posttoday

‘ปรีดิ์ หวังเจริญ’ หนุ่มไอที เทคโนโลยีสร้างสรรค์

09 มกราคม 2559

“ปรีดิ์ หวังเจริญ” หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง วัย28 ปี ผู้คิดค้น และพัฒนา “Autistic Application” แอพพลิเคชั่นเพื่อเด็กออทิสติก

โดย...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์ ภาพ... ภัทรชัย ปรีชาพานิช

“ปรีดิ์ หวังเจริญ” หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง วัย28 ปี ผู้คิดค้น และพัฒนา “Autistic Application” แอพพลิเคชั่นเพื่อเด็กออทิสติก ลูกชาย บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารทหารไทย

ชายหนุ่มโชคดีที่หลังจากจบปริญญาโทมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน สหรัฐ ปี 2554 ก็ได้ทำงานที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ในส่วนงานของ“โมบายแอพพลิเคชั่น” ที่ขึ้นตรงกับผู้บริหารโดยตรง

“ตอนนั้นผมเรียนจบมาใหม่ๆ อายุ 22 ปี ถือว่าเป็นเด็กที่สุดในทีม และเป็นคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่ในทีมจะเป็นโปรแกรมเมอร์อายุ 30-40 ปีทำให้ผมต้องใช้เวลาการปรับตัว ทั้งด้านการทำงานและทัศนคติ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในทีม” ปรีดิ์เล่า

‘ปรีดิ์ หวังเจริญ’ หนุ่มไอที เทคโนโลยีสร้างสรรค์

 

โจทย์การทำโมบายแอพพลิเคชั่นที่ “ทรู” ให้มานั้นค่อนข้างยาก คือ “ทำแอพอะไรก็ได้ แต่ต้องให้มีผลกระทบ” ซึ่งทรูพร้อมให้การสนับสนุนทั้งเงินทุนและทีมงานเต็มที่

ปรีดิ์คิดว่าถ้าทำแอพพลิเคชั่นในเชิงธุรกิจ แม้ว่ามูลค่าตลาดรวมของธุรกิจแอพพลิเคชั่นมีประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่ก็คิดว่าควรที่จะเน้นว่า “ทรู” เป็นองค์กรที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว ก็ควรจะทำแอพที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรจะดีกว่า จึงทำโครงการหรือแอพที่ตอบแทนสังคม (ซีเอสอาร์) ที่อาจจะช่วยภาพลักษณ์องค์กรได้มากกว่า

เขาเริ่มสนใจแนวคิดโครงการแอพพลิเคชั่นเพื่อเด็กออทิสติก ซึ่งขณะนั้นที่ประเทศสหรัฐมีโครงการนี้อยู่แล้ว ที่ให้เด็กออทิสติกได้เรียนรู้ผ่านแท็บเล็ต แต่ที่ไทยยังไม่มีโครงการนี้ จึงได้เริ่มต้นสร้างสรรค์ขึ้นมา และได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหาร รวมถึงมูลนิธิต่างๆ เกี่ยวกับเด็กออทิสติก

แม้ว่าโครงการนี้เริ่มต้นเป็นโครงการเล็กๆ แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดทั่วโลก 5 แสน เป็นอันดับ 1 ของแอพ 10 ประเทศทั่วโลก และได้รางวัลนวัตกรรมซอฟต์แวร์ที่สวิตเซอร์แลนด์

โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ปรีดิ์ได้เรียนรู้... ว่าจริงๆ สิ่งที่มี “ความสุขมาก” ที่มากกว่าคือการได้เริ่มต้นสร้างสรรค์ ไม่ได้แค่ “แอพ” เท่านั้นแต่เป็นการสร้างสรรค์แอพ หรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลง ทำให้ชีวิตคนดีขึ้นและช่วยแก้ไขปัญหาบางอย่างประจำวันของเด็กออทิสติกได้ เนื่องจากเด็กออทิสติกจะขาดทักษะ 9 ด้าน ทำให้ไม่เหมือนคนปกติ เช่น สมาธิสั้น กล้ามเนื้ออ่อนแอ เป็นต้น โดยสื่อการเรียนสอนที่เป็นกระดาษไม่สามารถที่จะตอบโจทย์เด็กออสทิสติกได้

‘ปรีดิ์ หวังเจริญ’ หนุ่มไอที เทคโนโลยีสร้างสรรค์

 

“สื่อการเรียนการสอนเด็กออทิสติกในสหรัฐจะใช้แท็บเล็ต สมาร์ทโฟนเป็นสื่อ เพราะมีความเคลื่อนไหว ทั้งภาพมีเสียง ซึ่งสามารถดึงดูดเด็กให้สนใจเรียนรู้ได้นานขึ้น และได้พัฒนาทักษะได้เร็วขึ้น ซึ่งการที่จะพัฒนาสื่อการเรียนและการฝึกทักษะให้เด็กออทิสติก ถ้าทำในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะจะยุ่งยากมากกว่าการทำเป็นแอพพลิเคชั่นผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ซึ่งจะมีการใช้งานได้สะดวกกว่า”

