posttoday

สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน สร้างเด็กด้วยนิทาน

19 ธันวาคม 2558

ปัจจุบันใช่ว่าจะมีเพียงคุณครูเท่านั้นที่เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับเด็กๆ เยาวชนของชาติ

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

ปัจจุบันใช่ว่าจะมีเพียงคุณครูเท่านั้นที่เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับเด็กๆ เยาวชนของชาติ แต่การเป็นนักจัดรายการวิทยุ เป็นคนทำหนังสือ  ก็สามารถมีบทบาทสำคัญที่จะผลักดันให้เยาวชนเติบโตเป็นคนดีและมีความรู้ได้ไม่แพ้กัน

วันนี้จึงเห็นชื่อ  สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน หรือที่บรรดาเด็กเล็กๆ เรียกกันติดปากว่า  “ป้าโน” บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Mother & Care บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย ผู้ดูแลนิตยสารแนวเยาวชนและครอบครัว  และผู้จัดงานเสวนา มานาน 10 ปี ที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการที่ดีของเยาวชน   

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มาสนใจเรื่องการทำสื่อเกี่ยวกับเด็กและครอบครัวนั้นมาจากการแต่งงานและมีลูกคนแรกเมื่อ 17 ปีที่ผ่านมา จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการหาความรู้ให้กับตนเองในการดูแลลูกชายคนโต พร้อมกับใจรักที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับคนที่เริ่มมีครอบครัว ทั้งผ่านตัวหนังสือและการจัดรายการ พ่อแม่พันธุ์ใหม่หัวใจเกินร้อย ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ที่ FM105 ซึ่งเป็นคลื่นวิทยุสีขาวเพื่อเด็กเยาวชน และครอบครัว

หนึ่งในกิจกรรมสำคัญของนิตยสาร คือ การจัดโครงการลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน  ซึ่งได้จัดเป็นครั้งที่ 10 โดยได้ร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD และอุทยานการเรียนรู้ TK park โดยในปีนี้ได้นำเยาวชนที่ได้รับรางวัลจากการประกวดโครงการดังกล่าว อายุระหว่าง 4-9 ขวบ จำนวน 12 คน เดินทางไปเปิดประสบการณ์ในต่างประเทศที่เกาะฮ่องกง รวมระยะเวลา 3 วัน ช่วงกลางเดือน พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา

โครงการดังกล่าวเป็นการนำประสบการณ์ที่เด็กๆได้รับจากการอ่านหนังสือ ที่เริ่มจากการที่พ่อแม่ของเขาเหล่านั้นเล่านิทานให้ฟัง จนมาถึงวันหนึ่งเขาต้องเล่านิทานเอง จึงทำให้เขารู้ว่าการเล่านิทานนั้นสามารถต่อยอดจินตนาการของพวกเขาได้ เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเด็กไทยนั้นอ่านหนังสือน้อยมาก จึงต้องมาเร่งผลักดันให้เขาเหล่านั้นรักการอ่านและการเล่านิทานมากขึ้น

ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีของเยาวชน เพื่อจะได้เรียนรู้การเดินทางมาต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่การรับประทานอาหารจีน รวมไปถึงอาหารไทยในต่างแดน และที่สำคัญคือการเดินทางมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ฮ่องกงที่ได้เรียนรู้ถึงความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี การเปลี่ยนแปลงในยุคต่างๆ เกี่ยวกับฮ่องกงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่ามีความเหมือนและแตกต่างจากคนไทยอย่างไรในแบบที่เด็กๆ สามารถเข้าใจได้ง่าย

ที่ผ่านมาได้ทำโครงการนี้มา 10 ปี สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือเด็กที่เข้ามาสู่โครงการเมื่อ 9 ปีก่อนหน้านั้นเติบโตและเห็นถึงพัฒนาการที่ดี โดยจะเห็นได้ว่าเขาเหล่านั้นรักการอ่านหนังสือจนถึงปัจจุบัน บางรายผู้ปกครองถึงกับบ่นว่า เด็กติดหนังสือมากเกินไปจนกลัวว่าไม่มีสังคม แต่ก็ไม่เป็นความจริง เพราะการปลูกฝังให้รักการอ่านตั้งแต่ปฐมวัย โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีของชีวิต เขาเหล่านั้นจะเห็นความสำคัญของหนังสือ

