posttoday

พินัยกรรมเหนือโลก

24 พฤษภาคม 2558

เรื่องพินัยกรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำสั่งเสียของพระถังซำจั๋ง

โดย...กรกิจ ดิษฐาน

เรื่องพินัยกรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำสั่งเสียของพระถังซำจั๋ง หรือพระเสวียนจั้งมหาเถระ เมื่อพันกว่าปีที่แล้วพระถังซำจั๋งท่านจาริกไปชมพูทวีป ศึกษาพระธรรม นำคัมภีร์พุทธศาสน์กลับมาแปลเป็นภาษาจีนมากมาย เป็นที่ยกย่องนับถือของมหาราชเจ้าแผ่นดิน หลวงพ่อคูณแม้จะมีปฏิปทาแตกต่างจากพระถังฯ แต่ก็ได้รับการยกย่องบูชาจากคนทุกชนชั้น รวมถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินดุจกัน

ชั่วชีวิตท่านทั้งสองมหาเถระทำคุณประโยชน์มหาศาล พระถังซำจั๋งทุ่มเทแรงกายแรงใจแปลพระสูตรมากมายไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ ปัจจัยไทยธรรมที่ได้รับถวายมูลค่ามหาศาลท่านมักทำทานช่วยคนยากไร้เสมอมา แม้ตอนใกล้ละสังขารก็ยังไม่หยุดทำทาน บริจาคสิ่งของที่ถือครองจนหมดสิ้น เช่นเดียวกับหลวงพ่อคูณที่อุปการะมหาชนนับหมื่นนับแสนคน ไม่ยึดถือปัจจัยเลยแม้จะได้รับถวายเป็นล้านๆ ท่านก็นำมาสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สงเคราะห์สัตว์โลก

เมื่อทราบว่าตนจะละสังขารพระถังซำจั๋งกำชับกับศิษยานุศิษย์ว่า ให้จัดงานปลงสังขารอย่างเรียบง่ายที่สุด ห่อร่างของท่านด้วยเสื่อ แล้วไปฝังที่รกร้างริมน้ำ ให้ไกลวัด ไกลวัง ห่างจากที่ชุมชน อย่าได้ปล่อยให้เนื้อหนังเน่าเหม็นรบกวนผู้อื่นได้ บรรดาศิษย์ได้ฟังต่างก็เศร้าโศกยิ่งนัก

ครั้นมรณภาพแล้ว บรรดาศิษย์ปฏิบัติตามคำสั่งเสียของท่านอย่างไม่มีบิดพลิ้ว ห่อร่างสังขารด้วยเสื่อ อันเป็นเครื่องห่อศพของคนอนาถา ทั้งๆ ที่พระถังซำจั๋งมีสถานะสูงส่งในทางธรรม ในทางโลกฮ่องเต้ยังน้อมสักการะ เมื่อบรรดาพ่อค้าวาณิชทราบว่า ร่างพระเถระถูกห่อด้วยเสื่อไม้ไผ่อย่างแกนๆ ต่างก็สลดใจ พากันนำผ้าแพรไหมอย่างดีมาถวายกว่า 3,000 พับ ประดับเป็นรถนิพพาน หรือยานแห่ร่างสังขาร ทำขึ้นอย่างวิจิตรอลังการ แต่บรรดาศิษย์ไม่กล้ารับ เกรงว่าจะขัดกับคำสั่งอาจารย์

เมื่อพระเจ้าถังเกาจงทราบข่าวความสูญเสียนี้ ถึงกับทรงอุทานว่า "เราสูญเสียมณีแห่งแผ่นดินไปเสียแล้ว" แล้วทรงสั่งให้เบิกทรัพย์สินของมีค่าในพระคลังมาร่วมงานอย่างสมเกียรติ ติดแต่ด้วยคำสั่งเสียของพระเถระ จึงทำได้แค่นำมาประดับสองข้างทาง ระหว่างขบวนแห่ร่างสังขารเคลื่อนผ่าน ของมีค่าเหล่านั้นเป็นหีบเงิน หีบทอง ทิวธวัชฉัตรธงกว่า 500 ประเภท ส่วนพระองค์เองงดออกขุนนาง 3 วัน และคราวใดที่เห็นสถานที่ปลงสังขารพระเถระให้ทรงเศร้าโศกายิ่งนัก

ในคราวนั้นมีผู้มาร่วมงานปลงสังขารพระถังซำจั๋งถึงกว่า 1 ล้านคน

หมายเหตุ - ภาพประกอบเป็นรูปพระตรีปิฎกเสวียนจั้ง วาดโดยจิตรกรญี่ปุ่น สมัยคะมะคุระ ราวศตวรรษที่ 14 เป็นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว