posttoday

‘ฝันที่อยู่ใกล้’ จดทะเบียนสมรสคู่ชีวิต

18 มิถุนายน 2558

ปลื้มปริ่มเปรมและทำให้กระแสสังคมหันมาสนใจถึงการแต่งงานและจดทะเบียนสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน

โดย...พริบพันดาว

ปลื้มปริ่มเปรมและทำให้กระแสสังคมหันมาสนใจถึงการแต่งงานและจดทะเบียนสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน ระหว่างดีเจเจ๊แหม่ม-วินัย สุขแสวง กับ บอย-พัชรวัสส์ คงถวิล เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอายุห่างกัน 12 ปี พร้อมกับบอกว่าจะมีการจดทะเบียนสมรสชายรักชายเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ตอนแรกก็ทำเอางงงวยกันไปพอสมควร เพราะร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ซึ่งเป็นกฎหมายที่เปิดให้คู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศได้จดทะเบียนสมรสกัน ยังไม่มีความคืบหน้าจากเดิมเท่าที่ควร คือรอกระบวนการเข้าชื่อเพื่อเสนอเป็นกฎหมายการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 163 กำหนดในเรื่องการเข้าชื่อเสนอกฎหมายไว้ โดยให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ และกฎหมายที่จะเสนอต้องเป็นกฎหมายที่มีหลักการตามที่กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

สุดท้าย ดีเจเจ๊แหม่มก็ออกมาบอกว่าทะเบียนสมรสทำเป็นกระดาษแผ่นหนึ่ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ เป็นความประทับใจให้คนในสังคมรู้ว่าคู่นี้แต่งงานกันแล้ว โดยไม่ได้เหมือนเอกสารราชการ

คราวนี้ก็มาติดตามกันว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งตอนนี้มีด้วยกันสองร่าง ทั้งของภาครัฐ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และร่างของสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ซึ่งมีภาคประชาชน เครือข่ายมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศเป็นผู้สนับสนุนอยู่ ก็อยู่ในกระบวนการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ

แน่นอน ไม่ใช่วันนี้หรือพรุ่งนี้ที่กฎหมายชีวิตคู่จะถูกบังคับใช้ ยังมีกระบวนการอีกมากมายที่ต้องก้าวข้ามผ่านและคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี

‘ฝันที่อยู่ใกล้’ จดทะเบียนสมรสคู่ชีวิต

รอ...เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้

เป็นที่น่าดีใจว่าความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รายมาตรา ในหมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล มีจุดเด่นคือมีการแยกเป็นสามส่วน คือ บททั่วไป สิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมือง โดยมีคำใหม่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ คือ บัญญัติว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยมีการเพิ่มคำว่า “เพศสภาพ” เข้ามาด้วย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการคุ้มครองเสรีภาพของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวแรกของคำว่า lesbian (เลสเบี้ยน), gay (เกย์), bisexual (ไบเซ็กชวล) และ transgender/transsexual (คนข้ามเพศ)

จากความเคลื่อนไหวกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้เห็นความก้าวหน้าของสังคมไทย ในการเปิดกว้างและยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศว่าคือคนที่มีความเป็นปกติเหมือนคนทั่วไปในสังคม

เมื่อย้อนกลับไปดูร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ที่จะอนุญาตให้การสมรสมีผลทางกฎหมายเพื่อให้คู่รักเพศเดียวกันที่จะจดทะเบียนมีสิทธิในการทำธุรกรรมหรือเซ็นยินยอมในเรื่องต่างๆ ให้แก่กัน เปรียบเสมือนทะเบียนสมรสของคู่รักชายหญิงนั่นเอง โดยคู่รักที่จดทะเบียนคู่ชีวิตจะมีสิทธิเท่าเทียมกับคู่รักที่จดทะเบียนสมรสทุกประการ เช่น การเซ็นยินยอมการรักษาในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือเร่งด่วน การกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านซื้อรถ/สิทธิการแบ่งทรัพย์สิน สินสมรสกรณีเลิกรากันไป/สิทธิการรักษาพยาบาลที่คู่สมรสพึงได้จากคู่สมรสที่เป็นข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจ/การรับบุตรบุญธรรม และการฟ้องร้องคดีแทนกันในกรณีที่คู่สมรสเสียชีวิตแล้วไม่ได้ทำพินัยกรรมทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของพ่อแม่ผู้เสียชีวิต

