posttoday

โจโฉ ผู้นำใจกว้าง

02 สิงหาคม 2558

สิ้นศึกใหญ่ครั้งแรกของยุคสามก๊ก สมรภูมิ “กัวต๋อ” ขุนศึกโจโฉเอาชนะขุนศึกอ้วนเสี้ยวได้อย่างน่าอัศจรรย์

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

1.สิ้นศึกใหญ่ครั้งแรกของยุคสามก๊ก สมรภูมิ “กัวต๋อ” ขุนศึกโจโฉเอาชนะขุนศึกอ้วนเสี้ยวได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งที่ด้วยกำลังและบารมี ขุนศึกโจโฉด้อยกว่าอ้วนเสี้ยวอย่างเห็นได้ชัด ว่ากันว่าโจโฉมีกำลังทหารน้อยกว่ากันถึง 10 เท่า เป็นสงครามที่ใช้น้อยชนะมากที่สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

เนื่องจากสภาพกองทัพของโจโฉร่อแร่เจียนตาย ไม่น่าเอาชนะในศึกนี้ได้ ลูกน้องโจโฉหลายต่อหลายคนจึงตระเตรียมแผน B เขียนจดหมายฝากเนื้อฝากตัวกับฝ่ายอ้วนเสี้ยวตั้งแต่ตอนสงครามใกล้ถึงจุดวิกฤต

แต่เมื่อสงครามสิ้นสุด สถานการณ์พลิกผัน ฐานทัพอ้วนเสี้ยวถูกรื้อค้น มีคนพบหีบใส่จดหมายแปรพักตร์ของบรรดาลูกน้องโจโฉ

เมื่อโจโฉได้รับจดหมายทรยศเหล่านั้นมา สิ่งที่โจโฉตัดสินใจทำ คือ สั่งให้เผาทิ้งทันทีโดยไม่เปิดดูแม้สักนิดเดียว

ในบรรดาจดหมายเหล่านั้น คงจะเต็มไปด้วยจดหมายพินอบพิเทาอ้วนเสี้ยว ติฉินนินทาโจโฉ หรือแม้แต่จดหมายขายข่าวสาร และความลับของกองทัพโจโฉก็เป็นได้

นี่มันหลักฐานเอาผิดพวกนกสองหัวชัดๆ

โจโฉที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความขี้ระแวง กลับตัดสินใจเผาทิ้งทั้งหมด

เพราะอะไร?

โจโฉเผาจดหมายแปรพักตร์ ด้วยเหตุผลว่า “ขนาดตัวข้าเองยังไม่เคยมั่นใจว่าจะได้ชัยชนะในสงครามครั้งนี้เลย แล้วบรรดาลูกน้องข้าทั้งหลาย ถ้าจะไม่มั่นใจ จนถึงกับต้องฝากเนื้อฝากตัวกับอ้วนเสี้ยวไว้ก่อน ข้าก็เข้าใจ”

บางทีโจโฉอาจจะรู้ตัวดีว่าหากเปิดผนึกรายชื่อออกมาดู คนที่ต้องชำระสะสางอาจจะมีมากเป็นสิบเป็นร้อย เผลอๆ อาจจะไล่เบี้ยกันไม่หมด ในเมื่อไล่กันไม่หมด ก็ไม่สู้ไม่ไล่เลยสักคนจะดีซะกว่า

แม้ไม่เปิดดู แต่หากไม่เผาทิ้งต่อหน้า ก็มีแต่จะทำให้ลูกน้องทั้งหลายหวาดระแวงกันอยู่ในใจ คนที่เขียนจดหมายแปรพักตร์จริงก็มีแต่จะระแวงว่าสักวันโจโฉจะเปิดดูและเอาออกมาสะสางยามแค้น ส่วนคนที่ไม่ได้เขียนจดหมายแปรพักตร์ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่มีใครใส่ร้ายภายหลัง หรือแม้แต่หากร่วมงานกันไปเผลอไปเข้าแก๊งเดียวกับผู้ที่แปรพักตร์ ใครจะรับรองได้ว่าจะไม่โดนหางเลขไปด้วย เก็บเอาไว้ก็รังแต่จะเป็นหีบแห่งความระแวง

