posttoday

ลูกเราอึดพอมั้ย? กับการเรียนแบบจีน

20 กันยายน 2558

เมื่อไม่นานมานี้ BBC ได้ทำสารคดีเรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า Are our kids tough enough? Chinese School เป็นสารคดี

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

เมื่อไม่นานมานี้ BBC ได้ทำสารคดีเรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า Are our kids tough enough? Chinese School เป็นสารคดีเชิง Reality Show โดยการเชิญครูจีน 5 ท่าน เข้ามาสอนเด็กนักเรียนอังกฤษชั้นมัธยม 3 ที่โรงเรียนโบฮันท์ ในมณฑลแฮมพ์เชียร์ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามรูปแบบเดียวกับโรงเรียนที่จีนทุกกระเบียดนิ้วเป็นเวลา 4 สัปดาห์

รูปแบบเดียวกับโรงเรียนที่จีน ไม่ได้หมายถึงแค่หลักสูตร แต่ยังหมายถึงชั่วโมงการเรียน 12 ชั่วโมง/วัน (จาก 7 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม) จำนวนนักเรียนในชั้น (50 คน/ห้อง) กิจกรรมออกกำลังกายยามเช้าหน้าเสาธง รวมถึงการเคารพธงชาติ (จีน+อังกฤษ)

รายการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความอยากรู้อยากเห็นลอยๆ แต่เกิดจากกระแสความรู้สึกว่าการศึกษาอังกฤษถอยหลังจนทำให้นักเรียนสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันกับสังคมโลก โดยเฉพาะกับนักเรียนเอเชีย เช่น จีน

และความรู้สึกนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ อีกเช่นกัน แต่เกิดจากผลการสอบประเมินนักเรียนนานาชาติ ที่มีชื่อย่อว่า PISA (Programme for International Student Assessment) โดยผลการสอบของนักเรียนอังกฤษในระยะหลังจัดอยู่ในอันดับตกต่ำ ขณะที่ของนักเรียนจีนสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก

การสอบ PISA จัดสอบขึ้นใน 34 ประเทศสมาชิก กับอีก 31 ประเทศพันธมิตร ซึ่งจัดทุก 3 ปี ข้อสอบเน้นเนื้อหา 3 วิชาหลัก ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน (ภาษาศาสตร์) โดยเน้นในเรื่องการนำสิ่งที่ได้เรียนในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในชีวิตหรือสถานการณ์จริง

คณะกรรมการที่ออกข้อสอบ PISA มุ่งเน้นให้การสอบ PISA ไม่จำเป็นต้องใช้การกวดวิชา แต่เป็นในแนวแบบทดสอบที่ต้องวิเคราะห์และประมวลผลมากกว่า เช่น ในการวัดทักษะการอ่าน ก็วัดว่าสามารถทำความเข้าใจเอกสาร หรือคู่มือสักเล่มเข้าใจหรือไม่

เพราะฉะนั้น การสอบ PISA นี้ จะเรียกว่าสอบแบบท่องจำคงไม่ได้

และผลการสอบ PISA ไม่ได้มุ่งเน้นการวัดผลรายบุคคล แต่เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ระดับชาติ

การสอบครั้งหลังสุดเมื่อปี 2012 คะแนนสูงสุดของโลกในทั้ง 3 วิชา อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน (ซึ่งในปี 2009 ก็ได้อันดับ 1 ทั้งหมดเช่นกัน) ในขณะที่อังกฤษอยู่อันดับที่ 26 ในวิชาคณิตศาสตร์ 20
ในวิชาวิทยาศาสตร์ และ 23 ในวิชาการอ่าน

ก่อนหน้ารายการ Are our kids tough enough? Chinese School จะออกอากาศ วงการศึกษาและสื่อต่างๆ ของอังกฤษจึงได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการศึกษาของอังกฤษเปรียบเทียบกับของจีน บ่มเพาะอารมณ์ไว้เรียบร้อยแล้ว หลากหลายความเห็นของชาวอังกฤษแสดงถึงความหดหู่ในระบบการศึกษาของอังกฤษเองที่ความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์กำลังถดถอย และไม่สามารถเข้าไปแข่งขันในระดับโลกได้อีกต่อไป บางคนให้คำนิยามการศึกษาอังกฤษว่าเป็นการศึกษาแบบต่อต้านคณิตศาสตร์

