posttoday

สุภาพร วงษ์ถ้วยทอง เพิ่มคุณค่าให้เสื้อยืด ‘เสื้อบุญ’

14 กันยายน 2558

จากเสื้อยืดคอกลมธรรมดากลายเป็นเสื้อตัวพิเศษ เพราะนอกจากจะมีเพียงตัวเดียวบนโลก

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ สุภาพร วงษ์ถ้วยทอง

จากเสื้อยืดคอกลมธรรมดากลายเป็นเสื้อตัวพิเศษ เพราะนอกจากจะมีเพียงตัวเดียวบนโลก คนใส่ยังได้ทำบุญทางอ้อม ไอเดียดีๆ นี้เป็นของดีเจสาว บูม-สุภาพร วงษ์ถ้วยทอง เจ้าของแบรนด์ “เสื้อบุญ” ที่ถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียอยู่ในขณะนี้

บูมเล่าถึงที่มาที่ไปว่า มันเกิดจากการคิดต่าง เพราะถ้าคิดจะทำเสื้อยืดขายก็ต้องมีอะไรที่แตกต่างจากเสื้อยืดทั่วไป เธอจึงร่วมทุนกับพี่อีกคนที่ทำเสื้อยืดขายอยู่แล้ว ด้วยการนำเสนอคอนเซ็ปต์เสื้อบุญ “เราไม่หวังทำกำไรจากการขายเสื้อยืดอยู่แล้ว ก็เลยถามพี่เขาว่า ถ้าแบบนั้นนำเงินไปทำบญกันไหม บูมก็เลยตั้งชื่อง่ายๆ ว่าเสื้อบุญ แปลตรงตัวคือ เสื้อที่ใส่แล้วได้บุญ หมายความว่าเงินที่คุณซื้อเสื้อหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะนำไปบริจาคให้มูลนิธิต่างๆ”

สุภาพร วงษ์ถ้วยทอง เพิ่มคุณค่าให้เสื้อยืด ‘เสื้อบุญ’

 

เสื้อบุญเปิดขายออนไลน์ครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย. 2558 แต่มีการบอกต่อกันในโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊กและไลน์ในเวลาอันรวดเร็ว “บูมไม่ได้ทำพีอาร์อย่างเป็นทางการ แค่ให้เพื่อนๆ ในวงการวิทยุและเพื่อนๆ ดาราใส่แล้วอัพภาพขึ้นในอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก ทำให้มีคนรู้จักเสื้อบุญมากขึ้นเรื่อยๆ”

นอกจากนี้ คุณภาพของเสื้อเองก็มีดีของมันโดยเฉพาะเนื้อผ้าที่หนาและนุ่ม ซึ่งเธอเป็นคนไปเลือกเองกับมือ “บูมเองก็ชอบใส่เสื้อยืดยังรู้สึกว่าอยากใส่เสื้อที่ใส่แล้วสบาย ก็เลยทำเสื้อยืดที่เน้นความนุ่มของผ้า ใส่แล้วไม่ร้อน ใส่ได้เรื่อยๆ ทำให้ลูกค้าชื่นชมมาก บางคนกลับมาสั่งอีก 4-5 ตัว มันก็เลยกลายเป็นการบอกปากต่อปากว่าเสื้อบุญดี”

สุภาพร วงษ์ถ้วยทอง เพิ่มคุณค่าให้เสื้อยืด ‘เสื้อบุญ’

 

เมื่อได้ภาพที่ถูกใจแล้ว จากนั้นก็เป็นเรื่องลายเสื้อ ช่วงแรกเธอใช้คำว่า Blur ที่มีความหมายดีๆ แฝงอยู่ “เรามองเห็นอะไรชัดแจ๋วแต่เวลาเห็นเสื้อตัวนี้แล้วมันเบลอ ในขณะที่ยังมีคนอีกเยอะแยะมากมายที่มองอะไรไม่ชัดแต่ไม่มีทุนทรัพย์ไปตัดแว่นหรือดูแลรักษาดวงตา เราก็เลยนำเงินจากการขายเสื้อเบลอไปมอบให้แก่มูลนิธิแว่นแก้ว สอดคล้องกับคำว่าเบลอที่เราทำขึ้นมา”

