posttoday

โลกของช่างฝีมือบนหน้าปัดนาฬิกา

28 เมษายน 2558

พื้นที่สำหรับงานศิลปะไม่ได้ถูกจำกัดพรมแดนอยู่แค่ที่ใดที่หนึ่ง แม้แต่หน้าปัดนาฬิกาก็ถูกใช้เป็นพื้นที่แสดงผลงานได้เช่นกัน

โดย...กองบรรณาธิการ นิตยสาร แอล เมน ไทยแลนด์ ภาพ Courtesy of Bvlgari

พื้นที่สำหรับงานศิลปะไม่ได้ถูกจำกัดพรมแดนอยู่แค่ที่ใดที่หนึ่ง แม้แต่หน้าปัดนาฬิกาก็ถูกใช้เป็นพื้นที่แสดงผลงานได้เช่นกัน

การประดับตกแต่งนาฬิกาด้วยงานศิลปะ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นแหวน สร้อยคอ กำไล หรือเข็มกลัด ซึ่งช่วยขยายขอบเขตแห่งจินตนาการให้กับช่างทำนาฬิการะดับยอดฝีมือ

แต่กว่าจะมาเป็นนาฬิกาเรือนวิจิตรอย่างที่เห็นได้นั้น ต้องอาศัยทักษะหลากหลายด้านของบรรดาช่างฝีมือ และทักษะในการออกแบบกลไกของช่างนาฬิกา ทั้งช่างนาฬิกา ช่างแกะสลัก ช่างลงยา ช่างสลักลวดลาย ช่างอัญมณี และนักออกแบบอัญมณี ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะบรรลุถึงความคาดหวังอันมากมายของลูกค้าผู้มั่งคั่ง

คาร์เทียร์ ในฐานะผู้บุกเบิกนาฬิกาที่ใช้เทคนิคในการตกแต่งหน้าปัดมากว่า 160 ปี เคยขยายความไว้อย่างน่าสนใจว่า “งานเหล่านี้เป็นงานที่ละเอียดอ่อน ทุกอย่างถูกออกแบบด้วยมือ ก่อนจะทำแบบจำลองขึ้น จากนั้นต้องนำมาผ่านการตรวจสอบจากบรรดาช่างนาฬิการอบแล้วรอบเล่า ก่อนส่งต่อให้ช่างฝีมือที่มีทั้งมือที่เรียวเล็ก มีทักษะพิเศษและความแม่นยำสูง ค่อยๆ รังสรรค์งานศิลปะลงไปบนหน้าปัด ดังนั้น กว่าจะออกมาเป็นนาฬิกาหนึ่งเรือนต้องใช้เวลายาวนานกว่านาฬิกาทั่วไป”

โลกของช่างฝีมือบนหน้าปัดนาฬิกา

 

ทว่าในบรรดาช่างฝีมือทั้งหมด ช่างลงยาถือได้ว่าน่าสนใจที่สุด เพราะสืบทอดวิธีการมาตั้งแต่ยุคอียิปต์ จีน อินเดีย และจักรวรรดิไบแซนไทน์ แต่เดิมเทคนิคการลงยาถูกนำมาใช้ตกแต่งในงานสถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือน และเครื่องประดับ ในศตวรรษที่ 16 ช่างทำนาฬิกาในเมืองลิโมจส์ ประเทศฝรั่งเศส นำวิธีนี้มาใช้กับนาฬิกาพก และกลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายราวศตวรรษที่ 19 เมื่อช่างลงยาลี้ภัยสงครามมาอยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกนาฬิการะดับโลก

ถึงกระนั้นช่างลงยาก็ไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นแต่ประการใด สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการลงยามีกรรมวิธีที่ซับซ้อน หลายขั้นตอน และมีเทคนิคเกี่ยวกับการผสมสีและการอบอีกมากมาย เพื่อให้สิ่งที่ลงยาไว้คงทนถาวร เรียกว่าเป็นงานที่ใช้ความอดทน ความพยายาม และความพิถีพิถัน โดยหน้าปัดนาฬิกาหนึ่งเรือนจะใช้เวลามากกว่า 40 ชั่วโมง ถึงจะออกมาเป็นผลงานอย่างที่เราเห็น

ทุกวันนี้วิธีการลงยาหน้าปัดนาฬิกามีอยู่ 3 วิธี ได้แก่ Champlevé ในภาษาฝรั่งเศสหมายถึง "การทำลายนูน" เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด และนิยมใช้มาตั้งแต่สมัยกรีกโรมัน โดยการสกัดพื้นผิวของโลหะเป็นร่องลึก จากนั้นจึงลงยา ซึ่งจะได้ลวดลายนูนสูงและนูนต่ำที่แตกต่างกันไป แล้วนำไปเผาเพื่อให้ยาที่ลงไว้หลอมละลายก่อนขัดผิวให้เรียบอีกที

โลกของช่างฝีมือบนหน้าปัดนาฬิกา

 

ส่วนวิธีที่สองคือ Cloisonné ช่างจะใช้ลวดโลหะกันเป็นช่องเล็กๆ ให้เกิดเป็นรูปร่างต่างๆ จากนั้นจะยึดโลหะดังกล่าวเข้ากับพื้นผิวหน้าปัด แล้วจึงค่อยทำการลงยาในบริเวณที่กำหนดไว้

สุดท้ายคือ Grand Feu คิดค้นโดยช่างฝีมือในอียิปต์ จีน และอินเดีย เทคนิคนี้ใช้น้ำยารองพื้นที่เตรียมอย่างพิถีพิถัน ทาลงบนหน้าปัดนาฬิกา ก่อนจะนำไปเผาด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 840 องศาเซลเซียส จากนั้นจะนำมาร่างเป็นลวดลายและลงสีทีละขั้น แล้วจึงนำเข้าเตาเผาอีกกว่า 20 ครั้ง

เมื่อนำทักษะการสร้างสรรค์งานศิลปะของช่างฝีมือ วิธีการผลิตอันซับซ้อน รวมเข้ากับเรื่องราวและแรงบันดาลใจอันทรงคุณค่า ซึ่งถูกบอกเล่าผ่านหน้าปัดนาฬิกา การครอบครองนาฬิกาลงยาจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการเป็นเจ้าของสิ่งที่พิเศษสุดอย่างแท้จริง

มีคำพูดของช่างทำนาฬิกาชาวอังกฤษ Peter Speake-Marin เคยพูดถึงนาฬิกาที่ต้องอาศัยฝีมือช่างเหล่านี้ว่า “เราไม่ได้ครอบครองแค่นาฬิกา แต่เราครอบครองความทรงจำอันล้ำค่า ที่บรรดาช่างฝีมือรังสรรค์ขึ้นมา” นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมมันถึงมีราคาสูงนัก

ขอบคุณข้อมูลจาก Cartier และ Vacheron Constantin