posttoday

อรนภา กฤษฎี ‘ไทยไม่ใช่เมืองแฟชั่น’

11 กรกฎาคม 2558

หากให้นึกถึงนางแบบมืออาชีพ ที่ยืนหยัดอยู่ในวงการบันเทิงมาได้อย่างยาวนาน แน่นอนว่า เราต้องนึกถึง “ม้า-อรนภา กฤษฎี”

โดย...ตุลย์ จตุรภัทร ภาพ... เสกสรร โรจนเมธากุล

หากให้นึกถึงนางแบบมืออาชีพ ที่ยืนหยัดอยู่ในวงการบันเทิงมาได้อย่างยาวนาน แน่นอนว่า เราต้องนึกถึง “ม้า-อรนภา กฤษฎี” ผู้ที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เธอกลายเป็นบุคคลที่ตกเป็นข่าวในเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์การแต่งกายของนักแสดงสาวท่านหนึ่งอย่างตรงไปตรงมาผ่านรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง เลยเถิดจนแฟชั่นดีไซเนอร์ที่ทำงานให้นักแสดงสาวท่านนั้นเกิดความไม่พอใจในการวิพากษ์วิจารณ์ กลายเป็นการต่อความยาวสาวความยืดผ่านสื่อกันจนเป็นข่าวครึกโครม

วันนี้ ผมมีโอกาสนัดพบพูดคุยกับ อรนภา ในบรรยากาศสบายๆ เธอมีข้อตกลงกับผมว่า เราจะไม่พูดคุยถึงเรื่องราวนั้นแต่เราจะมาพูดคุยกันถึงเฉพาะเรื่องราวของ “แฟชั่น”

“ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ตอนนี้ดิฉันไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับแฟชั่นแล้ว ดิฉันทำรายการโทรทัศน์เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ในเมื่อวันนี้จำเป็นต้องพูดกันในเรื่องของแฟชั่น ในฐานะคนที่ชอบศึกษาเรื่องแฟชั่น รวมทั้งได้สัมผัสกับมันผ่านการทำงานในฐานะเป็นนางแบบ ตั้งแต่ยุค 1980เป็นต้นมา (ช่วง พ.ศ. 2523-2532) ขอบอกว่า ยุค 1980 ถือเป็นยุคที่ดีไซเนอร์เกิดกันเยอะมาก เป็นยุคคลาสสิก ที่มีความเป็นมา มีเรื่องราว มีเทคนิค และดีไซเนอร์ทุกคนก็มีไฟในการทำงานกันสูงมาก รวมทั้งมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองอย่างชัดเจน ทั้งเทศและไทย”

อรนภาบอกว่า แฟชั่นมีส่วนเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจ ทำนองว่า เศรษฐกิจดี แฟชั่นก็ดี เพราะมีคนบริโภค ดีไซเนอร์ออกแบบอะไรมาคนก็ซื้อ แต่ยุคที่เศรษฐกิจไม่ดี
เราจะเห็นว่าดีไซเนอร์มักออกแบบเสื้อผ้าแบบเรียบๆ ง่ายๆ ไม่มีเทคนิคใดๆ ทั้งสิ้น

“สำหรับคนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ใช่ดีไซเนอร์หรือนางแบบ หากอยากเข้ามาอยู่ในโลกของแฟชั่น มันต้องเกิดจากกมลสันดานที่ชอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่างตอนที่ดิฉันเป็นนางแบบ นางแบบมีตั้งเยอะแยะ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเสพแฟชั่น ต่อให้เป็นนางแบบ ถ้าไม่ชอบเสพก็จะไม่เอา แบรนด์เนมก็ไม่ใส่ จะใส่เสื้อผ้าธรรมดาทั่วไปแบบที่ไม่ต้องใช้ดีไซเนอร์ออกแบบ ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ถามว่ารู้เรื่องแฟชั่นไหม รู้ แต่ไม่เสพก็คือไม่เสพ นี่ไงมันคือกมลสันดานที่ว่าชอบหรือไม่ชอบอย่างที่กล่าวมา สำหรับคนที่ชอบเสพแฟชั่น ดูได้ง่ายๆ เลยคือ หนึ่ง เสพแบบแฟชั่นจ๋าเลย ใครดีไซน์อะไรมาก็เสพหมดกับสอง รู้เรื่องแฟชั่น แต่ฉันมีแนวทางของฉัน ฉันมีรสนิยมของฉัน แต่ฉันก็ไม่ได้เชยหรือล้าหลัง ซึ่งคนที่อยากเข้ามาในโลกใบนี้ ลองถามตัวเองจากส่วนลึกของกมลสันดานดูว่า ตัวเองเป็นแบบนี้ไหม ถ้าใช่ มันก็ไม่ยากที่จะเดินเข้ามาในโลกใบนี้”

