posttoday

เฟ้นหาเยาวชนเพชรเม็ดงาม ประดับวงการโขน

06 กรกฎาคม 2558

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดแสดงโขนขึ้นเป็นประจำทุกปี

โดย...วราภรณ์

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดแสดงโขนขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปีนี้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เลือกรามเกียรติ์ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ” มาจัดแสดง และเป็นธรรมเนียมทุกปีที่คณะผู้จัดงานต่าง “เฟ้นหาเพชรเม็ดงาม” มาสืบสานวัฒนธรรมไทยทางด้านโขนต่อไป ในปีคณะผู้จัดงานเปิดให้นักเรียน นักศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลปและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ได้มีโอกาสมาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงครั้งประวัติศาสตร์ ในปีนี้มีผู้สมัครจำนวน 845 คน และคัดเลือกจากเหล่าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุติ 15 คน ให้เหลือเพื่อเข้าร่วมแสดงเป็นตัวละครต่างๆ 5 ตัวละคร อาทิ พระ (โขน) มีผู้สมัคร 35 คน  พระ (ละคร) มีผู้สมัคร 213 คน นางมีผู้สมัคร 263 คน ยักษ์มีผู้สมัคร 143 คน และลิงมีผู้สมัคร 147 คน ซึ่งแต่ละตัวละครจะได้รับคัดเลือกเพียง 5-6 คนเท่านั้น และในปีนี้ได้มีผู้ได้รับทุนพระราชทานทั้งสิ้น 26 คน แบ่งเป็น ตัวยักษ์ ลิง พระโขน พระละคร อย่างละ 5 คน และตัวนาง 6 คน ยังความปลาบปลื้มให้เหล่าเยาวชนผู้รักวัฒนธรรมไทยเป็นยิ่งนัก

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนชุด ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ กล่าวว่า นับเป็นปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่และน่าปลาบปลื้มใจที่ได้เห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่สนใจสมัครเข้ารับคัดเลือกเพิ่มขึ้นทุกปี

“จากปีแรกๆ มีเพียงไม่กี่สิบคน จนกระทั่งมาถึงทุกวันนี้ เรามีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถให้ความสนใจร่วมสมัครคัดเลือกเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงระดับชาติในครั้งนี้มากถึง 845 คน จะเห็นว่านักเรียน นักศึกษาที่สมัครมาแต่ละคน ล้วนมีพรสวรรค์และความสามารถไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย”

เฟ้นหาเยาวชนเพชรเม็ดงาม ประดับวงการโขน

 

‘โขนพระราชทาน’ เวทีในฝันอันสูงสุดของนักเรียนนาฏศิลป์

ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ นับเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้นักเรียนนาฏศิลป์ได้มีโอกาสร่วมแสดงอยู่หลายตัวละคร โดยเฉพาะปีนี้ผู้หญิงดูเหมือนจะได้รับโอกาสมากกว่าการแสดงโขนทุกๆ ปี เพราะครั้งก่อนๆ นักแสดงหญิงมักได้ร่วมเล่นเฉพาะรำเบิกโรงเสียเป็นส่วนใหญ่  แจ๋ม-ภาชินี พิกุลเงิน วัย 20 ปี เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี มีโอกาสมาออดิชั่น 4 ครั้งแล้ว และได้ร่วมแสดงครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดย 2 ครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ ตอน โมกขศักดิ์ และพรหมาศ เธอได้รับทุนพระราชทานทั้งสองครั้ง แต่ก่อนที่เธอจะประสบความสำเร็จก็รับความผิดหวังจากครั้งแรกมาแล้ว เธอนำความผิดหวังไปเปลี่ยนเป็นกำลังใจในการฝึกซ้อมอย่างหนัก ซึ่งตัวละครที่เธอได้เล่นในโขนพระราชทานครั้งล่าสุด คือ ตัวละครพระ รับบทบาทเป็นผู้ชาย เล่นเป็นเทวดา และได้ร่วมเล่นในฉากรบ เพราะมีขบวนเทวดานางฟ้าที่แปลงกายลงมาช่วยรบด้วย