ปัจจุบันไทยมีเด็กออทิสติกประมาณ 3.7แสนคนหรือ 1 ต่อ 125 คน ซึ่งเด็กหลายคนที่เรียนรู้ค่อนข้างช้า ผู้ปกครองจะต้องพาไปหาทำกิจกรรมบำบัดทุกสัปดาห์ แต่เมื่อมีสื่อการเรียนการสอนผ่านแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถที่จะสอนลูกได้ทุกที่ทุกเวลา และเห็นผลแล้วว่าเด็กมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า

ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่นเพื่อเด็กออทิสติก เริ่มแรกได้ทำ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก Daily Tasks สอนกิจวัตรประจำวัน เช่น การแปรงฟัน อาบน้ำ สระผมส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะความมั่นใจ ทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก และการลอกเลียนแบบ

ส่วนที่ 2 Trace & Share สอนทักษะการลากเส้น ส่งเสริมให้รู้จักการรอคอยและการแบ่งปัน เพื่อช่วยในการพัฒนาทักษะด้านวิชาการและการเข้าสังคม

และส่วนที่ 3 ด้าน Communication สอนการสื่อสาร และออกเสียงโดยใช้สมุดภาพ สามารถเพิ่มภาพที่ต้องการเข้าไปได้ ช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะด้านภาษาและการสื่อสารกับบุคคลอื่น

แม้ว่า “ปรีดิ์” ลาออกจากทรูแล้วแต่ก็ยังเป็นที่ปรึกษาโครงการแอพพลิเคชั่นเพื่อเด็กออทิสติก และมีความภูมิใจที่ทีมงานของทรูได้มีการพัฒนาต่อยอดโครงการนี้

“แอพนี้ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ใช้งานได้มากขึ้น และพยายามแปลเป็นภาษาต่างประเทศกว่า 3 ภาษาคือ อังกฤษ จีน อาหรับ โรงเรียนก็นำแอพนี้มาใช้ในการเรียนการสอน และผมก็หวังว่าแอพนี้จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของเด็ก อย่างน้อยมีทักษะ การใช้ชีวิตในประจำวันได้ และก็ภูมิใจที่มีชาวต่างชาติเขียนอีเมลมาขอบคุณที่ทรูทำแอพพลิเคชั่นนี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งในต่างประเทศจะต้องเสียเงินดาวน์โหลด 30-40 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,200 บาท”

ปัจจุบัน “ปรีดิ์” ได้เริ่มต้นอีกครั้ง ด้วยการเป็น “สตาร์ทอัพ”ที่เพิ่งเปิดตัวแอพพลิเคชั่น Shobshop สู่ตลาดเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2558  ภายใต้แนวคิด “เพื่อนช่วยช็อป” รวบรวมโปรโมชั่นของห้างสรรพสินค้าและสินค้าแบรนด์ต่างๆ

ทั้งนี้ ให้โหลดแอพพลิเคชั่นผ่านระบบไอโอเอส ก่อนจะขยายไประบบแอนดรอยด์ต่อไป ซึ่งแม้จะเพิ่งเปิดตัวไม่นาน แต่เป็นแอพพลิเคชั่นในกลุ่มช็อปปิ้งที่มียอดดาวน์โหลดติดลำดับ 1 ใน 10 ของแอพสโตร์

ปรีดิ์ เล่าว่า สตาร์ทอัพในไทยเองเป็นสมรภูมิที่มีการแข่งขันกันสูงมาก เพราะว่านอกจากในองค์กรของภาครัฐและเอกชนในไทยก็เริ่มมีการให้การสนับสนุน “สตาร์ทอัพ” แม้แต่ในต่างประเทศทีที่เงินทุนหนา เช่น สิงคโปร์ ก็สนใจที่จะเข้ามาสนับสนุนและลงทุนในสตาร์ทอัพ

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดของสตาร์ทอัพที่จะทำให้เกิดความประสบความสำเร็จได้ คือ “คน” ที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่า รวมถึงการสร้าง “จุดเด่น” จึงสามารถอยู่ในตลาดที่มีความแข่งขันสูงได้

“ปรีดิ์” บอกว่า ความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีขึ้นให้ชีวิต ...ผมโชคดีที่ได้เริ่มจากโครงการกับทรู อย่างน้อยได้เป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยพัฒนาด้านทักษะให้กับเด็กออทิสติก และส่งไม้ต่อให้ทีมงานพัฒนาต่อและการเริ่มก้าวมาสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพของตัวเอง ก็เป็นเรื่องที่ยังมีความ “ท้าทาย” อีกมาก