posttoday

‘6 นครแห่งการอ่าน’ สร้างสังคมอุดมปัญญา

20 กรกฎาคม 2558

การสร้างวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทย เป็นเรื่องที่พยายามกันมายาวนาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต่างพยายามไปให้ถึงจุดนั้น

โดย...พริบพันดาว

การสร้างวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทย เป็นเรื่องที่พยายามกันมายาวนาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต่างพยายามไปให้ถึงจุดนั้น โดยเฉพาะกับบรรดาคนรุ่นใหม่และคนหนุ่มสาวที่จะเติบโตขึ้นมา เพราะการอ่านหนังสือเป็นการปูพื้นฐานความเป็นพลเมืองที่พึงประสงค์ ซึ่งมีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดทิศทางของสังคมอนาคต

การอ่านยังก่อเกิดต่อการวางรากฐานของการคิด การวิเคราะห์ การสร้างจินตนาการ รวมถึงการรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น บ่มเพาะความเกื้อกูลในวัยเติบโต เป็นเครื่องมือที่สร้างสัมพันธภาพ ความอบอุ่นแก่ครอบครัว ทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง และยังทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน รวมถึงเกิดระบบสุขภาวะในชุมชน

นิยามของวัฒนธรรมการอ่านก็คือ พฤติกรรมการอ่านอย่างต่อเนื่อง จนเป็นนิสัยของบุคคลในทุกพื้นที่ของวิถีการดำเนินชีวิต โดยผู้อ่านรู้สึกเห็นคุณค่าและเห็นประโยชน์จากการอ่าน จนเกิดการส่งเสริม สนับสนุนการอ่านไปสู่ผู้อื่น

เมืองไทยมีความพยายามต่อเนื่องและจริงจังในการที่จะสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในสังคมไทย ถึงขั้นประกาศให้ “การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ” ในปี 2552 และวางแผนระยะยาวถึงปี 2562 เป็น 1 ทศวรรษ ในการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

‘6 นครแห่งการอ่าน’ สร้างสังคมอุดมปัญญา

 

มีโครงการหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งและดำเนินการกันในปี 2553 ผ่าน 5 จังหวัดนำร่อง คือ ฉะเชิงเทรา ลำปาง ขอนแก่น เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช เพื่อขับเคลื่อนการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม เวลาที่ผ่านไป 5 ปี “นครแห่งการอ่าน” ก็ดำเนินไปอย่างเงียบๆ ไม่หวือหวา

มาถึงวันนี้ “นครแห่งการอ่าน” กำลังเข้าสู่เฟส 2 โดยมี  6 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ สุรินทร์ ลำปาง เชียงราย ขอนแก่น และกทม. มาสำรวจบทเรียนของเฟสแรกและดูความพร้อมของการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทยของโครงการนี้กัน

ราษฎรอาวุโสกับการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน

หนังสือและการอ่านเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก เมื่อเด็กอ่านหนังสือหรือฟังเรื่องราวจากหนังสือจะซึมซับถึงแบบอย่างและบรรทัดฐานของสังคมที่สะท้อนรูปแบบให้เห็นทั้งการ
กระทำ ข้อพึงปฏิบัติ คุณธรรมและจริยธรรม รวมไปถึงแบบแผน กฎเกณฑ์ และค่านิยมต่างๆ ที่ปรากฏในหนังสือ เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้ เลียนแบบ และสะสมไปทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งยึดเป็นแนวปฏิบัติเมื่อเจริญวัยขึ้น

 ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้ปาฐกถาพิเศษ “สร้างสังคมอุดมปัญญา ร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่านเต็มแผ่นดิน” โดยกล่าวตอนหนึ่งอย่างน่าสนใจว่า สังคมปัจจุบันมีปัญหาหลากหลายซับซ้อน และที่สำคัญคือ การพัฒนาคุณภาพคน ซึ่งควรแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ปัญญา

‘6 นครแห่งการอ่าน’ สร้างสังคมอุดมปัญญา

 

“แต่สังคมไทยไม่มีวัฒนธรรมทางปัญญา คนสนใจอ่านหนังสือน้อย ซึ่งถ้าไม่เริ่มจากการอ่านหนังสือ ก็จะไม่เข้าใจ ปัญหาต่างๆ ของประเทศก็จะไม่ได้รับการแก้ไข ทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยกันส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยทุกจังหวัดต้องส่งเสริมการอ่าน จัดให้มีอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านไปยังชุมชนและโรงเรียนต่างๆ และต้องมีห้องสมุดอยู่ในทุกมุมเมือง สังคมใดที่มีการอ่านน้อย เมื่อเกิดเรื่องที่ซับซ้อน ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ เมื่อไม่เข้าใจก็จะไม่สามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แก้ไม่ได้ ทำให้สังคมติดขัด และเกิดวิกฤตขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องเร่งสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน”

