posttoday

วิกฤต (ชีวิต) ชายวัยกลางคน

28 เมษายน 2558

ไม่ว่าชาติใด ภาษาไหน ทุกสังคมมักจะได้รับการอบรมสั่งสอนลูกชายว่าเป็นลูกผู้ชายต้องเข้มแข็ง อดทน ไม่อ่อนแอ ไม่ร้องไห้

โดย...อนุสรา ทองอุไร ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ไม่ว่าชาติใด ภาษาไหน ทุกสังคมมักจะได้รับการอบรมสั่งสอนลูกชายว่าเป็นลูกผู้ชายต้องเข้มแข็ง อดทน ไม่อ่อนแอ ไม่ร้องไห้ มีอะไรต้องเก็บไว้อย่าแสดงออกไปให้ใครรู้ว่าเราอ่อนไหวง่าย นั่นไม่ใช่วิถีของลูกผู้ชายอกสามศอก นั่นคือสิ่งที่สั่งสอนกันมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ซึ่งต่างจากผู้หญิงที่มักจะได้รับโอกาสให้เสียใจฟูมฟายได้ ระบายด้วยการเมาท์กระจาย เกรี้ยวกราด ช็อปปิ้งระบายแค้น กินประชดชีวิต แต่ผู้ชายเครียดจะไประบายกับใครก็ยาก โดยเฉพาะในวัยหนุ่มฉกรรจ์นั้นทำได้แค่หันไประบายกับการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปอีกแก้ปัญหาก็ไม่ได้

จนส่งผลให้ในรอบ 14 ปีที่ผ่านมานี้มีผู้ชายในยุโรปและสหรัฐ รวมทั้งเอเชียบางประเทศ วัย 40-50 ปี ฆ่าตัวตายมากขึ้น มากกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่าและอัตราประสบความสำเร็จในการฆ่าตัวตายก็สูงขึ้นเรื่อยๆ (ขณะที่ผู้หญิงมีแนวโน้มฆ่าตัวตายแต่มักไม่ประสบความสำเร็จ) ยิ่งอายุเยอะในวัย 40-50 ปี ในฐานะพ่อและสามี หรือเจ้านาย คงไม่เปิดโอกาสให้ผู้ชายคนใดได้แสดงถึงความเศร้า อ่อนแอ ได้มากนักเพราะมันยังเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีที่ค้ำคอพวกเขาอยู่ด้วย

ทำไมผู้ชายวัย 40 ปี ถึงฆ่าตัวตาย

ในวัยนี้ผู้ชายมักมีครอบครัวแล้ว ลูกกำลังเริ่มโต กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว หน้าที่การงานกำลังก้าวหน้าเริ่มเป็นใหญ่เป็นโต ในฐานะพ่อ สามี และหัวหน้า ผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจ ทำให้เขาต้องแบกรับภาระหลายอย่างในชีวิต งานวิจัยในต่างประเทศพบว่าผู้ชายกลุ่มอายุน้อยกว่า 50 ปีเป็นกลุ่มคนที่มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุด สอดคล้องกับที่กรมอนามัยโลกเคยระบุว่าใน 20 ปีข้างหน้าการตายด้วยโรคหัวใจ เอดส์ มะเร็ง เบาหวาน ความดัน จะลดลงเพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยการค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆ ในการรักษาผลิตยามีมากขึ้น แต่การรักษาโรคทางใจการเจ็บป่วยทางจิตกลับสวนทางไม่มีเทคโนโลยีใดๆ จะช่วยเยียวยาจิตใจได้ แนวโน้มคนจะว้าเหว่ เดียวดาย เห็นแก่ตัว ขาดความรักจะสูงขึ้น จนการตายจากการฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง ฆ่าคนอื่น จะเป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับหนึ่ง แทนที่โรคทางกายอื่นๆ จากสถิติดังกล่าวทำให้มีการตั้งคำถามว่า มีอะไรในตัวผู้ชายที่ทำให้พวกเขาต้องตกเป็นเหยื่อของความคิดที่จะจบชีวิตตัวเองลง

