posttoday

สถานการณ์ของผีในแผ่นดินมังกร

24 พฤษภาคม 2558

หลายปีมาแล้วผมถามอาจารย์ชาวจีนว่า “ทำไมผมไม่เห็นหนังผีที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่เลย?”

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

หลายปีมาแล้วผมถามอาจารย์ชาวจีนว่า “ทำไมผมไม่เห็นหนังผีที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่เลย?” ขณะที่อาจารย์ผมทำหน้าสงสัยในสื่อบันเทิงประเทศตัวเองเป็นเสียงคำว่า “จริงดิ” สามีของอาจารย์ซึ่งทำงานรับราชการและนั่งฟังอยู่ข้างๆ ตอบว่า “เรื่องความเชื่องมงายพวกนี้รัฐบาลจีนค่อนข้างละเอียด ส่วนผู้สร้างหนังทั้งหลายก็ไม่อยากยุ่งยาก”

ก่อนอื่นขออธิบายสักนิดนะครับว่า หนังผีที่ผมพูดถึงหมายถึงหนังผียุคปัจจุบัน อย่าง The Eyes หรือ The Ring ไม่ได้หมายถึงผีในตำนานหรือปีศาจในเทพนิยายแบบ Dracula หรือนางพญางูขาว งูเขียว

ส่วนหนังผีที่เราเห็นนักแสดงหรือผู้กำกับเชื้อชาติจีนทำกันอยู่ชัดๆ อย่าง The Eyes ก็เป็นของทีมงานนอกจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งสิ้น นี่อาจทำให้คนจีนส่วนหนึ่งไม่รู้สึกว่าจีน (แผ่นดินใหญ่) ไม่มีหนังผี

ความเข้มงวดต่อเนื้อหาผีๆ มีมาตลอดตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์ปกครองจีน จนเมื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังปี 2008 เป็นต้นมา จึงเริ่มเกิดกระแสพยายามสร้างหนังผีในหมู่คนทำหนังชาวจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะตลาดจีนเริ่มต้องการเสพมากขึ้น จีนไม่ทำเองก็ดูของต่างประเทศอยู่ดี ในช่วงหลังจึงมีการผลักดันพยายามสร้างหนังผีอยู่หลายเรื่อง โดยต้องต่อสู้ฟาดฟันกับการให้ปรับเนื้อหาสารพัด ไม่ว่าจะต้องให้ผีเปลี่ยนเป็นปีศาจ หรือให้เป็นคนแทน ไม่ก็ให้สรุปเป็นเรื่องทางจิต สรุปว่าห้ามเห็นผี ห้ามพูดว่าผีในหนังผี ยุ่งยากสมคำร่ำลือ

เหตุผลที่รัฐบาลจีนไม่อยากให้มีหนังผี มีอยู่สั้นๆ ง่ายๆ ว่า ไม่ส่งเสริมให้ประชาชนงมงายและเกรงกลัวต่อสิ่งไร้เหตุผล นอกจากควบคุมภาพยนตร์แล้ว รายการโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ก็ต้องอยู่ภายใต้การกำกับเช่นกัน

ทุกครั้งที่ผมเปิดทีวีจีน (แผ่นดินใหญ่) ดู ไม่เคยมีใครพูดถึงผี หรือวิญญาณคนตาย เลยไปถึงความงมงายต่างๆ ก็ไม่มีเช่นกัน

จะมีบ้างที่เห็นเรื่องหมอดูรับเปลี่ยนชื่อ หมอดูฮวงจุ้ย แต่ก็ต้องจบลงด้วยการเปิดโปงว่าเป็นขบวนการมิจฉาชีพ ติดคุกติดตะรางกันไป หรือถ้าเป็นกรณีคนทรงมนุษย์ต่างดาว เขียน พูดภาษาดาวอังคาร ก็จะตามมาด้วยการวิเคราะห์ของนักวิชาการว่าภาษาที่เปล่งเสียงหรือเขียนออกมา ใช้โครงสร้างทางภาษาท้องถิ่นของคนทรงนั้นอยู่ดี ไม่มีอะไรพิสดาร นอกจากปัญหาทางจิต เป็นอันว่า ทุกกรณีจบลงที่คำอธิบายใต้วิทยาศาสตร์และกระบวนการสืบสวน เรียบร้อยโรงเรียนจีน ในสื่อทีวีจึงถือว่านอกจากไม่พูดเรื่องประเภทนี้ ก็ยังมีการหยิบยื่นอาวุธเพื่อคัดง้างความงมงายให้กับผู้ชม