ความเห็นแบบนี้อาจจะเป็นที่ประหลาดใจของชาวไทยอยู่ไม่น้อย ซึ่งมีภาพฝังอยู่ในจิตสำนึก หรืออาจถึงใต้สำนึกกับค่านิยมที่ว่าการศึกษาตะวันออกล้าหลัง ตะวันตกพัฒนา หรือเรียนต่อเมืองฝรั่งได้จึงเก่ง อีกทั้งมหาวิทยาลัยเก่าแก่และชื่อดังของอังกฤษก็มีอยู่ไม่น้อย นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลก็มีแต่ฝรั่ง

ไหงชาวอังกฤษถึงรู้สึกว่าตัวเองต้อยต่ำได้

แต่หากนำคะแนนการสอบ PISA กับแนวโน้มชาวจีนหัวกะทิที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มาพิจารณา หากชาวอังกฤษไม่ตื่นตัวครั้งนี้ ก็เท่ากับรอความตายอีกครั้งบนเวทีแห่งการดำรงชีพในโลก (ด้านความเป็นผู้นำของโลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็โดนอเมริกาแซงหน้าไปครั้งหนึ่งแล้ว)

จนนำมาสู่มาตรการที่ให้ครูอังกฤษเข้าไปศึกษาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่จีน และแปลตำราเรียนคณิตศาสตร์ของจีนไปใช้

กลับมาที่สารคดี Are our kids tough enough? Chinese School ในระยะเวลา 4 อาทิตย์ที่ครูจีนสอนเด็กนักเรียนอังกฤษ เรียกได้ว่า “เละเทะ” ครับ

ด้านเนื้อหานักเรียนอังกฤษแทบไม่รับรูปแบบและความรวดเร็วในการสอนจากครูจีนเลย การสอนวิทยาศาสตร์ที่ครูคอยบอกผลการทดลองบนกระดาน แต่ไม่ได้ทดลองจริงๆ การเรียนคณิตศาสตร์ที่เต็มไปด้วยสูตรและความเข้าใจสำเร็จรูปที่ครูจีนถ่ายทอดให้ นักเรียนอังกฤษก็ตามไม่ทัน หรือแม้แต่การสอน Grammar ภาษาอังกฤษจากครูจีน ก็ทำให้นักเรียนงงงวยว่าโลกนี้มันมีศัพท์คำว่า Swam ด้วย (Verb ช่อง 3 ของ Swim)

นอกจากนั้น ในห้องเรียนยังเต็มไปด้วยพฤติกรรมนอกลู่นอกทางของนักเรียน ซึ่งเนื่องมาจากรู้สึกว่าการสอนจากครูจีนไม่เห็นพวกเขาอยู่ในสายตา ต่อว่าว่าพวกเขาขี้เกียจบ้าง โง่บ้าง พวกเขาไม่มีสิทธิทำอะไรทั้งนั้นนอกจากเรียน เด็กนักเรียนเต็มไปด้วยความเบื่อหน่ายที่ต้องเรียนต่อเนื่องยาวนานถึง 12 ชั่วโมงต่อกัน รวมถึงการเรียนที่เร่งให้ความรู้กับนักเรียนอย่างรวดเร็ว เร็วเกินจนเด็กที่เรียนดีที่สุดในห้องยังตามไม่ทัน นักเรียนส่วนใหญ่ในห้องบ้างก็หลับบ้างก็ป่วน

หรือแม้แต่ในวิชาพละ ซึ่งในจีนวิชาพละเป็นวิชาบังคับที่เข้มข้นกว่าประเทศอื่น เด็กนักเรียนมัธยม 3 ทุกคนจะต้องผ่านการวิ่งในระยะทาง 1,000 ม. สำหรับนักเรียนชาย และ 800 ม. สำหรับนักเรียนหญิงภายในเวลา 3 นาที (ขนาดนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนยังต้องวิ่งเพื่อเก็บคะแนนให้ผ่านเกณฑ์)

