posttoday

พี่โค้ชชิ่งน้องนิวเฟซเวทีแอล Designer’s Think Tank

01 กรกฎาคม 2558

เดือน ก.ย.นี้ SS2016 ELLE Fashion Week เตรียมเปิดเวทีอีกครั้ง

โดย...ปอย

เดือน ก.ย.นี้ SS2016 ELLE Fashion Week เตรียมเปิดเวทีอีกครั้ง

แสดงความมุ่งมั่นสร้างสรรค์วงการแฟชั่นต่อเนื่อง ซึ่งการเตรียมคอลเลกชั่นซีซั่นล่าสุด เจ้าภาพเวทีแอล โพสต์ อินเตอร์ เนชั่นแนล มีเดีย ก็เพิ่งจัดกิจกรรม Thai Touch the Integrated Fashion Project by Department of Industrial Promotion สร้างศักยภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยแบบ 360 องศา โดยมีภาครัฐเสริมทัพความแข็งแกร่ง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีนโยบายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยครบทุกสาขา ทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนัง-รองเท้า และอุตสาหกรรมเครื่องประดับ

Thai Touch Project จัดขึ้นมาเพื่อพัฒนานักออกแบบไทย โดยเชิญ 10 ดีไซเนอร์ดังจากสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์ เฟ้นหานักออกแบบรุ่นใหม่-New Face 30 คน เข้าอบรมในโครงการ Designer’s Think Tank เวิร์กช็อปนี้บุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่นตัวจริง สอนกันจริงๆ จังๆ ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ 4 วัน 3 คืน เกี่ยวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมแฟชั่น (Overview : Fashion as Business) การตลาดและสร้างแบรนด์ (Marketing, Branding and Brand Framework) การสร้างสรรค์งานออกแบบ (Design, Production Value and Production Process) การประชาสัมพันธ์ (Launch Plan with PR/Advertising) แนวโน้มแฟชั่น (2016 Materials World Trend : World Trend, Color Trend, Color Combination, Materials, Textile and Sourcing) 

จบเวิร์กช็อป พี่ๆ ช่วยกันชี้เป้าเลือกน้องๆ ฝีมือโดดเด่นป๊อปอัพขึ้นมา ให้เตรียมสร้างคอลเลกชั่นสปริง/ซัมเมอร์ ขึ้นรันเวย์ ELLE Fashion Week 2016 โชว์ผลงานในฐานะนิวเฟซ-ไทยดีไซเนอร์หน้าใหม่น่าจับตา

พี่โค้ชชิ่งน้องนิวเฟซเวทีแอล Designer’s Think Tank

 

พี่ๆ เทความรู้หมดหน้าตัก Coaching น้องๆ

เห็นชื่อโค้ชชิ่งสอนน้องๆ กันคราวนี้แล้ว เชื่อว่าได้ความรู้ไปเต็มๆ ภาณุ อิงคะวัต ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้ง “เกรย์ฮาวด์” แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติไทย ด้วยประสบการณ์คร่ำหวอดในวงการโฆษณามาก่อน ภาณุ
เลกเชอร์วงการ “Thai Designer” คมๆ กริบๆ ว่า “การหยุดอยู่กับที่เท่ากับถอยหลังแล้ว” เป็นคำพูดที่ใช่เลยกับสถานการณ์ตลาดวันนี้ ที่คนซื้อมีทางเลือกเยอะแยะ ทั้งรูปแบบ ราคา และช่องทางการขายแข่งขันสูง (มาก) ทั้งตลาดโลกหรือตลาดไทย แต่ละแบรนด์ยิ่งต้องสร้างความแตกต่างเฉพาะตัวให้เจอ “คุณภาพเหนือราคา” ยิ่งต้องเน้นๆ มากที่สุด

