posttoday

ทุบกำแพงเมืองเพื่อกรรมกร ฆ่านกกระจอกเพื่อชาวนา

13 ธันวาคม 2558

กรรมกรทั้งผองคือพี่น้องกัน! เหมาเจ๋อตงประกาศกร้าวบนประตูเทียนอันเหมิน “ต่อไปนี้เมื่อมองออกไปข้างหน้า ทุกที่จะเต็มไปด้วยปล่องควัน!!”

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

กรรมกรทั้งผองคือพี่น้องกัน!

เหมาเจ๋อตงประกาศกร้าวบนประตูเทียนอันเหมิน “ต่อไปนี้เมื่อมองออกไปข้างหน้า ทุกที่จะเต็มไปด้วยปล่องควัน!!”

เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ. 1949 ในหัวของเหมาเจ๋อตง จับจ้องที่จะพลิกประเทศจีนให้มีกำลังการผลิตทางอุตสาหกรรมสูงทัดเทียมประเทศที่เจริญแล้ว จึงประกาศต่อหน้าผู้คนว่า ต่อไปนี้ทุกที่ในแผ่นดินจะเต็มไปด้วยปล่องควัน ปล่องควันที่ว่านี้ คือปล่องควันของโรงงานอุสาหกรรม

เหมาเจ๋อตงคิดจะทำให้ไล่ทันชาติตะวันตกที่รุดปฏิวัติอุสาหกรรมแซงหน้าไปก่อนหน้าจีนนับร้อยปี ภายในไม่กี่ปี

ผู้คนในพรรคคอมมิวนิสต์ก็เห็นดีเห็นงามตามไปด้วย มีแค่นักวิชาการกลุ่มเล็กๆ ในพรรคเท่านั้นที่ตระหนกตกใจและพยายามจะยับยั้งแนวคิดนี้

นักวิชาการกลุ่มนี้ไม่ได้ต้องการขัดขวางนโยบายการผลิต แต่นักวิชาการกลุ่มนี้ไม่อยากเห็นปักกิ่งกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม โดยให้เหตุผลว่าเมืองที่มีอารยธรรมเก่าแก่ยาวนานอย่างปักกิ่ง มีศักยภาพที่จะอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสมบัติของชาวจีนและสมบัติของโลก ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรม ย่อมทำควบคู่กันไปได้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำภายในเมือง

ทางพรรคไม่เห็นด้วย เรียกบรรดานักวิชาการไปคุยและบอกว่า “พระอาทิตย์ใกล้ตกดินสวยเป็นที่สุด แต่ไม่นานมันก็จะต้องลาลับขอบฟ้าไป” นัยคือโลกใหม่แห่งสายพานการผลิตได้เข้ามาแทนที่โลกสวยรวยอารยธรรมศักดินาแล้ว

สุดท้ายขนาดกำแพงเมืองปักกิ่งที่ตั้งตระหง่านมาแต่โบราณยังถูกทุบทำลาย เพื่อนำก้อนอิฐไปสร้างบ้านพักคนงานและโรงงานต่างๆ ทั้งในและนอกตัวเมือง ปล่องไฟในหัวเหมาเจ๋อตงผุดขึ้นทั้งแผ่นดินอย่างรวดเร็ว

และนักวิชาการกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนั้นถูกตัดสินว่ามีความคิดไม่ตรงกับแนวทางของพรรค ต่อต้านความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและถูกขจัดทิ้งไปจากเวทีการเมือง

กำแพงเมืองปักกิ่งหายไปไม่เหลือ แทนที่ด้วยถนนวงแหวนรอบตัวเมือง ปักกิ่งเป็นมหานครเก่าแก่ของโลกที่ไม่เหลือกำแพงเมือง และนี่ยังไม่นับสถานที่ที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมอีกหลายแห่งภายในปักกิ่งต่างถูกรื้อทำลาย เพราะต้องตอบสนองนโยบายก้าวกระโดดสู่ประเทศอุตสาหกรรม

ปัจจุบันทรัพย์สมบัติทางอารยธรรมที่บรรพบุรุษเสียเหงื่อเสียเลือดสร้างมันมาเหล่านี้ไม่มีทางหวนคืนมา ทิ้งไว้แต่ความเสียดาย รัฐบาลเมืองปักกิ่งถึงกับเคยรณรงค์ให้แต่ละบ้านที่เคยนำอิฐจากกำแพงเมืองปักกิ่งไปสร้างนำอิฐมาคืนราชการ

และนี่ยังไม่นับมลภาวะที่เกิดจากนโยบายนี้ ซึ่งไม่เคยถูกชั่งตวงวัดในยุคนั้น

 “ชาวนาทั้งผองคือพี่น้องกัน”

เหมาเจ๋อตงออกนโยบาย “นกกระจอกจะหมดไป ไร่นาจะปราศจากศัตรูพืช!”