สำหรับเทรนด์ของแฟชั่น อรนภาบอกเล่าว่า มักเกิดจากดีไซเนอร์ของฝรั่งเศสกำหนดมา และมักเผยแพร่เทรนด์แฟชั่นผ่านเมืองใหญ่ๆ อย่างปารีส นิวยอร์ก หรือโตเกียว “หากลองสังเกตดู จะพบว่าดีไซเนอร์ชื่อดังมักไปเกิดกันที่ปารีส คนอเมริกันก็ไปเกิดที่นั่น คนอิตาเลียนก็ไปเกิดที่นั่นคนญี่ปุ่นก็ไปเกิดที่นั่น เพราะที่นั่นเป็นศูนย์รวมแฟชั่นอย่างแท้จริง และคนที่จะไปเกิดที่นั่นได้ ต้องเป็นคนที่กระเสือกกระสน โดยเริ่มต้นจากการเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าหรือแฟชั่นดีไซน์ เพื่อสามารถทำแพตเทิร์นได้ ออกแบบเป็น ตัดเย็บเป็น รู้ว่าเวลาจะทำชุดๆ หนึ่งขึ้นมา จะต้องใช้ผ้าแบบไหน ใช้เทคนิคใดในการทำ แต่เรียนจบ ต้องไปหาประสบการณ์ในห้องเสื้อของดีไซเนอร์ดังก่อน ไปเป็นลูกน้องของเขาก่อน เมื่อมีฝีไม้ลายมือ มีความน่าเชื่อถือมากเพียงพอดีไซเนอร์ก็อาจจะให้ลองออกแบบหรือตัดเย็บสักคอลเลกชั่นหนึ่งขึ้นมา เรียกได้ว่าเส้นทางนี้ต้องเริ่มจากศูนย์ ซึ่งกว่าจะไปถึงร้อย จนมีชื่อเสียงโด่งดัง ก็หินเอาการ”

สำหรับการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า อรนภาบอกเล่าว่าทุกแบรนด์มักออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นคอลเลกชั่นตามฤดูกาล โดย 1 แบบจะทำออกมาขายทีละเป็นหมื่นๆ ชิ้น แล้วส่งออกไปขายตามร้านของตัวเองที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก“แต่หากใครอยากตัดเย็บตามไซส์ของตัวเอง อยากมีความพิเศษนั่นนู่นนี่ให้วิลิศมาหราแตกต่างจากคนทั่วไป อีกทั้งตัดเย็บด้วยมืออย่างประณีตทุกรายละเอียด ก็ต้องไปทำในแผนกที่แยกออกไปอีกที่หนึ่งของแบรนด์ๆ นั้น นั่นคือแผนก Haute Couture ซึ่งแต่ละแบรนด์หากจะเปิดแผนกนี้ขึ้นมาได้ จะต้องมีช่างที่มีความเก่งและโดดเด่นในแต่ละส่วนของเสื้อผ้า อย่างน้อย 20 คน ตั้งแต่ต้นจนครบกระบวนการ ซึ่งแบบนี้เมืองไทยไม่มี คนไทยไม่มี”

ผมถามอรนภาว่า ทำไมไม่มีคนไทยที่ทำอย่างนี้ เธอสวนกลับมาว่า “ประเทศไทยไม่ใช่เมืองแฟชั่นนะคะ ชุดละล้านสองล้าน เราจะขายให้ใคร ใครจะซื้อ ใครจะเสพ ในประเทศไทยมีกี่คนกัน ถึงมีเขาก็เลือกที่จะบินไปตัดเย็บกับแบรนด์ที่คนทั้งโลกรู้จัก มีคุณภาพ มีชื่อเสียง และโด่งดังพอ

“หากคนทั้งโลกจะรู้จักแบรนด์ของไทยได้ ดีไซเนอร์ไทยต้องถามตัวเองก่อนว่า เลิกก๊อบปี้ได้ไหม อย่างดีไซเนอร์ที่ญี่ปุ่นเขาตอบตัวเองได้ว่าเขาไม่ได้ก๊อบปี้ใคร เขาถึงเป็นอะไรได้ตั้งเยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อิซเซ มิยาเกะ, กอมเดการ์ซง หรือว่า โยจิ ยามาโมโต นอกจากนี้ ดีไซเนอร์ไทยยังต้องถามตัวเองเพิ่มเข้าไปอีกข้อว่า สามารถสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองได้ไหม ทำให้คนอยากใส่เสื้อผ้าในแบบที่เราสร้างจนเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมาได้ไหม เช่น หยิบแจ็กเกตผ้าทวิสต์นี้ขึ้นมา แล้วรู้ได้เลยทันทีว่านี่คือชาแนล เพราะเขาเป็นคนคิดค้นแบบนี้ขึ้นมา โดยไม่ได้ไปลอกเลียนแบบใคร”

