posttoday

ชีวิตจริงนายอำเภอจีน กับการโกงกินถูกกฎหมาย

13 กันยายน 2558

อำเภอคือหน่วยการปกครองย่อยสุดของจีน นายอำเภอในประวัติศาสตร์จีน ก็คือ ตำแหน่งราชการ

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

อำเภอคือหน่วยการปกครองย่อยสุดของจีน นายอำเภอในประวัติศาสตร์จีน ก็คือ ตำแหน่งราชการจากส่วนกลางที่มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ส่วนย่อย จัดเป็นข้าราชการที่ชาวบ้านจีนสัมผัสได้มากที่สุด

ระบบนายอำเภออยู่คู่กับระบบราชการจีนมามากกว่า 2,000 ปี มีมาตั้งแต่ก่อนประเทศจีนจะถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวได้ด้วยซ้ำ

ขอขยายความก่อนว่า ภาพของคำว่านายอำเภอของระบบราชการจีนโบราณ อาจไม่ตรงกับภาพนายอำเภอไทยเท่าไหร่นัก เพราะอำเภอในจีนมีขนาดใหญ่กว่าอำเภอในไทยอยู่หลายเท่า

นายอำเภอจีนโบราณนั้นมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขชาวบ้านและช่วยงานราชการ จะว่าไปก็ทำหน้าที่แทบทุกอย่างที่รัฐพึงกระทำในอำเภอ ทั้งจัดการเรื่องที่นา แบ่งสรรปันน้ำ เก็บภาษี หรือพิพากษาคดีต่างๆ เรียกได้ว่า ครบหมดในคนเดียว แต่เพราะประชากรจีนสมัยก่อนยังไม่เยอะมาก โดยเฉพาะในท้องถิ่นบ้านๆ หากไม่ได้มีภัยแล้ง ภัยอดอยาก แต่ละอำเภอก็จะเกิดเรื่องไม่มากนัก จึงจัดว่าเป็นงานราชการสบายๆ

ส่วนที่อาจจะไม่สบายอย่างที่เราคิดไว้ก็คือ สภาพเศรษฐกิจส่วนตัวของนายอำเภอ

นายอำเภอจีนมีเงินเดือนที่ได้จากทางราชสำนักไม่มากนัก หากคิดเป็นเงินสมัยนี้ก็ตกเดือนละเพียง 6,000-1 หมื่นบาท (แตกต่างกันไปตามยุคสมัย แต่โดยส่วนใหญ่ของประวัติศาสตร์จีน จะไม่หนีไปจากนี้นัก)

เงินส่วนนี้อันที่จริงก็ดูเหมือนพอประทังชีวิตได้ แต่แนวคิดการให้ค่ารับราชการสมัยก่อนต่างกับปัจจุบันลิบลับ เสื้อผ้าประจำตำแหน่ง ค่าเดินทาง ล้วนรวมอยู่ในเงินเดือนของนายอำเภอหมด

ณ วันแรกที่ถูกสั่งให้ไปรับราชการ ณ แดนไกล ก็ต้องใช้เงินเดือนนี่แหละซื้อเสื้อผ้าและออกค่าเดินทางไปเองตั้งแต่วันนั้น หากเสื้อผ้าทรุดโทรมก็ต้องออกเงินซ่อมหรือซื้อใหม่เอง และเมื่อโดนราชสำนักเรียกตัว หรือต้องย้ายไปรับราชการที่อื่น ก็ต้องออกเงินเดินทางเองทั้งสิ้น และไหนจะเงินที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัวที่ทิ้งไว้ที่บ้านเกิด ก็มาจากส่วนนี้เช่นกัน นายอำเภอจีนสมัยโบราณจึงไม่มีสวัสดิการใดๆ แบบที่นายอำเภอสมัยใหม่มี

เท่านี้ฟังดูเหมือนว่า ถ้านายอำเภอจีนแสนประหยัด ก็น่าจะยังพออยู่ได้ เพราะสังคมเกษตรกรรม ค่าครองชีพเรื่องอาหารปากท้องน่าจะไม่มากนัก

หารู้ไม่ว่า แม้กระทั่งเลขาฯ ช่วยงานนายอำเภอ ก็ยังต้องเจียดจากเงินเดือนจ้างกันเอาเองด้วยเช่นกัน