ศ.นพ.ประเวศ ยังได้เสนอแนวคิดชี้แนะว่า ภาครัฐต้องลงทุนส่งเสริมให้มีนักเขียนที่ดี และแปลหนังสือดีๆ มาให้ประชาชนอ่าน

“ขณะที่สื่อประชาสัมพันธ์ต้องช่วยกันสื่อสารถึงประโยชน์ของการอ่านหนังสือให้มากขึ้น เราต้องทำการอ่านให้เป็นความสุขราคาถูกเข้าถึงง่าย การอ่านจะช่วยสร้างจินตนาการ ได้ความรู้ เกิดความดี ทำให้เกิดมิตรภาพและพลังทางสังคม ที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้นได้”

เข้าใจ ‘นครแห่งการอ่าน’

นครแห่งการอ่าน เป็นยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อทุกคนในพื้นที่เข้าถึงวิถีสุขภาวะของความสำคัญของการอ่าน โดยเน้นย้ำไปที่ความสุขจากการอ่าน ขยายฐานการเรียนรู้ทั่วเมือง

สำหรับนิยามนครแห่งการอ่านนั้น ได้วางไว้คือ เป็นนครที่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าถึงบริการการอ่านอย่างทั่วถึง ทุกที่ และเท่าเทียม เป็นสังคมที่มีสื่ออ่านที่เพียงพอ ทุกคนเกิดความตระหนัก เห็นคุณค่า และใช้ความรู้ในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิต

‘6 นครแห่งการอ่าน’ สร้างสังคมอุดมปัญญา

 

รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) บอกว่า หนังสือและการอ่านเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างพื้นฐานความเป็นพลเมืองที่พึงประสงค์ และมีส่วนในการกำหนดทิศทางของสังคมในอนาคต

“การอ่านช่วยสร้างมิติสุขภาวะทางปัญญาซึ่งจะช่วยหนุนการสร้างเสริมสุขภาวะด้านอื่นๆ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคม การอ่านจะทำให้คนเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ ซึ่งสามารถช่วยกันคลี่คลายปัญหา และร่วมสร้างสังคมสุขภาวะได้ตั้งแต่ระดับตนเอง ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และสังคม การส่งเสริมการอ่านนั้น ถือเป็นวาระที่ช่วยสร้างความตื่นตัวให้กับสังคม แต่ที่ผ่านมายังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก ดังนั้นการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับเครือข่าย จึงเปรียบเสมือนคานงัดที่จะช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดได้ง่ายขึ้น”

องค์ประกอบของการขับเคลื่อนสู่ความเป็น “นครแห่งการอ่าน” ประกอบด้วย 1.โครงสร้างทางสังคมรองรับวัฒนธรรมการอ่าน ต้องมีการสร้างสังคมที่ยอมรับการอ่าน มีการชักชวนกันอ่าน อาจเป็นระดับกลุ่ม ครอบครัว โรงเรียน ชมรม ชุมชน ฯลฯ และมีนโยบายหนุนเสริมให้เกิดการอ่าน

2.มีทรัพยากรที่ทำให้เกิดการอ่านได้ในทุกที่ทุกเวลา คือ มีความพร้อมของหนังสือ เพื่อคนทุกวัยและเหมาะสมบริบทท้องถิ่น และมีการจัดบรรยากาศ พื้นที่สภาพแวดล้อมและกิจกรรมให้เอื้อต่อการอ่าน

3.มีกระบวนการ มีกลไกจัดการเรียนรู้ที่ทำให้การอ่านสามารถเกิดขึ้นได้ในวิถีชีวิต เพื่อทำให้เห็นถึงคุณค่าของการอ่าน เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

4.มีการฟื้นฟูถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีการส่งเสริม มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการประเมินผลขยายผล

‘6 นครแห่งการอ่าน’ สร้างสังคมอุดมปัญญา

 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านโดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา กับการสร้าง “นครแห่งการอ่าน” เฟสแรก ซึ่งมีผลสำเร็จสำคัญ อาทิ เกิดนโยบายระดับท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณและดำเนินงานส่งเสริมการอ่าน เกิดเวทีประชาคมผลักดันใช้งบประมาณกองทุนสุขภาพชุมชนเพื่อสวัสดิการการอ่านแก่เด็กแรกเกิด เกิดธนาคารหนังสือและมุมการอ่านมากกว่า 100 พื้นที่ทั่วประเทศไทย ฯลฯ

ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สุดใจ พรหมเกิด ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรร่วมเสริมว่า การสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นต้องมียุทธศาสตร์ที่นำสู่การปฏิบัติที่มีวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชุมชน จังหวัดเป็นตัวตั้ง โดยกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่เกิดขึ้นแต่ละจังหวัดคาดหวังปูพรมทั่วเมืองเพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งปัญญา สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างมีความสุขแก่คนทุกวัยต่อไป

“การจะปลูกฝังให้เกิดพฤติกรรมการอ่าน มีการอ่านอยู่ในชีวิตจนเป็นวัฒนธรรมนั้น จะต้องเริ่มต้นด้วยการได้สัมผัสความสุข ความเพลิดเพลินและความรื่นรมย์จากการอ่าน จึงเป็นที่มาของการร่วมสร้าง ‘นครแห่งการอ่าน’ ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งจากการดำเนินงานพบว่า เมื่อระยะเวลาดำเนินงานอย่างต่อเนื่องนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งพบความสำเร็จและความงอกงามมากขึ้นเท่านั้น โดยพบว่า ผู้คนในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการจะรักการอ่านมากขึ้น และยังเห็นคุณค่าจากการทำงานจิตอาสาช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม”

6 จังหวัดนำร่องเฟส 2

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 6 นครแห่งการอ่าน ในปี 2558 นี้ ซึ่งมีแนวทางการขับเคลื่อนร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่านเต็มพื้นที่จังหวัดนำร่อง คือ กระบี่ เชียงราย ลำปาง อุบลราชธานี ขอนแก่น และกทม. การรื้อและปรับระบบเพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจากบทเรียนที่ถอดความรู้มาในปี 2553

‘6 นครแห่งการอ่าน’ สร้างสังคมอุดมปัญญา

 

โดยจะมีการปรับรื้อระบบ (Reengineering) ให้มีกระบวนการบริหารจัดการให้รัดกุมรอบคอบมากยิ่งขึ้น หากนำคำจำกัดความของ ไมเคิล แฮมเมอร์ และเจมส์ แชมมี ที่ให้ว่า การปรับรื้อระบบคือการเปลี่ยนแปลงแนวการบริหารจัดการแบบใหม่ เป็นการคิดทบทวนแนวคิดพื้นฐานในการบริหารจัดการเสียใหม่ โดยแนวคิดพื้นฐานเป็นการคิดค้นหาแนวทางใหม่ที่จะทำให้การบริหารจัดการ และการดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

“นครแห่งการอ่าน” ที่จะเกิดขึ้นทั้ง 6 จังหวัด ฤทธิพงศ์  เตชะพันธุ์ รอง ผวจ.ลำปาง ตัวแทนจาก 6 จังหวัดนำร่อง นครแห่งการอ่าน สะท้อนมุมมองว่า จ.ลำปาง มุ่งหวังจะเป็นสังคมแห่งการอ่านการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ประชาชนทุกช่วงวัยทุกสาขาอาชีพสามารถเข้าถึงและรับบริการด้านการอ่านอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยหลังจากประชาชนรู้จักอ่านหนังสือเป็นแล้ว เขาจะสามารถคิดเองเป็น นำความรู้ที่ได้จากการอ่านไปเสริมสร้างคุณภาพชีวิต

“ในเรื่องของการพัฒนาช่องทางการอ่านนั้น เรามีการพัฒนาร่วมกันทั้งจังหวัด และพยายามกระจายให้เข้าไปสู่หลายๆ ส่วน ทั้งจังหวัดและอำเภอ มีการจัดตั้งอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านในชุมชน มีมุมการอ่านประจำหมู่บ้าน ภาพเหล่านี้คือภาพแห่งความตั้งใจมุ่งมั่นของคนลำปาง ที่จะต้องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นครแห่งการอ่าน ให้ประสบความสำเร็จตามแผนที่วางไว้”

เมื่อย้อนหลังกลับไปเมื่อตอนที่ สุริยันต์ กาญจนศิลป์ ผวจ.ระนอง ได้พูดถึงโครงการนี้ในงาน ปั่น ปัน ปัญญา : หนังสือที่รัก เพื่อเมืองที่รัก@เกาะพยาม ว่า การระดมหนังสือคุณภาพเพื่อเด็กๆ ถือเป็นการวางรากฐานแห่งการอ่านต่อยอดยกระดับให้ จ.ระนอง เป็นนครแห่งการอ่านที่มีการส่งเสริมการอ่านอย่างทั่วถึงต่อไป