ความคิดของคนรุ่นใหม่ที่เลือกใช้ศัพท์โดนใจและการหาความหมายให้คำนั้นทำให้เสื้อบุญกลายเป็นที่รู้จักและยิ่งดังเมื่อบูมเปลี่ยนจากคำว่าเบลอเป็นคำที่พิเศษมากขึ้น

“หลังจากคำว่าเบลอเราก็ทำคำว่าเด็กหญิงกับเด็กชาย เพราะจะนำเงินที่ได้ไปบริจาคให้มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ.ฯ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสะท้อนว่ายังมีเด็กๆ ที่ยังขาดโอกาสอยู่ จากนั้นก็มีคนอยากปักชื่อของตัวเองเราก็ทำให้ กลายเป็นว่ามีคนสั่งเสื้อปักชื่อเยอะมาก หลายคนชอบเพราะเราไม่ได้ปักใหญ่มาก แต่ปักเหมือนเสื้อนักเรียนที่เคยใส่ตอนประถม เราก็ขายดีได้เรื่อยๆ ค่ะ”

สุภาพร วงษ์ถ้วยทอง เพิ่มคุณค่าให้เสื้อยืด ‘เสื้อบุญ’

ตอนนี้เสื้อบุญอยู่ในวงการเสื้อยืดมาได้ 6 เดือน แต่บูมก็ยังทำเองอยู่โดยคิดร่วมกับรุ่นพี่อีกคน “บูมไม่สามารถไปร้านตัดเสื้อหรือร้านปักด้วยตัวเองได้ตลอด ก็มีพี่ที่ทำด้วยกันคอยดูแลการผลิตให้ แต่บูมจะเป็นคนรับออร์เดอร์ เป็นคนโปรโมท และเป็นคนดูว่าจะทำอะไรต่อไปด้วย”

สินค้าตัวใหม่ที่เพิ่งออกมาคือ กระเป๋าผ้า จุดเริ่มต้นมาจากตัวเธอที่ชอบหอบของพะรุงพะรังมาจัดวิทยุ เพราะการเป็นดีเจไม่มีออฟฟิศไม่มีโต๊ะทำงานของตัวเอง เธอจึงตัดกระเป๋าผ้าธรรมดาๆ ขึ้นมา ทำจากผ้าดิบแต่ทนและใช้งานได้ เป็นการตอบโจทย์ตัวเอง จากนั้นก็สกรีนลายเป็นชื่อตัวเอง พอคนอื่นเห็นภาพกระเป๋าที่เธออัพขึ้นอินสตาแกรมก็กลายเป็นว่าอยากได้บ้าง

“พอคนเห็นเราใช้แล้วก็ชอบ บอกว่าน่ารัก อยากมีถุงผ้าของตัวเอง และโรงเรียนสมัยนี้ก็อยากให้เด็กนักเรียนใช้ถุงผ้า เราก็เริ่มเปิดออร์เดอร์เป็นชื่อคน มันก็พอขายได้” แต่การทำถุงผ้าสกรีนลายมันมีขั้นตอนยากกว่า เพราะต้องทำบล็อก ส่งสกรีน ยังไม่รวมการทำกระเป๋า แต่เธอก็ยังอยากลองทำขายดูซึ่งคนซื้อจะได้บล็อกชื่อนั้นกลับไปด้วย

สุภาพร วงษ์ถ้วยทอง เพิ่มคุณค่าให้เสื้อยืด ‘เสื้อบุญ’

 

ไอเดียปักชื่อคนลงบนเสื้อผ้าและสกรีนลงกระเป๋าเป็นเหตุผลที่มีคนซื้อจำนวนมาก เพราะคนอยากมีของที่บ่งบอกความเป็นตัวตน และรู้สึกว่าสิ่งนั้นพิเศษกว่าทั่วไป เธอยกตัวอย่างลูกค้ารายหนึ่งที่กลับมาสั่งเสื้อบุญอีกหลายตัว เพราะต้องการปักชื่อสามีทำเป็นชุดยูนิฟอร์มให้สามีใส่ไปทำงาน หรืออย่างเธอเองก็เป็นคนที่ชอบใช้ของที่ “เป็นของเรา” อยู่แล้ว เธอกล่าวว่า “พอบูมไปเห็นของที่มีแค่ตัวอักษรตัว B ตัวหนึ่งเราก็อยากสั่งแล้วเพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของเรา เพราะเราชื่อบูมเนอะ ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า เคสโทรศัพท์ ถ้ามีตัวบีอยู่เราก็อยากได้”

