posttoday

รู้ทัน... เด็กเจเนอเรชั่น อัลฟา

05 สิงหาคม 2558

เดี๋ยวนี้คำถามเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่มีแล้วถามว่าเกิด พ.ศ.อะไร อายุเท่าไหร่ แต่มักจะได้ยินคำถามว่า “เด็กเจนอะไร” “เกิดเจนไหน”

โดย...นกขุนทอง ภาพ : นิตยสารโมเดิร์นมัม

เดี๋ยวนี้คำถามเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่มีแล้วถามว่าเกิด พ.ศ.อะไร อายุเท่าไหร่ แต่มักจะได้ยินคำถามว่า “เด็กเจนอะไร” “เกิดเจนไหน” ซึ่งคำตอบบ่งบอกได้ถึงสภาพแวดล้อมและลักษณะบุคลิกนิสัยได้ในระดับหนึ่ง

แล้วตอนนี้เราก้าวมาถึงจุดกำเนิดเจเนอเรชั่นใหม่นั้นคือ อัลฟา (Generation Alpha) ใช้เรียกคนที่เกิดตั้งแต่ปี 2553 (ค.ศ. 2010) เป็นต้นไป

ย้อนไปในปี 2553 จุดเริ่มต้นของโครงการศึกษาเกี่ยวกับคนเจน (Gen) ต่อไปของ Mccrindle Research บริษัทวิจัยทางสังคมและการตลาดในออสเตรเลีย นำโดย มาร์ก แมคครินเดิล (นักวิจัย นักวิเคราะห์ทางสังคมและนักเขียนที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ) และทีมงานเกิดข้อสงสัยว่าคนรุ่นต่อจากเจเนอเรชั่น Z คือใครกัน จากนั้นจึงได้เริ่มทำการสำรวจในออสเตรเลียเกี่ยวกับชื่อที่จะใช้เรียกคนรุ่นที่เกิดตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นไป และได้ข้อสรุปเรียกว่า“เจเนอเรชั่น อัลฟา”

รู้ทัน... เด็กเจเนอเรชั่น อัลฟา

เจน อัลฟา เกิดมาพร้อมโซเชียลมีเดีย

มาร์ก แมคครินเดิล ได้อธิบายว่า เจเนอเรชั่น อัลฟา หรือเรียกว่า เจน อัลฟา (Gen Alpha) คือ เด็กที่เกิดในสภาพแวดล้อมใหม่ การติดต่อสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด การมีไอแพดตรงกับการเริ่มต้นของเจเนอเรชั่นใหม่นี้พอดี เด็กรุ่นนี้เกิดมาพร้อมกับการติดต่อสื่อสารด้วยระบบดิจิทัลที่ก้าวหน้ามาก่อนหน้านี้นานแล้ว และมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในปี 2010 เมื่อกระแสของเครื่องมือดิจิทัลระบบทัชสกรีน และการติดต่อสื่อสารกันทางโซเชียลมีเดียมาแรงมาก จนแทรกซึมเข้าไปอยู่ในเกือบทุกครัวเรือน

เจน อัลฟา เกิดมาในโลกของไอโฟน ช่วงนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นมากมายเกิดขึ้นมาพร้อมกับเด็กๆ ด้วย ทั่วโลกมีการอัพโหลดวิดีโอลงบนยูทูบ 100 ชั่วโมง/นาที นั้นหมายถึงสภาวะแวดล้อมมีอิทธิพลต่อเด็กกลุ่มนี้ คือ ภาพ เสียง และวิดีโอ แทนที่จะเป็นการเขียนตัวหนังสือ หรือการพูดเช่นสมัยก่อน มีอินสตาแกรมทำให้ชีวิตของพวกเขาคือการถ่ายภาพและแชร์ภาพไปทั่วโลกในทันที แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อเด็กๆ

รู้ทัน... เด็กเจเนอเรชั่น อัลฟา

 

ด้าน ชนิดา อินทรวิสูตร รองประธานปฏิบัติการสายธุรกิจคอมมูนิเคชั่นส์ กลุ่มบริษัท อาร์แอลจี  กล่าวว่า เด็กยุคเจน อัลฟา เกิดในช่วงที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เด็กเจนนี้จะเรียนรู้เร็ว ปรับตัวเก่ง แต่มี
แนวโน้มที่จะมีความอดทนต่ำ สมาธิสั้น และเป็นตัวของตัวเองสูง

