posttoday

ยีเอ๋ง ปราชญ์ที่สังคมรังเกียจ หรือปราชญ์ที่รังเกียจสังคม

03 พฤษภาคม 2558

ยีเอ๋ง เป็นบุคคลในยุคสามก๊ก เป็นคนหนุ่มมีความสามารถได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รู้ และก็มีชื่อเสียงเรื่องความหยิ่งทะนง

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ยีเอ๋ง เป็นบุคคลในยุคสามก๊ก เป็นคนหนุ่มมีความสามารถได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รู้ และก็มีชื่อเสียงเรื่องความหยิ่งทะนง ปากจัด จากประวัติชีวิตดูเหมือนว่าจะมีคนชื่นชอบเขาอยู่เพียงคนเดียว นั่นก็คือ ข่งหยง (ทายาทรุ่นที่ 20 ของขงจื๊อ)

ข่งหยงเคยเขียนฎีกาถวายแก่ราชสำนัก ให้เรียกยีเอ๋งมารับราชการ เนื้อหาในฎีกายกย่องให้ยีเอ๋งเป็นอัจฉริยบุคคล หากราชสำนักได้ตัวมาใช้ ก็ประดุจมังกรผงาดสู่ฟากฟ้า บ้านเมืองจะสดใส หากแม้นราชสำนักรักคนเก่งมีความสามารถ ไฉนละเลยจึงไม่ใส่ใจยีเอ๋ง

มิอาจรู้ได้ว่ายีเอ๋งไปปล่อยแสงอะไรใส่ข่งหยง ข่งหยงจึงชื่นชมเขาขนาดนั้น

ราชสำนักฮั่นช่วงนั้นมีโจโฉเป็นผู้กุมอำนาจ โจโฉชูนโยบาย “ชื่นชมคนเก่ง” ไหนเลยจะละโอกาสได้เจอคนเก่งมีความสามารถเช่นนี้ได้

แต่ความปากจัดของยีเอ๋งเป็นที่เลื่องลือ แม้ไม่เคยเจอกันมาก่อน แต่บุคคลสาธารณะอย่างโจโฉ ย่อมตกเป็นเหยื่อคนหนึ่งของยีเอ๋ง โจโฉคงพอรู้ในจุดนี้ดี กระนั้นก็ตาม โจโฉมีคำสั่งให้เรียกยีเอ๋งมาสัมภาษณ์

ยีเอ๋งไม่เห็นโจโฉในสายตา ไม่ยอมเข้าพบ ด้วยข้ออ้างว่า “ป่วย อารมณ์บ่จอย” ลับหลังก็ทำหน้าที่ด่าโจโฉต่อไปไม่หยุดหย่อน

โจโฉไม่ใช่คนถือตัว แต่ก็ไม่ใช่คนที่จะมาลบหลู่ด้วยง่ายๆ ในใจโจโฉคิดหาวิธีดัดนิสัย ละลายพฤติกรรมยีเอ๋งคนนี้ให้ได้

โจโฉได้ยินว่ายีเอ๋งมีฝีมือด้านตีกลอง โจโฉจึงแกล้งออกคำสั่งให้ยีเอ๋งมาตีกลองในงานเลี้ยงใหญ่ที่โจโฉจัดขึ้น ยีเอ๋งก็มาตามคำสั่ง มาถึงก็บรรเลงเพลงกลอง ตีได้อย่างอัศจรรย์สมคำร่ำลือ ผู้คนในงานต่างถูกสะกดด้วยเสียงกลองของยีเอ๋ง

ยีเอ๋งยิ่งตีก็ยิ่งเดินเข้าหาโจโฉ เมื่อเดินถึงตรงหน้า เจ้าหน้าที่พิธีการเข้ามาขวางและเตือนว่า “ยีเอ๋ง เจ้ารู้หรือไม่ว่านักตีกลองมีชุดพิธีการของนักตีกลอง เหตุใดจึงไม่เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย” ยีเอ๋งตอบ “ขอรับ!”

