posttoday

สัตว์โลกสูญพันธุ์ ณ สุดทางของอนาคตกาล (เร็วๆ นี้)

02 กรกฎาคม 2558

ในปี 1909 โลกค้นพบแหล่งซากดึกดำบรรพ์หนาแน่นบนเทือกเขาร็อกกี้ในแคนาดา ข้อมูลที่ค้นพบนี้มีประโยชน์มากต่องานทางด้านธรณีวิทยาและโบราณชีววิทยา

โดย...นพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ อายุวัต เจียรวัฒนกนก/นพดล ประยงค์/พิเชฐ นุ่นโต

ในปี 1909 โลกค้นพบแหล่งซากดึกดำบรรพ์หนาแน่นบนเทือกเขาร็อกกี้ในแคนาดา ข้อมูลที่ค้นพบนี้มีประโยชน์มากต่องานทางด้านธรณีวิทยาและโบราณชีววิทยา โดยช่วยสนับสนุนว่ามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนโลกนี้มากว่า 500 ล้านปีแล้ว นักโบราณชีววิทยาเรียกยุคโบราณช่วงนั้นว่า เบอร์เกส เชลล์ (The Burgess Shale) นักชีววิทยาชื่อ ชาร์ลส์ วอลคอตต์ (Charles Walcott) เก็บตัวอย่างซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ได้มากกว่า 6.5 หมื่นชิ้นจากแหล่งดังกล่าว

100 กว่าปีผ่านไป มีข่าวอีกชิ้นหนึ่งที่รายงานถึงการเข้าสู่ช่วงเวลาสูญพันธุ์ครั้งใหญ่รอบที่ 6 ที่สัตว์มีกระดูกสันหลังหลายชนิด จะหายไปด้วยอัตราเร็วมากกว่าช่วงเวลาที่โลกปราศจากกิจกรรมของมนุษย์ถึง 114 เท่า !

สัตว์โลกสูญพันธุ์ ณ สุดทางของอนาคตกาล (เร็วๆ นี้)

สัตว์โลก...ก่อนที่เราจะไม่ได้เห็นมันอีก

การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 คืออะไรกันแน่ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารไซน์ส แอดแวนเซสระบุถึงการเข้าสู่แนวโน้มของช่วงเวลาการสาบสูญของสิ่งมีชีวิตบนโลก ที่จะมีอัตราการสูญพันธุ์ของสปีชีส์ต่างๆ สูงกว่าช่วงเวลาที่ยังปราศจากกิจกรรมของมนุษย์ถึง 114 เท่า ซึ่งนับตั้งแต่ยุคที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเมื่อ 66 ล้านปีก่อน ไม่มีครั้งไหนที่โลกจะสูญเสียสัตว์หลากหลายชนิดไปด้วยอัตราเร็วเช่นนี้

รศ.สมโภชน์ ศรีโกสามาตร อาจารย์ประชำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 เป็นเรื่องที่เริ่มพูดถึงในหมู่นักวิทยาศาสตร์มาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะในช่วงปี 2546-2547 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคาม หรือสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์เริ่มฟื้นฟูดีขึ้น

จากตัวเลขขององค์การอนุรักษ์ธรรมชาติสากล (ไอยูซีเอ็น) ในปี 2558  สปีชีส์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เคยถูกคุกคาม มีสปีชีส์ที่เพิ่มขึ้น จากเดิม 37 ชนิด เพิ่มเป็น 57 ชนิด สัตว์ปีก แต่ก่อนมี 37 ชนิด เพิ่มเป็น 48 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน จาก 19 ชนิด เพิ่มเป็น 27 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จากสปีชีส์ที่เฝ้าระวังสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ก็เพิ่มขึ้น 4 ชนิด

ด้านปลา จาก 35 ชนิด เพิ่มเป็น 98 ชนิด หอยจาก 1 ชนิด เพิ่มเป็น 15 ชนิด สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จาก 0 เพิ่มเป็น 196 ชนิด และพืช จาก 84 ชนิด เพิ่มเป็น 150 ชนิด

สัตว์โลกสูญพันธุ์ ณ สุดทางของอนาคตกาล (เร็วๆ นี้)

 