อรนภามองว่า ด้วยเพราะคนในบ้านเมืองเราไม่ได้ถูกสอนให้คิดเป็น ทำเป็น โลกของแฟชั่นจึงไม่เคยเกิดขึ้นอย่างแท้จริงในบ้านเราเสียที “คนไทยในสมัยโบราณ ไม่ได้รู้จักการ
ออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าว่าเป็นอย่างไร เรารู้ได้แค่เอาผ้ามาพันกาย เอามานุ่ง มาห่ม แต่ไม่เคยคิดค้นวิธีการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อจะนำมันมาสวมและใส่เหมือนที่ฝรั่งเขาทำกัน ซึ่งคนไทยในสมัยโบราณไม่ได้ผิดนะเพราะบ้านเมืองเราเป็นเมืองร้อน

“ที่มาของเรา พื้นเพของเรา สภาพภูมิอากาศบ้านเรา มันทำให้เรื่องการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า หรือแฟชั่น กลายเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ของเรา แต่เผอิญเรามาอยู่ในโลกโลกาภิวัตน์ เราเลยต้องเสพแฟชั่นเพื่อให้ตัวเองเป็นสากล แต่ถึงเราจะผลิตเอง แต่เราก็ยังต้องตามเขาอยู่ ยังเสพของเขาอยู่ เพราะเขาทำกันมาแล้วอย่างนมนานอย่างต่อเนื่องเป็นขั้นเป็นตอน”

อรนภาบอกให้ดูคนญี่ปุ่นที่แต่งเนื้อแต่งตัวเป็น ต่างใช้แบรนด์เนม เพราะเขามีวัฒนธรรมในการเสพแฟชั่นจนเขารู้ว่าว่าแฟชั่นคืออะไร การออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นอย่างไร หรือแม้จะมีสตรีทแฟชั่นอย่างฮาราจูกุ ที่หลุดไปอีกโลกหนึ่ง  ไม่ได้สามารถมากำหนดเทรนด์ได้ แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าดีไซเนอร์ได้

“อย่างดูไบหรือจีน ห้างสรรพสินค้าในบ้านเมืองเขาใหญ่มาก มีขายครบทุกแบรนด์เนม แต่ละแบรนด์เนมก็ใหญ่มาก มีขายครบทุกคอลเลกชั่น แต่ละคอลเลกชั่นก็มีครบหมด ซึ่งบ้านเราเอามาขายแค่ 30% เอง ทำไมถึงเป็นแบบนี้ เพราะเขามีเงิน เขารวย เขาสามารถเสพแบรนด์เนมได้หมดตามที่เขาต้องการ บางทีมาซื้อแบรนด์เนมจากบ้านเราก็มี สังเกตสิ แบรนด์เนมต่างๆ ในห้างสรรพสินค้าบ้านเรา มีแต่คนต่างชาติมาต่อแถวเข้าไปเลือกซื้อ เพราะฉะนั้นเรื่องแฟชั่น เราเสพของเขา ตามเขามาตลอด ก็เสพและตามเขาต่อไป ในส่วนของดีไซเนอร์ไทยเอาแนวทางของเขามาเป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์งานของเรา ทำได้ก็ทำไป ส่วนคนบริโภค มีเงินมากหน่อยก็ซื้อแบรนด์เนมต่างชาติมาใช้ มีเงินน้อยหน่อยก็ซื้อแบรนด์เนมของไทยเรามาใช้ มีปัญญาเสพก็เสพไปไม่มีปัญญาเสพก็ไม่ต้องเสพ ซื้อเสื้อผ้าทั่วไปมาใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองก็จบแล้ว ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก”

สำหรับความฝันที่กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองแฟชั่น อรนภาบอก “เราฝันเหรอ เราน่าจะกำลังพยายามฝันมากกว่า” พูดจบ เธอก็หัวเราะ แล้วบอกผมว่าเธอยังมีเวลาเหลือพอ เธอจึงชวนผมเข้าไปเดินดูการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าของแบรนด์เนมชื่อดังในห้างสรรพสินค้าหรู ผมจะรอช้าอยู่ไยเพราะไม่ใช่ใครทั่วไปจะโชคดีอย่างนี้