posttoday

มวยไชยา มวยคาดเชือกไม่มีวันตาย!

05 พฤษภาคม 2558

ผู้เขียนเขียนบทความนี้ในวันที่บัวขาว บัญชาเมฆ ยอดมวยไทยต่อยชนะผู้ท้าชิงชาวจีน วันรุ่งขึ้นคือศึกซูเปอร์ไฟต์ แมนนี ปาเกียว ชกกับฟลอยด์ เมย์เวเธอร์ จูเนียร์

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ : กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

ผู้เขียนเขียนบทความนี้ในวันที่บัวขาว บัญชาเมฆ ยอดมวยไทยต่อยชนะผู้ท้าชิงชาวจีน วันรุ่งขึ้นคือศึกซูเปอร์ไฟต์ แมนนี ปาเกียว ชกกับฟลอยด์ เมย์เวเธอร์ จูเนียร์ ดูมวยระดับโลกชกกันสมราคาแล้วก็มีความสุข เหมือนกินข้าวกินน้ำอร่อยขึ้นไปหลายมื้อ ก่อนหน้านี้ก็มีโอกาสได้สัมภาษณ์ครูมวยระดับประเทศอย่างครูแปรง-ณปภพ ประมวญ ฟังครูเล่าถึงมวยไชยา สายมวยคาดเชือกของไทย ศิลปะและการต่อสู้ที่ทำได้แค่นอกเวที!

หลังจากเวทีที่มวยวัดพระบรมธาตุไชยาสิ้นสุดลง วงการมวยไชยาก็เริ่มเสื่อมจนถึงทุกวันนี้ จนแทบกล่าวได้ว่า มวยดังของไชยากำลังจะหมดไป เพราะขาดผู้สนับสนุนอย่างแท้จริง ที่สนับสนุนกันอยู่ก็ถูกพวกมากลากไปมาโดยกลุ่มธุรกิจการเมือง ทั้งที่คนไชยายังมีสายเลือดนักสู้อยู่เต็มตัว ความปรารถนาจะปลุกวิญญาณความเป็นนักสู้ของเมืองมวยในอดีตให้เห็นประจักษ์ลุกโชนขึ้นในใจ…หรือจะเป็นเพียงแค่นั้น

มวยไชยา มวยคาดเชือกไม่มีวันตาย!

กำเนิดมวยไชยา

จากหลักฐานคำบอกเล่า มวยไทยไชยาเริ่มต้นที่ “พ่อท่านมา” อดีตสมภารแห่งวัดเก่าแก่อรัญญิกชื่อวัดทุ่งจับช้าง ไม่มีใครรู้ชื่อจริงหรือพื้นเพเดิมของพ่อท่านมา รู้แต่ว่าท่านเป็นครูมวยใหญ่จากพระนคร บ้างก็ว่าเป็นขุนศึก หรือบ้างก็ว่าเป็นอดีตแม่ทัพ ได้หลบหนีไปอยู่ไชยาด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ ถ่ายทอดวิชาต่อสู้แก่ชาวไชยาจนขึ้นชื่อเป็นเมืองมวย

ครูแปรง-ณปภพ ประมวญ ครูมวยไชยาที่มีชื่อเสียง เล่าว่า มวยไชยาเป็นมวยคาดเชือกสายหนึ่งของไทย ศักดิ์ศรีระดับเดียวกับมวยสายลพบุรี มวยสายโคราช และมวยสายท่าเสา เป็นหนึ่งในศิลปะการต่อสู้ที่มีประวัติสืบทอดมายาวนาน ศิษย์เอกที่ทำให้มวยเมืองไชยาเป็นที่รู้จักมากที่สุด ก็คือ พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองไชยาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และได้สืบทอดมายังบุตรชายด้วย คือ ปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย

“มวยไชยากำเนิดขึ้นแล้วรุ่งเรืองเป็นลำดับ โดยมาเจริญสูงสุดในสมัยศาลาเก้าห้องที่พุมเรียง ซึ่งสร้างโดยพระยาวจีสัตยรักษ์ เป็นศาลาเสาไม้ 30 ต้นขนานกับทางเดินหรือทางด่าน เทศกาลแห่พระบกประจำปี จะแห่มาสมโภชที่นี่ ประชาชนและเจ้านายมาพร้อมกัน ในการนี้นักมวยจากแหล่งต่างๆ ทั่วสารทิศ จะมารวมตัวกันเพื่อจับคู่ชก”

มวยไชยา มวยคาดเชือกไม่มีวันตาย!

มวยไชยาตั้งแต่ครั้งอดีตจะสอนตั้งแต่การป้องกันตัว เป็นการป้องกันตัวแบบ 4 ป. คือ “ป้อง ปัด ปิด เปิด” ป้องกันตัวได้ตั้งแต่หัวแม่เท้ายันเส้นผม เมื่อผู้ได้ฝึก 4 ป.จนมีความชำนาญแล้ว จะสามารถเข้าใจและจะรู้ตัวเองว่า ได้ยืนอยู่หน้าประตูของการใช้ลูกไม้ต่างๆ เป็นศาสตร์มวยที่มากด้วยความระมัดระวัง อ่อนน้อมถ่อมตน แปรความรุนแรงของคู่ต่อสู้มาใช้ประโยชน์ โดยสะท้อนแรงให้กลับไปกระทำต่อฝ่ายที่โจมตีเข้ามานั่นเอง