จากข้อมูลตัวเลขดังกล่าวอนุมานได้ว่า เพราะมีการติดตามและประเมินอย่างเข้มข้น มนุษย์จึงมีความรู้เกี่ยวกับปริมาณสัตว์ในสปีชีส์ต่างๆ มากขึ้น หรือเพราะในสภาพตามความเป็นจริง สัตว์เพิ่มปริมาณขึ้นจริงๆ ก็เป็นไปได้เช่นกัน นอกจากนี้ข้อมูลยังบ่งบอกถึงนัยที่ซ่อนอยู่ บวกและลบควบคู่กัน

“โลกเปลี่ยน สัตว์ก็เปลี่ยน ในรอบ 10-12 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยของสัตว์บนโลกเยอะมาก มีการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของมัน พื้นที่ป่าลดลง ปริมาณน้ำจืดลดลง มีการค้าสัตว์ ปัจจัยพวกนี้ล้วนส่งผลลบต่อปริมาณสัตว์ เช่น ตัวลิ่น หรือตัวนิ่มในบ้านเรา ปัจจุบันหายากมากเพราะถูกจับมาขาย” รศ.สมโภชน์ เล่า

ข่าวดีหรือปัจจัยบวกก็มีเช่นกัน แต่ก่อนเมื่อพูดถึงสัตว์ป่าแทบจะหมดหวัง โดยเฉพาะสัตว์ป่าขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันการฟื้นฟูปริมาณสัตว์ป่าทำได้ดีขึ้น เช่น เสือไทยซึ่งมีภาพเป็นบวกมีปริมาณมากขึ้น ไม่ลดลงอย่างที่กลัว ช้างไทยก็เช่นกัน ที่เคยคาดว่าปริมาณจะลดลงไปเรื่อยๆ แต่ช่วงหลังปริมาณมากขึ้น รวมทั้งกระทิงวัวแดงซึ่งแต่ก่อนเห็นได้ยากมาก แต่ปัจจุบันเห็นได้ที่เขาแผงม้า ห้วยขาแข้ง และแก่งกระจาน

“ทั้งหมดเป็นผลผลิตจากการตื่นตัวของคนในประเทศ ชุมชนรอบเขตที่มีจิตใจอนุรักษ์มากขึ้น จะเห็นว่าสถานการณ์การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ในบ้านเรามีทั้งบวกและลบ แน่นอนที่ปัจจัยลบจะมีมากกว่า แต่ประเด็นคือ ไม่ได้มีแต่ปัจจัยลบอย่างเดียว”

สัตว์โลกสูญพันธุ์ ณ สุดทางของอนาคตกาล (เร็วๆ นี้)

 

ส่วนหนึ่งที่มีปัญหาและเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา รศ.สมโภชน์เล่าว่า คือ หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการจัดการสัตว์ที่ถูกคุกคาม หน่วยงานนั้นๆ อาจไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ แต่มักไปแทรกอยู่ในหน่วยย่อย จึงทำให้การดำเนินงานไม่ชัดเจน นอกจากนี้คือความไม่ทันสมัยของกฎหมาย รวมทั้งการไม่ต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ

“10 ปีที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีรัฐมนตรี 9 คน อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเว้นวรรคทางนโยบาย ที่ความสอดคล้องต่อเนื่อง ไม่มีอะไรที่ต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านี้คือระบบการบริหารจัดการที่ตามไม่ทันกับการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต”

ระบบที่ไม่ลงตัวมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ การเดินหน้าต่อจึงหมายถึงการตระหนักในทิศทางการบริหารจัดการที่ชัดเจน ระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และมีอิสรภาพในการบริหารจัดการของตัวเอง ไม่คอยตามหรือคอยแต่ว่าเมื่อไหร่จะถูกบีบจากกระแสโลก

นอกจากนี้ เพื่อให้การบริการจัดการสามารถดำเนินการหรือตามทันกับการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตควรปรับกฎหมายที่คุ้มครองเฉพาะสัตว์ 2 ประเภทคือ สัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์สงวนเท่านั้น แต่ควรเพิ่มประเภทสัตว์ที่ต้องคุ้มครอง โดยให้สอดคล้องไปกับข้อมูลของไอยูซีเอ็น ที่ใช้ช้อมูลทางวิทยาศาสตร์จำแนกสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามเป็นหลายระดับ ด้วยวิธีนี้จะทำให้หน่วยงานรัฐบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น