โจโฉเอง หากฉลาดชั้นเดียว อยากรู้อยากเห็นเก็บไว้เป็นข้อมูลลับ แอบเปิดดูก่อนเผา ก็รังแต่จะทำให้ใช้งานลูกน้องได้อย่างไม่สบายใจ โจโฉน่าจะรู้ตัวว่ามนุษย์ขี้เหม็นจะปล่อยวางในเรื่องที่รู้แล้วได้ยาก โจโฉเองก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง ไม่รู้เลยเสียจะดีกว่า ชาวบ้านจีนมีคำพูดว่า “ไม่หนวกไม่ใบ้ ไม่ใช่อากง” แปลว่า ถ้าไม่ปล่อยวางไม่รู้ไม่เห็นเรื่องบางเรื่องซะบ้าง จะมีอายุยืนจนเป็นใหญ่ในครอบครัวไม่ได้

โจโฉพอได้หีบจดหมายแปรพักตร์มา จึงรีบสั่งเผาทิ้งต่อหน้าทันที จึงเป็นการตัดสินใจที่ทำให้เรื่องจบอย่างสวยงามที่สุด อย่างหาที่ติได้ยาก

เคลียร์ได้ทั้งความหวาดระแวงของผู้แปรพักตร์ ความหวาดระแวงของผู้ซื่อสัตย์ และความหวาดระแวงของตัวโจโฉเอง

2.หลังศึกสมรภูมิ “กัวต๋อ” อ้วนเสี้ยวตายไป ทายาทอ้วนเสี้ยวถอยร่นขึ้นเหนือ ไปเข้ากับชนเผ่า “อูหวน” ชนเผ่านี้เคยมีความสัมพันธ์อันดีกับตระกูลอ้วนมาก่อน ปล่อยทิ้งไว้ภายภาคหน้าอาจเป็นชนักคอยทิ่มหลัง ไม่สามารถขยับขยายดินแดนไปทางใต้ได้อย่างสบายใจ แต่สมรภูมินี้ยากจะเอาชนะนัก

ถิ่นที่ชนเผ่าอูหวนอาศัยอยู่เป็นถิ่นทุรกันดาร คือ ทะเลทรายเวิ้งว้าง เส้นทางเดินทัพ คือทางที่ไม่มีเส้นทาง ชนเผ่าอูหวนคือหนึ่งในชนเผ่าเร่ร่อนทางเหนือ ตลอดอารยธรรมจีนที่ผ่านมาชาวจีนไม่เคยเอาชนะชนเผ่านอกด่านทางเหนือได้อย่างเด็ดขาด สำหรับศึกครั้งนี้จึงเป็นการเสี่ยงวางเดิมพัน มากกว่าการวางแผนทำสงคราม

ท่ามกลางเสียงคัดค้านของที่ปรึกษามากมาย โจโฉตัดสินใจยกทัพมุ่งทางเหนือรบอูหวน ตัดสินใจวางเดิมพัน พนันกับความเป็นความตาย

โจโฉชนะกลับมา แต่เป็นชัยชนะที่ฉิวเฉียด ทัพของโจโฉต้องเดินทัพกลับท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ ไม่มีข้าวเหลือสักเมล็ด ไม่มีน้ำเหลือสักหยด ต้องดื่มเลือดกินเนื้อม้าศึกเพื่อประทังชีวิตกลับมา ความทุรกันดารของการเดินทางไปทำศึกครั้งนี้ถึงขนาดทำเอาที่ปรึกษาอัจฉริยะคนสนิทของโจโฉอย่างกุยแก ต้องพลีชีพเพราะสภาพร่างกายที่ทนความกันดารนี้ไม่ได้

โจโฉพอชนะกลับมา ก็ออกคำสั่งให้ไล่เรียงรายชื่อที่ปรึกษาที่คัดค้านการทำศึกครั้งนี้มาให้หมด ทำเอาที่ปรึกษาอกสั่นขวัญหาย ต่างคนต่างกลัวว่า โจโฉชนะกลับมาแล้ว จะมาเช็กบิลที่ปรึกษาที่ทักท้วงต่อว่าไม่ให้ทำศึกครั้งนี้ เพราะคาดการณ์ผิด (เหมือนกับที่อ้วนเสี้ยวชอบทำ)

แต่โจโฉไล่เรียงรายชื่อครั้งนี้ก็เพื่อตกรางวัลให้กับที่ปรึกษาที่ทักท้วงทุกคน

ด้วยเหตุผลอะไร?