เป้าหมายของการเล่านิทานนั้น คือ ทำให้เขาไปต่อยอดในชีวิตการทำงาน เพื่อให้สามารถเรียนรู้อยู่ในสังคมซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด โดยทั้งหมดเป็นทีมงานที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับเด็กเล็กมานาน จนทำให้พ่อแม่เด็กไว้ใจให้พาลูกเดินทางมาต่างประเทศด้วยกัน อย่างเมื่อช่วง  2 ปีก่อนหน้านี้  มีการเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศสิงคโปร์ เด็กๆ ก็ได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการเดินทาง

สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน สร้างเด็กด้วยนิทาน

 

“พ่อแม่ในยุคปัจจุบันนั้นเรียกได้ว่าปากต่อปาก เกิดการพูดต่อๆ กัน ซึ่งบรรดาพ่อแม่ของเด็กๆ เหล่านี้เขารักการอ่านอยู่แล้ว จึงสนับสนุนให้เขามาร่วมโครงการนี้เป็นอย่างไร ลูกเขาไปแล้วจะได้อะไรกลับมา เพราะปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่าเทคโนโลยีกลืนพวกเขาไปหมด อย่างโทรศัพท์มือถืออาจทำให้การอ่านหนังสือลดลง การที่จะถ่ายทอดมาเป็นนักเล่านิทานนั้นก็จะลดลงตามไปด้วย” สรวงมณฑ์ กล่าวและว่า

เยาวชนที่ร่วมโครงการนี้เหมือนมีการใช้หนังสือเป็นสิ่งปูฐาน ที่ทำให้เขาเหล่านั้นกล้าแสดงออก เนื่องจากเวลาที่เขาเหล่านั้นเล่านิทานนั้นจะมีเสียงปรบมือ  มีคนยอมรับ รวมไปถึงพ่อแม่ให้กำลังใจ  ขณะเดียวกันมีรางวัลของการเดินทางมาต่างประเทศ ยิ่งทำให้เขามีแรงผลักดันในชีวิต

ในการเดินทางมาท่องเที่ยวครั้งนี้ เด็กที่เดินทางมาด้วย มีการบ้านที่ต้องส่ง ซึ่งเป็นวิธีการตรวจสอบเบื้องต้นอย่างหนึ่งว่าเด็กเหล่านั้นมีพัฒนาการอย่างไร เพราะที่ผ่านมาพ่อแม่จะกลัวตลอดเวลาหากลูกต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยมีการดูพฤติกรรมการกินอาหารของเด็ก อย่างเด็กบางคนเวลาทานข้าว พ่อแม่จะต้องป้อนตลอด บางคนเป็นเด็กที่นอนละเมอ หรือนอนตกเตียง ต้องจดรายละเอียดพฤติกรรมของเด็กในแต่ละราย หรือแม้แต่สุขภาพร่างกายว่าใครแพ้อะไรต้องรู้ทั้งหมด จะมีคนแพ้ไข่ แพ้แป้งสาลี  บางคนเป็นอิสลาม จึงต้องเข้าค่ายก่อนที่จะเดินทางมาจริง

“เดินทางมาต่างประเทศโดยไม่มีผู้ปกครองมาด้วย เราต้องรับผิดชอบชีวิตลูกเขา แต่ก็จะเห็นพฤติกรรมของพ่อแม่ ในบางอย่างก็จะเห็นกระจกของลูกสะท้อนกลับออกไป เช่น พ่อแม่ที่ขีดเหมือนเป็นไม้บรรทัดให้ลูกเดิน ลูกก็จะเดินไปแบบนั้นไม่ออกกรอบเลย เราก็จะพยายามให้เด็กดึงศักยภาพของตนเองออกมา หรืออย่างเช่นพ่อแม่อาจจะไม่เคยปล่อยเด็กเลย ก็ได้ห้องไลน์กรุ๊ป เพื่อสื่อสารกับพ่อแม่ พี่จะส่งรูปไปให้เขาดูว่าตอนนี้ทำอะไรกินอะไร พ่อแม่บางคนเยอะในบางเรื่อง เราก็ต้องพยายามดึงเขาลงมา คืออย่าเยอะเกินไป เช่น เรื่องเสื้อผ้าต้องผูกแบบนี้ คือความกังวลของพ่อแม่ คนเมืองที่ไม่เคยปล่อยลูกเลย” สรวงมณฑ์ กล่าว

สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน สร้างเด็กด้วยนิทาน

 

สำหรับปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีเด็กเข้าร่วมโครงการ 12 คนจำนวน 2 รุ่น  คือ รุ่นอายุ 4-6 ขวบ และ 6-9 ขวบซึ่ง 4-6 ขวบ นั้นชนะเลิศมา 3 คน คือ ที่ 1-3 และอายุ 6-9 ขวบ มี 3 คน คือที่ 1-3  และมีตำแหน่งขวัญใจอีก 2 คน รวมเป็น 8 คน โดยอีกจำนวน 4 คน พี่โนได้เป็นคนเลือกจากต่างจังหวัดในภูมิภาคที่เรียกว่าอาจจะขาดโอกาสที่คัดเลือกมาจาก 4 ภูมิภาค ภูมิภาคละ 1 คน

จากการทำโครงการลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน พบว่าผู้ปกครองที่เขาร่วมโครงการจะเป็นคนชนชั้นกลางที่ค่อนข้างมีฐานะ และต้องการส่งเสริมลูกอยู่แล้วสามารถพาลูกไปเที่ยวในประเทศและต่างประเทศได้อยู่แล้ว แต่ก็พบว่าพ่อแม่อีกส่วนที่เขาไม่มีทุนทรัพย์แต่เขาก็พยายามส่งเสริม ฉะนั้นเวลาที่ลงไปคัดเลือกเด็กๆ จากต่างจังหวัดมีเด็กในใจอยู่แล้ว เช่น เด็กเล่านิทานเก่ง มีศักยภาพ แต่ถ้าส่งไปแข่งในกรุงเทพฯ นั้นคงสู้เกณฑ์การตัดสินไม่ได้แน่  โดยต้องการให้โอกาสเด็กเหล่านี้ จึงได้เด็กเข้าร่วมโครงการเพิ่ม 4 คนที่ได้มาจากต่างจังหวัด

“บรรดาเยาวชนที่คัดมาร่วมโครงการ เราเห็นพัฒนาการชัดเจนว่าเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีความเป็นผู้ใหญ่ ระมัดระวังการใช้เงิน เราจะเห็นจากเด็กครอบครัวที่มีฐานะ กับเด็กที่มาจากครอบครัวคนชั้นกลางในต่างจังหวัดนั้นอยู่ด้วยกันเพื่อให้เกิดความสมดุล เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เด็กๆ สามารถทำได้ตามเงื่อนไข วันที่เปิดกิจกรรมนี้ได้มีการพูดคุยกับพ่อแม่เด็กว่า ถ้าเด็กยังไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองจะเป็นปัญหากับเด็ก และต้องพยายามฝึก อย่างปีที่ผ่านมา มีเด็กที่ติดผ้าอ้อม พี่บอกว่าถ้าจะมาด้วยก็ต้องฝึก ถ้าหนูไปแล้วต้องใส่ผ้าอ้อม ขณะที่เพื่อนไม่ใส่ ก็ต้องพยายาม เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับคนอื่น หรือเด็กบางคนติดผ้าห่ม หรืออาจเรียกได้ว่าผ้าห่มเน่า เวลามาต่างประเทศก็ไม่ควรนำผ้านั้นมา ต้องปรับพฤติกรรมให้ได้” สรวงมณฑ์ กล่าว

สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน สร้างเด็กด้วยนิทาน

 

ตลอดการเดินทางในต่างประเทศ จะพยายามให้เด็กบันทึกว่าเมื่อเดินทางมาแล้ว หนูได้เห็นอะไร แล้วหนูชอบอะไรที่สุด หนูไม่ชอบอะไรที่สุด ความรู้สึกของหนูที่อยากจะบอก โดยต้องพยายามให้เขาเป็นเด็กช่างสังเกต หรืออย่างเมื่อเขาไปพิพิธภัณฑ์มีสิ่งที่เขาชอบและไม่ชอบเพื่อให้เกิดการเรียนรู้พฤติกรรมของตนเอง เรียนรู้ความรู้สึกว่าหนูรู้สึกต่อสิ่งนั้นอย่างไร เช่น รู้สึกคิดถึงแม่ หรือไม่ชอบสิ่งนั้นๆ อย่างเด็กบางคนไม่เหมือนกัน บางคนชอบวาดรูปมากอาจจะใช้วิธีวาดรูปแทนตอบคำถาม หรือวาดรูปหน้าเพื่อนๆ แทน

