก็เหมือนการเล่นกีฬาชกมวย มันต้องซ้อมต้องฝึกฝน ทั้งที่ลงแข่งขันไม่กี่นาที แต่ทำไมนักมวยต้องฝึกซ้อมอย่างหนักทุกวัน

เขาเจาะจงไปที่ระบบการศึกษากำลังบ่มเพาะให้ต้องเรียนเพื่อจบแล้วไปทำงานทำให้ขาดการทดลองใช้ความรู้ที่เรียนมาซึ่งงานประติมากรรมต้องเรียนแล้วทดลองใช้ความรู้ไปพร้อมกัน บ่อยครั้งที่บอกกับนักเรียนว่า พวกเราเป็นคนสำคัญมากๆ ศิลปะที่เรากำลังเรียนอยู่นี้จะเป็นสิ่งที่ติดตัวไปชั่วชีวิต และช่วยดูแลศิลปวัฒนธรรมของเราต่อไป ไม่ใช่แค่ประกอบอาชีพได้เท่านั้น

ว่าไปแล้วหากเรียนได้จะไปทำอาชีพไหนก็ได้ทั้งนั้น เพราะงานประติมากรรมถือเป็นงานหนัก ต้องหมั่นเรียนรู้ ขัดเกลาฝีมือจนกระทั่งชำนาญ อย่างการปั้นพระพุทธรูป หรือทำแบบเหรียญ ทั้งหมดมีกระบวนการคิดคำนวณคณิตศาสตร์ การใช้ภาษาไทย-อังกฤษ เรียนสังคมประวัติศาสตร์ วิชาทุกแขนงคือสิ่งที่หล่อหลอมขึ้นเป็นประติมากรรม 1 ชิ้น มันจึงยากและไม่ได้มาโดยง่าย แต่ด้วยความยากจึงทำให้นักเรียนหลายคนล้มเลิกและหายหน้ากันไปพอสมควร ถ้าคิดอยากจะเอาดีทางด้านนี้ ต้องมุ่งมั่นตั้งใจและทำทุกอย่างเพื่อให้ไปสู่จุดหมาย

บุญพาด กล่าวว่า ปัญหาด้านหนึ่งของวงการศิลปะคือไม่ค่อยได้รับการถ่ายทอดจากแม่แบบบุคคลสำคัญ ตัวอย่างเช่น นักกีฬาไทยคนหนึ่งเข้ารอบไปชิงแชมป์โลก ทันใดนั้นชื่อเสียงของนักกีฬาจะเป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่ว ทำให้ผู้ปกครองต่างพากันส่งลูกหลานเข้าไปเรียนกีฬาชนิดนั้นๆ เป็นจำนวนมาก แตกต่างจากบุคคลทางด้านงานศิลป์ ทั้งที่ความจริงแล้วมีอยู่หลายท่าน ซึ่งบุคคลทำงานศิลปะมักไม่ค่อยมีคำอธิบาย หรือการเสนอตัวออกไปให้สังคมรับรู้กันสักเท่าไหร่

“มีบ้างที่ศิลปินคนหนึ่งจะเปิดงาน ทำให้ดูฟู่ฟ่าขึ้นวันหนึ่งคนที่ไปร่วมแสดงความยินดีก็เป็นพรรคพวกเดียวกัน จากนั้นก็เงียบหายไป จึงไม่ค่อยมีการเผยแพร่ จุดประกายความฝันออกไปสู่คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีความรู้ทางด้านศิลปะ ทั้งที่ควรได้รับรู้ จุดประกายจินตนาการ ซึ่งไม่มีใครทำหน้าที่ถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง เป็นเพราะคนทำงานศิลปะมักเป็นคนไม่ค่อยพูด”

ยิ่งไปกว่านั้น การขาดความเชื่อมโยงของศิลปินกับคนในสังคม ยังส่งผลร้ายมากขึ้นต่อการรักษาศิลปะของชาติให้คงอยู่ ไม่อยากให้คนรุ่นใหม่มองแค่ว่าเรียนไปแล้วจะมีรายได้เท่าไหร่ สุดท้ายกลายเป็นละเลยเรื่องของการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยที่สวยงาม เรื่องเช่นนี้เหล่าอาจารย์ ศิลปินหลายท่านกำลังเป็นห่วงอย่างมาก เพราะไม่มีลูกศิษย์รุ่นใหม่ให้ความสนใจ อดทนมากพอจะสืบสานต่อ