เหตุดึงดูดที่ทำให้เธออยากเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงโขนพระราชทาน ซึ่งเด็กในสายนาฏศิลป์ทุกคนใฝ่ฝันว่าอยากเข้าร่วมแสดงทั้งนั้น ยิ่งได้รับทุนพระราชทานยิ่งเป็นความใฝ่ฝันสูงสุดสิ่งหนึ่งเลย

ด้าน อุ้ย-ราชัน ดาวทอง อายุ 18 ปี กำลังศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี ได้รับเลือกแสดงโขนพระราชทานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แต่ 3 ครั้งที่ผ่านมาได้รับเลือกเป็นตัวสำรอง ครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะได้รับทุนพระราชทานด้วย และยังได้เล่นในบทพระ อาทิ พระลักษณ์ พระราม และพระอินทร์ บทใดบทหนึ่ง สำหรับแรงบันดาลใจเกี่ยวกับโขน ทางครอบครัวคอยเป็นกำลังใจและสนับสนุนมาโดยตลอด พอได้รับทุนพระราชทาน ตนเองรู้สึกดีใจ เพราะนี่เป็นความฝันอย่างที่สุดของนักเรียนนาฏศิลป์ ถือเป็นความภาคภูมิใจของวงศ์ตระกูล เพราะพ่อของเขาก็ทำวงปี่พาทย์และเล่นลิเก พ่อจึงอยากให้เขาเรียนนาฏศิลป์เพื่อร่วมสืบสานงานศิลป์ต่อไป

เฟ้นหาเยาวชนเพชรเม็ดงาม ประดับวงการโขน แจ๋ม ภาชินี

 

“ช่วงประถมผมสนใจกีฬามากกว่านาฏศิลป์ แต่ว่าพ่ออยากให้เรียนนาฏศิลป์ เพราะพ่อก็เคยเรียนที่นั่น พ่ออยากให้ผมไปเอาวิชารำ ร้องมาใช้กับงาน ผมเรียนเอกโขนพระ เรียนรำโดยตรง เรียนวิชาโทปี่พาทย์ และวิชาขับร้องด้วย ผมรู้สึกอย่างไรที่ถือเป็นเพชรที่จะมาช่วยสืบสานวัฒนธรรมไทย ก็รู้สึกดีใจ ไม่เสียแรงที่เรียนมาตั้งแต่ชั้นมัธยม 1 เพราะเรียนนาฏศิลป์ต้องอดทน เรียนเอกวันหนึ่งเรียน 3 ชั่วโมง ต้องวิ่ง ซ้อมเพลงรำ ต้องต่อเพลงกับครู รำอยู่อย่างนั้น แช่ท่าไว้ ทั้งเหมื่อยเพราะต้องซ้อมหนักมากๆ ยิ่งเข้ารอบออดิชั่นโขนพระราชทานรอบลึกๆ ก็ยิ่งต้องซ้อมหนัก ต้องขอบคุณคุณครูที่วิทยาลัยที่ทุ่มเทสอนให้ลูกศิษย์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแม้ต้องซ้อมดึกถึงสี่ทุ่มก็ตาม”

ประสบการณ์การออดิชั่นทั้ง 4 ครั้ง แต่ไม่เคยได้ร่วมเล่นเลย เพราะเป็นเพียงตัวสำรอง แต่ครั้งนี้เขาได้รับทุนเป็นอันดับหนึ่งของโขนพระ ซึ่งมาจากการทำคะแนนได้สูงที่สุดในบรรดาผู้ได้รับทุนทั้งหมด 5 คน นับเป็นสิ่งที่มีค่ามากกับเขา ดีใจถึงกับร้องไห้ ราชันอยากฝากถึงเพื่อนๆ เกี่ยวกับอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยว่า เราควรหันมาสนใจในการรักษารากเหง้าของเรา นั่นคือนาฏศิลป์ไทย เพราะการรักษาวัฒนธรรมคือการรักษาชาติ 