วิกฤต (ชีวิต) ชายวัยกลางคน

 

ความคาดหวังคือตัวกดทับให้ใจหนักอึ้ง

โครงการรณรงค์ต่อต้านการมีชีวิตอยู่อย่างรันทดหรือคาล์ม (CALM-Campaign Against Living Miserably) ของอังกฤษ เปิดเผยว่า ความเครียดที่สะสมและทวีความรุนแรงจนทำให้ผู้ชายในวัยไม่ถึง 50 ปี ต้องตัดสินใจฆ่าตัวตายนั้น มาจากทัศนคติโดยทั่วไปของสังคม ที่คาดหวังให้ผู้ชายเป็นเพศที่ต้องเก็บความรู้สึกและไม่แสดงออกหากมีปัญหา ซึ่งทำให้ผู้ชายมักไม่เปิดปากพูดว่าตัวเองกำลังต้องเผชิญอะไรบ้าง เขาจึงต้องเก็บกด เครียด ระบายออกมาไม่ได้

ความคาดหวังของสังคมเป็นตัวกดทับเพศชายในลักษณะนี้ เห็นได้จากสำนวนภาษาที่ใช้กันทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น คำกริยาที่สั่งให้คนคนหนึ่งทำตัวเป็นลูกผู้ชายมากขึ้น ซึ่งบ่อยครั้งหมายถึงการเก็บความรู้สึกไม่แสดงความรู้สึกทางอารมณ์ที่เก็บอยู่ภายใน อย่างคำว่า “อย่าฝ่อ” หรือ “กล้าๆ หน่อย”

ความเข้มแข็งหมายถึงการเก็บเงียบ และการเงียบหมายถึงคุณเป็นลูกผู้ชาย แต่การเก็บความรู้สึกไม่แสดงออกดังกล่าวเป็นต้นเหตุของการฆ่าตัวตายนับครั้งไม่ถ้วนทุกวันนี้ ผู้ชายโดยเฉพาะวัยต่ำกว่า 50 ปี ฆ่าตัวตายราว 100 คน/สัปดาห์ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 14 ปี โดยผู้ชายมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิงซึ่งเป็นเพศที่สังคมไม่ประณามหากต้องการแสดงออกทางความรู้สึกถึง 4 เท่า โครงการคาล์มตระหนักถึงปัญหาของทัศนคติทางสังคมดังกล่าวและออกคำขวัญรณรงค์ให้ผู้ชายและสังคมรอบข้างตระหนักถึงอันตรายของความคิดดังกล่าวว่า ผู้ชายเป็น “พวกที่แข็งแรง-เงียบ-และต้องตายในที่สุด”

วิกฤต (ชีวิต) ชายวัยกลางคน

ผู้ชายก็อ่อนไหวได้

เอียน นอต นักรักบี้ผู้เคยประสบความสำเร็จในอาชีพนักกีฬา แต่ประสบอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บขั้นรุนแรงที่บริเวณแผ่นหลัง จนต้องเลิกเล่นรักบี้ เคยตัดสินใจฆ่าตัวตายมาแล้ว เพราะด้วยความเจ็บปวดเกือบตลอดเวลาทำให้เขาไม่สามารถแสดงบทบาทพ่อและสามีได้ แต่เขากล่าวว่า ปัญหาของผู้ชายคือ ไม่เปิดเผยความรู้สึก จริงๆ แล้วพวกเขาไม่มีอะไรต้องอาย เขามีสิทธิที่จะอ่อนไหวได้

ปัจจุบันเอียนเดินสายเป็นวิทยากรตามชมรมกีฬาต่างๆ ทั่วอังกฤษเพื่อรณรงค์ความสำคัญของการพูดคุยกับคนรอบข้างถึงปัญหาที่ตนกำลังประสบ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบความเป็นชายของตน ถึงเวลาที่สังคมจะต้องเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความหมายของ “เพศชาย” ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นเพียงแค่มายาคตินั่นเอง ผู้ชายก็คือคนมีชีวิตจิตใจ ร้องไห้ได้ เสียใจเป็น ผิดหวังได้ และมีสิทธิที่จะระบายสิ่งเหล่านี้ออกมาได้บ้างเมื่อจำเป็น

