posttoday

‘สวนผักดาดฟ้ากลางกรุง’ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลก

10 ธันวาคม 2558

ทั้งโรงเรียนเอกชนและหน่วยงานรัฐบาล อย่างโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

โดย...วราภรณ์  ภาพ : เสกสรร โรจนเมธากุล

ทั้งโรงเรียนเอกชนและหน่วยงานรัฐบาล อย่างโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกผักบนดาดฟ้าที่เรียกว่า “สวนผักกลางกรุง” กันมากขึ้น เพราะนอกจากจะปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานแล้ว ยังถือเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพมหานครได้อีกด้วย

ที่มากกว่านั้น สำหรับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยที่เป็นเจ้าแรกๆ ที่นำร่องให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้วิชาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

‘สวนผักกลางกรุง’ รร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

หลักคิดในการปลูกผักบนดาดฟ้าของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ที่เลือกเรียนวิชาสาระเพิ่มเติม เศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เริ่มจากการเรียนรู้เรื่องการปลูกป่าในใจคน คือ การปลุกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน พระราชดำรัสหลักการทรงงานปลูกป่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความรู้ที่เด็กๆ ได้จากการเรียนวิชาสังคมศึกษา จนกลายมาเป็น “สวนผักกลางกรุง”

“กรุง” ในความหมายแรกมาจาก กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ส่วน “กรุง” ที่สองมาจาก กรุงเทพมหานคร ที่ดำเนินโครงการมากว่า 4 ปีแล้ว โดยมีคุณครูที่ปรึกษาโครงการปลูกผักสวนครัวบนดาดฟ้าโรงเรียน ได้แก่ คุณครูอุมาพร ปิ่นเนตร คุณครูพรพัฒน์ สัธนรักษาเวศ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และคุณครูทรงพันธ์ ศรีอ่อนคง เป็นที่ปรึกษา

‘สวนผักดาดฟ้ากลางกรุง’ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลก

 

ครูอุมาพร เล่าถึงแรงบันดาลใจให้เกิดโครงการปลูกผักสวนครัวบนดาดฟ้า เป็นภาคปฏิบัติของวิชาเศรษฐกิจพอเพียง ของกลุ่มสาระฯ สังคมศึกษา เป็นวิชาเลือกเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ดั้งเดิมวิชานี้มีแต่เรียนเพียงภาคทฤษฎี และพัฒนามามีภาคปฏิบัติด้วย เพื่อให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับดิน ได้รู้จักต้นไม้ จนเกิดเป็นชุมนุม “ผักสวนครัวรั้วกินได้” โดยมีเด็กนักเรียนรุ่นพี่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  เจมส์-ชลธาร เลาหสุขเกษม ผู้ออกแนวคิดริเริ่มโครงการ “สวนผักกลางกรุง” อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้นำกลุ่มให้คำปรึกษากับน้องๆ ซึ่งมีสมาชิกชุมนุมนับ 100 คน ซึ่งล้วนเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 คอยดูแลปลูกผัก รดน้ำต้นไม้เพื่อให้พืชผลงอกงาม

จากเริ่มแรกมีเพียง 2 แปลงเล็กๆ ปลูกบนดาดฟ้าชั้นลอยอาคารเอ็ม บี ปาล์มเมอร์ แล้วค่อยๆ ขยาย จากนั้นผู้อำนวยการโรงเรียน ได้แก่ ดร.วรนุช ตรีวิจิตรเกษม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงให้การสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและแนวคิดเพิ่มเติม ดัดแปลงพื้นที่โล่งๆ ปลูกต้นไม้เพียงไม่กี่ต้นบนดาดฟ้าชั้นลอยของอาคารเดิม แล้วขยายพื้นที่เพาะปลูกให้มีมากกว่า 400 ตารางเมตร ทั้งแนวตั้งและแนวราบ มีแปลงผักนับ 20 แปลง เนรมิตปลูกพืชผักที่มีความหลากหลาย เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนที่ลงเรียนวิชาเลือกเศรษฐกิจพอเพียงได้ทดลอง ลงมือปลูกต้นไม้ รวมทั้งหาเมล็ดพันธุ์พืชที่ตัวเองสนใจมาทดลองปลูก เมื่อมีผลผลิตที่มากขึ้น จึงเก็บนำไปขายเป็นรายได้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่อไป อีกทั้งยังเป็นการฝึกให้เด็กได้ศึกษาการคำนวณต้นทุนการผลิต การวิจัยตลาดเพื่อหาผักที่เป็นที่ต้องการของตลาดมาปลูกอีกด้วย