การมุ่งเน้นอุดมการณ์สร้างสังคมนักอ่าน และพร้อมผลักดันการอ่านเป็นวาระของจังหวัด ในงานแนะนำภาคีปักธง 6 นครแห่งการอ่าน ตัวแทนจาก กทม. ดร.มิ่งขวัญ กิตติวรรณกร กรรมการและผู้ช่วยฝ่ายวิชาการ หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษา กทม. บอกว่า กทม.ได้สนับสนุนให้คนไทยรักการอ่านหนังสือ โดยหน่วยงานของ กทม.หลายหน่วยงานต่างช่วยกันสนับสนุนและผลักดัน เช่น มีห้องสมุดประชาชนเคลื่อนที่ บ้านหนังสือในชุมชน เป็นต้น สำนักงานการศึกษาดำเนินการเรื่องรักการอ่านอย่างต่อเนื่อง

‘6 นครแห่งการอ่าน’ สร้างสังคมอุดมปัญญา

 

อาคม สุขพันธ์ ปลัดจังหวัดเชียงราย กล่าวถึงแนวทางของจังหวัดว่า ต้องสนับสนุนการอ่านที่ครอบครัว ถ้าพื้นฐานของครอบครัวดี เด็กก็จะเติบโตโดยมีพื้นฐานที่ดี

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับทางเทศบาล ทำงานสนับสนุนกิจกรรมการอ่านอย่างต่อเนื่อง เน้นหมู่บ้านที่ห่างไกลจากเมือง ด้วยพื้นที่ของจังหวัดเป็นภูเขา และมีชาวเขาที่อยู่ห่างไกลจำนวนมาก จึงต้องเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล ส่งเสริมกิจกรรมรักการอ่านอย่างต่อเนื่อง และกำหนดให้การอ่านเป็นวาระสำคัญของทางจังหวัด เพื่อเป็นนครแห่งการอ่าน”

ชูเกียรติ บุศยรัตน์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี บอกว่า ทุกภาคส่วนของจังหวัดสนับสนุนประชาชนให้รักการอ่าน โดยการจัดกิจกรรม เช่น หอสมุดประชาชน ที่อ่านหนังสือตามหมู่บ้าน ห้องสมุดเคลื่อนที่ สร้างสรรค์กิจกรรมที่ทำให้การเรียนรู้ การอ่านมีเพิ่มมากขึ้น

“มีมุมหนังสือตามสถานที่ต่างๆ ภาครัฐและเอกชนร่วมกันผนึกกำลังสร้างเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน สนับสนุนเด็กวัยเรียนให้มีการอ่านเข้มข้น ใฝ่หาความรู้ และเพิ่มจำนวนยุวทูตการอ่าน พัฒนาการอ่านไปสู่ศูนย์เด็กเล็ก และจะขยายให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด”

บุญส่ง ทองเชื่อม ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อ.เมืองขอนแก่น เล่าว่า ศูนย์ กศน.จังหวัดได้บูรณาการกิจกรรมและส่งเสริมกิจกรรมทุกรูปแบบ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั้งจังหวัดรักการอ่าน โดยมีแนวคิดสร้างฐานและนิสัยรักการอ่านจากครอบครัวและชุมชน หลายหน่วยงานในจังหวัดร่วมมือกันวางยุทธศาสตร์

“โดย กศน.จะเป็นหลักในการขับเคลื่อน และนำดารานักแสดงที่เกิดใน จ.ขอนแก่น เข้ามามีส่วนร่วมประชาสัมพันธ์ และเป็นแบบอย่างให้กับประชาชน เช่น ติ๊ก ชีโร่, ซิโก้- เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, กิตติ สิงหาปัด เป็นต้น อีกทั้งยังมีกิจกรรมนายอำเภอเคลื่อนที่ และผู้ว่าราชการจังหวัดเคลื่อนที่ เป็นกิจกรรมที่นายอำเภอและ
ผู้ว่าฯ จะนำชุดหนังสือไปมอบให้ประชาชน พร้อมส่งเสริมอาชีพภายในชุมชนด้วย”

“นครแห่งการอ่าน” ในยุคปรับรื้อระบบของ 6 จังหวัด จะเป็นพลังสำคัญในการจุดประกายและร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญาต่อไปอย่างยั่งยืน และจะเป็นแบบอย่างให้จังหวัดอื่นๆ ได้ต่อยอดเรียนรู้กันต่อไป เชื่อมต่อเครือข่ายเป็นลูกโซ่สร้างวัฒนธรรมการอ่านผ่านคนรุ่นใหม่ให้เข้มแข็งในสังคมไทย