“ดีไซเนอร์ต้องทำงานเหมือน ‘เถ้าแก่’ มีความคล่องตัว สนใจทิศทางของธุรกิจ เป็นนักจัดการไปในเวลาเดียวกัน โครงการ Designer’s Think Tank ถ้าทำต่อเนื่องก็จะเป็น Fashion Hub เต็มไปด้วยดีไซเนอร์หน้าใหม่ๆ ซึ่งช่วยกันปรับทิศทางร่วมกันและพึ่งพาจับกระแสตามไปด้วยได้นะครับ

วันนี้แฟชั่นไม่ได้แข่งกันเองแค่ในประเทศหรือแค่กลุ่ม AEC อีกต่อไปแล้ว แต่แข่งกับโลกตลอดเวลา” ภาณุ เปิดคอร์สด้วยสายตานักการตลาดรุ่นเก๋า

ช่วงเวลาที่แข่งขันสูง อย่ากลัว! ถ้าใครเก่งจริงก็จะได้เป็นตัวจริง แล้วกว่าจะคัดเลือก 30 นิวเฟซมาเข้าคอร์สอบรมเข้มข้นได้ พี่ก็เฟ้นเลือกกันแทบตายเหมือนกัน ณัฎฐ์ มั่งคั่ง ดีไซเนอร์แบรนด์โคลเซ็ท (Kloset) บุกเบิกวงการมา 10 กว่าปี บอกดีไซเนอร์นิวเฟซมีเส้นทางชัดเจน มีความหลากหลายทั้งชอบงานคราฟต์แบบอนุรักษนิยม งานโมเดิร์นใหม่ๆ ถ้าผลักดันดีๆ หน้าใหม่ไปไกลแน่

“ถ้าคุณอยากทำแบรนด์ พี่ๆ ก็อยากสอนอยากให้ไอเดียการประกอบธุรกิจ ไม่แค่ครีเอทีฟเท่านั้นนะ วงการแฟชั่นไทยเรายังขาดมากๆ เรื่องเซ็นเตอร์สำหรับให้คำปรึกษานักออกแบบหน้าใหม่ เกี่ยวกับการต่อยอดแบรนด์ ซึ่งแฟชั่นเกาหลีให้ความสำคัญมากในเรื่องนี้ ภาครัฐก็มีหน่วยงานให้คำปรึกษาเรื่องนี้ เช่น อยากสร้างแบรนด์ใหม่เล็กๆ เย็บเสื้อไม่กี่ตัว แต่ขาดช่างเย็บ ก็เข้ามาถามหาได้ที่นี่ หรือการลงทุนก็มีผู้ให้คำปรึกษาว่าเสี่ยงไหม? ไปจนถึงหาผู้ที่จะมา Investment ร่วมธุรกิจเติบโตได้อีก เรื่องนี้จึงอยากฝากภาครัฐให้ช่วยกันอีกมากๆ เหมือนโครงการนี้” ณัฎฐ์ กล่าว

พี่โค้ชชิ่งน้องนิวเฟซเวทีแอล Designer’s Think Tank

พี่ใหญ่อีกคนที่น้องๆ ได้ร่วมเวิร์กช็อปด้วย รับรองว่าได้ภาพรวมอุตสาหกรรมแฟชั่นกลับไปไม่น้อย

ดีไซเนอร์เจ้าของเสื้อผ้าไฮแบรนด์ อาซาว่า (Asava) พลพัฒน์ อัศวะประภา บอกด้วยระยะเวลา 4 วัน จึงขอโค้ชชิ่งน้องในเรื่องการสร้างแบรนด์ มากกว่าเรื่องครีเอทีฟที่แต่ละคนล้วนมีแนวทางของตัวเองแล้ว

“วันนี้คนรุ่นใหม่เข้ามาในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นกันเยอะมาก ผมบอกน้องว่าเราอยู่วงการนี้ ต้องรู้นะว่าคนทั่วโลกมองเราในแง่ของตลาดค้าส่ง ขายเสื้อผ้าราคาถูก แฟชั่นสากลเรายังสู้ญี่ปุ่น สู้เกาหลีไม่ได้เลย เพราะประเทศเราไม่มีนโยบายสนับสนุน ทั้งที่ในเชิงปัจเจก ดีไซเนอร์ไทยเก่งมาก เพราะฉะนั้นแค่ความรัก มุ่งมั่นอย่างเดียวไม่พอนะครับ การทำให้แบรนด์อยู่ในธุรกิจให้ได้ เราต้องช่วยกันสร้างสรรค์เรื่องนี้ด้วย” พลพัฒน์ กล่าว