“การเก็บผักจำหน่าย เพื่อให้สอดคล้องกับความรู้การผลิตสินค้าและบริการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ฝึกให้เด็กรู้จักการปลูกเพื่อจำหน่าย ผู้ผลิตที่ดีต้องทำอย่างไรบ้าง การชั่งตวงสินค้า คัดส่วนที่เน่าเสียออก ให้เด็กรู้จักการขายทุกวันจันทร์กับพุธ จากเดิมปลูกพืชสวนครัวทั่วไป เช่น ผักกาด ผักบุ้ง เห็ดนางฟ้าภูฏาน เริ่มเปลี่ยนมาให้พืชมีความหลากหลายเพื่อเวียนกันเก็บได้ ยังมีการพาเด็กๆ ไปเรียนรู้การปลูกต้นอ่อนทานตะวัน  ซึ่งปลูก 7 วัน ก็มีผลผลิตกินได้แล้ว เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ จนกลายเป็นสินค้าหลักของสวนผักกลางกรุง” ครูอุมาพร และครูพรพัฒน์ ช่วยกันเล่า

‘สวนผักดาดฟ้ากลางกรุง’ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลก

 

ขณะที่ครูทรงพันธ์ เล่าเสริมว่า นอกจากผักกินได้แล้ว ยังส่งเสริมให้เด็กๆ ลองปลูกพืชประดับ เช่น มะลิซ้อน ใบเตยหอม ซึ่งแปลงผักนี้ยังเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ เช่น นักเรียนที่เรียนวิชาศิลปะ ได้มาสร้างสรรค์ออกแบบระบายสีที่ของแปลงเกษตร หรือวิชาวิทยาศาสตร์นักเรียนสามารถมาดูวิธีการผสมเกสรของแมลง หรือวิชาภาษาอังกฤษ เด็กๆ สามารถเรียนรู้วิธีการทำการเกษตรเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น

“เราเป็นวนเกษตร คือมีความหลากหลายสูง เด็กๆ ได้เรียนรู้การปลูกหัวหอมในกาบกล้วย เป็นการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก เรารู้วิถีใหม่ๆ เช่น น้ำส้มสายชูมารดทำให้ผักงอกงามได้ เพราะเราเน้นผักปลอดสารพิษ เรียนรู้การทำไอศกรีมสมุนไพรด้วยการนำอัญชันกับมะนาวทำไอศกรีมโบราณ และไอศกรีมต้นอ่อนทานตะวันกับใบเตย เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ ได้กินผักอีกด้วย” ครูทรงพันธ์ กล่าว

เรียนรู้จากสวนวนเกษตร

ในฐานะรุ่นพี่ ชลธาร นอกจากจะเป็นผู้นำกลุ่มให้คำปรึกษาแก่น้องๆ แล้ว เขายังทำหน้าที่บริหารจัดการเพื่อให้การปลูกต้นไม้เติบโตอย่างเป็นระบบ ชลธาร เล่าว่า สิ่งที่น้องๆ จะได้จากการนำสินค้าไปขายคือ เรียนรู้ความต้องการของตลาด บริหารพืชผักตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง คือ เมื่อผลิตได้มากพอกับความต้องการในครัวเรือนแล้ว ให้แบ่งนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริม

“เราได้เรียนรู้ความยั่งยืน 3 ข้อ คือ ตัวเรา ชุมชน และโลก  ก็มีบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจจาก สน.ยานนาวา พนักงานจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ และโรงเรียนสุริยวงศ์ จ.ราชบุรี ก็มาเรียนรู้การปลูกผักสวนครัวตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงจากพวกเรา และเรายังส่งผลงานของพวกเราเข้าประกวดในโครงการต่างๆ เช่น รางวัลลูกโลกสีเขียว และโครงการเราได้รับเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายในระดับประเทศด้วย ซึ่งการแข่งขันยังไม่แล้วเสร็จ

‘สวนผักดาดฟ้ากลางกรุง’ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลก

 