ส่วนศาสตร์ฮวงจุ้ยที่จีนที่ออกสื่อได้ ก็ล้วนถูกอธิบายในเชิงวัฒนธรรมทั้งสิ้น ดิน ทอง น้ำ ไม้ ไฟ คือสิ่งที่มนุษย์เข้าใจเป็นพื้นฐานก่อนมีเครื่องมือวัดและเฝ้าสังเกต เป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งในยุคก่อน แต่ไม่ใช่ศาสตร์ลึกลับที่ต้องกราบไหว้

เมื่อพูดถึงฮวงจุ้ยในจีนแผ่นดินใหญ่ ผมนึกถึงประสบการณ์ของชาวไทยในจีน ซึ่งหากใครเคยไปท่องเที่ยวจีนกับกรุ๊ปทัวร์คงเคยได้ยินชื่อ “ปี๋เซี๊ยะ”

“ปี๋เซี๊ยะ”คือสัตว์ในตำนาน เป็นลูกตัวที่ 9 ของมังกร ลักษณ์เป็นสัตว์สี่ขาที่มีหัวเป็นมังกร ว่ากันว่ากินเก่งแต่ไม่ถ่าย เพราะไม่มีรูทวาร นักธุรกิจนักพนันจึงนำมาบูชาลูบหัวลูบหางตัวปี๋เซี๊ยะเพื่อให้เกิดความโชคดี ใครมีไว้จะมีโชคลาภ เสริมฮวงจุ้ย

ผมเชื่อสนิทใจว่า จะไม่มีสื่อในจีนช่องไหนที่ได้พูดสคริปต์ข้างต้นนี้ออกอากาศ แต่ก็เห็นป่าวประกาศกันเกือบทุกทัวร์

ที่ผ่านมาชาวจีนใกล้ตัว ไม่มีค่อยมีใครพูดเรื่องผี ผมเคยถามเพื่อนผู้หญิงชาวจีนว่ากลัวผีมั้ย คำตอบคือ กลัวความมืด ไม่กลัวผี ผีมีเหรอ (เพื่อนคนนี้เป็นเด็กต่างจังหวัด ห่างไกลสื่อสากลพอควร) ส่วนเรื่องงมงาย บางคนยังไม่ค่อยรู้จักปี๋เซี๊ยะเลยด้วยซ้ำ การท่องเที่ยวจีนช่างนำพาเราไปที่ที่ไม่ใช่จีนได้อย่างน่าอัศจรรย์

แต่นั่นก็ด่วนสรุปไป ถ้าจะบอกว่าชาวจีนไม่งมงาย ไม่ดูดวง ไม่เปลี่ยนชื่อ หรือซื้อของมงคล ในจีนเรื่องพวกนี้กลับกลายเป็นกระแสฮิตขึ้นเรื่อยๆ ตาม GDP จากยุคสังคมนิยมที่แทบไม่มีเรื่องพวกนี้ ก็ถูกนำเข้ามาใหม่ โดยมากมาจากฝั่งเกาะฮ่องกง ที่ซึ่งผีและความงมงายยังมีอยู่ตลอดมา ดินแดนที่มีทั้ง หนังผี ฮวงจุ้ย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ครบครัน ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ใกล้เกาะฮ่องกง จึงมีความเชื่อเข้มข้นกว่าจีนทางเหนือ

นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากไทยไหลเข้าไปในจีนได้อย่างลื่นไหล ชาวจีนเริ่มนิยมซื้อพระเครื่องและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากไทย ซึ่งก็ติดต่อมาจากรสนิยมของชาวฮ่องกงนี่แหละครับ ทั้งบินมาไหว้พระพรหมเอราวัณ หาซื้อพระเครื่อง รวมถึงเสาะหาสำนักทรงต่างๆ

ผมเคยเสิร์ช Baidu ซึ่งเป็น Search engine ของจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยคำว่า ประเทศไทย (เป็นภาษาจีน) คำแนะนำข้างเคียงอันดับต้นๆ นอกจากกะเทยไทย ท่องเที่ยวไทย ผลไม้ไทย คือ สำนักทรงชื่อดังในไทยที่ชาวฮ่องกงนับถือ หรือนี่จะเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยควรศึกษา

แล้วเอกชนไทยก็นำเกินไปกว่ารัฐบาลหลายก้าว ถึงขั้นมีข่าวลือว่าทางการจีนสั่งคุมเข้มพระสงฆ์ไทยที่จะผ่านเข้าประเทศจีนด้วยเหตุผล มักลักลอบนำวัตถุมงคลข้ามประเทศไปขาย ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือข่าวจริง หรือเข้าใจผิดกัน แต่ก็น่าเชื่อว่ามีมูล

จนระยะหลังก็มีคนจีนที่ผมมีโอกาสได้สนทนาระหว่างทางถามถึงพระเครื่อง หรือตะกรุดไทยอยู่บ้าง

แต่ก็ดูเหมือนว่าความเชื่อของชาวจีนในเรื่องงมงาย ดูจะไม่ใช่เรื่องความใส่ใจในเรื่องของผีซะทีเดียว แต่เป็นความพยายามรีดลาภยศสรรเสริญจากทุกสิ่งทุกอย่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มากกว่าความเกรงกลัวต่ออำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ มิติความงมงายของจีนในตอนนี้ จึงโตแต่แขนงมิติที่เป็นการต่อรองค้าขายแลกเปลี่ยนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มากกว่าการขอเข้าอยู่ในอาณัติการปกครองของสิ่งเหนือธรรมชาติ

ผมคาดเดาเอาเองว่า เพราะไม่มีสื่อเป็นคู่มือให้ความรู้ว่าเราต้องกลัวผีอย่างไร ผีและศาสตร์ลึกลับในจีนจึงเหลือแต่มิติเศรษฐกิจที่จับต้องได้เป็นหลัก

ถ้าจะให้บอกในเวลานี้ว่าจีนกำลังจะมีผีหรือไม่ คงยังเป็นเรื่องลี้ลับ เพราะถึงสื่อจีนจะไม่นำเสนอ แต่ชาวจีนในโลกที่ข้อมูลข่าวสารสะพัดก็ได้รับข้อมูลข่าวสารจากทางอื่นได้อยู่ดี สภาพเศรษฐกิจที่แต่ละคนต้องถีบตัวท่ามกลางความไม่แน่นอนผันผวนในชีวิต อาจจะทำให้คนจีนอยากพึ่งพาเรื่องผีๆ มากขึ้น

แต่ประเด็นนี้ก็ทำให้เห็นว่า สื่อมีอิทธิพลต่อความเชื่อแน่นอน ในแถบที่สื่อเสนอเรื่องงมงายน้อย คนก็งมงายน้อย ในแถบที่มีเรื่องงมงายมาก คนก็งมงายมาก

ย้อนกลับมาดูบ้านเราที่มีรายการทำนายดวงทุกอาทิตย์, ขาย (เช่า) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ออนแอร์, เล่าเรื่องภูตผีวิญญาณออกสื่อ, รวมถึงพลพรรคหมอดูแฟนซีนานาสไตล์เวียนวนมาสร้างอีเวนต์พิสดาร ก็ไม่น่าแปลกใจว่า ในที่ที่คู่มือของความงมงายเพียบพร้อม แต่อาวุธคัดง้างความงมงายยังไปไม่ถึง จะมีการกราบไหว้ตุ๊กแกสองหัว วัวแปดขา กะลาตาเดียว จนถึงถนนผิดสเปก