ภาพรวมงานแฟชั่นไทยวันนี้ ยังไม่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ไม่ใช่การทำแบรนด์เสื้อแต่เป็นได้เพียงงานสไตลิ่ง ธีร์รัฐ ว่องวัฒนสิน ผู้ก่อตั้งดีไซเนอร์แบรนด์ วิกธีร์รัฐ (Vickteerut) เลกเชอร์สายโหด อธิบายเรื่องนี้ว่า เด็กๆ แฟชั่นยังขาดความสามารถเรื่องการสร้างเทคนิคการทำเสื้อ ทำไม่ได้ทั้งคอนสตรักชั่น ทั้งแพตเทิร์น ทำสวยแค่วาดสเกตช์ในกระดาษเป็น แต่พอถึงขั้นตัดเย็บ นักศึกษาแฟชั่นกลับทำกันไม่ได้?!!

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพี่ๆ ไม่โทษเด็กๆ อยากเพ่งโทษไปที่หลักสูตรสอนกันแค่ทฤษฎี แต่เกือบไม่มีภาคปฏิบัติเลย ขณะการลองผิดลองถูกคือสิ่งจำเป็นที่สุด

“สถาบันสอนแฟชั่นเปลี่ยนหลักสูตรเถอะ อีกเรื่องคือวัตถุดิบ เช่น ผ้า เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาดีไซเนอร์ใช้ผ้าอะไร วันนี้เชื่อไหมก็ยังใช้ผ้าแบบนั้นกันอยู่ เพราะอะไร? ...ไม่ใช่เราไม่สามารถผลิตผ้าดีๆ ได้นะ ผ้าสวยๆ เมดอินไทยแลนด์ทั้งนั้น แต่ผ้าเกรดดีส่งออกเมืองนอกหมด เหลือแต่ผ้ากะโหลกกะลาขายในเมืองไทย ถ้าจะพัฒนาเราต้องเริ่มกันที่เรื่องเหล่านี้เลยครับ”

พี่โค้ชชิ่งน้องนิวเฟซเวทีแอล Designer’s Think Tank

 

นิวเฟซเตรียมตัวแล้ว!

ศรัณย์ อยู่คงดี เจ้าของแบรนด์ Sarran บอกว่า นี่คือครั้งแรกที่ผลงานของเขาจะได้ขึ้นเวที ELLE Fashion Week นำเสนอเครื่องประดับซีซั่น SS2016

ดีไซเนอร์เครื่องประดับแบรนด์เน้นอัตลักษณ์ไทยจ๋า ทุ่มศึกษาเรื่องกระดาษสา แผ่นละ 2 บาท ตั้งแต่สมัยเรียนคณะจิตรกรรม มศว ประสานมิตร นำมาเปรียบเทียบกับ “กระดาษญี่ปุ่น” ที่มีศักดิ์ศรีเหนือกว่าทุกด้านทั้งที่เชิงวัฒนธรรมแล้ว ไทยกับญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกันหลายๆ อย่าง ทำไมญี่ปุ่นสามารถสร้างกระดาษมีเอกลักษณ์ได้...?  ไทยเราก็น่าจะทำได้เช่นกัน!!!