นอกจากนี้ เรายังส่งผลงานเข้าแข่งขันกรุงไทยยุววาณิชย์ โครงการให้เด็กๆ ได้คิดเปิดบริษัทสีเขียว เราเปิดบริษัท Popeye green market ปลูกผักสีเขียว ซึ่งพวกเขาได้ติดอันดับ 100  ทีมสุดท้ายของประเทศ และได้รับการประเมินระดับ A ด้วย คณะกรรมการคงรู้สึกดีกับคอนเซ็ปต์หลักของเราก็คือ ปลูกต้นไม้ในใจคน ตามแนวพระราชดำริและหลักทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการสร้างจิตสำนึกรักผืนป่าลงไปในจิตใจคนได้ ซึ่งการรักต้นไม้ การประหยัดพลังงาน เพิ่มพื้นที่สีเขียวก็เป็นนโยบายหลักของโรงเรียนเราอยู่แล้ว เรากำลังคิดพัฒนาแปรรูปอาหาร เช่น ทำชาดอกอัญชัน ทำเห็ดอบแห้งเพื่อเก็บไว้รับประทานได้อีกด้วย” ชลธาร บอก

ติณห์ ไตรตานนท์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เปรม-วริทธิ์ธร รัตนเกษตร และเปรม-ภูมิรพี สวัสดิ์ฤทธิรณ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ช่วยกันเล่าว่า สิ่งที่พวกเขาได้จากการเรียนวิชาเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ การปลูกต้นไม้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ ได้เรียนรู้วิธีการปลูก มีความรู้ว่าพืชผักสวนครัวพันธุ์ไหนควรปลูกอย่างไร

“พวกเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ต่างๆ ว่า ผักชนิดนี้ปลูกได้หรือไม่ รดน้ำอย่างไรพืชพันธุ์จะเจริญเติบโต ทำให้เรามีใจรักด้านธรรมชาติและการปลูกต้นไม้ครับ นอกจากนี้ผมยังได้เรียนรู้การทำน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยชีวภาพ คือการนำเศษผักเศษผลไม้จากร้านอาหารในโรงเรียนประมาณ 3 กิโลกรัม ซึ่งใน 1 วันก็รวบรวมเศษผักผลไม้ได้แล้ว หมักไว้กับหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ลิตร และน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม น้ำเปล่า 10 ส่วน หมักไว้ 3 เดือน ได้น้ำหมัก 1 ถัง เอาไว้รดต้นไม้แทนสารเคมี เพื่อให้ผักงอกงามและปลอดสารพิษ”

‘สวนครัวโภชนฯ’ รพ.จุฬาลงกรณ์

ด้วยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อายุ 100 ปี จากโรงพยาบาลในสวน วันเวลาผ่านไปผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องสร้างตึกเพิ่มมากขึ้นทุกปี พื้นที่สีเขียวและต้นไม้ใหญ่ของบ้านเลขที่ 1873 ลดลงเรื่อยๆ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพแย่ลง ความร้อนเพิ่มขึ้น สภาพอากาศไม่ดี โรงพยาบาลจึงสร้างอาคารขนาดใหญ่ชื่อ “อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์” เพื่อรวมหอผู้ป่วยในและหน่วยงานด้านการแพทย์เข้าไว้ด้วยกัน และนำพื้นที่ของอาคารเก่าที่เสื่อมสภาพแล้วมาปรับเป็นพื้นที่สีเขียวและปลูกต้นไม้ใหญ่ สร้าง Healing Environment ให้กับทุกคน โดยตั้งเป้าว่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวจาก 12 % ในปี 2556 เป็นเกือบ 30% อีก 10 ปีข้างหน้า และเพื่อรองรับจำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้น

‘สวนผักดาดฟ้ากลางกรุง’ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลก

 

สภาพอากาศในเมืองขนาดใหญ่ และภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องตระหนัก และเพื่อเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เริ่มที่จะใช้พื้นที่บนดาดฟ้าหรือ ระเบียงของอาคารปรับเป็นพื้นที่สีเขียว เนื่องจากการปลูกพืชบนอาคารที่ไม่ได้เตรียมโครงสร้างไว้ปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ จึงต้องเลือกพืชที่เหมาะสม ใช้ประโยชน์ได้และดูแลรักษาไม่ยาก จึงเลือกปลูกพืชที่นำมาใช้รับประทานได้บนระเบียงชั้นสองของฝ่ายโภชนวิทยาและโภชนบำบัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบอาหารของผู้ป่วยและบุคลากรทั้งโรงพยาบาล ถือเป็นโครงการแรกของโรงพยาบาล จึงเกิดเป็นการปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษบนระเบียง และเรียกโครงการนี้ว่า “โรงพยาบาลในสวน”