ขณะที่ความพยายามในการปรับโฉมงานศิลปะไทยให้ทันสมัยใหม่ แม้จะเข้าดูโมเดิร์นได้รับการตอบรับอยู่บ้าง แต่ศิลปะงานเก่าทรงคุณค่าดั้งเดิมกลับไม่ถูกสืบสานต่อ หรือสร้างตัวตนให้เป็นผู้รู้แจ้งในงานศิลป์ไทยอย่างถ่องแท้ จากปัจจัยหลายอย่างจึงกำลังทำให้งานศิลปะไทยทุกแขนงกำลังถูกละเลยลงจนหลงลืมว่ารากเหง้าความเป็นไทยมีรูปแบบอย่างไร หากขาดเด็กรุ่นใหม่ตั้งใจศึกษาอย่างจริงจัง

“แม้สิ่งที่มองเห็นเป็นภูเขาอยู่ข้างหน้า หากค่อยๆ ไต่ขึ้นไป ยอดเขาก็จะใกล้เข้ามาทีละนิดจนถึงในที่สุด แต่ถ้านั่งอยู่เฉยๆ แล้วอยากกระโดดขึ้นไปบนยอดเขาเลย มันทำอย่างนั้นไม่ได้” ผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป กล่าวทิ้งท้าย

มุมมองจากคนรุ่นใหม่ ขอเป็นครูถ่ายทอดมรดกไทย

ท่ามกลางความเชี่ยวกราดและหลากหลายของกระแสวัฒนธรรมในสังคมปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดกลุ่มวัฒนธรรมยิบย่อยต่างๆ ขึ้นมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมเกาหลี นับได้ว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงกระแสนิยมทางสังคมของคนไทย

หากจะกล่าวว่าคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยรู้จักกระแสแนวเพลง “เคป๊อป” (K-pop) จากประเทศเกาหลี มากกว่าการแสดง“โขน” ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ไทยอันเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยก็คงจะไม่ผิดนัก

ความอยู่รอดของวงการนาฏศิลป์ไทยท่ามกลางความหลากหลายของกระแสนิยมในยุคปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่เลือกเดินบนเส้นทางสายนี้ มุมมองระหว่างกลุ่มนักศึกษาที่เลือกเรียนนาฏศิลป์เพื่อไปเป็นศิลปินและกลุ่มที่เลือกเรียนเพื่อไปเป็นครู คำบอกเล่าของพวกเขาในฐานะคนรุ่นใหม่ ผู้สานต่อลมหายใจให้นาฏศิลป์ของไทยคงพอสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมที่เกิดขึ้นกับมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าเหล่านี้

กัญรวี ทรัพย์ทวี นักศึกษาคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สาขานาฏศิลป์ไทย ชั้นปีที่ 3 สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เล่าว่า สาเหตุที่เลือกศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เพราะสนใจในนาฏศิลป์ไทยตั้งแต่เด็ก เวลาเห็นพ่อแม่มานั่งดูเราแสดงแล้วมีความสุขและรู้สึกภาคภูมิใจ

“หนูไม่ได้เรียนนาฏศิลป์เพื่อนำไปถ่ายทอด แต่เรียนเพื่อสืบสาน สายครูจะเน้นสอบวิชาการ เน้นรูปแบบในการนำเสนอและถ่ายทอดตามแบบแผน แต่ศิลปินจะเน้นศิลปะการแสดงเราสืบสานนาฏศิลป์ด้วยบทบาทและอารมณ์ที่แสดงออกมามันต้องครีเอทงานมากว่า คือเราต้องสร้างความน่าสนใจและแปลกใหม่อยู่เสมอ เสน่ห์มันอยู่ตรงนี้”

เมื่อเรียนจบหลักสูตรระดับปริญญาตรีแล้ว กัญรวี มองว่าการสร้างความมั่นคงจากโอกาสในการทำงานในวงการนาฏศิลป์นั้นก็มีหลากหลายแนวทางของแต่ละคน บางคนก็ไปเป็นครูสอนนาฏศิลป์ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ในกรมศิลปากร รวมทั้งจากการเป็นนักแสดงตรงนี้ เนื่องจากรายได้จากการแสดงนาฏศิลป์นั้นจะมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นงานเกี่ยวกับทางสำนักพระราชวัง หรืออีกโขนพระราชทาน รวมทั้งงานแสดงตามที่ต่างๆ ที่จัดขึ้นโดยรัฐบาล และงานแสดงในต่างประเทศ

“จริงๆ คนจบที่นี่สามารถทำงานได้หลายอย่าง เพราะเรามีทุนคือการมีบุคลิกภาพที่ดี มีมารยาทอ่อนน้อมถ่อมตนเราจะโดนปลูกฝังในเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด อีกทั้งหลักสูตรการเรียนการสอนก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะวิชานาฏศิลป์เพียงอย่างเดียว วิชาพื้นฐานใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ เราก็ต้องเรียนเช่นกัน ฉะนั้นเราไม่ได้มีแต่รำเพียงอย่างเดียว แต่วิชาการเราก็ไม่น้อยหน้าใคร อย่างรุ่นพี่หนูหลายคนเมื่อเรียนจบแล้วไปเป็นแอร์โฮสเตสก็มี หรืออาจไปเป็นพนักงานธนาคารก็ได้ คือเราทำได้หมด”