เฟ้นหาเยาวชนเพชรเม็ดงาม ประดับวงการโขน

ผิดหวังสู้ใหม่

“เด็กทุกคนที่มาร่วมออดิชั่นหวังได้รับทุน แต่มีทั้งคนสมหวังและผิดหวัง เช่น ครั้งแรกหนูก็ไม่ได้ จุดบกพร่องครั้งนั้นคือ หนูยังไม่เก่งพอ อยู่แค่ชั้นมัธยมปลาย และหนูก็ยังเด็กอยู่ แต่หนูเปลี่ยนความผิดหวังเป็นความตั้งใจ เพราะหนูสนใจเรียนโขนและอยากให้เด็กรุ่นใหม่หันมาเรียนกันเยอะๆ เพราะโขนต้องใช้ทั้งใจรัก อดทน ถ้าใจไม่รักก็อดทนไม่ได้ เพราะเราต้องฝึกปฏิบัติเบื้องต้น ฝึกกล้ามเนื้อขา ดัดตัว เช่น ตอนเรียนถ้าใครแอบเอาขาลงคุณครูจะให้ทำเพิ่มอีก 50 ครั้ง กว่าจะยืนตรงนี้ก็ยาก แต่เด็กสมัยนี้ชอบเต้นคัฟเวอร์ ได้ตามศิลปินในดวงใจของเขา ณ ปัจจุบัน หนูก็รู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย บางคนดูถูกในสายนาฏศิลป์ที่เราเรียนมา จบไปจะไปทำอาชีพอะไร เต้นกินรำกินเหรอ ยิ่งเขาดูถูกเรา เรายิ่งทำออกมาให้ดี ยิ่งทำผลงานออกมาให้ประจักษ์เพื่อลบคำสบประมาทของเขา” แจ๋ม ภาชินี เล่าถึงแรงผลักดันและเคล็ดลับที่ทำให้เธอได้รับทุนพระราชทานในครั้งนี้

“ใครพลาดในปีนี้ กลับบ้านไปซ้อมให้หนัก ฝึกฝนตนเองทุกอย่าง เช่นตัวหนูพอผิดหวังกลับบ้านไปก็ไปให้คุณครูสอนนาฎศิลป์ที่ลพบุรีช่วยฝึกซ้อม พอหนูได้รับคัดเลือกในครั้งที่ 2 ที่มาออดิชั่น คุณครูก็ร่วมดีใจไปกับหนู มันรู้สึกตื้นตัน เพราะหนูเรียนนาฏศิลป์มา 8 ปีแล้ว ใครพลาดให้จำโจทย์จดจำโจทย์ จดจำคำถามในสิ่งที่คณะกรรมการให้เราทดสอบในห้อง กลับไปฝึกฝนตนเอง เช่น การตีบท ให้ลองหยิบบทในสูจิบัตรเล่มก่อน ลองอ่าน ลองตีท่าพอถึงเวลาในห้องสอบจริงๆ เราจะหยิบท่าที่ใช้ในการฝึกซ้อมมาโชว์ความสามารถได้ จะได้ไม่ลน ท่านี้เหมาะอย่างไรค่ะ”

เฟ้นหาเยาวชนเพชรเม็ดงาม ประดับวงการโขน ผักกาด-ณัฐพร แก้วจันทร์

 

ด้าน ผักกาด-ณัฐพร แก้วจันทร์ วัย 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย ครั้งแรกมาออดิชั่นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แม้ได้ร่วมเล่นในครั้งแรกแต่ไม่ได้รับทุน มาครั้งที่ 2 ผิดหวังหนักกว่าเดิม เพราะไม่ได้รับเลือก แต่เธอไม่ลดละความพยายาม มาออดิชั่นครั้งล่าสุดนี้ เธอได้รับบทเป็นเทวดา แถมยังได้รับทุนพระราชทานอีกด้วย และเธอได้รับบทบาทเป็นเทวดา

แต่กว่าจะประสบความสำเร็จจนได้รับทุนการศึกษาพระราชทานไม่ใช่เรื่องง่าย พอครั้งที่ 2 ไม่ได้ เธอเปลี่ยนความเสียดายเป็นแรงฮึด กลับไปฝึกข้อเข่าในจังหวะ “สะดุ้งแล้วย่อ” ให้ชัดเจน เพื่อท่ารำจะได้ชัดเจนและสง่างาม