นอกจากได้กินผักจากสวนแห่งนี้แล้ว ยังเป็นพื้นที่ให้ฝ่ายโภชนวิทยาที่ต้องทำงานในพื้นที่ที่มีความร้อนมากจากการประกอบอาหาร สามารถมีพื้นที่พักผ่อน คลายร้อน คลายเครียด และเติมพลังให้ตัวเองกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยลดภาระขยะเปียก เพราะได้นำไปใช้ผสมดินทำให้ดินมีคุณภาพดี ปลูกผักได้งอกงามและช่วยลดความร้อนภายในอาคารได้ดีอีกด้วย

“สวนครัวโภชนฯ” ยังเป็นต้นแบบให้กับบุคลากรของโรงพยาบาลได้เรียนรู้และนำกลับไปปลูกที่บ้านและเผยแพร่ต่อไปอีก ส่งผลให้คนเหล่านี้ได้กินอาหารปลอดภัย มีสุขภาพที่ดี และยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วย ซึ่งสวนแห่งนี้ใช้พื้นที่ที่จำกัดมากๆ เพียง 114 ตารางเมตรเท่านั้น โดยทางโรงพยาบาลได้เชิญกลุ่ม “บิ๊กทรี” เข้ามาสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งให้ความรู้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการสวนครัวโภชนาของโรงพยาบาลจุฬาฯ ยังถือเป็น 1 ใน 6 โครงการจัดทำสวนสาธารณะถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมายุครบ 60 พรรษาอีกด้วย

‘สวนผักดาดฟ้ากลางกรุง’ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลก

 

สำหรับพืชที่นำมาปลูกในแปลงผัก ได้แก่ โหระพา ตะไคร้ ยี่หร่า มะเขือชนิดต่างๆ พริก กะเพรา เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นผักที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนี้ยังมีผักสลัดหลากชนิด ที่ไม่คิดว่าจะปลูกได้บนดาดฟ้ากลางเมือง ซึ่งระยะการทำโครงการหลังจากการเตรียมความพร้อมเรียบร้อยทั้งผู้ปลูกและเตรียมพื้นที่ลงมือปลูกผักต่างๆ ใช้เวลาเพียงเดือนเศษๆ ก็กลายเป็นสวนผักบนระเบียง รวมเวลาทั้งหมด 4 เดือนแล้วของการดำเนินโครงการ

“การปลูกผักบนระเบียงไม่ได้ราบรื่นตลอด เราพบปัญหาคือการปลูกในช่วงหน้าฝนที่ลมแรงและฝนตกหนักทำให้ผักสลัดใบช้ำ เพราะเป็นระเบียงภายนอก ทางโรงพยาบาลกำลังปรับปรุงสถานที่เพิ่มเติม แล้วทางแก้ปัญหาหนึ่งคือเลือกชนิดผักให้ถูกฤดูกาล แล้วเรายังพบปัญหาคือการรดน้ำเป็นประจำทำได้ลำบาก เนื่องจากแหล่งน้ำอยู่ไกล แต่ด้วยใจสู้ของทีมอาสาขนน้ำใส่บัวรดน้ำทำให้พืชผักสวยงาม ปัจจุบันเราต่อท่อทำให้แหล่งน้ำใกล้กับสวนครัวโภชนฯ แล้ว” ผศ.(พิเศษ) นพ.สุรินทร์ อัศววิทูรทิพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้านภาพลักษณ์องค์กร กล่าว

“สวนครัวโภชนฯ” นี้ถือเป็นโครงการแรกของการปลูกผักบนอาคาร แต่บุคลากรที่เกี่ยวข้องก็ดูแลสวนได้เป็นอย่างดี ได้ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายหลัก ทางโรงพยาบาลจึงคิดทำโครงการเพิ่มเติมคือ การรณรงค์ให้บุคลากรเข้าใจการรักสุขภาพ และต้องการขยายพื้นที่และแนวร่วม โดยสามารถนำการเลี้ยงไส้เดือนทำปุ๋ยร่วมกับการปลูกพืชผักและนำตะกอนบำบัดน้ำเลี้ยงมาใช้ในการส่งเสริมลดต้นทุนการปลูก พร้อมสนับสนุนส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่นำไปปฏิบัติในครอบครัว

“โครงการอื่นๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เราคิดจะทำต่อไปคือ การตัดแต่งต้นไม้ใหญ่และรักษาต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุยาวนานต่อไป อีกทั้งเราคิดทำโครงการติดป้ายชื่อสำหรับต้นไม้ใหญ่พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อให้บุคลากร ผู้ป่วยและญาติ ได้เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ รักต้นไม้และรู้จักประโยชน์ของต้นไม้ให้มากขึ้นด้วย” ผศ.(พิเศษ) นพ.สุรินทร์ กล่าว