สถานการณ์ของนาฏศิลป์ไทยในปัจจุบัน และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเป็นอย่างไร กัญรวี เล่าว่า นาฏศิลป์ไทยไม่มีวันที่จะหายไป ทุกประเทศมีวัฒนธรรมประจำชาติเป็นของตนเอง ประเทศไทยก็มีนาฏศิลป์ที่เป็นมรดกของชาติเราด้วยเช่นกัน เพราะถึงอย่างไรเชื่อว่าคนไทยก็ยังคงต้องการอยู่

“เราอาจจะเป็นแค่ 10% ของวัยรุ่นไทยทั้งหมด เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ ในสังคม แต่เป็น 10% ที่แข็งแกร่งเพราะเราเหนียวแน่นมากพอที่จะไม่ปล่อยให้นาฏศิลป์ไทยถูกกลืนหายไป”

“…แม้ตอนนี้อาจจะไม่ได้รับความนิยมเหมือนในอดีต แต่เราก็ต้องปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยมากขึ้น ปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น คือของเดิมก็ต้องทำให้มันอยู่ ต้องรักษาเอาไว้ แต่บางอย่างก็ต้องมีการพัฒนาและก้าวต่อไป เพื่อไม่ให้มันถูกกลืนไปกับสังคม”

ดลกนก หลำโต นักศึกษาคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สาขานาฏศิลป์ไทยศึกษา ชั้นปีที่ 4 สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์กล่าวว่า ไม่อยากให้สังคมมองว่าวงการนาฏศิลป์เป็นอาชีพที่เต้นกินรำกิน แต่อยากให้เปลี่ยนมุมมองใหม่เพราะหน้าที่ของเราคือการถ่ายทอด สืบสาน และแสดงให้สังคมรับรู้ถึงคุณค่าในความเป็นไทย

“ที่เลือกเรียนในสาขานาฏศิลป์ไทยศึกษาตรงนี้เพราะอยากเป็นครูที่ถ่ายทอดมรดกความเป็นไทยตรงนี้ให้คงอยู่ การเรียนเพื่อไปเป็นครูได้เปรียบตรงที่เราได้รู้ลึกในเรื่องนาฏศิลป์กว่าคนอื่น ทำให้เรานำไปถ่ายทอดได้อย่างถูกต้อง และโอกาสในการสอบในด้านอื่นๆ ก็มีมากกว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือการรักษามรดกของชาติ สังคมควรเปิดใจรับและสร้างพื้นที่ให้พวกเรามากกว่านี้ เพราะทุกครั้งที่มีการแสดงนาฏศิลป์เหมือนเราแสดงให้กันเอง สื่อก็ต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้ ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันมันถึงจะมั่นคงและยั่งยืน” ดลกนก กล่าว

สำหรับความคาดหวังในฐานะคนนาฏศิลป์รุ่นใหม่ ดลกนกเล่าว่า เป้าหมายชีวิตในตอนนี้ยังไม่ได้ให้คำตอบกับตัวเองว่าหลังจากเรียนจบจะไปประกอบอาชีพอะไร เพราะในขณะที่เรียนอยากพยายามเก็บเกี่ยวทุกอย่างให้ได้มากที่สุด แล้วค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ แต่หวังว่าอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดและสืบสานสิ่งเหล่านี้เอาไว้ให้คงอยู่การเรียนนาฏศิลป์ต้องคลุกคลี ต้องอยู่ด้วยกันตลอด ถ้าใจไม่รักจริงๆ คงจะอยู่ตรงนี้ไม่ได้

“สิ่งที่คาดหวังในตอนนี้คืออยากเห็นคนไทยกลับมาดูโขน กลับมาชื่นชมนาฏศิลป์ไทยให้มากขึ้น บ่อยครั้งที่สื่อปลูกฝังค่านิยมความกลัวแบบผิดๆ เกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทยมาโดยตลอด เพราะที่ผ่านมาภาพยนตร์หลายเรื่องนำเสนอนาฏศิลป์ไทยแต่ในมุมที่ค่อนข้างเป็นลบ ปลูกฝังเรื่องผีๆ ทั้งที่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้นเลย เราเรียนนาฏศิลป์ได้ก็เพราะมีครู สิ่งเหล่านี้สอนให้เรารู้จักความกตัญญู เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุผลเลยที่ครูจะมาทำร้ายเรา น้อยคนที่จะมีโอกาสได้แสดงโขนต่อหน้าพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระราชินี ซึ่งหนูก็มีโอกาสได้แสดงตรงนั้นมาแล้วหลายครั้ง นับว่าเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตเลยก็ว่าได้” ดลกนก กล่าว