มวยไชยาเป็นมวยที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันตัว เป็นหนึ่งในสายมวยที่ถูกเลือกให้เป็นกรมทนายเลือก ทำหน้าที่คอยดูแลอารักขาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณ และยังเป็นหนึ่งในสายมวยที่ได้รับฉายา “หมื่นมวยมีชื่อ” เมื่อครั้งที่นายปล่อง จำนงทอง ใช้ท่าเสือลากหางอันเป็นท่าลูกไม้สำคัญเข้าทุ่มทับนักมวยจากโคราชลงไปสลบหน้าพระที่นั่งพระพุทธเจ้าหลวง

ปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย ในภายหลังได้ย้ายขึ้นมาตั้งรกรากในกรุงเทพฯ ได้ทำการเผยแพร่มวยไชยาแก่ลูกศิษย์มากมาย เสียชีวิตในปี 2521 โดยผู้ที่มีบทบาทในการเผยแพร่มวยไชยาในเวลาต่อมา คือ ครูทองหล่อ เชื้อไชยา (ทองหล่อ ยาและ) ศิษย์ที่ท่านปรมาจารย์เขตร์ชักชวนให้เข้าทำงานด้วยกันที่กรมโยธาธิการ เพื่อจะได้ใกล้ชิดและช่วยกันเผยแพร่มวยไชยาแก่ผู้สนใจ

อาจารย์ทอง ได้สืบสานงานเผยแพร่ต่อมา ภายหลังได้เห็นว่ารูปแบบการเผยแพร่ในแบบเดิมไม่อาจทำในวงกว้างได้ จึงร่วมกับลูกศิษย์ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาแผนกอาวุธไทย ชมรมต่อสู้ป้องกันตัว มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดตั้ง “ชมรมอนุรักษ์พาหุยุทธ์และอาวุธไทยตำรับพิชัยยุทธ์” ขึ้นที่บ้านของอาจารย์ทอง ณ ริมคลองทับช้าง

มวยไชยา มวยคาดเชือกไม่มีวันตาย!

มองไปข้างหน้า...มวยไชยาพันธุ์ใหม่

ตั้งแต่นั้นมวยไชยาก็ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อบทความ สารคดี และการแสดงสาธิตในที่ต่างๆ จนมวยไชยาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น อาจารย์ทองได้เสียชีวิตลงในปี 2539 กลุ่มลูกศิษย์สืบทอดเจตนารมณ์เผยแพร่มวยไชยาต่อมา ครูแปรงซึ่งอาจารย์ทองออกปากให้เป็นครูสืบมวยไชยาต่อ ได้จดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิมวยไชยาขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2546 

“เมื่อทางการยกเลิกการคาดเชือกชกในปี 2474-2475 นักมวยไชยาก็ขึ้นแข่งขันบนเวทีไม่ได้ ถูกมองว่าเป็นมวยแสดง แต่ครูขอยืนยันว่า มวยไชยาเป็นมวยต่อสู้ การจะให้มวยไชยากลับมาทำได้ ไม่ยากเลย นั่นคือการให้ชกกันภายใต้กฎกติกาข้อกำหนด” ครูแปรง เล่า

มองไปข้างหน้ากับมวยไชยา ครูบอกว่ามวยไชยาในแนวใหม่ น่าจะใช้วิธีประยุกต์ผสมผสาน โดยกำหนดกติกากฎเกณฑ์ขึ้น ในลักษณะเดียวกับ MMA (Mixed martial art) หรือศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบผสม ได้แก่ การต่อสู้ที่รวมเอาศิลปะการต่อสู้หลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน อย่างเช่น มวยไทย มวยสากล ยูโด มวยปล้ำ คาราเต้ แชมโบ บราซิลเลี่ยน ยิวยิตสู ที่มีทั้งการเตะต่อย และการทำให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้ด้วยวิธีต่างๆ

มวยไชยา มวยคาดเชือกไม่มีวันตาย!

 

“มวยไทยไชยากับยิวยิตสูนั้น ดูๆ ไปก็แทบจะเหมือนกัน เทียบกันในทางแล้วก็คือการทุ่มทับจับหัก ล้มลุกคลุกคลาน ป้องปัดปิดเปิด กอดรัดฟัดเหวี่ยง ประกบประกับจับรั้ง เหยาะย่างยักเยื้อง เข้าข้างหลัง เตะตัดดัดก้านคอในมวยไชยานั่นเอง เพียงแต่เรากำหนดกติกาที่ชัดเจนเข้มงวดเพื่อความปลอดภัย ตอนนี้ก็เริ่มคุยกับสมาคมมวยโบราณแล้ว เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คาดว่าจะได้เห็นในเร็วๆ นี้”

ครูแปรงบอกว่า ไม่อย่างนั้นมวยไทยก็ไม่พัฒนาในทางฝีมือ กลายเป็นมวยเวทีที่มีแค่หมัดเท้า
เข่าศอกจบแล้ว สุดท้ายก็กลายเป็นมวยล้าหลังที่แพ้เปรียบทุกชาติทุกภาษา ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้มวยไทยไม่ไปไหน คือการพนันผลการต่อสู้ โดยผลแพ้ชนะเกิดจากการพนันขันต่อ ไม่ได้อยู่ที่ฝีมือนักมวย วงการเสื่อมเพราะธุรกิจ พวกมากลากเข้าพง ทุจริตคอร์รัปชั่น คิดหาประโยชน์จากงบประมาณ

“คนเข้ามาเพื่อหวังผลประโยชน์ ไม่ได้รักมวยจริง แต่เอามวยเป็นตัวหากิน ปัญหาคือในเรื่องมวยแล้วเรามีคนไม่รู้มากกว่าคนรู้ ซับซ้อนไปกว่านั้น ก็คือคนที่แกล้งไม่รู้ เพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าเข้าพวกของตัว เรื่องของมวยจึงต้องหันมาช่วยกันอย่างจริงจัง”

มวยไชยา มวยคาดเชือกไม่มีวันตาย!