posttoday

ช้าลง...สุขขึ้น

26 กรกฎาคม 2558

“เราได้สูญเสียศิลปะแห่งการอยู่เฉยๆศิลปะแห่งการทำตัวให้เนิบช้า และการอยู่ตามลำพังกับความคิดของเราเอง”

“เราได้สูญเสียศิลปะแห่งการอยู่เฉยๆศิลปะแห่งการทำตัวให้เนิบช้า และการอยู่ตามลำพังกับความคิดของเราเอง”

คาร์ล ออเนอร์ - In Praise of Slowness

ถึงจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ แต่การได้หยุดพักจากงานและวิถีชีวิตเดิมๆ เพื่อออกเดินทางไปใช้เวลาเงียบๆ ในสถานที่อันห่างไกล พาตัวเองให้พ้นไปจากความวุ่นวาย อ่านหนังสือใช้เวลาคิดถึงทุกสิ่งอย่างลึกซึ้ง หรือพูดคุยทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ บ้าง แค่ 3-4 วันก็เพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนจังหวะชีวิตของเราให้ช้าลง (บ้าง)

และ “เชียงของ” เมืองเล็กๆ ริมโขงก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่พอดีสำหรับเป็นห้องเรียนวิชาชีวิตเนิบช้า (Slow Life) เพื่อฟื้นฟูศิลปะของการอยู่เฉยๆ และการใช้เวลากับความคิดของตัวเอง

ที่นั่นเราได้พูดคุยกับ ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้วและพลพรรคแห่งโฮงเฮียนแม่น้ำของ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง หลายมุมมองความคิดและการปฏิบัติตนของพวกเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้ชะลอความเร็วของชีวิต ทั้งยังทำให้เราตระหนักและตอกย้ำว่า ในบางบริบทแล้วความเจริญหรือการพัฒนาอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุเงินตราหรือการปรุงแต่งใดๆ แต่อยู่ที่การรักษาไว้ซึ่ง “ธรรมชาติ” และ “ธรรมดา”

กระแสการใช้ชีวิตแบบ Slow Life ซึ่งถูกพูดถึงกันล้นหลามในสังคมเราตอนนี้ ถ้าสืบค้นศึกษาย้อนหลังไปจะพบว่าเป็นที่รู้จักมานานปีแล้ว โดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่ซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุวิ่งไปแตะขอบสุด ทำให้สังคมเต็มไปด้วยความเร่งรีบการแข่งขัน สับสน วุ่นวาย ฯลฯ เพื่อที่จะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ในยุคที่ทุกองศาของผู้คนและสังคมตกเป็นทาสของเวลาและความเร็ว วัฒนธรรมเร่งรีบก็เกิดขึ้น เป็นต้นเหตุของความเคร่งเครียดขุ่นเคืองโกรธ จิตใจกระด้าง ไร้ความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน จนมนุษย์ใกล้จะกลายเป็นหุ่นยนต์ เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยทางกาย(Hurry Sickness Syndrome) ฯลฯ วัฒนธรรมเร่งรีบไม่ได้ส่งผลเฉพาะบุคคล แต่ยังกระทบต่อส่วนรวมและโลก เพราะเมื่อมีการผลิตและการบริโภคอย่างเร่งรีบก็เป็นสาเหตุก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษ ทำลายสิ่งแวดล้อม และอื่นๆมากมายตามมา

นั่นจึงทำให้แนวคิด Slow Life กำเนิดขึ้นมาเพื่อชะลอความเร่งรีบลงบ้าง โดยได้ขยายออกไปถึงเรื่องวัฒนธรรมประเพณี ชุมชนสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ฯลฯ จึงมี Slow Food,Slow City, Slow Travel และสารพัด Slowเกิดขึ้นตามมา

ห้องเรียนที่เชียงของบอกเราว่า ชีวิตเนิบช้าไม่ได้หมายความถึงการหยุดทุกอย่างแล้วย้อนเวลากลับไปสู่อดีต แต่เป็นการปรับให้ชีวิตสมัยใหม่กับวิถีดั้งเดิมของชุมชนสมดุลกัน ทำให้ผู้คนอยู่อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างที่ คาร์ล ออเนอร์ บอกไว้ในหนังสือ InPraise of Slowness (แปลเป็นไทยในชื่อ“เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น” โดย กรรณิการ์ พรมเสาร์ สนพ.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) ของเขาว่า ...กฎแห่งชีวิตเนิบช้าไม่ได้หมายความถึงการทำทุกอย่างเชื่องช้าไปเสียทั้งหมด แต่มนุษยชาติควรบริโภค ผลิต และทำงานด้วยจังหวะก้าวที่สมเหตุสมผลมากกว่าเดิม รวมถึงใช้เวลาให้คุ้มค่า ทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด ไม่ใช่เร็วที่สุด เน้นคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานการกินอยู่และใช้ชีวิต

สอดคล้องกับการใช้ชีวิตให้ช้าและง่ายในความคิดของ ลีโอ บาบัวตา หนึ่งในเจ้าพ่อ Slow Life จากโลกตะวันตก เจ้าของบล็อกชื่อดัง Zen Habits และผู้เขียนหนังสือขายดี The Power of Less (แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “ทำน้อยให้ได้มาก” โดย วิกันดาพินทุวชิราภรณ์)

แนวคิดของลีโอ คือ ทำ “น้อยอย่าง”ในเวลาเดียวกัน ทำอย่างมีสติอยู่กับปัจจุบันและชีวิตช้าๆ น่าจะได้หยุดเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไฮเทคอย่าง มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ฯลฯ บ้าง แล้วไปให้เวลากับคนรอบตัว หันไปชื่นชมความงดงามของธรรมชาติ สัมผัสกับสายลมแสงแดด ทำกิจกรรมกลางแจ้งรับประทานอาหารให้ช้าลง เพื่อรู้รส รวมทั้งมีความสุขกับเรื่องเล็กๆ ง่ายๆ

ถึงจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ แต่การได้หันหลังให้กับชีวิตประจำวัน งาน สังคม วิธีคิด วิธีปฏิบัติแบบเดิมๆ (ชั่วคราว) ก็ทำให้เราได้กลับมาอีกครั้ง ด้วยจังหวะก้าวเดินใหม่ที่ช้าลง สมเหตุสมผล สมดุล และมีความสุขมากขึ้น

ทุกครั้งเมื่อชีวิตถูกนำพาไปอยู่ใน “เลนวิ่งเร็ว” ณ จุดที่ใจวุ่นวาย สับสน เจ็บปวด ฯลฯเพียงคิดถึงภาพและเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนวิชาชีวิตเนิบช้า ณ เมืองเล็กๆ ชื่อว่าเชียงของ เมื่อนั้นชีวิต จิตใจ และความรู้สึก ก็จะถูกดึงให้ช้าลงและนิ่งขึ้น