ก็นายอำเภอคือบัณฑิตที่สอบรับราชการมาด้วยระบบคัมภีร์คำสอนขงจื๊อ ไม่เคยรู้ระบบการทำบัญชี เก็บภาษี หรือระบบสํามะโนประชากรใดๆ จะทำงานได้จึงต้องมีเลขาฯ ผู้ช่วยมาช่วยเป็นมือเป็นไม้ เลขาฯ ผู้ช่วยนี้ไม่ถือเป็นข้าราชการครับ นายอำเภอจะใช้งานเอง ก็ต้องจัดจ้างจัดหามาด้วยเงินตัวเอง

สรุปว่า เงินเดือนนายอำเภอจีนเป็นระบบเหมา ตั้งแต่ชุดข้าราชการ ค่าเดินทาง ค่าจ้างเลขาฯ และรวมถึงค่าดูแลต้อนรับแขกเหรื่อหรือผู้ตรวจการจากราชสำนักที่มาเยี่ยมเยือน ล้วนเหมารวมอยู่ในเงินเดือน 6,000-1 หมื่นบาทนี้หมด ลำเค็ญมั้ยละครับ

กฎราชสำนักยังกำหนดไว้อีกว่า นายอำเภอต้องรับราชการห่างจากเขตบ้านตัวเองอย่างน้อย 500 ลี้ (250 กม.) แถมหากมีพี่น้องได้เป็นนายอำเภอด้วยกัน ก็ต้องรับราชการในเขตที่ห่างกันเองอีกอย่างน้อยอีก 500 ลี้ และทุก 3 ปี 5 ปี ก็ต้องย้ายไปกินตำแหน่งที่อื่น

ทั้งหมดเพื่อป้องกันการสั่งสมบารมี รวมหัวทุจริตคอร์รัปชั่น หรือแม้กระทั่งก่อกบฏ

ซึ่งหากยกเว้นราชวงศ์ซ่งแล้ว นายอำเภอห้ามนำครอบครัวของตนติดตามไปรับราชการด้วย กลายเป็นว่า หากครอบครัวของนายอำเภอไม่ได้มีฐานะอยู่เดิม ลูกเมียจะต้องคอยดูแลไร่นาที่บ้านเกิด ปล่อยให้นายอำเภอไปรับราชการแดนไกล เรียกได้ว่าลำเค็ญกันทั้งครอบครัว จะบอกว่าทันทีที่ได้รับตำแหน่งนายอำเภอ ก็เหมือนถูกเนรเทศออกจากบ้านเกิดตัวเองก็ไม่ปาน

สาธยายการมาทั้งหมดแล้ว ก็ดูเหมือนว่าการดำรงชีพเป็นนายอำเภอจีนคือระบบประทังชีวิตที่เป็นไปไม่ได้

นายอำเภอจีนจึงต้องการตัวช่วย ซึ่งก็คือท่อน้ำเลี้ยงนอกระบบ

เนื่องจากระบบการจัดเก็บภาษีทั้งข้าวทั้งเงินที่นายอำเภอต้องจัดเก็บในยุคก่อน ล้วนเป็นสิ่งของที่ตกหล่นสูญหายได้ทั้งสิ้น ส่วยภาษีที่ต้องส่งทางการเมื่อมาถึงมือนายอำเภอ จึงถูกเรียกเก็บเพิ่มเติม เป็นค่าความเสี่ยงต่อการตกหล่นเสียหาย

เช่น ราชสำนักเรียกเก็บข้าว 1 กระสอบ/ครอบครัว นายอำเภอก็จะบวกเพิ่มเป็นเรียกเก็บ 1.2 กระสอบ โดย 0.2 กระสอบ คือจำนวนที่เผื่อ มอดขึ้น หนูกิน ตกหล่นเสียหายระหว่างชั่งตวงวัด หรือระหว่างทาง

ระบบนี้ใช้กับทั้งข้าวของและเงินตรา อันที่จริงการตกหล่นระหว่างทางเกิดขึ้นได้จริง แต่ถ้าไม่ตกหล่นขึ้นมา จะถือเป็นรายได้ของนายอำเภอ

ที่ว่าลำเค็ญจึงพลิกกลับเป็นร่ำรวยได้ไม่ยาก เพราะนายอำเภอบางคนเก็บค่าตกหล่นไปเกือบ 40-50% ก็มี

นายอำเภอจีนจึงดำรงชีพกันด้วยวิธีนี้ตลอดมา ที่จะมาหวังเงินทุจริตจากการโกงคดีให้ลูกบ้าน โกงเงินโครงการรัฐ คงหวังเป็นรายได้ประจำไม่ได้ เพราะสมัยก่อนโครงการไม่เยอะ ส่วนคดีความต่างๆ ไม่ซับซ้อน ชาวบ้านจีนส่วนใหญ่เลือกจะจัดการกันเอง ไม่พึ่งราชการ แถมมีความเสี่ยงโดนจับทุจริตอีก

หากเรียกระบบเก็บค่าตกหล่นว่าคือการทุจริต ก็เรียกได้ว่าเป็นทุจริตอย่างเป็นระบบ เพราะนายอำเภอแทบทุกคนล้วนต้องดำรงชีพด้วยวิธีนี้ ไม่งั้นก็คงอดตาย แถมราชสำนักก็ไม่ถือสากับระบบนี้ด้วย

และการทุจริตอย่างเป็นระบบของบรรดานายอำเภอซึ่งเป็นข้าราชการระดับที่ชาวบ้านสัมผัสถึงแบบนี้นี่แหละ ที่ทำให้ชาวบ้านจีนรู้สึกว่าข้าราชการทั้งหมดล้วนทุจริต เห็นๆ อยู่ว่าจ่ายภาษีแค่ 1 กระสอบ แต่เรียกเก็บ 1.2 บ้าง 1.4 บ้าง เป็นค่าตกหล่น ทั้งที่เห็นชัดๆ ว่าตกหล่นไปอยู่ในบ้านนายอำเภอ ชาวบ้านจีนประท้วงการกดขี่รีดไถ ก็เพราะนายอำเภอกดขี่รีดไถก่อนเป็นด่านแรก

ชาวบ้านที่เห็นการทุจริตกับข้าราชการตัวเล็กๆ ที่ใกล้ชิดเป็นประจำ ย่อมจินตนาการและคล้อยตามถึงระบบทุจริตคอร์รัปชั่นระดับสูงได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

อันที่จริงประวัติศาสตร์จีนก็มีนายอำเภอที่ขาวสะอาดอยู่บ้าง เช่น นายอำเภอที่ชื่อ ไห่รุ่ย เป็นต้น

ไห่รุ่ยได้ชื่อว่าเป็นเปาบุ้นจิ้นหน้าขาว คือมีความสัตย์ซื่อตรงไปตรงมา ชั่วชีวิตของเขาสะอาดบริสุทธิ์ ไม่เคยเบียดบังชาวบ้าน หรือฉ้อฉลราชสำนัก

แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของไห่รุ่ยก็ลำเค็ญมิใช่น้อย ในหนึ่งปีจะมีเพียงวันเดียวเท่านั้นที่เขาได้ทานเนื้อ นั่นคือวันเกิดของมารดา

เรื่องไห่รุ่ยใช้ชีวิตอดอยาก กระเบียดกระเสียร ยังโดนบรรดาขุนนางเอาไปโพนทะนาเป็นเรื่องตลก

“เอาเว้ยเฮ้ย รีบบอกทุกคนเร็ว วันนี้ไห่รุ่ยซื้อเนื้อหมูสองชั่งแล้วเว้ย!”

ชีวิตนายอำเภอด้วยเงินเลี้ยงชีพเพียงเท่านั้น กับปณิธานไม่ยอมเบียดเบียนชาวบ้าน ทำเอาไห่รุ่ยกลายเป็นแกะขาวในหมู่แกะดำ

ไห่รุ่ยได้ผลตอบแทนเป็นความชื่นชมและยกย่องบูชาจากชาวบ้านทั้งหลาย แต่สิ่งเจ็บปวดกว่าคือ ความโดดเดี่ยวในวงการข้าราชการ นอกจากถูกล้อเลียนแล้ว เมื่อไห่รุ่ยไปประจำที่อำเภอไหน ข้าราชการในเมืองนั้นต่างขอย้ายหนี เพราะมีไห่รุ่ยอยู่ ก็หมดหนทางทำมาหากิน

เมื่อเทียบกับนายอำเภอจีนสมัยก่อน ข้าราชการสมัยนี้นับว่ามีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากกว่านัก สามารถบอกได้ว่าสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องอ้างว่าทุจริตเพราะชีวิตลำบาก

แต่ทำไมการคอร์รัปชั่นไม่หายไป อาจเป็นความโดดเดี่ยวของข้าราชการสัตย์ซื่อต่างหาก ที่ทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่ทนไม่ได้เหมือนไห่รุ่ย แล้วเลือกที่จะหันหลังให้กับความสุจริต