นอกจากสัญลักษณ์บนเสื้อที่ดึงดูดคน ราคาก็เป็นปัจจัยสำคัญ เธอกล่าวว่า ราคาขายเสื้อบุญตัวละ 450 บาท มันไม่สูงมากถ้าเทียบกับทุน “บูมไม่คิดกำไรมากมาย เพราะเงินที่ได้ก็นำไปทำบุญ ตอนนี้ทำบุญไปได้ประมาณ 2.3 หมื่นบาทแล้ว”

สุภาพร วงษ์ถ้วยทอง เพิ่มคุณค่าให้เสื้อยืด ‘เสื้อบุญ’

 

นอกจากนี้ เธอยังมั่นใจว่าเสื้อยืดของเธอคุณภาพดีสมกับราคา เพราะเสื้อที่เธอขายก็คือเสื้อที่เธอใส่ “บูมนำตัวเองไปเป็นบรรทัดฐานว่าเวลาเราใส่เสื้อแล้วก็อยากใส่สบาย นิ่มๆ ดังนั้นผ้าทุกพับที่สั่งตัดบูมจะเป็นคนดูเองทุกครั้ง” ด้วยความใส่ใจคุณภาพทำให้เสื้อบุญขายได้เรื่อยๆ มีคนสั่งทุกสัปดาห์ ซึ่งเธอก็อยากให้เสื้อบุญโตไปเรื่อยๆ

สำหรับการสั่งออร์เดอร์ เธอใช้โซเชียลมีเดียอย่างไลน์และเฟซบุ๊กเป็นช่องทางการสื่อสาร และจัดส่งสินค้าทางไปรษณีย์ “สมัยนี้การขายของมันง่ายมาก อยากขายอะไรก็ลงโปรโมทในโซเชียลมีเดีย แต่บูมก็คิดว่าหน้าร้านสำคัญนะคะ อย่างลูกค้าก็มีคำถามว่าเนื้อผ้าเป็นยังไง ไซส์เสื้อขนาดไหน ปักชื่อได้แบบไหนบ้าง เพราะขนาดเราเองเวลาซื้อของก็ยังอยากรู้เลย แต่สิ่งที่ทำได้เวลาขายของออนไลน์คือ บูมจะเป็นคนตอบไลน์เองและให้ความมั่นใจกับเขาไปว่าเสื้อของเราดีจริงๆ นะ แต่หากซักเครื่องก็อาจมีหดบ้างเราก็บอกตรงๆ ไป”

สุภาพร วงษ์ถ้วยทอง เพิ่มคุณค่าให้เสื้อยืด ‘เสื้อบุญ’

คอนเซ็ปต์เสื้อบุญทำให้คนใส่ได้รับ 2 อย่างคือ ใส่แล้วได้บุญ และได้ครีเอทลวดลายของตัวเอง ของที่เธอขายจึงไม่ใช่เสื้อแฟชั่นเก๋ๆ ที่หาซื้อได้ทั่วไปในตลาด แต่มันคือเสื้อยืดตัวหนึ่งที่แสนจะธรรมดาแต่จะไม่ตกกระแสไปตามแฟชั่น

“จริงๆ แล้วลูกค้าสามารถซื้อเสื้อยืดแล้วนำไปปักชื่อเองก็ได้ แต่ที่ยังสั่งของบูมเพราะเขาจะได้ทำบุญด้วย” ดังนั้นเวลาคนซื้อเสื้อบุญไปไม่ได้ฟีดแบ็กกลับมาแค่คำชื่นชม แต่ยังพ่วงมากับคำว่า “อนุโมทนา” ที่ทำให้สุขใจทั้งคนขายและคนซื้อ