‘ฝันที่อยู่ใกล้’ จดทะเบียนสมรสคู่ชีวิต

ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (มสธพ.) ซึ่งเป็นฟันเฟืองในกระบวนการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของภาคประชาชนร่วมกับ คปก. บอกว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ส่วนตัวร่าง พ.ร.บ.นั้นเสร็จแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ที่สำนักงาน คปก. อยู่ในขั้นตอนที่นักวิชาการทางด้านกฎหมายเอาไปดูว่าถ้าออกมาบังคับใช้จริงๆ ได้หรือเปล่า จะมีข้อไหนที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง

“ทางมูลนิธิเองจะทำงานในการรณรงค์กับสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจว่า ทำไมเราจึงต้องมีกฎหมายนี้ออกมา จะทำให้สังคมเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างไรบ้าง ประมาณนี้ เราต้องทำงานควบคู่กันไปในการสร้างความเข้าใจในสังคมไทยไปด้วย ไม่ใช่เป็นงานแค่ปีหรือสองปีเสร็จ แต่ต้องใช้เวลาเยอะมาก เพราะเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แม้คนในสังคมไม่ต่อต้านอะไรมาก ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเวลากฎหมายออกมาจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้นไหม เราต้องรณรงค์กับสาธารณะไปด้วย เดินทางไปตามภูมิภาคต่างๆ เดือนที่แล้วไปหาดใหญ่ อุบลราชธานี ก็ต้องเดินทางไปทำอีกหลายที่ เป็นการออกสตาร์ทในตอนนี้ ต้องใช้เวลาอีกสักปีสองปี”

ด้านคนในวงการบันเทิงที่ออกมาจดทะเบียนสมรส ฉันทลักษณ์มองว่า คงเป็นการออกมาสร้างสีสันตามสไตล์ของเขาเพื่อให้คนหันมาสนใจ การทำงานขั้นต่อไปของมูลนิธิจะต้องรณรงค์กับสื่อและสังคมไทยต่อไป คงต้องมองว่าจะใช้ดาราคนไหนมาช่วยในการรณรงค์เช่นกัน เพราะคนจะสนใจมากกว่า

“สำหรับเมืองไทยจะแตกต่างกับต่างประเทศ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้คนที่รักเพศเดียวกันมาสนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกันได้ อย่างเช่น แองเจลินา โชลี กับแบรด พิตต์ ถึงขั้นมอบทุนให้ ส่วนเมืองไทยค่อนข้างยาก ดาราหรือบุคคลสาธารณะค่อนข้างจะระวังในประเด็นเหล่านี้ กลัวว่าเมื่อออกมาสนับสนุนจะถูกจัดหรือตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเกย์หรือเปล่า เขากลัวเสียภาพลักษณ์และภาพพจน์องค์กร แต่ก็คิดว่าปัจจุบันบางคนก็อาจจะเปิดกว้างมากขึ้นก็ได้

“คนไทยเปิดกว้างรับได้ แต่ถ้าให้มามีส่วนร่วมก็จะไม่เอา เพราะสังคมยังมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งผิดปกติ ไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชนเหมือนในต่างประเทศ กลัวเสียภาพลักษณ์ ยังต้องทำงานกันอีกเยอะ”

‘ฝันที่อยู่ใกล้’ จดทะเบียนสมรสคู่ชีวิต

 

ที่หนึ่งไม่สำคัญเท่าหัวใจเพื่อส่วนรวม

ความก้าวหน้าในต่างประเทศ ล่าสุด ไอร์แลนด์ถือเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุญาตการแต่งงานในเพศเดียวกันตามกฎหมายโดยผ่านการทำประชามติ แต่ไอร์แลนด์ถือเป็นประเทศที่ 20 ในโลก และประเทศที่ 14 ในยุโรปที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศที่ยกเลิกความผิดฐานรักร่วมเพศเมื่อ 22 ปีก่อน ส่วนรัฐฟลอริดา ในประเทศสหรัฐ ได้กลายเป็นรัฐลำดับที่ 36 จากทั้งหมด 50 รัฐของสหรัฐ ที่อนุญาตให้กลุ่มคนรักร่วมเพศแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับคนดังระดับโลก ที่มีความเคลื่อนไหวในการแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา อาทิ นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์ก เบทเทล ซาเวียร์ เข้าพิธีวิวาห์กับแฟนหนุ่มสถาปนิกชาวเบลเยียม กอเธียร์ เดสเตนาย นับเป็นผู้นำประเทศคนที่ 2 ของโลก ที่เข้าพิธีแต่งงานกับคู่รักเพศเดียวกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเมื่อปี 2553 นายกรัฐมนตรีหญิงชาวไอซ์แลนด์ โยฮันนา ซีกอร์ดาร์โตดีร์ เป็นผู้นำประเทศคนแรกของโลกที่แต่งงานกับแฟนสาวของเธออย่างเป็นทางการ

เอลตัน จอห์น แต่งงานกับ เดวิด เฟอร์นิช หลังจากการแต่งงานของคนเพศเดียวกันได้ถูกรับรองให้เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมายทั้งในสกอตแลนด์ เวลส์ และอังกฤษ ซึ่งทั้งคู่ใช้ชีวิตร่วมกันมาถึง 21 ปีเต็มแล้ว และเพิ่งจะรับเด็กมาเลี้ยงดูเป็นลูกบุญธรรม

ทิม คุก ซีอีโอของบริษัท แอปเปิ้ล ออกมายอมรับว่าตนเองเป็นเกย์ และภูมิใจที่มีเพศสภาพเช่นนี้ และกำลังคบหากับเบนจามิน หลิง หนุ่มอเมริกันเชื้อสายไต้หวัน ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผ่านการทำงานในบริษัทไอทีชื่อดังมากมาย

สำหรับในเมืองไทย ดนัย ลินจงรัตน์ ผู้อำนวยการสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย บอกว่า ขั้นตอนปกติของการออกกฎหมายคู่ชีวิตยังไม่เกิดขึ้น

“พ.ร.บ.คู่ชีวิตยังไม่อยู่ในกระบวนการส่งเข้าพิจารณาของ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ส่วนขั้นตอนปกติ ตอนนี้ภาคประชาชนก็ร่วมมือกับ คปก. ได้ทำวิจัยความต้องการ 2 ชิ้น และมายกร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตตามที่เราต้องการเสร็จแล้ว และอยู่ในช่วงที่ให้นักวิชาการด้านต่างๆ ให้ความคิดเห็นและปรับแก้ เสร็จจาก คปก. ก็ออกมาทำประชาพิจารณ์ ซึ่งก็ยังอีกสักพักใหญ่ ซึ่งเป็นกฎหมายประชาชนเข้าชื่อ ก็มีความพยายามอยู่หลายส่วน เช่น กรมคุ้มครองสิทธิฯ เขาก็สามารถที่จะเสนอร่างกฎหมายในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐได้ ถ้าภาคประชาชนทำเสร็จออกมาและมีการนำเสนอ หน่วยงานก็เสนอร่างร่วม ซึ่งจะทำให้เกิดการพิจารณาเร็วขึ้นได้”

‘ฝันที่อยู่ใกล้’ จดทะเบียนสมรสคู่ชีวิต

 

ดนัยย้ำว่า เครือข่ายความหลากหลายทางเพศสนใจในเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชน ถ้ามีกฎหมายออกมาแล้ว ชุมชนเข้าใจแล้วใช้ได้จริงจะดีกว่า เพราะมีกฎหมายหลายฉบับที่ออกมาแล้วประชาชนไม่เข้าใจ ซึ่งจะมีเวทีออกไปทำความเข้าใจในแต่ละภูมิภาค คือคนไทยมีความเข้าใจในกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่แค่มาลงชื่อสนับสนุน

“บรรดาเซเลบ นักร้อง ดารา คนในวงการบันเทิงที่ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศออกมาอยากจดทะเบียนสมรส จริงๆ แล้วเรื่องความรักเป็นเรื่องที่สวยงาม ถ้าเขาออกมาประกาศกับสาธารณชนว่าเขารักกันจะแต่งงานกันก็สวยงามดี แต่การแต่งงานเชิงประเพณีวัฒนธรรม คนไทยยอมรับได้อยู่แล้วในเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกันโดยพฤตินัย รวมถึงเรื่องการประกอบพิธีแต่งงานตามศาสนกิจแบบพุทธพระท่านไม่ว่าเลย เพราะผมเคยไปงานแต่งงานเพื่อนหลายคนที่ทำพิธีกันที่โรงพยาบาลสงฆ์ ไม่ว่าคู่หญิง-หญิง ชาย-ชาย ท่านก็ทำพิธีทางสงฆ์ให้หมด ในเรื่องประเพณีและศาสนกิจของคนไทยที่เป็นพุทธนั้นเปิดกว้าง

“แต่มันยังขาดอยู่เพียงเรื่องเดียวเท่านั้นเองก็คือเรื่องของกฎหมาย ถ้าคู่ไหนไปถึงจุดในเรื่องความมั่นคงของความรักและประกาศต่อสาธารณชน ก็อยากให้นำพลังมาขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ด้วย การจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายอาจจะสำคัญต่อความต้องการของคนที่อยากจะเป็นที่หนึ่ง แต่อย่าลืมว่าคนที่เป็นที่หนึ่งเป็นได้แค่คนหรือคู่เดียว เพราะการเป็นคู่แรกไม่ได้สำคัญต่อการใช้กฎหมายเลย แต่ถ้าได้เข้ามาร่วมอยู่ในกระบวนการผลักดันที่ทำให้เกิดและใช้กฎหมายขึ้นนี่สิสำคัญกว่า เป็นการทำเพื่อส่วนรวมและคนรุ่นต่อไป มาร่วมกันเคลื่อนไหวให้เกิดกฎหมายขึ้นจริงกันดีกว่า”

แน่นอนว่าการจดทะเบียนสมรสขึ้นกับความสมัครใจของคนสองคน ไม่ใช่สิ่งที่คู่ชาย-หญิง คู่ชาย-ชาย คู่หญิง-หญิงทุกคู่ต้องการ แต่การจดทะเบียนสมรสเป็นสิ่งที่พลเมืองทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

แม้หลายๆ คนเชื่อว่าการจดทะเบียนสมรสไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะการรักกันคบกันที่หัวใจ แต่อีกในมุมหนึ่ง การที่คนสองคนใช้ชีวิตร่วมกันก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับรู้ของคนในสังคมเช่นกัน และหากมีการจดทะเบียนสมรส ทั้งสองก็สามารถยืนยันสิทธิและแสดงหน้าที่ของคนทั้งสองได้มากกว่าความรัก

เพราะฉะนั้นหากว่าร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตสามารถออกบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ คงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมุมมองต่างๆ ของสังคม ความหลากหลายทางเพศคงจะได้รับการยอมรับจากสังคมไทยมากขึ้น และบุคคลเหล่านี้จะได้รับซึ่งสิทธิและหน้าที่ที่เขาควรจะได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ที่สำคัญ สังคมไทยคงได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกว่ามีความก้าวหน้าทางกฎหมายเป็นอย่างมากเช่นกัน