posttoday

ระวัง(คุณ)อาจเป็นผู้ชายสมาธิสั้น

29 ตุลาคม 2558

เข้าใจมาตลอดว่าภาวะสมาธิสั้นจะมีเฉพาะในเด็กหรือในวัยเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่เองก็เป็นโรคสมาธิสั้นได้เหมือนกัน ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

โดย...ตุ้ย แมงโก้หวาน ภาพ about-dyslexia.co.uk

เข้าใจมาตลอดว่าภาวะสมาธิสั้นจะมีเฉพาะในเด็กหรือในวัยเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่เองก็เป็นโรคสมาธิสั้นได้เหมือนกัน ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง ที่น่าห่วงคือหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคสมาธิสั้น และผู้ที่เป็นโรคนี้หากไม่รู้ตัวและหรือรู้แต่นิ่งเฉยไม่รักษา ชีวิตอาจล้มเหลวหรือไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะในเรื่องของการทำงาน ความรัก ชีวิตครอบครัว เป็นต้นได้

ลักษณะและอาการบ่งชี้ภาวะสมาธิสั้น

บุคคลที่เป็นจะมีประวัติบ่งชี้ว่ามีสมาธิสั้นตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก เช่น ตอนเล็กๆ มีพฤติกรรมซน อยู่ไม่นิ่ง ไม่ตั้งใจเรียน หงุดหงิดโมโหง่าย วอกแวก ฯลฯ และไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง จึงทำให้อาการยังคงปรากฏไม่มากก็น้อย (มีประมาณ 40%) โดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมและอารมณ์ บางคนยังคงรับประทานยา แต่บางคนก็ไม่ได้รับประทานขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการ ส่วนอีกพวกหนึ่งอาการจะแย่มากขึ้น (ประมาณ 30%) ถึงขั้นประพฤติผิดกฎหมายทุกรูปแบบ สามารถสร้างความรุนแรงให้สังคมได้ถึง 50% ของความรุนแรงที่เกิดขึ้น

อาการที่เป็นและสามารถเห็นได้ คือ ใจร้อน โผงผาง อารมณ์ขึ้นลงเร็ว โกรธง่าย หายเร็ว มักมีเรื่องรุนแรงกับบุคคลที่ตนไม่พอใจ หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่คิดก่อนทำ ทำตามใจชอบ ทนกับความเครียดหรือสิ่งที่ทำให้คับข้องใจได้น้อย วอกแวกง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิระหว่างเรียนและในการงาน รอคอยอะไรนานๆ ไม่ค่อยได้

นอกจากนี้ มักทำงานหลายๆ ชิ้นในเวลาเดียวกัน แต่มักทำไม่สำเร็จแม้แต่ชิ้นเดียว ไม่รู้จักแบ่งเวลา ขาดความสามารถในการบริหารจัดการเวลาที่ดี ชอบผัดวันประกันพรุ่ง นั่งอยู่นิ่งๆ ไม่ได้นาน ชอบเขย่าขาหรือลุกเดินบ่อยๆ หรือพูดโทรศัพท์มือถือแม้ในขณะขับรถโดยไม่เกรงกลัวอุบัติเหตุ เบื่อง่าย หรือต้องการสิ่งเร้าอยู่เสมอ ไม่มีระเบียบ ห้องหรือบ้านรกรุงรัง

เปลี่ยนงานบ่อย เนื่องจากความผิดพลาดในการทำงานที่เกิดจากความสะเพร่า ไม่เอาใจใส่ หรือมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา มาสาย ผิดนัด ลืมทำเรื่องสำคัญๆ อยู่เสมอ เคร่งครัดเฉพาะเรื่องที่ตนชอบเท่านั้น มีปัญหากับบุคคลรอบข้าง ญาติพี่น้อง หัวหน้าหรือผู้ร่วมงานบ่อยๆ ชอบขับรถเร็วมากจนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุและทะเลาะวิวาท ชอบใช้จ่ายเงินโดยไม่ยั้งคิด มักสร้างหนี้สินต่อเนื่อง และชอบคุยโอ้อวดความสามารถของตน

ข้อแนะนำและวิธีการรักษา

ถ้ารู้ว่าตัวเองมักมีอารมณ์หุนหันพลันแล่นและมีพฤติกรรมตามที่กล่าวมาประจำ อย่างแรกควรไปปรึกษาจิตแพทย์ ผู้ใหญ่บางรายต้องใช้ยาช่วย ในกรณีก้าวร้าวรุนแรง อารมณ์แปรปรวนหรือซึมเศร้า ต่อต้านสังคมหรือมีพฤติกรรมอันธพาล โดยต้องรับประทานยาสม่ำเสมอทุกวัน หากมีอาการแย่ลงต้องรีบพบแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยา หรือพบนักจิตวิทยาและเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มตามกำหนดเพื่อการผ่อนคลายและเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาและวิธีดำรงชีวิตที่เหมาะสมกับตนเอง ต้องยอมรับความเป็นจริงโดยหันหน้าเข้าวัดให้มากขึ้น และพยายามปฏิบัติตามหลักทาน ศีลและภาวนา ทุกวันเท่าที่จะทำได้จนเกิดความเคยชิน ถ้าปฏิบัติได้ 51% ถือว่าสอบผ่าน

นอกจากนี้ ให้ทำงานที่ถนัดที่สุดและเหมาะสมที่สุด เช่น ไม่ต้องใช้กระบวนการบริหารจัดการ ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อนในขั้นตอนการทำ ไม่ต้องวางแผน ฯลฯ ให้เลือกทำงานที่ต้องใช้คำพูดโน้มน้าว เช่น งานการตลาดและงานขาย งานพานักท่องเที่ยวไปเที่ยว งานถ่ายรูปนอกสถานที่ ทำกิจกรรมสนุกๆ เช่น วาดภาพ ดูหนังฟังเพลง ฯลฯ

หาเพื่อนที่เข้าใจ ใจดีและอารมณ์เย็น พูดความจริงกับเพื่อนและขอให้เพื่อนช่วยเตือนหรือส่งสัญญาณเวลาทำอะไรไม่เหมาะสม ระบายความคับข้องใจกับบุคคลที่รักหรือมีเมตตาต่อตนเพื่อขอความช่วยเหลือหาหนทางแก้ไขปัญหา ความวิตกกังวลจะได้ทุเลาเบาบางลง และพยายามคิดในทางบวกเพื่อเป็นการให้กำลังใจตนเอง เพิ่มทักษะทางสังคมด้วยการหาหนังสือมาอ่านและปฏิบัติตาม เช่น หนังสือสมบัติผู้ดี ซึ่งมีความสำคัญในการสอนทักษะทางสังคม

ลองสังเกตตัวเองว่ามักมีอาการและชอบแสดงพฤติกรรมดังที่กล่าวหรือเปล่า ถ้าเป็นควรรีบไปพบจิตแพทย์ หรือสามารถติดต่อนัดหมายนักจิตวิทยาที่ชมรมผู้ปกครองบุคคลสมาธิสั้นแห่งประเทศไทยได้ที่โทร. 02-932-8439