ปี ค.ศ. 1958 เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ท้องไร่ท้องนาแบบก้าวกระโดดตามนโยบายของรัฐบาลจีน นกกระจอกถือเป็นสัตว์ที่ทำลายผลผลิต นักวิชาการจีนออกมาสนับสนุนว่าจะต้องขจัดนกกระจอกที่คอยมากินเมล็ดข้าวให้หมดไป

นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งคัดค้านให้เหตุผลว่าเมื่อหมดนกกระจอก แมลงศัตรูพืชก็เพิ่มจำนวน ทำให้ยอดถูกกัดกินตั้งแต่ยังไม่ผลิผล และครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ อเมริกากับออสเตรเลียถึงกับต้องนำเข้านกกระจอกบ้านจากต่างประเทศมาขยายพันธุ์เพื่อควบคุมประชากรแมลงศัตรูพืช

นักวิชาการกลุ่มนี้เห็นว่า นกกระจอกมีผลเสียก็จริง แต่ก็เป็นบางช่วงฤดูกาลเท่านั้น ส่วนใหญ่นอกเหนือจากบางฤดูนั้น นกกระจอกมีประโยชน์มากกว่าโทษ การรณรงค์ไล่ล่ากำจัดนกกระจอกจึงเป็นสิ่งที่ต้องคิดให้ดี

เหมาเจ๋อตงและพรรคคอมมิวนิสต์เพ่งมองตามสภาพการณ์เบื้องหน้า เห็นว่านกกระจอกคือศัตรูแห่งนโยบายการเพิ่มผลผลิต รัฐบาลจีนจึงตัดสินใจรณรงค์ให้ผู้คนกำจัดนกกระจอก ส่วนวิธีการพิสดารที่ได้ผลอยู่ไม่น้อย คือทำให้นกกระจอกเหนื่อยตาย

ชาวจีนร่วมกันรณรงค์นัดวันเวลาให้ชาวบ้านและลูกเล็กเด็กแดงต่างออกมาร่วมไล่ล่านกกระจอกทั่วเมืองพร้อมๆ กัน วิธีไล่มีตั้งแต่ตีเกราะเคาะไม้ โบกธง ส่งเสียงดัง เขย่าต้นไม้ เมื่อนกกระจอกไม่สามารถอาศัยอยู่บนพื้นดินหรือกิ่งไม้ได้ จำต้องขึ้นบินวนอยู่บนฟ้าอยู่หลายชั่วโมง

พลังประชาชนร่วมขับไล่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งนกกระจอกหมดแรงบินตกลงมาตาย ภายใต้การรณรงค์นี้ รัฐบาลจีนบันทึกไว้ว่ามีนกกระจอกตายทั้งสิ้น 196 ล้านตัว (อุตส่าห์นับ) นับเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้นกกระจอกดูกระจอกสมชื่อที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

แต่นกกระจอกในระบบนิเวศไม่ได้กระจอกแบบนั้น มันมีหน้าที่ของตัวมันเองอยู่

เมื่อปริมาณนกกระจอกลดลงอย่างรวดเร็วในครั้งนั้น ทำให้ศัตรูพืชอย่างตั๊กแตนขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วทบทวีตามที่กลุ่มนักวิชาการกลุ่มนั้นกล่าวเอาไว้

จีนซึ่งมีพลังงานคนเยอะพอที่จะออกมาไล่นกกระจอกบินจนไม่มีแผ่นดินและกิ่งไม้ให้พักผ่อน แต่ยังยากจนทั้งเทคโนโลยีและเงินที่จะใช้สารเคมีกำจัดตั๊กแตน จึงประสบปัญหาอย่างหนัก ผลผลิตลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นส่วนหนึ่งของทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในแผ่นดินจีนที่ทำให้ผู้คนอดตายหลายสิบล้านคน

และหรือถ้าตอนนั้นจีนมีเทคโนโลยีหรือสารเคมีมากพอ หายนะอาจไปไกลกว่าทุพภิกขภัย

ภายหลังรัฐบาลจีนต้องยอมรับว่า นโยบายปราบนกกระจอกที่ได้ทำลงไปคือความผิดพลาดทางสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง แต่นักวิชาการที่คัดค้านการกำจัดนกกระจอกถูกเพ่งเล็งและตีตราว่าเป็นกลุ่มขัดขวางความเจริญทางเกษตรกรรมของประเทศและต่อต้านประธานเหมาอยู่หลายปี

คำประกาศเพื่อกรรมกร เพื่อชาวนา เพื่อชาวบ้าน เพื่อคนจน เพื่อชาติ ฟังดูโฟกัสและมีพลังปลุกผู้สนับสนุนได้เสมอ แต่นั่นอาจทำให้เราๆ ท่านๆ โดยเฉพาะผู้ที่ (ดูเหมือน) ได้รับผลประโยชน์เลือกที่จะเบลอผลกระทบอื่น

เพื่อกรรมกร ลูกหลานจะต้องสูญเสียรากเหง้าประวัติศาสตร์ เพื่อชาวนาอาจทำให้สิ่งแวดล้อมพินาศหายนะ ทุกครั้งที่เกิดนโยบายโฟกัสความทุ่มเทระดับชาติ จึงต้องการคนช่วยมองพื้นที่เบลอๆ ข้างเคียงเสมอ

และเสียงทัดทานคัดค้าน ไม่พึงถูกกีดกันแบ่งเขตและปลุกระดมง่ายๆ ว่าเป็นเสียงของผู้ต่อต้านความเจริญของอีกฝ่าย กรรมกรทั้งผองคือพี่น้องกัน ชาวนาทั้งผองคือพี่น้องกัน มันแปลได้อีกอย่างว่าถ้าไม่ใช่ชาวนา ไม่ใช่กรรมกร ก็ไม่ใช่พี่น้องเรา

เพราะชีวิตจริงผลกระทบไม่เคยจำกัดอยู่แต่ในวงพี่น้องกัน ถ้าเอาตามสไตล์คำขวัญปลุกระดม ที่จริงจึงควรบอกว่า “ผู้คนในสังคมทั้งผองก็คือพี่น้องกันทั้งหมด” (และอันที่จริงควรรวมถึงบรรพบุรุษที่สร้างกำแพงเมืองและนกกระจอกตัวน้อยด้วย)