ขึ้นรันเวย์ครั้งนี้ ขอโชว์ล้ำขึ้นเรื่อยๆ กับสร้อยโช้กเกอร์จากวัสดุโพลีเอสเตอร์ ใช้นวัตกรรม Wedge จนได้เยื่อเหมือนกระดาษ ไม่ยุ่ยเปื่อย พีกที่สุดกับการใส่ลงเครื่องซักผ้าได้เลย ส่วนแรงบันดาลใจก็น่าตื่นเต้นไม่แพ้กันกับความงดงามของกระเบื้องเคลือบในวัดโพธิ์ กิมมิกที่นำมาสร้างสรรค์เครื่องประดับ 10 เซต ต่อ
ยอดจากงานเก่าที่เป็นเนื้อแมท พัฒนาขึ้นไปอีกให้วัสดุมีความกลอส มันเงา สวยเหมือนกระเบื้องเคลือบ

“เวิร์กช็อปคราวนี้ พี่เลี้ยงของผมคือ เอก ทองประเสริฐ (เจ้าของแบรนด์ Curated By Ek Thongprasert) ซึ่งงานของเขาโดดเด่นมากเรื่องวัสดุที่นำมาใช้ และส่งความรู้ในเรื่องนี้มาให้เราด้วยว่าการเลือกวัสดุสำคัญมากสำหรับแฟชั่นสากล แล้วต้องทำให้ต่างชาติเข้าใจอีกด้วยนะครับ

ฟินาเล่คือเครื่องหัว ผมเตรียมเป็นรันเวย์ลุค 1 ชิ้น และสำหรับขายอีก 1 ชิ้น การที่แรงบันดาลใจจากวัดโพธิ์ทำให้เครื่องประดับจะอยู่แค่เอว ไม่ต่ำกว่านั้น มีตั้งแต่เครื่องหัวที่คล้ายชฎา ผมได้แพสชั่นมาจากยอดเจดีย์ ชิ้นไม่ใช่ใหญ่โตครับ แต่คงไม่ได้ใส่เดินถนน แต่ใส่ได้สบายๆ ในวันพิเศษ หรือใส่ปาร์ตี้ก็ย่อมได้

พี่โค้ชชิ่งน้องนิวเฟซเวทีแอล Designer’s Think Tank

 

ความรู้ที่พี่ๆ โค้ชชิ่งน้องๆ เข้มงวด คือ ก่อนนั่งโต๊ะดีไซน์สเกตช์งาน คุณต้องคิดก่อนวาดว่า งานออนสเตทกับงานขายต้องสัมพันธ์กัน แต่ความที่เราสร้างแบรนด์มาได้ระดับหนึ่งแล้ว เครื่องประดับของผมจึงมีเซตที่ใส่ได้ในชีวิตประจำวันด้วย มีทั้งใส่ได้ทุกวัน และใส่ได้ในบางวันที่เป็นวันพิเศษของผู้สวมใส่ ในราคาหลักหมื่นบาท ซึ่งนอกจากวัสดุโพลีเอสเตอร์ ผมใส่หินสีไปด้วยครับ ไม่ใช่แค่ฮิตนะครับ แต่ด้วยสีที่
ผมครีเอทให้ล้อไปกับสถาปัตยกรรมวัดโพธิ์ จึงมีสีแดงชาด สีบลูแอนด์ไวท์ในแบบเครื่องกระเบื้องลายคราม แซมด้วยหินสีเหลือง

ดีไซเนอร์ที่โค้ชชิ่งผมอีกคน คือ หมู-อาซาว่า บอกสั้นๆ ว่าให้ไปต่อยอดความคิดว่า ใครคือลูกค้าหลัก และลูกค้ากลุ่มรองลงตัวของแบรนด์

รวมทั้งความเป็นไทยสำคัญมากครับกับการประกาศว่าเราคือจิวเวลรี่จากประเทศไหน? ดึงดูดความสนใจได้ดีที่สุดในตลาดการแข่งขันเลยครับ ซึ่งพี่เลี้ยงดีไซเนอร์รุ่นพี่ โค้ชชิ่งว่า คุณภาพดี ใส่ได้จริง และใช้ของไทย 3 คีย์เวิร์ดที่ทำให้เรามีเอกลักษณ์” ศรัณย์ กล่าว