โจโฉกล่าวขอบใจกับที่ปรึกษาทุกคนที่ท้วงติงในสงครามครั้งนี้ เพราะชัยชนะที่ได้มาฉิวเฉียด เรียกได้ว่าส่วนหนึ่งคือโชคช่วย บรรดาคำทัดทานต่างๆ เป็นของคนมองการณ์ไกล “ตัวข้าโจโฉ ไม่ควรยินดีในโชคช่วย คำแนะนำของทุกท่าน เรียกได้ว่าถูกต้อง”

โจโฉ ยังกล่าวว่า “ชัยชนะที่ได้มามากมายก่อนหน้านี้เป็นความดีความชอบของข้าหรือ ที่จริงล้วนเป็นความดีความชอบของพวกท่านทั้งสิ้น”

โจโฉ ขอความเห็นจากที่ปรึกษา แต่ยอมรับภาระในการตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจถูกต้อง ความดีความชอบก็ยกให้กับที่ปรึกษาที่เสนอหาลู่ทางแห่งความสำเร็จมาให้ แต่เมื่อตัดสินใจผิดพลาด โจโฉก็พร้อมน้อมรับผิดในการตัดสินใจของตัวโจโฉเอง

มีความชอบก็มอบให้แก่ลูกน้อง มีความผิดก็ทบทวนตนเอง

ยังมีเหตุการณ์อีกหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เราเห็นได้ว่า โจโฉคือบุคคลที่มีพฤติกรรมเช่นนี้คงเส้นคงวา

ผมขอสรุปเรียกพฤติกรรมทั้งสองเรื่องของโจโฉไว้ด้วยคำว่า “ใจกว้าง”

โจโฉเป็นผู้นำที่ใจกว้าง ไม่ใช่เพราะเขาแบ่งปันสิ่งของให้ผู้คน ไม่ใช่เพราะเขาไร้เล่ห์เพทุบาย ใจกว้างไม่ใช่ใจดีที่จะให้โดยอาศัยความเมตตา แต่ใจกว้างคือจิตใจที่รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างและทุกคนไม่สมบูรณ์ มีผิด มีพลาดกันได้

ความคาดหวังความภักดีเต็มร้อย ความสำเร็จเต็มร้อย สำหรับคนใจกว้างจึงเป็นความคาดหวังลมๆ แล้งๆ ถ้ามีก็ดีมาก ไม่มีก็ไม่เป็นไร

นอกจากโจโฉจะใจกว้างกับผู้อื่นแล้ว ยังใจกว้างกับตัวเอง

โจโฉรู้ดีว่าตัวเองไม่ได้ปล่อยวางได้เต็มร้อย และคนอื่นต่างต้องมีวิถีการเอาตัวรอดของตัวเอง จึงเลือกที่จะสลายความหวาดระแวงทั้งหมดด้วยการเผาหีบจดหมายแปรพักตร์ทิ้ง และก็รู้ว่าทุกการตัดสินใจของตนไม่จำเป็นต้องถูกเต็มร้อย โจโฉจึงยอมรับว่าการตัดสินใจผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยไม่ต้องโยนความผิดให้ใคร

โจโฉยังมีความน่าสนใจตรงที่ทุกครั้งที่ยอมรับผิด โจโฉจะไม่ถือว่าความผิดนั้นเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าหัวเราะและกลับมาใช้เป็นบทเรียนในคราวต่อไปได้ทุกครั้ง หลายต่อหลายครั้งโจโฉจะไปขอบคุณที่ปรึกษาที่เคยทักท้วง และหัวเราะกับการตัดสินใจของตัวเองว่างี่เง่าจริงๆ (แฮะ)

เพราะใจกว้างจึงรวบรวมคนเก่งเข้ามาช่วยทำงานได้มากมาย เพราะใจกว้างจึงทำให้ผู้คนใต้บังคับบัญชาทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ เพราะใจกว้างจึงไม่ต้องโยนความผิดให้ผู้อื่น

ด้วยความใจกว้างของโจโฉ จึงทำให้เขาสามารถรวบรวมผู้คนที่มีความสามารถมากมายให้เข้ามาร่วมทำงานได้อย่างเต็มที่และขับเคลื่อนให้โจโฉเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสามก๊ก