posttoday

‘เปลี่ยนโลกจากด้านใน’ หัวใจธุรกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่

10 สิงหาคม 2558

เพราะชีวิตที่มีความหมายมิได้มาจากการอยู่โดดเดี่ยว ท่ามกลางสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โดย...พริบพันดาว

เพราะชีวิตที่มีความหมายมิได้มาจากการอยู่โดดเดี่ยว ท่ามกลางสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในยุคแห่งวัตถุนิยมและทุนนิยมเป็นใหญ่ ทำให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันและการตักตวงผลประโยชน์สูงสุดเข้าตัวเองโดยไม่รู้ตัว ผู้คนใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างเร่งรีบและเคร่งเครียด ส่งผลให้เกิดความทุกข์ สับสน และกังวลใจกับชีวิต

ชนชั้นกลางที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตัวเอง ติดอยู่ในบ่วงและกับดักในสังคมที่เร่งรีบบีบคั้น ความเร่งรีบรวดเร็ว และการแข่งขัน แต่มีคนจำนวนไม่มากนักที่กล้าแหวกแหกหลุดออกมาจากกรอบเหล่านี้ของสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจที่เรียกว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม”

ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มุ่งเน้นผลประโยชน์สูงสุดให้กับผู้คนและสังคมในภาพรวม ส่วนการดำเนินธุรกิจนั้นต้องการรายได้เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารเท่านั้น ส่วนหนึ่งจึงจัดโครงการหรือกิจกรรมฟรีที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน

จิตวิญญาณใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 มาดูว่าคนไทยรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นธุรกิจหรือสตาร์ทอัพ ตัวเองด้วยธุรกิจเพื่อสังคม และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงจากภายในของเขาให้มีความสุขในฐานะผู้ให้ที่เท่าเทียมกับผู้รับได้อย่างไร?

‘เปลี่ยนโลกจากด้านใน’ หัวใจธุรกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่

 

‘สุนทรียสนทนา’

Dialogue Oasis เป็นชุมชนการฟังที่ก่อตั้งโดย จิณณ์ณัฏฐ์ พรหมนุรักษ์ นายทหารเรือหนุ่มซึ่งเป็นอาจารย์ประจำวิชาการพัฒนามนุษย์ ฝ่ายศึกษา โรงเรียนนายเรือ เขามีวิถีการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า รวมถึงเป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์ด้านการพัฒนาตนเองที่มีหนังสือออกมาแล้วหลายเล่ม

นอกจากนี้ จิณณ์ณัฏฐ์ เป็นผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand ธุรกิจเพื่อสังคม ในการสร้างการเรียนรู้สู่สมดุลและความสุขในชีวิตผู้คน

“เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่จะเผยแพร่สุนทรียสนทนาออกไปมากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่คนรุ่นใหม่ โดยให้เขาเริ่มหันกลับมามองข้างในตัวเองมากขึ้น หลังจากที่การศึกษาพาพวกเขาไปสู่จุดที่พวกเขามั่นใจตัวเองสูงสุด สุนทรียสนทนาจะทำให้พวกเขามายืนบนพื้นแล้วก็อยู่ร่วมกับความแตกต่างหลากหลายของคนอื่นได้ ร่วมกันปิดช่องว่างระหว่างวัยของสังคมได้ ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ภาคการศึกษาและองค์กรเอกชนมากขึ้น เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่าเติมเต็มภายในใจและเห็นการเปลี่ยนแปลง”

จุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงชีวิต สร้างจิตวิญญาณใหม่เปลี่ยนจากภายใน ก็คือ การที่เขาทะเลาะกับคนทั้งบ้าน และป่วยด้วยโรคเครียดเรื้อรัง