โครงการประกวดจะเน้นการเล่านิทานที่เป็นธรรมชาติ ไม่เน้นปรุงแต่งมากมาย ไม่ต้องการฉาก หรือพร็อพสิ่งของประกอบเลย โดยให้เด็กใส่ชุดนักเรียนเล่าและให้เขาเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด เด็กต่างจังหวัดจะติดนิดหนึ่งคือจะมีคุณครูเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมีครูเข้ามาเกี่ยวข้องนั้นคือความคาดหวังรางวัล หลายครั้งที่ต้องการท่าเป๊ะ พ้อยเท้าจนขาดความเป็นธรรมชาติ แต่อย่างพ่อแม่ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพร่ำรวยอย่างทำมาค้าขาย  เขาก็พยายามฝึกลูกให้เล่านิทานได้ออกมาเป็นธรรมชาติ เรียกได้ว่ามีการเติบโตตามวัย

สิ่งสำคัญที่เด็กจะได้คือการปรับตัว การได้มาเจอเพื่อนในวัยเดียวกันเป็นการเรียนรู้จากตัวเอง การเรียนรู้จากองค์ความรู้ที่ ต่อยอด การเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์ การเรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน โดยเอาสาระมาผสานจึงทำให้ชีวิตนั้นมีครบทุกด้าน ทำให้เด็กเห็นว่าการมาพิพิธภัณฑ์นั้นไม่ใช่เรื่องยากเย็น เด็กต้องเริ่มจากสนุกและมาให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว สิ่งสำคัญคือทำให้เกิดการตื่นตัวและการเรียนรู้

สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน สร้างเด็กด้วยนิทาน

 

“สิ่งที่เราคาดหวังคือให้เด็กรักการอ่าน เพราะเปอร์เซ็นต์ที่เด็กรักการอ่านนั้นต่ำมาก ถ้าใช้ตัวเลขของยูนิเซฟนั้นเด็กไทยอ่านหนังสืออยู่ 7 บรรทัดต่อปี  ที่ตัวเลขที่ใช้กันเป็นสิ่งที่น่าใจหาย แต่ก็ยืนยันได้ว่าเด็กๆ ที่เราส่งเสริมการเล่านิทานนั้นเหล่านี้ไม่ได้อ่านหนังสือแค่ 7 บรรทัดต่อปีอย่างแน่นอน  เด็กเหล่านี้ไปต่อยอดของเขาด้วย ไปเป็นนักเล่านิทานประจำโรงเรียน ไปเป็นพิธีกรประจำโรงเรียน เด็กบางคนเป็นได้เพราะว่ารุ่นพี่ได้รางวัลมา ก็ต้องการได้รางวัลเหมือนกับรุ่นพี่ก็ต้องซ้อมแล้วก็มาเหมือนเป็นรางวัลรักการอ่านของเขา” สรวงมณฑ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จริงๆ แล้วภาครัฐควรต้องเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง แต่ที่ผ่านมาภาครัฐจัดในลักษณะจัดอีเวนต์ อย่างเช่น การจัดงานมหานครแห่งการอ่าน โดยใช้งบประมาณเป็นพันล้านบาท แล้วก็เงียบหายไป ซึ่งการจะให้เยาวชนรักการอ่านนั้น ต้องจัดอย่างต่อเนื่อง หลายครั้งทำให้การเล่านิทานกลายเป็นละครนิทาน ซึ่งมันไม่เป็นธรรมชาติ  ซึ่งผู้ที่ทำโครงการร่วมกัน หากไม่มีความเข้าใจจะทำให้โครงการเสีย อย่างสปอนเซอร์ที่เข้าร่วมโครงการต้องหาคนที่เข้าใจด้วย ต้องรู้เป้าหมายปลายทาง เพราะฉะนั้นจะดำเนินโครงการมาไม่ได้ถึง 10 ปี

สรวงมณฑ์ ย้ำว่า สิ่งสำคัญคือต้องการสร้างเด็กแบบเติบโตตามธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นผู้ใหญ่ในร่างเด็ก จะทำให้เสียเด็ก การจะจัดประกวดอะไรต้องให้รู้พัฒนาการตามวัย โดยให้เขาได้งดงามตามวัย ที่ผ่านมาการประกวดบางทีทำให้เขาเสียจริต พูดแบบจีบปาจีบคอ แต่ละโครงการนั้นแต่งหน้าทาปาก ซึ่งในระยะยาวจะพยายามให้โครงการลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน อยู่ต่อไป โดยไม่ได้เน้นที่ปริมาณ แต่จะเน้นที่คุณภาพ ความเป็นธรรมชาติและกล้าแสดงออกของเด็กเป็นหัวใจสำคัญ