“ใครไม่ได้คัดเลือกอย่าเสียใจ เอาใหม่ หนูเป็นเด็กต่างจังหวัด ก็ต้องฝึกซ้อมเข้มข้นเป็น 2 เท่า ซ้อมทุกเย็น รู้หลักการตีบท ซึ่งบททดสอบ เช่น ท่ารำ เด็กนาฏศิลป์ได้เรียนตั้งแต่ชั้นมัธยม 3 แล้ว แล้วก็มีท่ารำตามธรรมชาติ เดิน ยิ้ม ฝึกซ้ำๆ ดูว่าบทๆ หนึ่งต้องแสดงอะไรบ้าง เช่น ร้องไห้ ก็ต้องขึ้นท่า ไว้มือวาดมือ เพื่อเตรียมตัวมาออดิชั่น ต้องรำอย่างไรให้คณะกรรมการมองเรา ถ้าท่ารำมาตรฐานพื้นฐานเหมือนกันหมด แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือ ความมั่นใจและลีลา เราต้องมั่นใจ แล้วท่ารำเราจะชัดเจน และอีกเทคนิค ตาต้องจิก ชวนท่านคณะกรรมการมาดูเรารำต่อไป แต่ถ้าตื่นเต้นรำผิดนิดๆ หน่อยๆ เราต้องใช้ไหวพริบต่อท่าใหม่ได้รวดเร็ว หนูคิดว่าท่านคณะกรรมการจะดูไหวพริบตรงนี้ด้วย ตื่นเต้นได้แต่ต้องมีสติ แม้เวลาสอบจริงๆ จะรู้สึกตื่นเต้น แต่การซ้อมเยอะๆ จะทำให้เราต่อท่าได้ไหลลื่นค่ะ”

เฟ้นหาเยาวชนเพชรเม็ดงาม ประดับวงการโขน ลูกเกด-วนัสนันท์ เพ็งมณี

 

ฝันอยากทำอาชีพครูนาฏศิลป์

ลูกเกด-วนัสนันท์ เพ็งมณี วัย 17 ปี กำลังศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 วิทยาลัยนาฏศิลป มาออดิชั่น 2 ครั้งและได้ร่วมแสดงครั้งนี้เป็นครั้งแรก แถมยังได้รับทุนพระราชทานอีกด้วย บทบาทที่วนัสนันท์ได้รับร่วมเล่นการแสดงโขนมูลนิธิศิลปาชีพฯ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ” คือ เทวดา นางฟ้า สิ่งที่ทำให้เธออยากมาเป็นนักเรียนนาฎศิลป์มีตั้งแต่เด็ก จึงตัดสินใจมาเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป เพราะสอนนาฏศิลป์โดยตรง เพราะเสน่ห์นาฏศิลป์ไทยคือ การร่ายรำและการได้แต่งตัวสวยๆ

“สิ่งดึงดูดให้มาสมัครแสดงโขนพระราชทาน เพราะหากได้รับเลือกถือเป็นความสำเร็จก้าวหนึ่งของชีวิตและน่ายินดีและภาคภูมิใจที่ได้รับทุน ถือเป็นความใฝ่ฝันสูงสุด หนูก็ใฝ่ฝันอยากเป็นครูช่วยสืบสานวัฒนธรรมไทย ในสายครูสอนนาฏศิลป์ที่จะเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะช่วยสืบสานวัฒนธรรมไทยได้อีกทางหนึ่ง” ซึ่งความคิดนี้สอดคล้องกับ พิม-พิมสิริ วงศ์ชูชัยสถิต วัย 20 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และ ออย-นวพร ทองคำ วัย 17 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 6 วิทยาลัยนาฏศิลป ก็มีความฝันว่าอยากเป็นครูนาฏศิลป์ด้วยเช่นกัน

ติดตามฝีมือการแสดงโขนของเหล่าเยาวชนไทยได้ในวันที่ 6 พ.ย.-6 ธ.ค. 2558 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา