posttoday

ศรัทธาใหม่กับการทำลายล้างของเก่า

10 พฤษภาคม 2558

เหตุผลหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์ระดับโลกหลายต่อหลายแห่งใช้อ้างเวลาถูกทวงสมบัติคืนชาติอื่น

โดย...นิติพันธ์ วิประวิทย์

เหตุผลหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์ระดับโลกหลายต่อหลายแห่งใช้อ้างเวลาถูกทวงสมบัติคืนชาติอื่น ว่าไม่จำเป็นต้องส่งคืนให้กับท้องถิ่นเดิม คือ โบราณวัตถุทั้งหลายย่อมเกิดจากความเชื่อ ความศรัทธา ทั้งในด้านการเมือง ศาสนา และสังคม ของท้องถิ่นนั้นๆ และเมื่อความเชื่อความศรัทธาของคนท้องถิ่นเปลี่ยนไปนี่แหละ โบราณวัตถุพวกนี้มีแนวโน้มจะถูกทำลายทิ้งเพื่อแสดงออกถึงการล้มล้างต่อต้านศรัทธาความเชื่อเดิม

ตัวอย่างที่เราเห็นและประณามกันอยู่ในช่วงนี้ก็คือ การทำลายโบราณสถานและโบราณวัตถุของกลุ่มไอซิสในอิรัก

มองจากจุดยืนของคนนอก เราคงมองเห็นความน่าเสียดาย ความรุนแรงโดยไร้เหตุผล ที่ต้องมุ่งประณาม แต่ในฐานะมนุษย์ที่มีไอคิวและอีคิวไม่ต่างกัน ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าสม่ำเสมอ แล้วเรามีโอกาสตกหลุมความรุนแรงคล้ายๆ กันนี้หรือไม่

ผมขอสมมติว่า หากทุกวันนี้เรารังเกียจพุทธพาณิชย์ที่เกาะกินศาสนาพุทธในบ้านเมืองเราอยู่จนถึงขีดสุด กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งปลุกเร้าให้ผู้คนร่วมต่อต้านพุทธพาณิชย์กันอย่างถึงพริกถึงขิง พุทธพาณิชย์วัตถุทั้งหลายก็ย่อมถูกทำลายทิ้งทั้งสิ้นเหมือนกัน ยิ่งเราเน้นความบริสุทธิ์ของอุดมการณ์มากเท่าไหร่ วัตถุที่ต้องถูกทำลายไปก็ต้องมากขึ้นเท่านั้น

ในนามของการทำลายความงมงาย ในนามของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ผมไม่แน่ใจว่า ถ้าการรณรงค์นี้เกิดขึ้นจริงและเป็นไปตามที่ผมสมมติ จะมีสักกี่คนที่ลุกขึ้นมาขวางคลอง และจะมีสักกี่คนที่ขัดขวางได้สำเร็จ

ทั้งๆ ที่อีกไม่ถึงครึ่งศตวรรษข้างหน้า พุทธพาณิชย์วัตถุเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์จะนำมาใช้บ่งบอกว่าสังคมเราเคยคิดอย่างไร

ด้วยธรรมชาติของการทำลายทับศรัทธาและความเชื่อเดิมในสังคมเช่นนี้ การกระจายวัตถุโบราณไปต่างถิ่นต่างวัฒนธรรม เป็นธรรมดาที่จะทำให้วัตถุเหล่านี้ไกลจากความ “อิน” และแน่นอนย่อมไกลจากภัยของการ “แอนตี้” ด้วย

คือการกระจายไข่ให้ใส่ไว้หลายตะกร้า

หลายคนอาจจะตงิดๆ กับตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมา อาจจะเห็นว่าพุทธพาณิชย์เป็นสิ่งไม่ถูกไม่ควร ล่อลวงผู้คนโดยตัวมันเอง แล้วก็เกิดจากผู้คนยุคนี้ทำขึ้นมา ไม่ได้หล่อหลอมมาจากวัฒนธรรมอันรุ่งเรืองดีงาม จะมาเปรียบเทียบกับโบราณสถานในอิรักได้อย่างไร

ดีงามคืออะไร วัฒนธรรมที่รุ่งเรืองคืออะไร ล้วนขึ้นอยู่ว่าจะนำอุดมการณ์ใดมาตอบ ไม่ว่าความงมงายในการสร้างวัตถุ หรืออุดมการณ์ใหม่ที่ใช้ทำลายล้าง ต่างก็เป็นเหมือนอากาศ อยู่กับมันสักพักก็มักจะชินจนลืมสังเกตและตั้งคำถาม ยิ่งรู้สึกว่าคนใกล้ตัวเราก็หายใจเข้าออกพร้อมกับเรา ก็ยิ่งเห็นเป็นสิ่งถูกต้องปกติ

อย่างเช่น เมื่อครั้งปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนเมื่อปี ค.ศ. 1966-1976 กระแสสังคมร่วมต่อต้านวัฒนธรรมเก่าเกิดขึ้นด้วยอุดมการณ์ที่ว่า จีนล้าหลังอยู่ก็เพราะความเชื่อโบราณ วัฒนธรรมโบราณ และความเคยชินแบบโบราณ