อีกหนึ่งดีไซเนอร์นิวเฟซใช้นามสกุลเกิดแก้ว Kerdkaew เป็นชื่อแบรนด์ เพิ่งทำเสื้อผ้าขายตอนเรียนปี 3 คณะพัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทศพล เกิดแก้ว บอกว่า เสื้อผ้าขายผ่านออนไลน์ โดยใช้หลักการตลาดปากต่อปากเมดทูออร์เดอร์เท่านั้น

เดรสโครงสร้างล้ำทำราคาอยู่แค่หลักพันบาท การเวิร์กช็อปในโครงการ Designer’s Think Tank พี่จึงโค้ชชิ่งเรื่องราคาให้ใหม่

พี่โค้ชชิ่งน้องนิวเฟซเวทีแอล Designer’s Think Tank

 

“ชุดฟินาเล่ราคาหลักหมื่นบาทครับ ผมออกแบบเสื้อผ้าในแนวคิด ดาร์ก เอเลแกนต์ แสดงตัวตนของผู้หญิงลึกลับ น่าค้นหา ถ้านึกถึงแฟชั่นไอคอนที่สวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์ Kerdkaew คือ ริต้า วอนทีส (ราชินีนางโชว์แห่งเบอร์เลสค์ Dita Von Teese) พี่เลี้ยงของผมคือ พี่เล็ก-ณัฎฐ์ มั่งคั่ง ซึ่งช่วยผมได้มากเพราะผมเคยทำแต่เสื้อผ้าสีดำ แต่สำหรับคอลเลกชั่นสปริง-ซัมเมอร์ สีดำคงไปด้วยกันไม่ได้ จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นสีขาว และมีเลเยอร์ทับซ้อนหลายชั้น ก็เป็นการฉีกแนวที่ไม่ยากครับ

อีกโจทย์ที่พี่ๆ บรีฟ คือ ต้องสวมใส่ได้จริง/ขายได้ไม่ยาก ผมเคยใช้ผ้าไหมไทยอัดพลีททั้งตัว ราคา 8,000-9,000 บาท พี่ๆ ถึงกับกรี๊ด (หัวเราะ) ก็ทำราคาให้อยู่ได้ราว 1.3 หมื่นบาท ดีไซเนอร์ทำงานต้องอยู่ได้นะครับ แล้วถ้าแบรนด์อยู่ได้คนทำงานก็มีความสุขด้วยนะครับ สิ่งที่พี่เล็กสอนคือการวางโพสิชั่นของแบรนด์ เราจะเป็นเพียงห้องเสื้อรับออร์เดอร์หรือเซตอัพเป็นแบรนด์ดีไซเนอร์ เรื่องเหล่านี้สำคัญมาก

ผมเตรียมเสื้อผ้าขึ้นรันเวย์ 10 ลุค คนใส่ต้องมีบุคลิกยูนีก เขาไม่ได้อยากใส่ชาแนล สะพายบอยแบ็กในราคาไฮเอนด์ขนาดนั้น แต่เมื่อหยิบเสื้อผ้าของเรามาสวมใส่แล้ว ต้องไม่เกร่อ และต้องโดดเด่น

ผมได้แรงบันดาลใจมาจากป่าอาโอะกิงาอาระ ซึ่งอยู่ตีนเขาฟูจิที่คนญี่ปุ่นไปฆ่าตัวตายกันที่นั่น ผมจึงตั้งคำถามว่าทำไม? แล้วร่างภาพซิลูเอตออกมาในเดรสทับซ้อนเลเยอร์เหมือนกับมิติลึกลับที่ดึงดูดคนเดินเข้าไป และเชือกร้อยอีกเลเยอร์เพราะเป็นเครื่องมือใช้จากลาชีวิต เป็นคีย์ลุคของเสื้อผ้าแบรนด์ Kerdkaew คอลเลกชั่นแอลแฟชั่นวีก ธีมน่ากลัวแต่ใส่ได้จริงแน่นอนครับ” ทศพลอธิบายแล้วอยากเห็นภาพเสื้อผ้าจริงขึ้นมาทันที เดือน ก.ย.นี้ แฟชั่นนิสต้านับถอยหลังกันได้เลย