สัตว์โลกสูญพันธุ์ ณ สุดทางของอนาคตกาล (เร็วๆ นี้)

 

“จะเอาให้อยู่ ต้องมีกฎหมายรองรับขึ้นมาต่างหาก ต้องมีหน่วยงานรองรับต่างหาก และสัตว์ที่จะถูกคุ้มครองก็ต้องมีมากกว่า 2 ชนิด ปัจจุบันเรามีแค่สัตว์ป่าคุ้มครองกับสัตว์สงวน แค่นี้มันไม่ทันกัน” รศ.สมโภชน์เล่า

อาจารย์วัชระ สงวนสมบัติ นักวิชาการด้านนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เล่าว่า มีสัตว์ร่วมโลกหลายสปีชีส์ที่กำลังถูกคุกคามหรือบางสายพันธุ์ก็สูญพันธุ์ไปแล้วด้วยซ้ำ แต่หากใช้เกณฑ์เฝ้าระวังสัตว์สายพันธุ์ที่กำลังจะสูญ สำหรับประเทศไทยแล้ว อันดับหนึ่งคือนกแต้วแร้วท้องดำ ซึ่งไม่มีการรายงานพบในธรรมชาติ 3 ปีแล้ว

“จะต้องรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของมันให้ได้ ได้แก่ป่าที่ราบต่ำ ที่ปัจจุบันคือที่หมายปองของคนทำสวนปาล์ม สวนยางพารา ถ้าถิ่นที่อยู่ไม่รอด นกแต้วแร้วท้องดำก็ไม่รอด”

สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันดับหนึ่งคือโลมาน้ำจืด หรือโลมาอิรวดี ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลสาบสงขลา เป็นโลมาน้ำจืดแห่งเดียวในไทย และมีแค่ 3 ที่ในโลก ประชากรถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เพราะอยู่ในทะเลสาบปิด ปัจจุบันถูกลากติดอวนขึ้นมาตาย ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป อีกไม่นานก็สูญพันธุ์

สัตว์โลกสูญพันธุ์ ณ สุดทางของอนาคตกาล (เร็วๆ นี้)

 

 

ด้านสัตว์เลื้อยคลานใกล้สูญพันธุ์ในไทย ได้แก่ ตะพาบม่านลาย ตะพาบใหญ่ที่สุดในโลก อดีตเจอในแม่น้ำแคว เมื่อกั้นเขื่อนแม่น้ำแคว ตะพาบขึ้นมาผสมพันธุ์วางไข่ไม่ได้ รวมทั้งโดนจับกิน จระเข้น้ำจืด และตะพาบหัวกบ ทุกตัวไม่มีรายงานพบเจอในธรรมชาติมานานมาก

ขณะที่สัตว์น้ำ คือปลาบึกสายพันธุ์ธรรมชาติ และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก  สถานการณ์โดยรวมคือภัยคุกคามที่มาในรูปของเชื้อราฆ่ากบหรือเชื้อราไทคริด ในต่างประเทศเชื้อราชนิดนี้ทำลายสายพันธุ์กบไปแล้วกว่า 100 ชนิด

มองในภาพรวม สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในไทยคือสัตว์ป่าที่ราบต่ำเนื่องจากพื้นที่อาศัยถูกทำลาย พื้นที่ถูกบุกรุกจากมนุษย์ได้ง่าย ไม่เฉพาะแต้วแร้วท้องดำ แต่สัตว์ป่าที่ราบต่ำทั้งหมด เช่น นกกระสาคอขาวปากแดง นกปรอทแม่พะ นกแร้ง รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ วัวแดง ควายป่า เสือโคร่งและกลุ่มสายพันธุ์กระซู่ ที่ปัจจุบันแทบไม่พบเจอในธรรมชาติแล้ว

“ในฐานะคนทำงานผมมีความหวังนะ แต่หน่วยงานอนุรักษ์สัตว์ในบ้านเราต้องจับมือกันให้มากกว่านี้ ปัจจุบันต่างคนต่างทำ มีแต่แนวทางของตัวเอง ยึดตัวเอง ยึดข้อมูลความรู้ของตัวเอง ไม่บูรณาการ ไม่ยอมรับกัน นี่คือปัญหาการอนุรักษ์ของไทย” อาจารย์วัชระเล่า

สัตว์โลกสูญพันธุ์ ณ สุดทางของอนาคตกาล (เร็วๆ นี้)

 

นกแต้วแร้วท้องดำที่หายไป (อีกรอบ)!