“วันที่ป่วยก็นั่งถามตัวเองว่าเราต้องศึกษาอะไร เรียนรู้อะไร ผมก็ไม่รู้ว่าสุนทรียสนทนาคืออะไร เหมือนกับเวลาเราพูดแล้วเขาฟังเรา เป็นชุมชนที่เขารับฟังเรา เหมือนได้เยียวยาตัวเอง ใครพูดก็รับฟังกัน มันเป็นบรรยากาศที่หาไม่ได้ในเมืองกรุงที่รีบเร่งตลอดเวลา ผมก็เลยตั้งคำถามกับชีวิตว่า ผมต้องการเงินหรือว่าความสุข คำตอบง่ายๆ ก็คือ ความสุข เพราะว่าผมเอาความสุขไปผูกกับเงิน ไม่มีเงินก็ไม่มีความสุข มันใช่ไหม พอกลับมาก็เลยต้องเขียนออกมา ก็รู้สึกว่า ถ้าเรามีอะไรดีๆ แล้วเราแบ่งปัน มันก็เกิดโอกาสใหม่ๆ ขึ้น ผมก็เลยคิดว่ามันมีคนอีกมากมายในกรุงเทพฯ เอง ที่มีต้นทุนแล้วก็ทำไปตามระบบการศึกษาที่สังคมบอกว่าดีเพื่อให้ได้รับการยอมรับ แล้วเราก็ทิ้งอีกโลกหนึ่งไว้เบื้องหลัง คือโลกของคนที่ต้นทุนไม่เท่าเรา ปล่อยให้เป็นโลกของเขา กฎของการอิงอาศัยเราไม่สามารถเก็บเองได้แล้วคนอื่นล้ม ก็เลยขับเคลื่อนจากข้างในว่าอยากให้คนรุ่นใหม่เห็นตรงนี้”

‘เปลี่ยนโลกจากด้านใน’ หัวใจธุรกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่

 

‘กล่องดินสอ’

กล่องดินสอ เป็นชื่อบริษัทจำกัด ที่ไม่ได้ผลิตกล่องดินสอ แต่เป็นองค์กรที่เข้ามาพัฒนาและผลิตอุปกรณ์การศึกษาสำหรับเด็กพิการ และการสร้างความตระหนักเรื่องคนพิการในสังคม ผ่านการจัดกิจกรรมที่เชื่อมโลกระหว่างคนพิการและคนไม่พิการเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารหนุ่ม บอกว่า บริษัทของเขาทำงานด้านคนพิการ โดยมีเป้าหมายว่าอยากเห็นสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม

“สิ่งที่เราทำมีอยู่ 3 ด้าน หนึ่ง ทำอุปกรณ์การศึกษาให้กับเด็กพิการ ต้องการพัฒนาการศึกษาของเขา มีอุปกรณ์ที่ชื่อว่า เล่นเส้น เป็นปากกาที่เขียนสำหรับเด็กตาบอด เขียนและวาดภาพจะเป็นเส้นนูนออกมา การที่เด็กตาบอดวาดรูปได้เป็นสิ่งที่พวกเขามีความภูมิใจมากกว่าปกติ ซึ่งทำขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สอง การสร้างอาชีพให้พวกเขาด้วย และสาม การสร้างความตระหนักให้คนในสังคมมีทัศนคติที่ดีต่อคนพิการ พยายามพาคนพิการให้เข้าไปอยู่ในสังคมมากขึ้น เพราะคนพิการไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับคนพิการ”

จุดเริ่มต้นของบริษัทนี้ ฉัตรชัย บอกว่า เกิดจากตอนเรียนปริญญาโท แล้วเขาไปเป็นอาสาสมัครสอนคนตาบอดที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ

“พอไปสอนการบ้านก็รู้ว่าการเรียนของเด็กตาบอดนั้นยากมาก เพราะมองไม่เห็น ปกติเราเรียนรู้อะไร 60% จะมาจากการมองเห็น เพราะฉะนั้นอุปกรณ์การศึกษาจึงมีความสำคัญมากสำหรับเด็กตาบอด แต่ว่าอุปกรณ์การศึกษาที่โรงเรียนมีส่วนมากเป็นคุณครูทำขึ้นมาเองแบบง่ายๆ เพราะไม่มีความรู้เรื่องการออกแบบและการผลิต ทำให้ใช้ได้แค่ชั่วคราวและไม่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่ เราก็เลยทำไปแจก ซึ่งผมก็จบเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้เรียนดีไซน์มา เอาไปแจกที่โรงเรียน เด็กๆ ก็ชอบ สนุกแต่เล่นแป๊บเดียวก็พังแล้ว เพราะเด็กตาบอดเขาอยากรู้อยากเห็นมาก ก็ซนแกะจนพัง เราก็รู้สึกว่ามีประโยชน์ แล้วคุณครูก็ชอบ เราก็เริ่มหาดีไซเนอร์และพาร์ตเนอร์เข้ามาช่วย พอถึงจุดหนึ่งเรารู้สึกว่าทำแจกอย่างเดียวมันไม่ยั่งยืน ต้องขายบ้านขายรถเพื่อทำไปแจก มันก็ไม่ใช่