ว่าแล้วยีเอ๋งก็เริ่มถอดเสื้อผ้าทีละชิ้น ถอดเกลี้ยงจนหมดตัว ทั่วงานตะลึง ยีเอ๋งยืนนิ่งอยู่หน้าโจโฉ แล้วจึงค่อยๆ หยิบชุดพิธีการมาใส่ แล้วจึงตีกลองต่อไป ด้วยสีหน้าเรียบเฉย

โจโฉถึงกับไปไม่เป็น ที่จะดัดนิสัยยีเอ๋ง กับถูกยีเอ๋งทำให้อับอายเสียได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็เหอะ โจโฉยังพอหัวเราะแก้เก้อ สั่งเลิกงานเลี้ยง

คนที่เดือดร้อนที่สุดกลับเป็นข่งหยง ข่งหยงต้องไปไกล่เกลี่ยให้ยีเอ๋งสำนึกผิด แถมยังกำชับด้วยว่าโจโฉชื่นชอบคนเก่ง “น้องเอ๋ย ทำแบบนี้พี่อยู่ยาก” “รับผิดซะแล้วไปพบท่านโจโฉซะหน่อยนะ” ยีเอ๋งก็รับปากแต่โดยดี

ความแสบของยีเอ๋งยังไม่หมดไปง่ายๆ เมื่อรับว่าจะไปพบโจโฉแล้ว ขณะที่ฝ่ายโจโฉตระเตรียมตัวอย่างดี กำชับให้ลูกน้องเฝ้าดู ว่าถ้ายีเอ๋งมาเมื่อไหร่ให้เรียกด้วย ปรากฏว่ายีเอ๋งไม่มาสักที รอจนรอแทบไม่ได้ ยีเอ๋งจึงโผล่หัวมา ยีเอ๋งเลตไปครึ่งค่อนวัน

โผล่หัวมาพร้อมแฟชั่นแนวๆ มาพร้อมเสื้อคลุม ผ้าโพกหัว มือถือไม้กลอง พอถึงหน้าประตูก็เริ่มตะโกนด่าโจโฉ ด่าไปเคาะประตูเป็นจังหวะไป บรรเลงเพลงด่าเข้าจังหวะ แสดงศักยภาพฝีมือฝีปากไปพร้อมๆ กัน

โจโฉอดรนทนไม่ได้อีกต่อไป หันไปหาข่งหยง “ดู๊ ดู แนะนำใครมาให้ข้า คิดว่าข้าฆ่ามันไม่ได้รึ” ว่าแล้วก็ทอดถอนหายใจ “ช่างเหอะ ได้ยินว่าเล่าเปียวรวบรวมคนเก่ง ส่งยีเอ๋งไปหาเล่าเปียวซะ”

เมื่อถึงมือเล่าเปียว ช่วงแรกทั้งยีเอ๋งและเล่าเปียวก็ดูชื่นมื่นกันดี แต่ผ่านไปไม่นาน อาการเก่ากำเริบ ยีเอ๋งเริ่มระรานลูกน้องเล่าเปียว ลูกน้องเล่าเปียวไม่พอใจจึงพูดจายุแยงแจงว่า คำชมเล่าเปียวของยีเอ๋งเจือคำเหน็บแนม เล่าเปียวเห็นว่าจริง จึงส่งยีเอ๋งต่อให้หองจอ

หองจอก็รู้ดีว่ายีเอ๋งถือเป็นคนเก่ง ช่วงแรกก็ยังคงเคารพนับถือ แต่อาการกำเริบของยีเอ๋งคราวนี้กำเริบผิดคน หองจอไม่ใช่คนไม่ถือตัวแบบโจโฉ และก็ไม่ใช่คนมีมารยาทแบบเล่าเปียว แต่เป็นแม่ทัพป่าเถื่อน ยีเอ๋งด่าหองจอกลางงานเลี้ยง หองจอโกรธจัด สั่งโบยก้นยีเอ๋ง ยีเอ๋งโดดขึ้นโต๊ะจีน ชี้หน้าด่าหองจออีกยกใหญ่ หองจอสั่งออกไป “เอามันไปกุดหัว”

ลูกน้องหองจอยินดียกใหญ่ นิสัยขี้ประชดประชัน ไม่ไว้หน้าใครของยีเอ๋ง คราวนี้จะได้แก้แค้นซะที คำสั่งออกมาไม่ทันขาดคำดี ก็รีบเฮโลเข้ามาจับตัวยีเอ๋งลากออกไปนอกงานเลี้ยง แล้วหัวยีเอ๋งก็หลุดออกจากบ่า

ยีเอ๋งผู้มีความสามารถจบชีวิตลงด้วยอายุเพียง 25 ปี น้อยกว่าขงเบ้งตอนเริ่มเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับเล่าปี่เสียอีก

เรื่องราวของยีเอ๋ง มีคนไม่น้อยที่มองในมุมน่าเห็นใจหรืออาจถึงชื่นชม ซึ่งอาจจะมาจากความกล้าหาญหยิ่งทะนง กล้าลุกขึ้นชี้หน้าด่าผู้นำทั้งต่อหน้าและลับหลัง ในชีวิตจริงคงมีไม่มากนักที่จะหาเพื่อนร่วมงานที่ร่วมนินทาเจ้านายลับหลัง กล้าพอที่จะลุกขึ้นด่าเจ้านายต่อหน้าด้วย