สังคมจีนที่ถือยศถือศักดิ์ และวัฒนธรรมขงจื๊อที่ส่งเสริมการกดขี่ให้ชนชั้นล่างโงหัวไม่ขึ้น ศาสนาที่ส่งเสริมให้ผู้คนงมงาย กราบไหว้ลมๆ แล้งๆ ล้วนเป็นเป้าหมายในการโจมตี และเพื่อประกาศศักดาของความคิดที่ถูกต้อง มวลชนเรดการ์ดจึงต้องทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า โบราณวัตถุการเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องประดับชนชั้นศักดินา พระพุทธรูปและสัญลักษณ์ทางศาสนาต่างๆ คือสัญลักษณ์แห่งความงมงาย ศิลปวัตถุทั้งหลายทั้งในพิพิธภัณฑ์และที่เก็บไว้ส่วนตัว ต้องถูกทำลายลง

ของสะสมสวยงาม กลายเป็นเสนียดของบ้านโดยฉับพลัน หากใครโดนจับได้ว่าสะสมซุกซ่อนไว้จะถูกลากออกมาประณามกลางฝูงชน ซึ่งทางรอดของชีวิตหลังจากนั้น ขึ้นกับปริมาณและอารมณ์ของผู้คน จึงมีแต่คนแอบทุบทำลาย ฝัง หรือกระทั่งเผาทิ้ง

ความเสียหายของวัตถุมีค่าทางประวัติศาสตร์ของจีนยุคนั้น เสียหายอย่างใหญ่หลวงที่สุดกว่าทุกยุคที่มีมา เสียหายมากกว่ายามเกิดสงครามด้วยซ้ำไป

เสียหายไปตั้งแต่ขวดยานัตถุ์เล็กๆ แจกัน ถึงวัดวาอาราม ไม่เว้นแม้กระทั่งกำแพงเมืองปักกิ่ง

คำอธิบายมีว่า กำแพงเมืองคือสิ่งก่อสร้างเพื่อป้องกันเมืองในยุคโบราณ ไม่มีความจำเป็นใดๆ กับเมืองยุคใหม่ รังจะทำให้การเดินทางในเมืองปักกิ่งลำบากยากเย็น ขัดขวางการขยายตัวของเมือง และอิฐแต่ละก้อนที่เกิดจากหยาดเหงื่อแรงงาน ถูกนำมาปกป้องผลประโยชน์ของคนชนชั้นปกครองเพียงหยิบมือ เพื่ออะไรเล่า สู้เอาอิฐทั้งหลายที่ใช้ไป ถล่มลงมาสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนตาดำๆ ไม่ดีกว่าหรือ เป็นทั้งการทำลายเชิงสัญลักษณ์ และทรัพยากรสำหรับการสร้างสังคมใหม่

กำแพงเมืองปักกิ่ง 39.75 กิโลเมตร ก็ถูกถล่มลงมาด้วยอุดมการณ์อันสูงส่งเช่นนี้เอง ทุกวันนี้กำแพงเมืองปักกิ่งเหลือเพียงหยิบมือ ส่วนใหญ่กลายเป็นถนนวงแหวนสอง

หรือนั่นเป็นเพราะระบอบการปกครองแบบเผด็จการ คอมมิวนิสต์ จึงเกิดเหตุสุดโต่งแบบนี้ขึ้นได้?

เปล่าเลย หลังปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิงได้ไม่นาน ก็เคยมีการเสนอให้รื้อตำหนักไท่เหอเตี้ยนในพระราชวังต้องห้าม เพื่อสร้างเป็นรัฐสภามาแล้ว

ความ “อิน” กับอุดมการณ์ใหม่ “แอนตี้” วัตถุในอุดมการณ์เก่าได้เสมอ ไม่ว่าในระบอบการปกครองแบบไหนก็ตาม

และเมื่อเวลาผ่านไป ในจังหวะเวลาที่พวกเขาเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงประกาศศักดากร้าวในความเชื่อ สุดท้ายก็จะลงเอยด้วยการเสียดาย พร้อมกับตำหนิตัวเองว่า วัตถุโบราณทั้งหลายล้วนไม่ผิด วัตถุที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์เหล่านี้คือแพะรับบาป

เมื่อไม่นานมานี้ จีนเพิ่งกลับมารณรงค์ให้คนที่มีอิฐจากกำแพงเมืองปักกิ่งในครอบครอง (เช่น มีอยู่ในฝาบ้าน) ร่วมนำมาคืนเพื่อรักษาเป็นสมบัติของชาติ

ส่วนผู้คนที่ใจกล้าพอที่จะลักลอบเก็บวัตถุโบราณเหล่านี้ไว้ในช่วงที่ทุกคนเห็นว่าเป็นเสนียดวัฒนธรรม ก็จะถูกเชิดชู หรือนำออกมาทำกำไรกลายเป็นเศรษฐีของเก่า เหมือนอย่างที่จีนเป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นโอกาสใหญ่ในวิกฤต

เสียดายนั้นเสียดายแน่ครับ แต่ประวัติศาสตร์ของมนุษย์หมู่มากแท้จริงไร้จิตใจ และก็เวียนวนอยู่ด้วยการทำลายล้าง และโอกาสในวิกฤตอยู่อย่างนี้แล