ในสภาวะที่สังคมและรูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สังคมมีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยปัญหา สภาพแวดล้อมเหล่านี้จึงส่งผลต่อการคิดและการใช้ชีวิตของเด็กยุคนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้พ่อแม่รวมทั้งลูกจำเป็นต้องมีทักษะเพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือกับสังคมและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปได้ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องมีความพร้อมในการรับมือ เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

รู้ทัน... เด็กเจเนอเรชั่น อัลฟา พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์

 

เทคโนโลยีกับการเลี้ยงลูก

นิตยสารโมเดิร์นมัม (ModernMom) ในเครืออาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ได้จัดงานเสวนา “7 Codes ถอดรหัสความสำเร็จ Generation Alpha” เพื่อให้คุณแม่ที่มีลูกเกิดตั้งแต่ปี 2553 ได้มีความพร้อมรับมือและรู้เท่าทันการเลี้ยงลูกยุคเจเนอเรชั่น อัลฟา

พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ คุณพ่อของลูกสาวเจเนอเรชั่น อัลฟา 2 คน มีวัย 4 ขวบ และ 8 เดือน ในฐานะที่ทำงานคลุกคลีกับวงการไอทีมากว่า 15 ปี มองเห็นแง่มุมของสื่อเทคโนโลยีสองด้าน ทั้งในด้านของการใช้ประโยชน์ที่เอื้อต่อการทำงาน และในด้านลบที่เกิดกับเด็กเล็กๆ โดยเฉพาะกับเด็กเจเนอเรชั่น อัลฟา หากใช้จนเกินความพอดี

ยกตัวอย่างจากลูกสาว “น้องอยู่นี่” วัย 4 ขวบ 2 เดือน “คุณหมอที่เจอผมมักแนะนำเสมอว่า ถ้าลูกยังไม่ถึง 3 ขวบ อย่าเพิ่งให้ลูกใช้ เพราะเด็กอาจจะสมาธิสั้นได้ แต่เขาเห็นผมใช้ทำงานที่บ้านมาตลอด ขวบครึ่งเขาหยิบแท็บเล็ตเราไป ผมก็แอบมองว่าเขาจะทำยังไง เขากดถูกหมดเลย พวกซอฟต์แวร์ง่ายๆ วาดรูป เกม แต่งตัวตุ๊กตาเขารู้หมด เพราะแอพมันออกแบบมาให้ใช้งานง่ายอยู่แล้ว

ส่วนตัวผมมองว่าจัดให้พอดี เพราะถ้าไม่ให้ใช้เลยทักษะที่เขาจะดำเนินชีวิตในโลกยุคใหม่จะขาดไป กว่าเขาจะไปเริ่มในโรงเรียนมันอาจจะช้า แต่ผมจะให้เล่นในเวลาที่เรามองเห็นอยู่ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้เขาอาจจะบริโภคมันมากเกินไปจนติดได้ ผลที่เกิดขึ้นเกิดคือเพียงคลาสแรกที่เรียนคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน ครูชมว่าทำได้ดีมากกับการใช้เมาส์ โรงเรียนเขาจะสอนเรื่องนี้ตั้งแต่อนุบาลคือเป็นการสร้างทักษะชีวิต Learning by doing ที่เด็กยุคนี้ต้องมี แต่ทุกอย่างต้องพอดี ถ้าทำอะไรมากเกินไปจนถึงขั้นติดมันส่งผลเสียหมด วิธีบาลานซ์ที่ดีที่สุดคือการเล่นกับลูก เราต้องมีกิจกรรมกับลูก อย่าตามใจลูกจนเกินไป การที่คุณจะไปห้ามเด็กเล่นเกมคงเป็นไปไม่ได้ แต่พ่อแม่ต้องช่วยกันดู ต้องช่วยเลือกและให้เวลากับลูก”

รู้ทัน... เด็กเจเนอเรชั่น อัลฟา สุภาวดี หาญเมธี

 

สุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี นักพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัว มากว่า 32 ปี ให้ข้อคิดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องทำความเข้าใจกับเด็กรุ่นใหม่อย่างเจเนอเรชั่น อัลฟา ซึ่งเกิดมาพร้อมกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย เวลาที่เลี้ยงลูกเราคงไม่สามารถดูเฉพาะช่วงเวลาลูกยังเล็ก แต่อยากให้จินตนาการไปถึงเวลาที่เขาโตเป็นผู้ใหญ่ว่าเขาต้องพบกับอะไรต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นหากอยากให้ลูกอยู่ในโลกข้างหน้าได้ เขาต้องได้รับการดูแลบ่มเพาะให้มีความเข้มแข็ง คิดจัดการกับปัญหา จัดการกับตัวเองและสภาพแวดล้อมต่างๆ รอบตัวเองอย่างมีความสุข

“ลูกของเราในวันนี้ที่เป็นคนรุ่นอัลฟา เขาจะโตมาในแบบที่ไม่เหมือนกับที่เราเคยโตมา แต่ละยุคแต่ละสมัยก็จะมีความแตกต่างของสภาพแวดล้อม การที่เราเข้าใจในความเป็นจริงของเด็กเจเนอเรชั่น อัลฟา ทำให้พ่อแม่นำเอาภาพในอนาคตที่ต้องการและภาพปัจจุบันที่ลูกเป็นมาผสมผสานกัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่คงต้องเรียนรู้และขบคิดว่าแบบไหนถึงจะดีที่สุดสำหรับลูก”

ด้าน อำไพวรรณ ขาวรุ่งเรือง คุณแม่ยุคเจเนอเรชั่น อัลฟา กล่าวว่า “ยอมรับว่าใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงลูกมาตลอด เพราะเป็นวิธีง่ายๆ ที่คิดว่าช่วยดึงความสนใจให้เด็กอยู่นิ่งๆ ได้ ซึ่งพอได้ฟังและศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการ ก็ได้ทราบถึงข้อควรระวังในการเลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยีว่า การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ถ้าลูกเราอายุยังไม่ถึง 3 ขวบ ก็ไม่ควรให้เล่นหรือสัมผัสกับพวกแท็บเล็ต มือถือ หรือแม้กระทั่งดูทีวี ภาพเคลื่อนไหวต่างๆ เพราะจะส่งผลต่อสมองของเด็ก”

รู้ทัน... เด็กเจเนอเรชั่น อัลฟา ชนิดา อินทรวิสูตร

 

ชนิดา กล่าวเพิ่มเติมถึงทักษะสำคัญที่ลูกเจน อัลฟา จำเป็นต้องมี เรียกว่า “7 Essential Skills” ซึ่งประกอบไปด้วย 1.การคิดอย่างมีวิจารณญาณและแก้ปัญหาเป็น 2.การคิดในเชิงสร้างสรรค์ 3.ความฉลาดในการใช้สื่อดิจิทัล 4.การรู้จักปรับตัวและการทำงานเป็นทีม 5.ความอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค 6.การสื่อสารชัดเจน มีประสิทธิภาพ และ 7.ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น

ทักษะเหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีให้ลูกสามารถปรับตัวและเรียนรู้การใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันได้อย่างรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อในโลกออนไลน์และสังคมวัตถุนิยม

อย่างไรก็ตาม เมื่อสร้างทักษะทั้งหมดนี้ให้กับลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่เองก็จำเป็นต้องปรับวิธีการเลี้ยงลูกให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันด้วยเช่นกัน โดยการสวมบทบาท “Be 5” ได้แก่ 1.นักคิดสร้างสรรค์ (Be Creator) ช่วยเพิ่มศักยภาพใหม่ๆ ให้กับลูก 2.นักเรียนรู้ (Be Learner) เพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ให้แก่ลูกอย่างต่อเนื่อง 3.นักสื่อสาร (Be Communicator) เพื่อทักษะในการเจรจาพูดคุยกับลูกอย่างเข้าใจด้วยเหตุและผล 4.นักจัดกระบวนการเรียนรู้ (Be Facilitator) เพื่อสร้างแรงบันดาลและส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ของลูก และ 5.นักพัฒนา (Be Developer) เพื่อส่งเสริมความสามารถของลูกได้อย่างเต็มศักยภาพ