บางคนบอกว่า นี่คือความสูงส่งไม่ใส่ใจยศศักดิ์ของยีเอ๋ง ในวรรณกรรมสามก๊กถึงขั้นเสริมบทในตอนที่ยีเอ๋งถอดเสื้อผ้าต่อหน้าโจโฉ ว่า

“ข้าถอดเสื้อผ้าเพราะตัวข้าจะถอดให้ท่านเห็นร่างกายอันบริสุทธิ์ของข้า” โจโฉตวาดกลับไป “งั้นใครที่สกปรก!” ยีเอ๋งตอบกลับไปว่า “ท่านสนใจแต่คำเยินยอ หูจึงสกปรก ชอบเห็นแต่สิ่งสวยงาม ตาจึงโสมม จิตคิดปล้นราชสมบัติ หัวใจจึงโสโครก! ตัวข้าคือปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ กลับให้มาตีกลอง เช่นนี้หรือจะปกครองคน”

มองทั้งเรื่องวรรณกรรมสามก๊ก ยีเอ๋งอาจเหยียดหยามโจโฉได้ถูกต้องอยู่บางส่วน มองในความเป็นจริง ช่วงเวลานั้นเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของการเข้ากุมอำนาจของโจโฉ ยีเอ๋งเป็นปราชญ์แต่ไม่ใช่หมอดู จึงไม่น่าจะเห็นอนาคตได้ขนาดนั้น คำด่าในวรรณกรรมจึงถูกแต่งขึ้นเพราะต้องการยืมความกร่างของยีเอ๋งมาหยามเหยียดโจโฉ

ไหนจะยังมีเล่าเปียว หองจอ อีก ถ้ายีเอ๋งเห็นโจโฉไม่ดีพอ เล่าเปียว หองจอ ก็ยังไม่อยู่ในสายตา ดูเหมือนว่า ผู้นำในดวงใจของยีเอ๋งคงจะหาได้ยากยิ่ง

และการกล้าด่าผู้นำ หรือคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงอย่างเดียวจะทำให้น่ายกย่องหรือน่าเห็นใจคงไม่น่าจะพอ เพราะต้องขึ้นกับเนื้อหาที่ยกมาด่าว่าด้วย น่าเสียดายที่เราไม่รู้เหมือนกันว่ายีเอ๋งด่าโจโฉ เล่าเปียว หองจอ ว่าอะไรบ้าง แต่เท่าที่รู้คือ ไม่ใช่แค่ผู้นำเท่านั้นที่โดยยีเอ๋งด่าว่า แม้กระทั้งคนรอบตัวก็ตกเป็นเหยื่อคารมจัดจ้านของยีเอ๋งเช่นกันกัน

ยีเอ๋งไม่ได้ต่อต้านความอยุติธรรม ไม่ได้ต่อต้านโจโฉ ไม่ได้ต่อต้านเล่าเปียว ไม่ได้ต่อต้านหองจอ แต่ยีเอ๋งเกรี้ยวกราดและต่อต้านสังคมทั้งสังคม

อาจเป็นเพราะช่วงวัยรุ่นยีเอ๋งถือตัวว่ามีความสามารถพยายามจะมารับราชการที่ฮูโต๋ แต่กลับไม่มีคนช่วงใช้ ชื่อเสียงเรื่องอาการปากจัดจึงเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน

และอาจเพราะสังคมไม่ยอมรับจึงเริ่มเกรี้ยวกราด หรือเพราะเดิมทีเป็นคนเกรี้ยวกราดสังคมจึงไม่ยอมรับ แต่ที่แน่ๆ คือ ยิ่งเกรี้ยวกราดสังคมยิ่งไม่ยอมรับ ยิ่งสังคมไม่ยอมรับยีเอ๋งก็ยิ่งเกรี้ยวกราด เป็นวงจรอุบาทว์หมุนวนกันไป

บันทึกประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า ผู้คนต่างรังเกียจยีเอ๋ง

แต่แท้ที่จริงยีเอ๋งต่างหากที่รังเกียจผู้คนทั้งสังคม

ป.ล. ประวัติยีเอ๋งที่เอามาอ้างอิงในบทความ มาจากบันทึกทางประวัติศาสตร์นอกวรรณกรรมสามก๊ก จึงอาจมีรายละเอียดที่ต่างจากวรรณกรรมอยู่พอสมควร