หาทางออก (ที่ดีกว่า) ให้เจอ

ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ดีซี คอนซัลแตนท์ ในวัย 50 ปี ยอมรับว่าชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ สมัยวัยรุ่นพ่อแม่ก็ถูกฟ้องล้มละลาย ที่เคยสุขสบายก็ลำบากยากแค้น ก่อนมาเปิดบริษัทของตัวเองก็เคยมีปัญหาในการทำธุรกิจอย่างมาก  ชีวิตคนในปัจจุบันนี้เกิดความเครียดได้ง่าย การแข่งขันที่รุนแรง การเร่งรีบ โดยเฉพาะชีวิตในเมืองหลวงนั้นไม่ได้เอื้อให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเท่าที่ควร ผู้หญิงได้รับยกเว้นให้แสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างอิสระ ขณะที่ผู้ชายต้องเก็บกดความรู้สึกห้ามแสดงออกถึงความอ่อนไหวอ่อนแอ ขณะที่กระแสสังคมนั้นก็บีบรัดมากขึ้นทุกวันทั้งในหน้าที่พ่อ สามี เจ้านาย และวัดความสำเร็จกันที่ความสามารถทางวัตถุเน้นเรื่องทางกาย อยากได้ อยากมี อยากเป็น ได้เท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ แต่ไม่เคยให้ความสำคัญกับความสำเร็จทางใจ

“ถ้าโชคดีที่คุณเป็นคนมองโลกในแง่ดี เข้าใจธรรมชาติของชีวิต ก็จะเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เดี๋ยวก็ดับไป มันคือกิเลสที่เข้ามาล่อเรา ถ้ารู้เท่าทันมันเราก็จะพอทำใจได้แล้วค่อยๆ ปล่อยวางมองโลกแบบเป็นจริงว่าอะไรๆ มันเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ถ้าคุณยังไม่มีก็ต้องพยายามหาวัคซีนใจไว้คุ้มครองชีวิตจิตใจของเรา ฝึกจิตใจให้หนักแน่นมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาให้รู้เท่าทันและยอมรับว่าทุกอย่างในโลกนี้มันมีบวก มีลบ มีกลางๆ เราคิดว่าเราตั้งใจแล้วแต่ถ้าไม่ได้ดั่งใจทุกอย่างก็ต้องทำใจว่าวันนี้ไม่ได้ พรุ่งนี้อาจจะได้ คิดแต่เพียงว่าเราได้ทำในสิ่งที่รักแล้ว ทำถูกต้องแล้ว ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับมัน ถ้าใจเข้มแข็งพอผลจะออกมาเป็นอย่างไรเราก็จะรับได้ เรียกว่า Love what to do”

วิกฤต (ชีวิต) ชายวัยกลางคน

 

เมื่อเจอปัญหาให้ตั้งสติ สูดหายใจลึกๆ ยาวๆ หายใจให้ทั่วท้อง อยู่กับตัวเองสัก 10 นาที ทบทวนปัญหาค่อยๆ แก้ไปทีละขั้นไม่มีปัญหาใดที่แก้ไม่ได้ บางปัญหาอาจจะใช้เวลามาก บางปัญหาใช้เวลาน้อย โรคทางใจคือ โลภ โกรธ หลง มีกันทุกคน แต่ถ้ารู้เท่าทันมันจะอยู่กับเราไม่นาน รู้จักถอย รู้จักปล่อยวาง อยู่กับปัจจุบันให้มาก อย่าหวนหาอดีต อย่าคาดหวังกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ทำวันนี้ให้ดีที่สุดเป็นพอ วิชาใจพวกนี้ศาสนาพุทธสอนไว้ดี หมั่นฝึกฝนเราจะได้ใช้ประโยชน์เอาไว้รักษาใจคิดบวกไว้ว่าปัญหามาปัญญาเกิด ทุกอย่างแก้ไขได้เสมอ

ด้าน พญ.ญดา พงษ์กาญจนะ จิตแพทย์ที่ปรึกษา โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า คนเราเป็นโรคป่วยใจกันได้มากขึ้นจากกระแสสังคมที่เร่งรีบบีบรัด แล้วผู้ชายไม่ค่อยชอบพูดชอบระบายเหมือนผู้หญิง พอเก็บมากก็เครียดมากทุกข์มาก คนในครอบครัวต้องหมั่นสังเกต ว่าพ่อ สามี ของเรานั้นเริ่มเครียดขึ้น แยกตัว ไม่เข้าสังคม เงียบ อะไรที่เคยทำก็ไม่ทำ อะไรที่เคยชอบก็ไม่ชอบ นอนไม่หลับกินอะไรแทบไม่ได้ อารมณ์หงุดหงิดง่าย เริ่มซึมเศร้า หากมีอาการดังนี้ ภรรยาต้องชวนพูดคุย ให้กำลังใจ ให้เขาได้ระบายออกมา แต่ไม่เซ้าซี้จุกจิก พูดจาดูหมิ่น

การพูดคุยต้องแสดงถึงความรัก ความเข้าใจ อยากให้ระบายความอัดอั้นออกมาไม่ต้องแสดงความคิดเห็น เพียงรับฟังอย่างเข้าใจ ถ้าเขายังไม่พูดอย่าเซ้าซี้เดี๋ยวเขาจะรำคาญไปใหญ่ ค่อยๆ สังเกตอาการ พาเขาไปอยู่ในบรรยากาศที่ปล่อยวาง ไม่เครียด ไม่กดดัน ชักชวนให้เขามองโลกในแง่ดี ให้เขาได้หัวเราะผ่อนคลาย ไปเที่ยว แสดงออกถึงความรักความเข้าใจ เขาคือคนสำคัญ ก็จะช่วยเยียวยาได้ระดับหนึ่ง

“ชวนไปเปลี่ยนบรรยากาศ เช่น ไปเที่ยวทะเล ไปออกกำลังกาย ไปปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ที่เขาชอบ เช่น แมว สุนัข ดูว่าเขาชอบอะไร อึกอักอย่าชวนเข้าวัด เขาไม่ชอบจะต่อต้านแล้วไปนั่งสมาธิคนเดียวจะยิ่งคิดมากจมดิ่งกับความคิดนั้นไปอีก แต่ถ้าเขามีแนวโน้มชอบก็โอเค ดีที่สุดคือไปหาจิตแพทย์ แต่หากเขายังไม่ยอมอย่าฝืน ยกเว้นว่าเขามีความเข้าใจว่าการพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยอย่างเป็นระบบ แต่ถ้าใจไม่รับเขาจะเข้าใจผิดหาว่าเขาป่วยทางจิต ต้องดูเป็นกรณีไป อย่าปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว พยายามเฝ้าดูอยู่ห่างๆ เก็บเครื่องมือที่จะเป็นการกระตุ้นให้เขาลงมือ เช่น เก็บปืน มีด ยานอนหลับ ยาฆ่าแมลง น้ำยาล้างห้องน้ำ เชือก ให้มิดชิด อย่าให้ล่อตา ส่วนใหญ่ในอาการเริ่มต้นได้พูดคุย ได้ระบาย เขารับรู้ได้ถึงความรักความเข้าใจ กำลังใจที่ครอบครัวมีให้ เขาก็จะดีขึ้นได้”

การฝึกตนให้มองโลกในแง่ดี ปัญหาคือโอกาส คือความท้าทาย ไม่คิดเข้าข้างตัวเอง มองโลกแบบสายกลางไม่ขาวหรือดำเกินไปก็จะช่วยให้มีกำลังใจที่เข้มแข็งได้