“ก็เลยมีการตั้งเป็นบริษัทขึ้นมา พอทำขึ้นมาขายก็ขายได้ ในเมืองไทยบริษัทต่างๆ จะซื้อมาแจก เป็นซีเอสอาร์ ถ้าเป็นในเมืองนอกก็เป็นโรงเรียน ผู้ปกครอง คุณครูซื้อไปใช้งาน ซึ่งเรามีลูกค้าอยู่หลายประเทศมากทั่วโลก ซึ่งเราก็ขยายงานไปเรื่อยๆ”

บริษัทที่ทำขึ้นมา ฉัตรชัย ย้ำว่า เพราะอยากให้ตัวเองมีความสุข อยากให้คนอื่นมีความสุข

‘เปลี่ยนโลกจากด้านใน’ หัวใจธุรกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่

 

‘ก้อปันกัน’

กันต์พงศ์ ทวีสุข ชายหนุ่มผู้ค้นพบความหมายของการศึกษาและคุณค่าของชีวิต ขณะไปศึกษาด้านธุรกิจ การสื่อสาร ความเท่าเทียม และความยุติธรรมในสังคม ณ วิทยาลัยชุมชน
ชอไลน์ ที่สหรัฐ เมื่อกลับมาเมืองไทย เขาก่อตั้งศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศก้อปันกัน บริการให้คำปรึกษาแนะแนว เรียนต่อ Community College ใน Seattle Washington U.S.A. โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

“เติบโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างมีต้นทุนในสังคมสูง มีโอกาสไปเรียนต่อที่อเมริกา ก่อนที่จะไปเรียนที่โน้นยังไม่ได้สนใจคนที่อยู่รอบๆ ตัวหรือว่าสังคมสักเท่าไหร่ ความสุขของชีวิต คิดว่าชีวิตเกิดมาเพื่ออะไรบางอย่าง แต่ก็ไม่รู้ว่าอะไร เหมือนกับอยู่ไปวันๆ”

การได้ไปสัมผัสกับสังคมแห่งการพึ่งตนเองอย่างแท้จริง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกัน การเหยียดสถานะ และการกีดกันที่มีต่อมนุษย์ด้วยกันเองในสังคมอเมริกา มีผลอย่างลึกซึ้งต่อทัศนคติและมุมมองชีวิต

“เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต ทำให้ได้เปิดตาว่าหลายๆ ครั้งคนเราไม่สามารถเลือกเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะหลายๆ สิ่งที่ถูกออกแบบหรือกำหนดมาแล้ว พอเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสังคมกับตัวเอง แล้วเราได้รับฟังจากประสบการณ์ของเพื่อนด้วย ทำให้ได้มองตัวเองว่ามีต้นทุนทางสังคมสูง สภาพแวดล้อมดี พยายามที่จะวิ่งเข้าหาความสำเร็จ ในความหมายของการมีฐานะที่มั่นคง มีความปลอดภัย แต่ในสิ่งเหล่านั้นกลับมีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ชีวิตดูว่างเปล่า ชีวิตเหมือนไม่มีความหมาย ชีวิตมีแต่เสพสุขกับการได้ครอบครอง มีการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับตัวเองแต่ไม่ได้คำนึงถึงที่มาที่ไปของรายได้นั้น และความเป็นอยู่ของคนอื่น เพราะฉะนั้นจึงสนใจที่จะทำงานกับเยาวชนที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ สร้างกระบวนการที่จะทำให้เขาได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ แล้วค้นพบว่าชีวิตมีความหมายจากการที่ได้ไปเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับตัวเขา ผ่านการเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมใหม่ๆ”

กันต์ มองว่า การได้ทำธุรกิจเพื่อสังคมตรงจุดนี้ เขาอยากเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ของคนที่มาใช้บริการ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าเขากล้าที่จะทำอะไรและเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองได้

“การเปิดตัวเอง ตั้งคำถามและรับฟังกัน รู้สึกเหมือนมันเติมเต็ม มีความสุขได้จากการทำตรงนี้ การวิ่งไล่ตามการครอบครองความสำเร็จรู้สึกลดน้อยลง ความครอบครองวัตถุและการบริโภคมันน้อยลงไปมากจากที่เคยเป็น ความสุขของชีวิตก็คือ การที่ได้ให้กับคนอื่นและเป็นส่วนหนึ่งของมัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นข้างใน”

‘เปลี่ยนโลกจากด้านใน’ หัวใจธุรกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่

 

‘อาสาสมัครอนุรักษ์-สิ่งดีงาม’

กลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์-สิ่งดีงาม เกิดขึ้นด้วยความเชื่อว่า คนเรามีความดีอยู่ข้างในและควรมีพื้นที่ให้ความดีนั้นปรากฏออกแก่โลกภายนอก อารีย์ โพธิ์ศรี ผู้จัดตั้งกลุ่ม บอกว่า ชีวิตของเขาเริ่มต้นจากการเป็นอาสาสมัคร

“ตอนแรกก็ไม่ชัดเจนว่าทำอะไร ทำเรื่องเล็กๆ คือเรื่องเก็บขยะ รวมตัวกันมาเก็บขยะ เริ่มแรกเริ่มต้นที่วัด เพราะเราไปเที่ยวงานลอยกระทงกันที่วัดแห่งหนึ่งแถวบางเขน ลอยกระทงเสร็จกำลังจะกลับบ้าน ก็เลยชวนกัน 5-6 คน เก็บขยะ ตอนนั้นปี 2554 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่ม จากนั้นก็ขยายผลมาสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทำแค่ 2 เรื่อง คือ เรื่องเก็บขยะ กับทำไม้กวาดถวายวัด”

ทุกวันนี้ อารีย์เรียกตัวเองว่าเป็นนักจัดกิจกรรมเพื่อสังคม สอนทำไม้กวาดถวายวัด

“การจัดกิจกรรมเพื่อสังคมนั้น เพราะผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากกิจกรรมอาสาสมัครตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมแล้ว รู้ว่าจะฝึกให้เราเป็นคนที่กล้าแสดงออก และอาสาสมัครได้เปลี่ยนวิธีคิดและเปลี่ยนชีวิตของเราไปเลย จากคนขี้อายไม่กล้าพูด ไม่กล้าคิดหรือกล้าทำอะไร ไม่กล้าเข้าสังคม เพราะคิดว่าตัวเองมีปมด้อย ทุกอย่างมันเปลี่ยนเรา ก็อยากสร้างพื้นที่อาสาสมัคร ชวนคนมาเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกันและทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เราไปเก็บขยะกันเดือนละครั้ง ครั้งละชั่วโมงเดียวตอนเลิกงาน ทำมา 4 ปีแล้ว พร้อมกับทำไม้กวาดถวายวัด ไม้กวาด 1 ด้าม ถักเกือบ 5 ชั่วโมง การทำไม้กวาดเป็นการค้นหาภายในด้วยในระหว่างที่ทำ เป็นการใช้เวลาเงียบๆ ช้าๆ อยู่กับตัวเองเป็นเวลา 5 ชั่วโมง เป็นในสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนได้เรียนรู้ร่วมกัน”

อารีย์ บอกว่า การออกไปช่วยสังคมก็เพื่อบำบัดตัวเอง ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของชีวิต ดั่งคำที่กล่าวว่า ออกเดินทางไปในโลกกว้างเพื่อกลับเข้ามายังใจตน

“พอเรารู้จักความต้องการที่แท้จริงของเราแล้ว เราก็จะเข้าใจตัวเอง พอเข้าใจตัวเองมากขึ้นเราก็ช่วยเหลือคนอื่นได้ดีขึ้น”

ธุรกิจทุกธุรกิจมีผลดีผลเสียต่อสังคม ถ้าช่วยลดผลเสียและเพิ่มผลดีให้กับสังคมอย่างยั่งยืน หากจะหยิบยกเอาความคิดผ่านถ้อยคำจากหนังสือ “หัวใจอันประเสริฐ : เปลี่ยนโลกได้จากภายใน” เขียนโดย องค์กรรมาปะที่ 17 : ออกเยน ทรินเลย์ ดอร์เจ แปลโดย นัยนา นาควัชระ ที่เขียนบอกว่า

“ข้าพเจ้าอยากให้ความปรารถนาเหล่านี้เป็นเครื่องหล่อหลอมและชี้ว่าตนควรทำอะไรบ้างในโลกนี้ การมุ่งแต่จะเห็นผลลัพธ์อาจทำให้เรายึดติดกับเป้าหมายมากเกินไป ความฝันไม่จำเป็นต้องกลายเป็นจริงเสมอไปถึงจะทำให้มีความสุขได้ การบำรุงเลี้ยงความหวังก็เป็นสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่าในตัวมันเองเช่นกัน”

ธุรกิจเพื่อสังคมของคนไทยรุ่นใหม่เหล่านี้ ก็ดำเนินไปตามเจตนารมณ์นั้นอย่างน่าชื่นชม...ในการทำความฝันให้เข้าสู่โลกของความจริงอย่างมีความสุข