แต่กับนักเรียนอังกฤษห้องนี้ การต้องวิ่งให้ผ่านเกณฑ์ทำให้นักเรียนบางคนรู้สึกท้อถอยจนร้องไห้ เมื่อรู้สึกตัวว่าตัวเองเป็นผู้แพ้ จนครูอังกฤษต้องเข้ามาปลอบใจ แล้วนักเรียนคนนี้ได้พบคุณค่าของตัวเองต่อเมื่อได้เป็นที่หนึ่งในการแก้เกมปริศนา และได้สอนให้คนอื่นๆ แก้เกมปริศนาในห้องเรียน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สารคดี Reality ชุดนี้มีความดราม่าแฝงอยู่ไม่น้อย และเพื่อจะให้ครบสูตรต้องมีฉากครูร้องไห้ ท้อถอยกับการสอนเด็ก และตอนจบที่น่าประหลาดใจ ซึ่งก็คือผลการสอบวัดผลของนักเรียนในห้องนี้ดีกว่านักเรียนห้องอื่น

อันที่จริงคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาที่ทยอยออกมาส่วนใหญ่หลังจากสารคดีชุดนี้ออกฉายเป็นไปในทำนองเดียวกัน คือที่เห็นในสารคดี ไม่ใช่ตัวแทน ครู นักเรียน และการศึกษาของจีนหรืออังกฤษที่แท้จริง

ซึ่งก็ไม่น่าแปลกแต่อย่างใด เพราะขณะที่ผมรู้สึกว่านักเรียนจีนที่ผมเคยพบเจอขยันขันแข็งมาก แต่ประสบการณ์ของเพื่อนที่ได้สอนนักเรียนจากในอีกมณฑลหนึ่งกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และอันที่จริงหนึ่งในครูจีนที่ร่วมรายการก็บอกกับสื่อจีนว่า การสอนในโรงเรียนที่เขาสอนในจีนไม่ได้สอนวันละ 12 ชั่วโมงเหมือนในสารคดี

ฝั่งนักการศึกษาอังกฤษก็ออกโรงมาว่า การศึกษาในอังกฤษก็มีโรงเรียนที่เคร่งครัดและเคี่ยวเข็ญ และเด็กๆ มีวินัยในการเรียนกว่าชั้นเรียนที่เห็น

เอาเป็นว่ากลุ่มการศึกษาของแต่ละฝั่งต้องออกมาแก้ตัวกันเบาๆ ท่ามกลางเสียงต่อว่าต่อขานการศึกษาของคนในประเทศตัวเอง ว่าการศึกษาของประเทศตัวเองต้องปรับไปเป็นแบบอีกฝ่ายบ้างแล้ว ตามสไตล์ลางเนื้อชอบลางยา

อย่างไรก็ตาม ดราม่าในสารคดีชุดนี้ก็สะท้อนปัญหาและความวิตกกังวลในการศึกษาของทั้งสองประเทศได้อย่างน่าสนใจ

ธรรมชาติของคนเราย่อมเห็นสิ่งที่เอื้อมถึงยากกว่าว่าน่าสนใจกว่า และเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ชัดกว่าปัญหาที่คนอื่นเผชิญอยู่ ผมเองก็เช่นกัน ที่เคยเห็นว่าการศึกษาแบบเอเชียมีปัญหา

กับความเห็นด้านปัญหาการศึกษา ซึ่งบ้านเราถกกันมานาน ก็ย่อมวนเวียนอยู่กับการต่อว่าต่อขานการศึกษาในส่วนที่คล้ายๆ ของไทย แล้วเทิดทูนอะไรที่เรายังไม่มี จนเมื่อได้ฟังคำชาวอังกฤษต่อว่าการศึกษาเขาเอาเอง จึงได้รู้ว่าปัญหาของเขาก็ใช่ย่อย เสียงสะท้อนจากอังกฤษบ้าง กล่าวว่า การศึกษาของอังกฤษมัวแต่หาข้ออ้างให้ตัวเองในความหย่อนยานและไร้ประสิทธิภาพ

สารคดีชุดนี้ทำให้ฝั่งจีนและฝั่งอังกฤษถกกันได้อีกมาก เพราะระบบการศึกษายังผูกพันไปถึงค่านิยมของครอบครัว คนในชาติ จนถึงการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งแก้ไม่ได้ด้วยอะไรง่ายๆ สั้นๆ ด้วยการลอกเลียนประเทศอื่น

จึงขอเป็นกำลังใจให้กับคนที่ทำงานด้านนี้ในประเทศไทยเราด้วยครับ

(สำหรับประเทศไทยเรา คะแนนสอบ PISA อยู่อันดับที่ 40 ปลายๆ ครับ)