แต้วแร้วท้องดำ (Gurney’s Pitta) ถูกค้นพบในไทยครั้งแรกปี 2418-2420 ที่ จ.ระนอง โดย W.Davidson นักเก็บตัวอย่างนก เมื่อข่าวการค้นพบแพร่ออกไป ส่งผลให้นักเก็บตัวอย่างเดินทางเข้ามาเก็บตัวอย่างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2452-2456 และปี 2472 และปี 2479 จำนวนนกลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว การพบเห็นแต้วแร้วท้องดำในธรรมชาติจึงปิดฉากลงเป็นระยะเวลานานกว่า 34 ปี

นกแต้วแร้วท้องดำ ถูกค้นพบอีกครั้งในผืนป่าเขานอจู้จี้ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ จากบุคคล 2 คนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจติดตามคือ ฟิลลิป ดี.ราวด์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอุทัย ตรีสุคนธ์ อดีตนายกสมาคมอนุรักษ์นกฯ ใช้เวลา 4 ปี จึงประสบความสำเร็จในวันที่ 14 มิ.ย. 2529

จากวันนั้นถึงวันนี้ (14 มิ.ย. 2529-2 ก.ค. 2558) ทัตฑยา พิทยาภา ผู้จัดการฝ่ายอนุรักษ์ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (บีซีเอสที) ระบุล่าสุดข้อมูลปี 2555 ประเทศไทยมีนกแต้วแร้วท้องดำในธรรมชาติไม่เกิน 5 ตัว และหลังจากนั้นจนถึงปี 2558 ไม่พบเจอ ไม่ได้ยินเสียงร้องและไม่พบการทำรังของนกแต้วแร้วท้องดำ 3 ปีเต็ม

สัตว์โลกสูญพันธุ์ ณ สุดทางของอนาคตกาล (เร็วๆ นี้)

 

“ประเมินสภาพนกแล้วเราห่วงว่าจะสูญพันธุ์ เพราะนกอาศัยอยู่ในป่าที่ราบต่ำ ถูกรุกสวนยางพารา สวนปาล์ม และด้วยธุรกิจการท่องเที่ยว”

ทัตฑยาเล่าว่า พื้นที่สระมรกต จ.กระบี่ ปัจจุบันถูกเปิดรับสำหรับการท่องเที่ยว ทัวร์ลงวันละเป็นหลักพันคน ทั้งที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า นอกจากนี้นกยังได้รับผลกระทบจากการรุกทำสวนของชาวบ้านที่ดึงน้ำในดินออกไป ไส้เดือนอยู่ไม่ได้ นกก็อยู่ไม่ได้ นี่ยังไม่นับรวมศัตรูตามธรรมชาติ เช่น อีเห็นและงู อัตราการรอดจนฟักเป็นตัวจึงต่ำมาก

“มองหลายด้าน และทำความเข้าใจให้ครบทุกด้าน เพื่อการอยู่รอดและอยู่ให้ได้ของนกแต้วแร้วท้องดำ สัตว์และหนึ่งในเพื่อนร่วมโลกของเรา ประเทศไทยไม่มี และไม่เคยมีวาระแห่งชาติที่เป็นสัตว์ป่าด้วยซ้ำ เราคิดถึงพวกมันน้อยมาก แม้กระทั่งในวาระสุดท้ายที่พวกมันอาจจะไม่มีตัวตนอยู่บนโลกใบนี้แล้วด้วยซ้ำ”

10-12 ก.ค.นี้ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กำหนดสำรวจนกแต้วแร้วท้องดำ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ สำรวจพื้นที่รอบป่าเขานอจู้จี้ ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยของนกแต้วแร้วท้องดำร่วมกับกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม

ถึงตอนนั้นเราอาจได้รับข่าวดีจากนกแต้วแร้วท้องดำที่บ้านหลังสุดท้ายของมันบ้างก็ได้...หรือเราจะอนุญาตให้ตัวเองได้หวังอย่างนั้นหรือไม่?